ข้อเสนอเพิ่มศักยภาพกรุงเทพฯ ในการเฝ้าระวัง ควบคุมการระบาด โควิดระลอกสาม

นพ. คำนวณ อึ้งชูศักดิ์
ดร. สมชัย จิตสุชน

หากเทียบการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา การระบาดระลอกที่สามที่เริ่มในช่วงปลายเดือนมีนาคมมีความรุนแรงกว่ามาก ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพียงไม่กี่วันในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมารวมกันมากกว่าผู้ติดเชื้อทั้งหมดก่อนหน้ารวมกันเสียอีก และสถานการณ์จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีแนวโน้มดีขี้น การระบาดรุนแรงที่สุดเกิดในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งพบการติดเชื้อแพร่กระจายไปหลายคลัสเตอร์ใหญ่ ๆ จนน่าตกใจ

ทั้งหมดนี้นำไปสู่ (ก) ภาระด้านสาธารณสุขและการรักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้นจนใกล้ถึงขีดจำกัดของระบบ ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว (ข) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมที่รุนแรง เพราะแม้ภาครัฐจะไม่ได้ปิดกิจการหรือจำกัดกิจกรรมมากเท่าปีที่แล้ว แต่ประชาชนที่กังวลเรื่องการติดเชื้อก็ทำการยกเลิกและลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยสมัครใจอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดมาตรการ lockdown อย่างสมบูรณ์หากสถานการณ์ยังเพิ่มความรุนแรงต่อเนื่องไปในอนาคต

อย่างไรก็ตามเราสามารถหลีกเลี่ยงหรือบรรเทาผลกระทบทั้งสองประการข้างต้นได้หากมีการยกระดับศักยภาพและความสามารถในการเฝ้าระวังควบคุมการระบาดและการแยกกักโรคในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้มากกว่าในปัจจุบันหลายเท่าตัว โดยมีเป้าหมายคือภาครัฐจะต้องสืบค้นพบผู้ติดเชื้อแต่เนิ่น ๆ แล้วทำการแยกกักตัวอย่างรวดเร็ว ไม่มีปรากฏการณ์เช่นปัจจุบันที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อเป็นหลักร้อยหรือหลักพันในหลายคลัสเตอร์ มีอัตราการติดเชื้อระดับสูง เช่นสูงถึง 60-70% ของผู้ได้รับการตรวจ อันแสดงถึงความล่าช้าในกระบวนการสอบสวนโรคว่ากว่าจะพบผู้ติดเชื้อในคลัสเตอร์นั้น ๆ การระบาดก็อาจเกิดขึ้นมาหลายรอบแล้ว หากการสอบสวนโรคเป็นไปอย่างรวดเร็วกว่านี้ ก็จะพบการติดเชื้อตั้งแต่ระยะแรกและพบในอัตราต่ำ ทำให้สามารถควบคุมการระบาดได้เร็วขึ้นผ่านกระบวนการกักแยกโรค จำนวนผู้ป่วยจะไม่มากและอาการไม่หนักเพราะเข้ารับการรักษาเร็วขึ้น การเสียชีวิตจะลดลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเพราะการผ่อนคลายมาตรการและการลดลงของความกังวลของประชาชน รัฐบาลก็ไม่ต้องเยียวยามากนัก

การระบาดระลอกนี้เกิดจากเชื้อสายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 ที่มีความสามารถในการติดต่อมากกว่าสายพันธุ์เดิมถึง 1.7 เท่า และทำให้เกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นด้วย เราจึงเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อทะลุ 2,000 รายต่อเนื่องกันมา และยอดผู้เสียชีวิต 20-30 ราย ในขณะที่ยังมีผู้ป่วยอาการรุนแรงต้องใช้เครื่องช่วยหายใจกว่า 400 ราย จนทำให้เกิดสภาพผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล ต้องสร้างโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่หลายแห่ง

