ความเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับมาตรการเพิ่มสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนจาก 62% เป็น 75%

การระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยเป็นเรื่องโรคอุบัติใหม่ ที่ทางหน่วยงานของภาครัฐเองก็ไม่ได้กำหนดแผนงาน และมิได้ตั้งงบประมาณล่วงหน้ามาก่อน มาตรการต่าง ๆ ก็ปรับแก้ตามสถานการณ์จึงปรากฏว่ามีการกำหนดเงื่อนไขออกมาใหม่เป็นระยะ ๆ  วิกฤตดังกล่าวกระทบต่อการจ้างงานในตลาดแรงงานอย่างรุนแรง

แม้การควบคุมการระบาดจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในช่วงปลายปี พ.ศ.2563 แต่ตัวเลขคนตกงานยังคงสูงที่สุดในรอบ 11 ปี และมีแรงงานที่ต้องหยุดงานชั่วคราวถึง 2.5 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมากสำหรับประเทศไทย  ตลอดปีแรกของการระบาด แรงงานไทยตกงานจำนวนมากในไตรมาส 1 มีผู้ว่างงาน 395,000 คน ขณะที่ไตรมาส 4 จำนวน
ผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 727,000 คน หรือร้อยละ 1.9 ของจำนวนงานแรงงานทั้งหมด  โดยมีจำนวนผู้เสมือนว่างงาน[1]เฉลี่ยทั้ง 4 ไตรมาสกว่า 3.67 ล้านคน

ในปัจจุบันรัฐบาลได้มีมาตรการเยียวยาเพื่อช่วยเหลือแรงงานเฉพาะหน้า แต่มาตรการต่าง ๆ ยังมีช่องโหว่ที่ทำให้การเยียวยาไม่บรรลุผล เช่น การปรับสิทธิประโยชน์ลูกจ้างกรณีลาออกจะได้สิทธิประโยชน์ร้อยละ 30 ไม่เกิน 90 วัน หากถูกเลิกจ้างจะได้รับค่าตอบแทนร้อยละ 50 ไม่เกิน 180 วัน ซึ่งได้มีประกาศเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้จากเดิมร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 62 ไม่เกิน 90 วัน และจากเดิมร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 70 ไม่เกิน 200 วัน
ซึ่งในปัจจุบันมีการหยุดกิจการชั่วคราวในธุรกิจต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ในบางกิจการ นายจ้างมีการใช้สิทธิปิดกิจการชั่วคราวโดยอ้าง “เหตุสุดวิสัย” ตามมาตรา 75 ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ทั้ง ๆ ที่ยังมีความสามารถจ่ายค่าจ้างและสวัสดิการให้ลูกได้ตามปกติ  นอกจากนี้ยังพบกรณีการเลิกจ้าง โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานเหมาค่าแรง สัญญาจ้างชั่วคราว แรงงานรายวัน แต่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินอื่น ๆ ตามที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดไว้ และให้ลูกจ้างไปร้องเรียนผ่านกระบวนการยุติธรรมที่มีระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี กว่าจะได้รับเงินดังกล่าว

การปฏิบัติของกลุ่มนายจ้างดังกล่าวที่ปฎิบัติต่อลูกจ้าง ภาคีสังคมแรงงานสู้วิกฤต COVID-19 ทราบข้อมูลจากแรงงานบางส่วน คือ การจ่ายเงินในอัตราต่ำกว่าร้อยละ 75 โดยทำข้อตกลงสภาพการจ้างเป็นรายบุคคล จ่ายเงินให้เฉพาะในวันที่ลูกจ้างมาทำงานเท่านั้น ตามอัตราค่าจ้างที่ตกลงกัน และงดการจ่ายสวัสดิการที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงาน เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าอาหาร เป็นต้น

ข้อเสนอระยะสั้น คือ การจัดตั้งกลไกที่เป็นความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน สหภาพแรงงาน ลูกจ้าง ภาควิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรประชาสังคม เช่น กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อตรวจสอบสถานประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อย่างเคร่งครัด

การระบาดของ COVID-19 ภาคธุรกิจต้องคงการจ้างงานตามภาวะเศรษฐกิจเท่านั้น เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีมาตรการรักษาการจ้างงาน (Job Retention) อย่างเป็นรูปธรรม  ดังนั้น บทเรียนที่ภาคธุรกิจได้รับจากวิกฤตที่เกิดขึ้นอาจเป็นแรงขับเคลื่อนให้มีการปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตมากยิ่งขึ้น อันนำไปสู่การจ้างงานที่มีความยืดหยุ่นทั้งด้านชั่วโมงการจ้างงานและจำนวนแรงงานในองค์กร

สำหรับข้อเสนอระยะยาวของภาครัฐ[2] จากมุมมองมาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากวิกฤต COVID-19 ของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เกิดขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อน โดยมีเป้าหมายเพื่อพยายามลดจำนวนผู้ตกงานจากวิกฤตในครั้งนี้ให้มีจำนวนน้อยที่สุด และหนึ่งในมาตรการดังกล่าว คือ การที่ภาครัฐเข้าไปช่วยจ่ายเงินเดือน (Job Retention Scheme) [3] หรือค่าจ้างให้กับแรงงานในองค์กรธุรกิจต่าง ๆ ในระยะสั้น เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถจ้างแรงงานต่อไปได้โดยไม่ต้องลดการจ้างงาน เช่น ประเทศสิงคโปร์ออกมาตรการจ่ายเงินเดือนให้แรงงานที่ได้รับผลกระทบร้อยละ 25-75 ของเงินเดือน ระยะเวลา 9 เดือน และสหราชอาณาจักรจ่ายเงินร้อยละ 80 ของเงินเดือน ระยะเวลา 3 เดือน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวยังมีข้อจำกัดที่รัฐต้องกลั่นกรองตั้งแต่รายธุรกิจและในเชิงพื้นที่เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียของสังคม (Deadweight Loss) จากการที่ผู้ประกอบการประสงค์ที่จะจ้างงานอยู่เดิมแล้ว  ขณะที่ระบบคุ้มครองสังคมดังกล่าวมีจุดเน้นที่การช่วยเหลือแรงงานด้านการเงินเท่านั้น ยังขาดการผูกเงินช่วยเหลืออย่างมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfers: CCT) เพื่อเพิ่มทุนมนุษย์ (Human Capital) เช่น ด้านการศึกษาและสาธารณสุข โดยตั้งอยู่บนสมมติฐานการรับเงินเยียวยาร่วมกับการฝึกอบรมทักษะที่ต้องใช้ในการทำงานหรือการเปลี่ยนงานในระยะยาว ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อแรงงานมากขึ้นในอนาคต

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

คณะวิจัย TDRI
22 พฤษภาคม 2564


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

[1] ผู้ที่ทำงาน น้อยกว่า 4 ชั่วโมง/วัน โดยอัตราการว่างงานหมายถึง ร้อยละของจำนวนผู้ว่างงานต่อจำนวนผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน

[2] OECD. (2018). Transformative Technologies and Jobs of the Future. Canadian G7 Innovation Ministers’ Meeting. Canada: OECD. 20 Retrieved August 2020 from https://www.oecd.org/innovation/transformative-technologies-and-jobs-of-the-future.pdf

[3] https://www.etmm-online.com/saving-jobs-in-manufacturing-a-931294/