จากสิงคโปร์สู่ไทย: สี่กรอบคิดนำทิศการศึกษา

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสเยี่ยมชมโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ที่เปิดในกรุงเทพฯ ร่วมกับนักการศึกษาไทยหลายท่าน แม้ว่าการเยี่ยมชมในครั้งนี้จะมีเป้าหมายหลักเพื่อศึกษาว่าระบบการศึกษาสิงคโปร์และโรงเรียนแห่งนี้มีวิธีการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ (Competency-based education) อย่างไร แต่ความประทับใจหลักของผู้เขียนมาจากการได้รับฟังประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายการศึกษาสิงคโปร์ จากคุณ Ong Teck Chin – Head of Schools ที่มาต้อนรับและนำเสนอต่อคณะดูงาน ซึ่ง คุณ Ong Teck Chin เคยเป็นผู้บริหารของโรงเรียนประเภท independent school ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ร่วมวิจัยและพัฒนาแนวทางบริหารจัดการและการจัดการเรียนการสอนใหม่ๆ​ กับกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์มาก่อน 

จากการดูงานในครั้งนี้ ทำให้ทราบว่า แม้สิงคโปร์จะมีระบบการศึกษาที่ถือว่าก้าวหน้ามากแล้ว แต่ก็ยังพัฒนาไม่หยุดนิ่ง โดยในขณะนี้ กำลังมุ่งเป้าไปที่การยอมรับในสมรรถนะที่หลากหลายของนักเรียนรายบุคคล มากกว่าแค่ด้านวิชาการ มีมาตรการใหม่ๆ เช่น ยกเลิกการสอบในระดับประถมต้นที่สร้างความเครียดแก่เด็กและประเมินจากสภาพจริงในระหว่างเรียนมากขึ้น ปรับรูปแบบการเรียนมัธยมต้นไปสู่ Subject-Based Banding ที่นักเรียนแต่ละคนสามารถเลือกเรียนแต่ละวิชายากง่ายตามระดับสมรรถนะของตัวเอง แต่ให้ครูจัดการเรียนร่วมให้นักเรียนที่มีสมรรถนะต่างกันมากภายในห้องเดียวกันได้ เป็นต้น

มาตรการหรือนโยบายใหม่ๆ ของกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ที่ได้ฟังนั้นน่าประทับใจ แต่สิ่งที่ประทับใจผู้เขียนมากกว่า คือ  การได้เห็นปรัชญาความเชื่อบางอย่างที่สำคัญ ที่เป็นเสมือน “ตาน้ำ” สร้างความคิดและคำพูดให้ไหลซึมออกมาเป็น “สายน้ำ” ของวิธีการและนโยบาย จนเกิดมาเป็นระบบการศึกษาสิงคโปร์อย่างที่เราเห็น เมื่อผนวกกับสิ่งที่ได้ยินและได้อ่านมาเกี่ยวกับพัฒนาการของระบบการศึกษาสิงคโปร์ ผู้เขียนขอสรุปเป็นกรอบคิดที่สำคัญ 4 ข้อ ดังนี้

  1. “คนทุกคนสำคัญและสร้างประโยชน์ให้สังคมได้” ผู้เขียนได้ยินคำพูดเดิมซ้ำ ๆ จากคนสิงคโปร์แทบทุกคนที่เจอว่า “ประเทศเราไม่มีทรัพยากรอะไรเลย อยู่บนเกาะที่แห้งแล้ง ดังนั้นคนคือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของเรา” ความเชื่อนี้ส่งผลให้รัฐบาลทุ่มเทลงทุนพัฒนาคนตลอดชีวิต ทำให้ได้โรงเรียนรัฐคุณภาพสูงแต่ค่าเทอมต่ำ เพราะไม่ต้องการให้เด็กหลุดรอดออกไปจากระบบแม้แต่คนเดียว โดยเด็กประถมสิงคโปร์จ่ายค่าเล่าเรียนเพียง 5 ดอลล่าร์สิงคโปร์ (เทียบเท่า 117 บาท) ต่อเดือนเท่านั้น นอกจากนี้ นโยบายหลายอย่างที่กำลังทำในขณะนี้ เช่น การสร้างหนทางเรียนที่หลากหลายสำหรับเด็กที่ความถนัดต่างกัน คาดหวังผลส่วนหนึ่งเพื่อลดจำนวนเด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษา เพราะหากเด็กแต่ละคนเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง ก็จะมีความตั้งใจที่จะเรียนต่อ หาที่ทางประกอบอาชีพที่เหมาะกับตนเอง และเป็นกำลังสำคัญของประเทศได้ในอนาคต 
  2. “สร้างเด็กแบบไหน ให้อนาคตเป็นคนบอก” การกำหนดเป้าหมายการศึกษาว่าผู้เรียนจะต้องมีทักษะสมรรถนะอะไร ไม่ใช่เรื่องที่กำหนดโดยใช้คนไม่กี่คนนั่งเทียนกันขึ้นมา แต่มาจากการศึกษาวิจัยว่าโลกในอนาคตที่เด็กจะต้องอยู่และทำงานเป็นอย่างไร และประเทศมีเป้าหมายการพัฒนาในอนาคตอย่างไร แล้วจึงกำหนดเป้าหมาย หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ไม่ได้มีเพียงกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น แต่ยังมี Economic Development Board ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญของรัฐบาลที่กำหนดกลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจ นวัตกรรมและกำลังคนของประเทศอีกด้วย
  3. “นโยบายที่ดีต้องมีการทดลอง” เมื่อใดที่กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์มีแนวคิดจะออกนโยบายใหม่จะจัดทำความร่วมมือกับโรงเรียนไม่กี่แห่งเพื่อทดลองและเรียนรู้ว่า ในโลกความเป็นจริง นโยบายนี้ถูกปฏิบัติอย่างไร โดยใช้แนวคิด “Big P – Small P” กล่าวคือ สำหรับทุกนโยบายใหญ่ระดับชาติหรือ Big Policy โรงเรียนจะมีโอกาสได้ตีความและออกแบบนโยบายเล็ก ๆ หรือ Small Policy ที่ลงมือทำได้ในบริบทของตัวเอง แต่ยังสะท้อนเจตนารมณ์ของ Big Policy ออกมา ควบคู่กันนั้น โดยจะมีผู้ประสานงานเข้าไปสังเกตการณ์รูปแบบที่โรงเรียนเลือกทำ เพื่อถอดบทเรียนและปิดช่องโหว่ของการนำนโยบายไปปฏิบัติ (policy-implementation gap) จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการทดลอง ก่อนที่จะนำไปขยายผลในโรงเรียนอื่น ๆ
  4. “ยอมรับแต่ไม่ยอมแพ้ พร้อมคิดแบบใหม่” การพัฒนาอย่างต่อเนื่องของระบบการศึกษาสิงคโปร์นั้นสะท้อนว่า นักการศึกษาและผู้นำในภาครัฐยอมรับถึงความไม่สมบูรณ์ของระบบปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกันก็เชื่อว่า มีหนทางที่จะปรับปรุงสิ่งที่เป็นอยู่ได้ และพร้อมที่จะเลือกรับวิธีคิดแบบใหม่อยู่เสมอ เช่น ยอมรับว่าการมุ่งเน้นวิชาการที่ผ่านมาทำให้ประเทศสิงคโปร์ก้าวหน้าขึ้นมาถึงจุดที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ก็สร้างบาดแผลให้แก่เด็กไม่น้อย จึงหันมาให้ความสำคัญกับการมองเห็นเด็กอย่างรอบด้านมากขึ้น กรอบคิดนี้ยังสะท้อนผ่านเรื่องเล่าของคุณ Teck Chin เองที่เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมาก่อน แต่ถูกเชิญมาเป็นผู้บริหารโรงเรียน independent school เพราะกระทรวงศึกษาธิการต้องการคนนอกภาคการศึกษามาช่วยคิดนอกกรอบ พาโรงเรียนออกจากขนบเดิม ๆ

