ข้อเสนอ การบริหารจัดการ “ลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติใหม่” ปี 2564 ให้มีความยุ่งยากน้อยลง

ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์

จากการประชุม ครม. เมื่อ 14 มกราคม 2564 ได้มีมติให้นายจ้าง/สถานประกอบการ ดำเนินการแจ้งรายชื่อแรงงานต่างด้าวที่ต้องการจ้าง และให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ เมียนมา ลาว กัมพูชา ที่อยู่อย่างผิดกฎหมาย (แต่ได้รับการผ่อนผันตามมติ ครม. 29 ธันวาคม 2563) มาลงทะเบียนแจ้งข้อมูลบุคคลผ่านระบบออนไลน์และมาแสดงตัวตน ภายใน 13 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานั้น เป็นข้อเสนอของกระทรวงแรงงานที่ขอเปิดจดทะเบียนแรงงานกลุ่มนี้เป็นกรณีพิเศษอันเนื่องมาจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ (ระยะที่สองต่อเนื่องระยะที่สาม) ทำให้ไม่สามารถนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU ได้โดยสะดวก เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานของนายจ้าง จึงใช้วิธีนี้ทดแทนแรงงานเดิมที่ออกและรับแรงงานชุดใหม่เข้ามาใหม่

ผู้เขียนสนับสนุนความคิดดังกล่าวที่จะนำเอาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายทำงานอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆและบางส่วนตกงานจากมาตรการปิดกิจการชั่วคราวและยังไม่สามารถเดินทางกลับประเทศตัวเองได้ มีสิทธิขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย

การผ่อนผันเป็นกรณีพิเศษอันเนื่องมาจากการการะบาดของ COVID-19 นี้ ยังสอดคล้องกับมิติของความมั่นคงด้านสุขภาพ (Health Security) เพิ่มเติมจากความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เพราะเสี่ยงเป็นคลัสเตอร์ติดเชื้อจากการแพร่กระจายของ COVID-19 (Spreader) ได้โดยง่าย เนื่องจากแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติอยู่อาศัยกันเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) และอาจจะไม่เคยได้รับการตรวจสุขภาพ 6 โรคที่จำเป็นเช่นเดียวกับแรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย

ช่วงปลายปี 2563 ต่อเนื่องถึงวันที่มีมติ ครม. 14 มกราคม 2564 เป็นช่วงช่องว่างที่ทางราชการยังไม่ได้ยกระดับการปกป้องชายแดนนับพันกิโลเมตรกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะด้านเมียนมา ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าเกิดการลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศไทยในช่วงนั้นพร้อม ๆ กับที่เมียนมาเริ่มมีการระบาด COVID-19 รุนแรงขึ้นจนถึงเขตชายแดน บางส่วนของแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมายได้ติดเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์อังกฤษและเข้ามาปะปนทำงานอยู่ตามแหล่งจ้างงานในจังหวัดสมุทรสาครจนเป็นเหตุให้นำมาติดคนค้าขายในตลาดย่านมหาชัยตลาดกลางกุ้งจนกลายเป็นกลุ่มติดเชื้อขนาดใหญ่ (Super Cluster Spreader) กลายเป็นการระบาดรอบ 2 ดังเป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว

ดังนั้น การตัดสินใจของรัฐบาลไทยจึงถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่เปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่อยู่อย่างผิดกฎหมายอีกครั้งหนึ่ง เพื่อสะดวกต่อการควบคุมการระบาดของ COVID-19 และสวัสดิภาพของแรงงาน

อย่างไรก็ตาม กลุ่มแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่อยู่ในประเทศไทยซึ่งมีนายจ้างและทำงานอย่างถูกกฎหมายเป็นส่วนมาก หรือ ประมาณ 2 ล้านคนนั้นคงไม่มีปัญหาอะไรในการดำเนินการตามขั้นตอน โดยมีการตรวจโรคกับกระทรวงสาธารณสุขภายใน 16 เมษายน 2564 พร้อมยื่นคำขอใบอนุญาตตามระบบออนไลน์ ภายใน 16 มิถุนายน 2564 และท้ายที่สุดจัดทำทะเบียนประวัติ (ทร.38/1) และรับบัตรสีชมพู ภายใน 12 พฤศจิกายน 2564 ส่วนการจ้างต่างด้าวทำงานประมง ก็เป็นเรื่องของกรมประมงที่จะออกหนังสือ “คนประจำเรือ” ดูจะไม่มีปัญหาอะไร (ดูช่วงเวลาลงทะเบียนจากตารางข้างล่าง)

แต่จะมี คนต่างด้าวอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่เคยมีเอกสารใด ๆ หรือมีเอกสารแต่หมดอายุ มีวีซ่าแต่ไม่มีบัตรสีชมพู หรือมีเอกสารครบทุกอย่างแต่ไม่มีใบแจ้งออก หรือใบแจ้งออกหมดอายุ (หลบทำงานอยู่) กลุ่มเหล่านี้อาจจะใช้โอกาสนี้ลงทะเบียนในกลุ่ม “แรงงานต่างด้าวยังไม่มีนายจ้าง” เป็นส่วนมาก

จากการวิเคราะห์ข้อมูลจากจำนวนแรงงานต่างด้าวลงทะเบียนออนไลน์ จำนวน 654,864 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม (สถิติกระทรวงแรงงานจาก e-Workpermit.doe.go.th) พบว่า

กลุ่มที่ 1 มีนายจ้าง แต่เอกสารขาดความสมบูรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง อาจจะไม่ครบ ทำให้สถานภาพการจ้างเป็นคนทำงานผิดกฎหมาย จำนวน 596,562 คน

กลุ่มที่ 2 ไม่มีนายจ้างจำนวน 58,362 คนถ้ารวมกับแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติถูกกฎหมายก่อนที่จะมีการจดทะเบียนประมาณ 2.261 ล้านคน จะทำให้ประเทศไทยมีแรงงานถูกต้อง 3 สัญชาติเข้าระบบประมาณ 2.917 ล้านคนเศษ ซึ่งจำนวนนี้สูงกว่าจำนวนเมื่อเดือนธันวาคม 2563 ก่อนมี COVID-19 ระบาดอยู่ประมาณ 0.655 ล้านคน ถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งที่สามารถนำแรงงานมาเข้าระบบได้มากขนาดนี้ ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่าตลาดแรงงานของไทยยังต้องการแรงงาน 3 สัญชาติจากประเทศเพื่อนบ้านอยู่ประมาณ 3 ล้านคน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังเป็นประเด็นปัญหา คือ

1. คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานอย่างเป็นทางการ เป็นฤดูกาลประมาณ 6-7 หมื่นคน (เชื่อว่ามีไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน) ถูกระงับไป เนื่องจากปัญหาปิดชายแดนหยุดการผ่อนผันนำเข้าแรงงานจำนวนดังกล่าวในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลิตผลการเกษตร บุคคลต่างด้าวเข้ามาเป็นฤดูกาล ชาวเมียนมา ทำงานประมาณ 3 ถึง 5 เดือน (ไม่มีกิจกรรมที่ทำงานได้ทั้งปี) ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน

2. ปัญหาแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่จดทะเบียนใหม่ แต่ยังไม่มีนายจ้าง 58,362 คน ซึ่งมีปัญหาที่อยู่ในประเทศไทยอยู่อย่างยากลำบากเพราะน่าจะไม่มีเงินใช้จ่ายอย่างน้อยคนละ 2,000-3,000 บาทต่อเดือนและจะต้องมีค่าใช้จ่ายในกระบวนการจดทะเบียนอีก 9,000 บาท ซึ่งเป็นภาระกับแรงงานกลุ่มนี้มาก (ถ้าไม่มีนายจ้างรองรับ)

ปัญหาที่เห็นคือ ไทยขาดแคลนแรงงานเป็นฤดูกาลประมาณ 6-7 หมื่นคน เพื่อเก็บเกี่ยวหรือทำงานเกี่ยวข้องกับการเกษตรส่วนใหญ่อยู่บริเวณจังหวัดชายแดน และแรงงานที่จดทะเบียนใหม่นี้น่าจะอยู่ส่วนกลางของประเทศ (ไม่มีสถิติตอนนี้ว่าอยู่จังหวัดใดบ้าง) ไม่มีทั้งนายจ้าง ไม่สามารถเดินทางข้ามพื้นที่จดทะเบียนได้เนื่องจากผิดกฎหมาย ในขณะที่มีความต้องการแรงงานและมีแรงงานอยู่ในประเทศแล้ว แต่ไม่สามารถนำแรงงานไปทำงานได้ ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอ ดังนี้

1) ระยะเวลาสิ้นเดือนเมษายนอยู่ในช่วงที่นายจ้างยื่นขอใบอนุญาตทำงาน (เสียค่าใช้จ่าย 1,900 บาท) และทำทะเบียนกับมหาดไทยขอรับบัตรสีชมพู (ค่าใช้จ่าย 80 บาท)

ถ้าแรงงานต่างด้าวไม่มีนายจ้างภายในเดือนกันยายน 2564 ซึ่งตอนนี้เหลือเวลาทำงาน 5 เดือน แรงงานเหล่านี้จะอยู่อย่างไม่มีงานหรือไม่มีนายจ้าง ซึ่งผู้เขียนเสนอให้ มีหน่วยงานของรัฐจัดที่อยู่อาศัยให้พวกเขาและดูแลเรื่องปัจจัย 4 แก่แรงงานเหล่านี้ เพื่อความมั่นคงของประเทศ (โดยเฉพาะการกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงของการระบาด COVID-19 ถ้ายังอยู่กันอย่างแออัดและยังไม่สามารถหานายจ้างได้)

2) ทำการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ทั้งทาง Social Media และ TV ช่องต่าง ๆ อย่างมีระบบให้ถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการจ้างแรงงานกลุ่มนี้เข้าไปทำงานให้เร็วที่สุด ซึ่งทางรัฐบาลเคยผ่อนผันให้พวกเขาเปลี่ยนนายจ้างได้ แต่กรณีนี้ไม่ใช่ประเด็นเพราะต้องหานายจ้างให้พวกเขาก่อน จะเป็นนายจ้างทั่วไปหรือนิติบุคคล เช่น สหกรณ์หรือรูปแบบบริษัทจัดหางานที่จะเข้ามาบริหารคนกลุ่มนี้ให้มีงานทำ ถ้าไม่ถาวรต้องเคลื่อนย้ายไปตามแหล่งงานก็มีกฎระเบียบที่ต้องผ่อนผันให้บุคคคลเหล่านี้เคลื่อนย้ายไปยังแหล่งงานได้โดยง่าย เช่น การเก็บทุเรียนที่ระยองไปจันทบุรี และเคลื่อนย้ายกลับมาทำงานบรรจุผลไม้ส่งออกต่างประเทศ ซึ่งเป็นคนละพื้นที่ต้องมีกฎระเบียบให้แรงงานกลุ่มนี้เคลื่อนย้ายได้

3) กลุ่มแรงาน 3 สัญชาติ ที่มีนายจ้างอีกเกือบ 6 แสนคน ถ้านายจ้างเลิกจ้างด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม เช่น เลิกจ้างก่อนขั้นตอนลงทะเบียนจะครบถ้วนก็ใช้วิธีเดียวกันคือ กรมการจัดหางานทั่วประเทศประกาศหานายจ้างผ่านแพลตฟอร์มไทยมีงานทำ หรือจะใช้การสื่อสารทางโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อที่เร็วที่สุด เพื่อจะ Matching อุปสงค์/อุปทานกลุ่มนี้ให้เร็วที่สุด โดย Update จำนวนคนงาน 3 สัญชาติที่ยังไม่ได้งานทำทุกวันจนกว่าแรงงานจะหมด Stock ที่มีอยู่ และตั้งเป้าทำงานโครงการนี้ให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ตามกรอบเวลาของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน

4) จัดตั้งศูนย์แลกเปลี่ยนแรงงานต่างด้าว “ภายใต้กรมการจัดหางาน” ทุกจังหวัด กรณีที่มีแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ จำเป็นต้องออกหรือคาดว่าจะออกจากงาน และประสงค์ต้องการทำงานในประเทศไทยต่อไป (ถ้าเขาต้องการกลับบ้านก็ใช้เงินกองทุนส่งแรงงานกลับบ้านช่วยเหลือได้) ให้มาลงชื่อไว้ที่ศูนย์แลกเปลี่ยนฯ เพื่อหางานให้ต่างด้าวทำโดยเร็วเพื่อไม่ใช้เกิดปัญหาแรงงานตกค้างหรือแรงงานผิดกฎหาย (อาจจะต้องมีหลักฐานให้แรงงานถือไว้ช่วงรองานเพื่อไม่ให้ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม เป็นต้น)

5) กฎระเบียบใด ๆ ที่เป็นอุปสรรคในการเปลี่ยนงาน และ/หรือเข้าถึงแหล่งจ้างงานของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ให้กรมการจัดหางานเสนอต่ออนุกรรมการตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวในสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 เพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคจ้างงานของแรงงานต่างด้าวดังกล่าว

6) ประการสุดท้ายอาจจะไม่เกี่ยวกับเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าวจดทะเบียนใหม่เท่านั้นแต่หมายถึงแรงงานต่างด้าวทั้งหมดประมาณ 3 ล้านคนก็มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนเช่นเดียวกับคนไทยที่จะต้องได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 โดยเร็วภายในปีนี้เช่นกัน เพื่อไม่ให้พวกเขากลับมาเผชิญกับการแพร่ระบาดโดยต้องฉีดเข็มแรก 3 ล้านคนวันละ 30,000 โดส ต้องใช้เวลาถึง 100 วันและฉีดซ้ำเป็นเข็มที่ 2 ก็ใช้เวลาอีก 100 วันเช่นกัน ถ้าทำได้เช่นนี้สิ้นปีแรงงานต่างด้าวจะได้รับวัควีนสองรอบทุกคน ซึ่งจะลดความกังวลใจและความไม่ไว้วางใจกับคนทุกฝ่ายได้มาก

ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