tdri logo
tdri logo
27 พฤษภาคม 2021
Read in Minutes

Views

สามชาติเด่นแรงงาน ทักษะข้ามชาติในประเทศไทย

สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์
ชาดา เตรียมวิทยา

แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยไม่ได้มีแต่แรงงานข้ามชาติไร้ฝีมือจากเมียนมา กัมพูชา และลาว แต่ยังมีแรงงานระดับสูงหรือระดับทักษะและระดับวิชาชีพอีกกว่าแสนคนที่เข้ามาประกอบธุรกิจ ลงทุนและทำงานทั้งที่ผ่านการส่งเสริมการลงทุนและไม่ได้ผ่าน แรงงานเหล่านี้มีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการลงทุนการพัฒนาประเทศและการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างขาดไม่ได้

ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศที่มีแรงงานทักษะ 3 อันดับแรกที่รักษาอันดับไว้อย่างเหนียวแน่น คือ ญี่ปุ่น จีน และ ฟิลิปปินส์ และยังมีอันดับสี่ที่ไล่หลังมาอย่างคงเส้นคงวา คือ แรงงานทักษะจากอินเดีย แต่ในบทความนี้ขอเว้นไว้ก่อนเนื่องจากเนื้อที่จำกัด

ถ้าดูจากภาพประกอบ จะเห็นได้ว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นยังรักษาอันดับหนึ่งตลอดเวลาแต่มีแนวโน้มลดลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาอาจจะเนื่องมาจากการย้ายฐานการผลิตในระยะหลัง ส่วนในช่วงปี 2563 ทั้ง 3 ประเทศมีจำนวนแรงงานทักษะในประเทศไทยลดลงฮวบฮาบสาเหตุสำคัญเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดซึ่งเป็นที่ทราบกันดี

ในขณะที่แรงงานทักษะจากญี่ปุ่นเริ่มมีแนวโน้มลดลง แรงงานทักษะจากจีนและฟิลิปปินส์กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ยกเว้นปี 2563)

ที่มา: สำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว

คนญี่ปุ่นที่เข้ามาอยู่เมืองไทยแบบชั่วคราวทั้งหมดรวมผู้ติดตามคู่สมรสและเข้ามาอยู่หลังเกษียณ มีจำนวนทั้งหมดเท่าใดไม่ทราบแน่ชัด ตัวเลขจากการสำมะโนประชากรของไทยในปี 2553 พบว่ามีชาวญี่ปุ่นในประเทศไทย ถึง 80,957 คน โดยอยู่ในกรุงเทพ 63,069 คน ที่เหลือกระจายอยู่ทุกภาคโดยเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่ในตัวเมือง ในเวลาต่อมาตัวเลขของกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นบอกว่าในปี 2557 มีประมาณ 64,285 คน และตัวเลของค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) ระบุว่าในปี 2560 มีชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย 73,000 คนโดยอยู่ในกรุงเทพ 53,000 คน

แรงงานญี่ปุ่นในเมืองไทยเป็นแรงงานทักษะและวิชาชีพเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

ในปี 2554 แรงงานข้ามชาติจากญี่ปุ่นมีจำนวน 2.59 หมื่นคน (ไม่นับเจ้าหน้าที่สถานฑูตและองค์กรระหว่างประเทศ) ประกอบด้วยส่วนหนึ่งเป็นพนักงานของบริษัทและโรงงานญี่ปุ่นในเมืองไทยจำนวน 1.14 หมื่นคน และอีกส่วนหนึ่งเป็นพนักงานของบริษัทญี่ปุ่นที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 1.45 หมื่นคน จำนวนแรงงานทักษะจากญี่ปุนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2554-2556 และถึงระดับสูงสุดเป็น 3.67 หมื่นคนในปี 2558 และรักษาระดับอยู่จนถึงปี 2560 จึงเริ่มมีแนวโน้มลดลงเหลือ 2.85 หมื่นคนในปี 2563

สำหรับคนจีนคงไม่ต้องบอกว่าเป็นต่างชาติที่มีจำนวนมากที่สุดที่ประมาณ 9-10 ล้านคน ข้อมูลเก่าของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (รายงานสถิติปี 2554) บอกว่ามีสัดส่วนร้อยละ14 ของประชากรทั้งหมด แต่เร็วๆ นี้สถิติรายปี พ.ศ.2563 ระบุว่า ประชากรในประเทศไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 98.6 มีสัญชาติไทย และร้อยละ1.4 เป็นสัญชาติอื่น