คงเป็นไปไม่ได้ที่สังคมหนึ่งจะมีกรอบคิดที่เหมือนกับอีกสังคมหนึ่ง เพราะด้วยเงื่อนไข ประวัติศาสตร์และคุณค่าที่ยึดถือต่างกัน แต่ความแตกต่างนี้ไม่ควรเป็นข้ออ้างที่สังคมไทยจะไม่เรียนรู้จากสังคมอื่น ผู้เขียนจึงอยากนำกรอบคิดทั้ง 4 ข้อนี้ มาสะท้อนกรอบคิดในระบบการศึกษาของไทย มองย้อนดูความเชื่อและการปฏิบัติที่ผ่านมาของพวกเรา ไม่ว่าจะเป็นในฐานะพ่อแม่ ครู นักการศึกษา หรือคนกำหนดนโยบาย ว่า

  • เราเชื่อหรือไม่ ว่าเด็กทุกคนในประเทศนี้สำคัญและคนทุกคนสร้างประโยชน์ให้ประเทศได้
  • เราใช้ความรู้และผลงานวิจัยที่เชื่อถือได้สอดคล้องกับความต้องการของอนาคต หรือ เราใช้ค่านิยมความเชื่อที่เรายึดถือว่าดีมาจากในอดีต มากำหนดเป้าหมายทักษะสมรรถนะที่เด็กควรมี
  • เราพร้อมที่จะให้นโยบายของเราถูกทดสอบ เพ่งเล็ง และแก้ไขมากน้อยเพียงใด และเราเตรียมนโยบายนี้ให้พร้อมสำหรับการถูกตีความและนำไปใช้ที่หลากหลายแล้วหรือยัง
  • เรายอมรับความไม่สมบูรณ์ของระบบการศึกษาไทยที่เป็นอยู่อย่างตรงไปตรงมามากน้อยเพียงใด แล้วเรามองหาวิธีการและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่จะมาใช้แก้ไขมากพอหรือยัง

ในห้วงเวลาที่ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่กำลังเข้าสู่การพิจารณาในสภา หลายคนฝากความหวังว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย หลายคนหมดหวังว่าเขียนมาอย่างไรการศึกษาไทยก็คงไม่เปลี่ยน 

ผู้เขียนมองว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้คงมีผลต่อการเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการในกระทรวงศึกษาธิการได้บางส่วน แต่จะเปลี่ยนผลลัพธ์ที่เกิดกับนักเรียนและประเทศไทยในระยะยาวหรือไม่ ก็อยู่ที่ว่า ตัวหนังสือกฎหมายจะพาเราออกจากกรอบคิดเดิมที่ครอบงำนักการศึกษาไทยไว้มากน้อยเพียงใด

เขียนโดย ณิชา พิทยาพงศกร

ณิชา พิทยาพงศกร

นักวิจัยอาวุโส นโยบายปฏิรูปการศึกษา จบการศึกษาด้าน Engineering : Telecommunication and Networks มีความสนใจงานด้านนโยบายสาธารณะเพื่อการพัฒนาการศึกษาไทย

ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