หลังจากที่ ศบค. ได้ออกมาตรการจำกัดกิจกรรมกิจการต่าง ๆ ในพื้นที่ระบาดมาสองสัปดาห์ พบว่าในต่างจังหวัดส่วนใหญ่สามารถควบคุมการระบาดได้เป็นที่น่าพอใจ ปัจจุบันเหลือจังหวัดที่สถานการณ์ยังเป็นสีแดงเข้มเพียงสี่จังหวัด และกรุงเทพฯ ดูจะเป็นจุดที่การแพร่ระบาดอาจทวีความรุนแรงขึ้น โดยเริ่มพบการระบาดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ๆ รวม 27 แห่ง

คลัสเตอร์เหล่านี้สามารถจัดกลุ่มได้เป็น กลุ่มที่หนึ่งคือ คลัสเตอร์ชุมชนแออัดและชุมชนหอพัก เช่น คลองเตย บ่อนไก่ ดินแดง ฯลฯ กลุ่มที่สองได้แก่ คลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้าง เช่น ที่แจ้งวัฒนะ กลุ่มที่สามคือ คลัสเตอร์ชุมชนตลาดพาณิชย์ เช่น ประตูน้ำ บางรัก โบ๊เบ๊ กลุ่มที่สี่ คลัสเตอร์ชุมชนในเรือนจำ ในโรงงาน และกลุ่มที่ห้า ได้แก่ คลัสเตอร์ออฟฟิศที่ทำงานเช่นที่ตึกสูงถนนสาธร ที่น่ากังวลคือ กรุงเทพฯ มีชุมชนที่อาจติดเชื้อเกิดเป็นคลัสเตอร์ใหม่ๆ ได้อีกมาก เช่น มีชุมชนแออัด 450 แห่ง มีแคมป์คนงานก่อสร้างประมาณ 300 กว่าแห่ง ตลาดสดอีกจำนวนมาก

สภาพแวดล้อมทางชุมชนของพื้นที่กรุงเทพฯ ดังกล่าวข้างต้นแสดงถึงความจำเป็นต้องมีทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (Surveillance and rapid response team) จำนวนมากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบันมาก ต้องรีบดำเนินการโดยระดมสรรพกำลังไปดักปัญหาตั้งแต่ต้นทางให้ลดน้อยลง โดยเสนอว่าควรจะเพิ่มให้มีทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคเป็นอย่างน้อย 200 ทีมเฉพาะในพื้นที่ กรุงเทพฯ และอีกจำนวนมากในพื้นที่ปริมณฑล ซึ่งมีลักษณะกายภาพและลักษณะชุมชนแบบเดียวกับกรุงเทพฯ

ในกรณี กรุงเทพฯ นั้นมีเขตจำนวน 50 เขต และ 180 แขวง บางเขตมีขนาดประชากรมากกว่าจังหวัดขนาดเล็กหลายแห่ง ทีมเฝ้าระวังสอบสวนนี้ประกอบด้วยสมาชิกประมาณ 5 คน ซึ่งมีพื้นฐานเป็นนักวิชาการด้านสาธารณสุข รู้หลักการควบคุมโรค มีหน้าที่เฝ้าระวังดูรายงานผู้ติดเชื้อที่ไปรับการรักษาตามโรงพยาบาลเอกชนต่าง ๆ รับแจ้งเหตุการป่วยจากผู้นำชุมชน ออกหน่วยลาดตระเวนไปตามชุมชน ตลาด หอพักแออัด ชุมชนพาณิชย์ ที่ตั้งอยู่ในแต่ละเขต ฯลฯ สุ่มตรวจชาวบ้านตามหลักวิชาการ หรือเก็บตัวอย่างผู้ที่มีอาการมาตรวจ หากพบการติดเชื้อก็รีบนำออกมารักษาและค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดเพื่อแยกกักและตรวจเพิ่มเติมตามบริบทที่เหมาะสม หลักการนี้ตรงกับที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ทำมาตรการ TTI (Test Tracing Isolation)