ในขณะที่แรงงานสัญชาติจีนมีอยู่ทุกระดับและทุกหนทุกแห่งแต่หากจำกัดเฉพาะแรงงานทักษะที่เข้ามาทำงานในลักษณะชั่วคราวก็ยังมีจำนวนน้อยกว่าแรงงานทักษะจากญี่ปุ่น โดยในปี2554 มีแรงงานทักษะข้ามชาติจากจีนจำนวนราวหมื่นคน (เทียบกับญี่ปุ่น 2.59 หมื่นคน) ประกอบด้วยพนักงานของบริษัทและโรงงานจีนและเครือข่ายในเมืองไทย 7.2 พันคน และอีกส่วนหนึ่งเป็นพนักงานของบริษัทจีนที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 2.5 พันคน แต่แรงงานทักษะข้ามชาติจากจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 3.1 หมื่นคน (เกือบเท่ากับแรงงานจากญี่ปุ่น 3.3 หมื่นคน) ก่อนจะลดลงในปี 2563 เนื่องจากภาวะการแพร่ระบาดของโควิด 19

แนวโน้มแรงงานทักษะจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่รู้ว่าจะเป็นข่าวดีหรือข่าวร้าย เพราะตอนนี้คนจีนอพยพรุ่นใหม่ (Xinyimin)หลั่งไหลเข้ามายึดหัวหาดในประเทศไทยไว้หลายแห่ง เช่น ไชน่าทาวน์ที่ห้วยขวาง ที่เชียงใหม่ ลำปาง และหลายจังหวัดภาคใต้ ซึ่งอาจรวมทั้งคนจีนประเภทโรบินฮู้ดที่หนีวีซ่าและนักเรียนซึ่งหลายคนเรียนจบแล้ว (หรือยังไม่ทันจบ) ก็ได้งานทำที่เมืองไทยต่ออีกจำนวนหนึ่ง สำหรับแรงงานทักษะที่เข้ามาอย่างถูกต้องนั้นจำนวนไม่น้อยน่าจะอยู่แถวเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อีอีซี เนื่องจากในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมามีการลงทุนจากจีนเข้ามาหลายหมื่นล้านบาทซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในเขตอีอีซี

แรงงานทักษะลำดับที่สามเป็นแรงงานจากฟิลิปปินส์ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ากว่าแรงงานจากจีน โดยเพิ่มจาก 7.8 พันคนในปี 2554 เป็น 2.1 หมื่นคนในปี 2562 แรงงานจากฟิลิปปินส์ไม่ได้ผูกติดกับการค้าการลงทุนมากอย่างญี่ปุ่นและจีน แต่เป็นแรงงานทักษะวิชาชีพที่เข้ามาทำงานโดยการขอใบอนุญาตทำงาน ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากข้อตกลงด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะของสมาชิกประเทศอาเซียนเช่น AFAS (ASEAN Framework Agreement on Services: กรอบความตกลงด้านการค้าบริการ) และMRA (Mutual Recognition Arrangements: ข้อตกลงยอมรับร่วมในเรื่องคุณสมบัติของนักวิชาชีพอาเซียน) แต่ไม่ยืนยันเพราะแรงงานฟิลิปปินส์ถึงร้อยละ 62 เข้ามาประกอบอาชีพด้านการสอนซึ่งไม่เกี่ยวกับวิชาชีพ 8 สาขาที่อยู่ในความตกลง ขณะที่สัดส่วนของแรงงานทักษะจากฟิลิปปินส์ที่เข้ามาโดยสิทธิประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุนค่อนข้างน้อย โดยในปี 2554 คิดเป็นร้อยละ 8 และในปี 2562 คิดเป็นร้อยละ 7.7 ส่วนเข้ามาทำอะไรจะกล่าวถึงในอันดับต่อไป

