tdri logo
tdri logo
22 พฤษภาคม 2021
Read in Minutes

Views

วิเคราะห์ความเหมาะสมของมาตรการลดหย่อนการส่งเงินประกันสังคม

ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ต่อการจ้างงาน และสภาพคล่องทางการเงินของประชาชนและสถานประกอบการ แรงงานทั้งที่เป็นแรงงานในระบบประกันสังคมและนอกระบบประกันสังคมล้วนได้รับผลกระทบทั้งสิ้น ความไม่มั่นคงในการทำงานและการจ้างงานส่งผลต่อรายได้และภาระค่าใช้จ่ายของแรงงานภาวะการมีงานทำเปลี่ยนแปลงอย่างมากผู้ประกันตนที่เคยทำงานประจำหรือเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 เปลี่ยนแปลงสถานะการจ้างงานย้ายไปเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 เพิ่มขึ้น 184,280 คน  (เดือนมีนาคม 2563 มีจำนวน 1,665,227 คน เพิ่มเป็น 1,849,507 คน ในเดือนมีนาคม 2564)  ในขณะเดียวกันสถานประกอบการก็มีจำนวนลดลงเช่นกัน โดยมีสถานประกอบการเลิกกิจการ 5,345 แห่ง  (จากเดือนมีนาคม 2563 จำนวน 490,076 แห่ง เหลือ 484,731 แห่ง ในเดือนมีนาคม 2564) ทำให้จำนวนผู้ใช้สิทธิประกันสังคมกรณีว่างงานเพิ่มขึ้นมากสภาพเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะแย่ลงและอัตราการว่างงานจะเพิ่มมากขึ้นหากยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ ในปี 2563 มีจำนวนผู้ถูกเลิกจ้าง 340,143 คน เพิ่มจากปี 2562 ที่มีผู้ถูกเลิกจ้าง 66,358 คน  และมีจำนวนผู้สมัครใจลาออก จำนวน 813,461 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีจำนวนผู้สมัครใจลาออกจำนวน 604,314 คน นอกจากนี้ยังกรณีเหตุสุดวิสัยถึง1 945,587 คน (ตารางที่ 1)  

มาตรการล็อกดาวน์ระงับการประกอบกิจการหลายกลุ่มธุรกิจส่งผลต่อรายได้ และสภาพคล่องทางการเงินของภาคธุรกิจแรงงานและประชาชนในวงกว้าง  หนึ่งในมาตรการเยียวยาแรงงานในระบบประกันสังคมโดยสำนักงานประกันสังคม คือมาตรการเยียวยาผ่านการลดอัตราเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม การดำเนินการมาตรการแบ่งออกเป็น 3 ช่วงตามสถานการณ์การแพร่ระบาดแต่ละระลอก โดยมีอัตราการเยียวยาที่ต่างกัน คือ ช่วงแรกเดือน มี.ค.-พ.ค.2563  ช่วงที่สองเดือน ก.ย.-พ.ย. 2563  โดยปี 2563 มาตรการให้ความช่วยเหลือแรงงาน และนายจ้าง ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับแรงงานและนายจ้างเป็นเงินทั้งสิ้น 92,243.69 ล้านบาท  และช่วงที่สามเมื่อต้นปี 2564 สำนักงานประกันสังคมได้ออกมาตรการปรับลดเงินสมทบเพื่อให้ความช่วยเหลือและแบ่งภาระค่าใช้จ่ายให้กับแรงงาน นายจ้าง ประมาณการเป็นเงินทั้งสิ้น 62,201 ล้านบาท ซึ่งสามารถสรุปเงื่อนไขการลดอัตราเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตนในแต่ละช่วงได้ตามตารางที่ 2  

แม้ว่าการลดหย่อนเงินสมทบจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อนายจ้างจำนวน 485,053 ราย ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,124,209 คน และผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1,799,786 คน  (ข้อมูล ณ ธันวาคม 2563) ให้สามารถนำเงินสมทบที่ลดลงไปใช้จ่ายเพื่อเสริมสภาพคล่อง ลดปัญหาทางการเงินของนายจ้างและผู้ประกันตน และรักษาระดับการจ้างงาน แต่ผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา 3 ระลอก ผ่านระยะเวลาร่วม 9 เดือนทำให้มีจำนวนการว่างงานเพิ่มขึ้น และคาดว่าผลกระทบต่อแรงงานในระบบประกันสังคมจะทำให้มีผู้ใช้สิทธิประกันสังคมการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเปลี่ยนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่เพิ่มขึ้น  

หากพิจารณาในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 จะเห็นว่ามีผู้ว่างงานถึง 318,479 คน  มาตราการลดหย่อนเงินสมทบประกันสังคมลดภาระเงินสมทบของลูกจ้างมาตรา 33 เป็นเงินทั้งสิ้น 1,650 บาท คิดเป็นเฉลี่ยวันละ 18 บาท และมาตรา 39 รวมเป็นเงิน 942 บาท คิดเป็นเฉลี่ยวันละ 10 บาท  จะเห็นได้ว่าจำนวนเงินที่ได้รับการลดหย่อนยังมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการอื่น ๆ ทั้งนี้สถานการณ์การจ้างงานยังไม่มีความแน่ชัดว่าจะกลับสู่สภาพปกติเมื่อใด การดำเนินการมาตรการเยียวยาของสำนักงานประกันสังคมจึงควรวางแผนรองรับในไตรมาสต่อ ๆ ไปตามการคาดการณ์สถานการณ์แรงงาน ทั้งนี้กองทุนประกันสังคมต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม และความเพียงพอของมาตรการลดหย่อนการส่งเงินประกันสังคมที่ให้ความช่วยเหลือนั้น  โดยต้องคำนึงถึงข้อจำกัดในด้านเสถียรภาพของกองทุนหรือความสามารถในการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนตามที่กฎหมายกำหนดเทียบกับเจตนารมณ์ของการตั้งกองทุนประกันสังคมขึ้นมา หากพิจารณาในแง่ของเงินกองทุนเทียบกับมาตรการให้ความช่วยเหลือแรงงานในสองระยะของปี 2563 จะพบว่าในปี 2562 กองทุนมีจำนวนเงิน 2,095,393 ล้านบาท (ณ 31 ธันวาคม 2562)  สำนักงานประกันสังคมให้ความช่วยเหลือแรงงาน และนายจ้าง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 92,243.69 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 4.4 ของกองทุนประกันสังคม) และเงินกองทุนในปี 2563 มีจำนวน 2,184,407 ล้านบาท (ณ 31 ธันวาคม 2563)  สำนักงานประกันสังคมคาดว่าจะให้ความช่วยเหลือแรงงาน และนายจ้าง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 62,201 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 2.85 ของกองทุนประกันสังคม) ซึ่งหากมองในระยะสั้นมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวนี้มีสัดส่วนที่ไม่สูง แต่หากประเมินเสถียรภาพของกองทุนในระยะยาวอาจไม่เพียงพอที่จะชำระคืนเงินสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนโดยเฉพาะกรณีชราภาพ ส่วนเจตนารมณ์ของกองทุนประกันสังคม2 ต้องกลับมาพิจารณาในเรื่องของการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข เนื่องจากในรอบกว่ายี่สิบกว่าปีที่ผ่านมาประเทศเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเพียงครั้งเดียว แต่วิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้เป็นวิกฤติที่กระทบเศรษฐกิจโลก และเป็นครั้งแรกที่ลูกจ้างหรือคนทำงาน และสถานประกอบการต้องการพึ่งกองทุนประกันสังคมอย่างจริงจัง เพราะในภาวะปกติทั้งนายจ้างและผู้ประกันตนต่างจ่ายเงินครบถ้วนและตรงตามเวลา แต่ในสภาวการณ์ไม่ปกติเช่นนี้กลับไม่สามารถได้รับการช่วยเหลือที่มากพอในภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นในระดับมหภาค โดยเฉพาะนายจ้าง การลดหย่อนและเลื่อนจ่ายไม่สามารถช่วยเหลือนายจ้างที่ได้รับผลกระทบทางตรงได้  ดังนั้นกองทุนประกันสังคมควรมีการทบทวนมาตรการช่วยเหลือให้เพียงพอและครอบคลุมกับค่าครองชีพและภาระของสถานประกอบการ อาทิ 

  • การเพิ่มมาตราการช่วยเหลือโดยเฉพาะเรื่องสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน  แม้ว่าผู้ประกันตนมาตรา 33 อาจได้รับผลกระทบน้อยกว่าแรงงานกลุ่มอื่น ๆ  แต่สิทธิประกันสังคมกรณีว่างงาน และกรณีเลิกจ้างของผู้ประกันตนมาตรา 33 ซึ่งจะเปลี่ยนเป็น 39 เมื่อไม่มีนายจ้างจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากเพราะจะมีรายได้ไม่มั่นคง หรือขาดรายได้  เนื่องจากจากภาวะเศรษฐกิจวิกฤติที่คาดว่าจะยืดเยื้อกว่าจะกลับสู่สภาพปกติ  ทั้งนี้การเพิ่มมาตรการเยียวยาอาจเป็นการช่วยเหลือกรณีพิเศษลักษณะเดียวกับโครงการของรัฐบาล หรือมาตรการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกันตนเพื่อบรรเทาภาวะหนี้สินที่มีอยู่ก่อนหน้า 
  • การเยียวยากลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักและถูกระงับการประกอบกิจการชั่วคราว เช่น กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรมและร้านอาหาร รถยนต์ ขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า และอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย  ช่วยอุดหนุนด้านค่าใช้จ่ายให้แก่นายจ้างในระบบประกันสังคมโดยเฉพาะกลุ่มสถานประกอบการขนาดเล็กเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อไป และชะลอการเลิกจ้าง 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง 

https://www.sso.go.th/wpr/assets/upload/files_storage/sso_th/29a81c1751d5c1a1a28764e6a7f667e6.pdf

https://www.sso.go.th/wpr/assets/upload/files_storage/sso_th/c11623bf29d7a1b600dff2d5d9f818b5.pdf

https://www.sso.go.th/wpr/main/privilege/ข้อมูลสถิติกองทุนประกันสังคม_sub_category_list-label_1_168_749

https://www.thairath.co.th/news/society/2019344\

http://123.242.168.130/krabicovid/files/com_standard/2020-05_285dc9ee98edec2.pdf 

https://so01.tci-thaijo.org/index.php/AEJ/article/view/10393

https://www.posttoday.com/politic/analysis/191918 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดย คณะผู้วิจัย TDRI
22 พฤษภาคม 2564

นักวิจัย

แชร์บทความนี้