การจะหาคนมาทำทีมเช่นนี้ประมาณพันคนเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ทางเลือกแรกคือการหาทีมจากจังหวัดอื่นมาเสริมดังเช่นประสบการณ์ที่สมุทรสาครเคยใช้ แต่ก็อาจทำได้เพียงระยะสั้น ทางเลือกที่สองคือการสร้างทีมเสริมทำงานเต็มเวลา ในปัจจุบันมีบัณฑิตที่จบการศึกษาสาธารณสุขศาสตร์ทั้งระดับปริญญาตรีและโทจำนวนหลายหมื่นคน หากใช้งบประมาณเพื่อจ้างให้ทำงานแบบนี้ในช่วง 6 เดือนหรือ 12 เดือนจากนี้ไป จัดการฝึกอบรมระยะสั้นเพียงภายในห้าวันก็จะสามารถเริ่มปฏิบัติการภายใต้การดูแลของบุคลากรของกรุงเทพฯ หรือจังหวัดอื่นที่มีประสบการณ์ช่วยสอนเป็นพี่เลี้ยง

งบประมาณที่ใช้ก็น้อยมากคือ ระดับร้อยล้านบาทเท่านั้น น้อยกว่าประโยชน์ที่จะได้อย่างอเนกอนันต์ และถือเป็นการลงทุนเพื่อควบคุมโรคโควิดให้กรุงเทพฯ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

แม้เราจะหวังในวัคซีนที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในกรุงเทพฯ แต่ก็คงต้องใช้เวลาอย่างน้อยสี่ถึงหกเดือนจึงจะครอบคลุมประชากรของกรุงเทพฯ ได้หมด และเราอาจยังต้องเผชิญกับการระบาดสายพันธุ์ใหม่ ๆ อีก ซึ่งการมีทีมงานที่สามารถทำการเฝ้าระวังสอบสวนโรคทางระบาดวิทยายังเป็นความจำเป็นพื้นฐานของการควบคุมโรค

การมีทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วในจำนวนที่เพียงพอจะมีประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมโรคก็ต่อเมื่อมีการกลไกการเชื่อมโยงและประสานงานกับระบบการแยกกักโรคด้วย เพื่อให้การสอบสวนโรคนำไปสู่การแยกผู้ติดเชื้อออกจากสังคมและไม่แพร่เชื้อต่อไปอย่างแท้จริง ในปัจจุบันนี้สองระบบยังแยกกันอยู่ จึงควรสร้างระบบสั่งการที่มีความเชื่อมโยงระหว่างการเฝ้าระวังสอบสวนโรค การตรวจเชื้อ และการเตรียมการกักแยกโรคทุกระดับ การเชื่อมโยงดังกล่าวต้องเป็นแบบ real-time ไม่ใช่การประชุมเป็นครั้งคราวระหว่างหน่วยงานที่แยกกันรับผิดชอบ และควรมีมาตรการเสริมที่ตอบสนองความจำเป็นและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน เช่น การจ่ายเงินทดแทนขั้นต่ำอย่างน้อยสิบสี่วันตามจำนวนวันที่กักตัวหรือแยกรักษาตัวให้กับผู้ติดเชื้อที่เป็นลูกจ้างรายวัน แรงงานนอกระบบ และคนฐานราก มาตรการเร่งด่วนนี้จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้คนฐานรากที่เสี่ยงติดเชื้อ เต็มใจเข้ามารับการตรวจและกักตัวทันที อันจะทำให้การระบาดชะลอลงได้อีกทางหนึ่ง

หากภาครัฐเห็นควรตามข้อเสนอนี้ ก็ควรเร่งดำเนินการโอนทีมสอบสวนโรคจากต่างจังหวัดทันที และสร้างทีมใหม่ให้แล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 1 เดือน เพราะหากสถานการณ์เลวร้ายลงจะยิ่งยากลำบากในการควบคุมการระบาด

นอกจากมาตรการเพิ่มศักยภาพของการเฝ้าระวังสอบสวนโรคและแยกกักโรคแล้ว ยังมีอีกหลายมาตรการที่ควรดำเนินการอย่างเร่งด่วน ผู้สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ดังนี้

* อยู่ระหว่างดำเนินการ สามารถติดตามได้ทาง tdri.or.th