แรงงานทักษะข้ามชาติจาก 3 ประเทศนี้ประกอบอาชีพอะไร ดูได้จากตารางที่แนบ

เห็นได้ชัดว่า แรงงานทักษะจากญี่ปุ่นทำงานด้านธุรกิจการลงทุนมากที่สุดโดยเป็นเจ้าหน้าที่ระดับผู้จัดการขึ้นไปถึงร้อยละ 71 เทียบกับแรงงานทักษะระดับเดียวกันจากจีนร้อยละ 45 และจากฟิลิปปินส์ ร้อยละ14 ในประเภทต่อมา “นักวิชาชีพและช่างเทคนิค” ซึ่งประกอบด้วยสถาปนิก/วิศวกรและช่างเทคนิค/คุมเครื่องจักร ญี่ปุ่นใช้แรงงานด้านนี้ร้อยละ 14 ใกล้เคียงกับจีน ร้อยละ 21 แต่ของจีนในกลุ่มนี้เป็นแรงงานระดับกึ่งทักษะเพื่อคุมเครื่องจักรเป็นส่วนใหญ่ (จำนวน 5,023คน เทียบกับวิศวกรกับสถาปนิก 1,506 คน) ในขณะที่แรงงานทักษะจากฟิลิปปินส์ในหมวดนี้มีเพียงร้อยละ 4 ในหมวดที่สาม “ผู้ประกอบวิชาชีพ” ซึ่งประกอบด้วยผู้ประกอบวิชาชีพธุรกิจ และผู้ประกอบวิชาชีพสังคม/สารสนเทศ มีแรงงานทักษะจากญี่ปุ่นร้อยละ 4 (ของแรงงานฯจากญี่ปุ่น) เทียบกับจากจีนร้อยละ 8 (ของแรงงานฯจากจีน) และจากฟิลิปปินส์ ร้อยละ 6 (ของแรงงานฯจากฟิลิปปินส์)

แรงงานทักษะที่มาจากญี่ปุ่นและจีนที่เข้ามาล้วนแต่เป็นแรงงานชาวต่างชาติที่มีทักษะสูง ซึ่งอุตสาหกรรมผลิตส่วนใหญ่ที่มา คือ ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ต่างจากแรงงานทักษะจากฟิลิปปินส์ซึ่งถนัดกันคนละอย่าง แต่อย่างที่ทราบกัน ในประเทศไทยมีร้านอาหารญี่ปุ่นจำนวนมากและร้านอาหารจีนนับไม่ถ้วน ข้อมูลของเจโทรระบุว่าในปี 2561 ร้านอาหารญี่ปุ่นมีจำนวน 3 พันกว่าร้าน เพิ่มจากจำนวน 745 ร้านในปี 2550 ในแง่แรงงานทักษะ ตัวเลขของสำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว(ซึ่งไม่ได้แสดงรายละเอียดในตารางนี้)ระบุว่า ในปี 2562 มีแรงงานทักษะชาวญี่ปุ่น 822 คนในกิจการ “โรงแรมและภัตตาคาร” ในขณะที่แรงงานทักษะชาวจีน มีจำนวน 990 คนในกิจการประเภทเดียวกัน

ในปี 2562 แรงงานทักษะจากฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบอาชีพด้านการสอนถึงร้อยละ 62 คิดเป็นจำนวน 12,726 คน เทียบกับแรงงานทักษะจีนร้อยละ 11 หรือคิดเป็นจำนวน 3,546 คนที่ประกอบอาชีพด้านการสอน แรงงานฟิลิปปินส์มีความได้เปรียบที่เชียวชาญด้านภาษาอังกฤษและมีค่าแรงที่ถูกกว่าชาวยุโรป ชาวอเมริกัน ชาวออสเตรเลีย แรงงานฟิลิปปินส์จึงมีบทบาทสำคัญในโรงเรียนนานาชาติและการสอนภาษาในประเทศไทย นอกจากนั้นแล้ว คือแรงงานฟิลิปปินส์ทำงานในกิจการ “โรงแรมและภัตตาคาร” มากที่สุดในบรรดาแรงงานทักษะข้ามชาติทั้งหมดในประเทศไทยโดยมีจำนวนถึง 1,870 คน ในปี 2562

ครับ ก็เอามาแชร์กันเพื่อให้เห็นอุปสงค์อุปทานของกำลังคนระดับสูงว่าเป็นอย่างไร ยิ่งเรากำลังลุยโครงการอีอีซี และถ้าสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐยืดเยื้อมีโอกาสที่นักลงทุนจากจีนจะย้ายมาไทยมากขึ้น ประเทศไทยยิ่งจะมีความต้องการแรงงานระดับทักษะมากขึ้น เราจึงควรวางนโยบายวางแผนการศึกษาและแรงงานให้แข็งแรงขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้มีบัณฑิตว่างงานจำนวนมหาศาลในขณะที่มีแรงงานทักษะข้ามชาติข้ามหัวไปอย่างที่เป็น

หมายเหตุเผยแพร่ครั้งแรกใน มติชน เมื่อ 30 เมษายน 2564

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด