การกลับมาระบาดอีกครั้งของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ส่งผลกระทบในด้านลบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยและวิถีชีวิตของคนไทย
ภารกิจใหญ่ในตอนนี้ของรัฐบาล คือ การระดมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วประเทศเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ หากรัฐบาลต้องการเปิดประเทศและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ ก็ควรตั้งเป้าหมายประชาชนให้ได้รับวัคซีนที่ร้อยละ 98 ของประชากรไทย และรัฐบาลต้องบริหารจัดการการฉีดวัคซีน อย่างมีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งการจัดหาวัคซีนให้ได้ทันต่อความต้องการ การกระจายวัคซีนไปในแต่ละจังหวัดอย่างทั่วถึง
อีกสิ่งสำคัญอย่างมากคือ การสื่อสารเพื่อให้ข้อมูลสำคัญต่างๆ ที่ชัดเจน เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะการสื่อสารเป็นเครื่องมือในการโน้มน้าวและสร้างความเชื่อมั่นต่อทั้งรัฐบาลและการรับวัคซีนของประชาชน ซึ่งขณะนี้ยังมีอีกจำนวนไม่น้อยยังมีความลังเล ไม่เชื่อมั่น รวมทั้งไม่ต้องการฉีดวัคซีน
จากผลสำรวจของ YouGov เมื่อ ต้นเดือน พ.ค.2564 พบว่ามีประชาชนไทยอีกร้อยละ 40 ที่ยังลังเลหรือไม่ต้องการฉีดวัคซีน โดยมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค.2564 ถ้ากลุ่มคนเหล่านี้ไม่เข้ารับวัคซีน การจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่เพื่อให้ประเทศกลับมาดำเนินกิจกรรมได้ตามปกตินั้น คงเป็นไปได้ยาก
ดังนั้นโจทย์ของรัฐบาลที่นอกจากต้องจัดการวัคซีนให้มีเพียงพอสำหรับให้ประชาชนฉีดแล้ว ยังต้องเร่งแก้ไขเรื่องการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น ลดความลังเล และพร้อมรับวัคซีน
หนึ่งในบทเรียนตัวอย่างด้านการระดมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็ว คือ สหรัฐอเมริกา ทั้งที่ในสหรัฐมีกลุ่มที่ต่อต้านการเข้ารับวัคซีน และมีประเด็นทางการเมืองที่เกี่ยวโยง แต่ก็ยังสามารถระดมฉีดวัคซีนไปได้แล้วประมาณร้อยละ 50 ของจำนวนประชากร ภายในเวลา 6 เดือน (ธ.ค.2563-พ.ค.2564) และประชาชนก็มีความต้องการฉีดวัคซีนมากขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบระหว่างเดือน ธ.ค.2563 กับ พ.ค.2564
หลักในการสื่อสารของรัฐบาลสหรัฐฯ
ที่ทำได้เช่นนี้ รัฐบาลสหรัฐมีหลักสำคัญในการสื่อสาร คือ (1) ประธานาธิบดีสหรัฐกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการฉีดวัคซีน ภายใต้กรอบเวลาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ดำเนินการและประชาชน ด้วยการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกสิ่งต่างๆ เช่น การสรรหาวัคซีนให้พอต่อความต้องการ การออกนโยบายเพื่อทำใช้ชุดอุปกรณ์ป้องกันโรคเพียงพอต่อความต้องการ เพื่อให้สำเร็จได้ตามเป้าหมาย
(2) ในระหว่างการดำเนินงาน ประธานาธิบดีสหรัฐได้สื่อสารแผนงานอย่างชัดเจนและให้ข้อมูลผลความสำเร็จอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอทุกช่องทางที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ทำให้หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปเกิดความเชื่อมั่น และสามารถวางแผนงานหรือบริหารจัดการตนเองต่อไปได้
นอกจากการสื่อสารเพื่อสร้างความมั่นใจแล้วอีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือการจูงใจให้ประชาชนอเมริกันออกมาฉีดวัคซีน โดย (1) รัฐบาลสหรัฐอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ด้วยการกระจายจุดฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงและเข้าถึงง่าย เช่น ร้านขายยาใกล้ผู้ฉีด โชว์รูมรถยนต์ หรือโบสถ์ และในบางรัฐประชาชนสามารถค้นหาสถานที่ฉีดวัคซีนใกล้บ้านได้ด้วยการกรอกรหัสไปรษณีย์ผ่านเว็บไซต์
(2) สร้างแรงจูงใจมากกว่าบังคับ แนวทางนี้เป็นการกระตุ้นคนที่ยังลังเลในการเข้ารับวัคซีนด้วยการให้รางวัลตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นโดนัทเดือนละ 1 ชิ้นตลอดทั้งปี การลดราคาค่าเข้าชมสถานที่สำคัญต่างๆ การให้ตั๋วเครื่องบินหรือตั๋วรถไฟฟ้าสำหรับเดินทาง หรือแม้กระทั้งการให้เงิน โดยรางวัลเหล่านี้ก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ ตามความเหมาะสมและความต้องการของประชาชนแต่ละพื้นที่
นอกจากนี้แล้วในส่วนของข้อความที่ใช้สื่อสารเพื่อเชิญชวนให้ประชาชนฉีดวัคซีนมากขึ้นก็สำคัญเช่นกัน จากงานวิจัยของหน่วยพฤติกรรมศาสตร์ของประเทศอังกฤษ พบว่าข้อความที่ใช้สื่อสารนั้นมีผลทำให้ประชาชนมีความรู้สึกอยากฉีดวัคซีนมากขึ้นได้ โดยมีรูปแบบที่แนะนำ 4 รูปแบบคือ 1.ข้อความที่บอกว่าฉีดเพื่อคนรอบตัวและคนที่คุณรัก 2.ข้อความแนะนำให้ฉีดวัคซีนโดยแพทย์ที่น่าเชื่อถือ 3.ข้อความที่บอกว่าวัคซีนจะทำให้คุณได้ใช้ชีวิตปกติอีกครั้ง และ 4.ข้อความที่บอกว่าคนจำนวนมากได้รับวัคซีนแล้ว
โดยข้อความรูปแบบที่หนึ่งมีผลกับประชาชนอังกฤษมากที่สุด ซึ่งรัฐบาลไทยเองก็ควรลองใช้ข้อความที่แตกต่างหลากหลายมากขึ้นในการสื่อสารเพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมในการสื่อสารกับประชาชนแต่ละกลุ่ม
4 สิ่งรัฐบาลควรเร่งปรับเปลี่ยน
แล้วภาครัฐไทยควรสื่อสารอย่างไรเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและทำให้คนไทยพร้อมรับวัคซีนมากขึ้น 4 สิ่งรัฐบาลควรเร่งปรับเปลี่ยน คือ
1.ออกแบบการสื่อสารโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เริ่มจากการรับฟังประชาชน อย่างคำนึงถึงความรู้สึกและความต้องการของประชาชน เพื่อเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง จากนั้นจึงออกแบบการสื่อสารข้อมูล ว่าประชาชนควรได้รับข้อมูลนั้นอย่างไร ด้วยความรู้สึกแบบใด และมุ่งให้เกิดการกระทำอะไร
2.รัฐบาลต้องสื่อสารให้ชัดเจนเข้าใจง่าย เข้าถึงได้จากหลายช่องทางและไป ในทิศทางเดียวกัน โดยมีการสื่อสารซ้ำๆ อย่างสม่ำเสมอ เพราะในช่วงวิกฤติเช่นนี้จะมีข้อมูลเกิดขึ้นจำนวนมากซึ่งมีทั้งที่เชื่อถือ ได้และข้อมูลเท็จ
3.รัฐบาลควรทำให้การดำเนินงานในด้านต่างๆ โปร่งใส เข้าถึงได้ มีแผนงานที่ชัดเจน และให้ข้อมูลตามจริงทั้งในเรื่องของจำนวนผู้ติดเชื้อ ข้อมูลของวัคซีน ปริมาณวัคซีนที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องร้ายเพื่อสร้างความไว้วางใจจากประชาชน
4.รัฐต้องเลือกจังหวะที่เหมาะสมในการสื่อสารแต่ละประเด็น เช่น ช่วงแก้ไขสถานการณ์คับขัน ช่วงเสริมสร้างความมั่นใจ หรือช่วงที่ให้ความหวังในอนาคต เพื่อเลือกใช้วิธีการสื่อสารและข้อมูลที่ให้ได้อย่างเหมาะสม
ประสิทธิภาพการสื่อสารในภาวะวิกฤติเช่นนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนประสิทธิภาพของรัฐบาล หากรัฐไม่เร่งแก้ไขนอกจากจะกระทบความมั่นใจของประชาชนต่อการฉีดวัคซีนแล้ว อาจรวมไปถึงความเชื่อมั่นในความสามารถของรัฐบาลด้วย
เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 17 มิถุนายน 2564
ข้อมูลอ้างอิง
https://ourworldindata.org/covid-vaccinations
https://www.ft.com/content/138f58a1-b472-452a-9daa-db0f5c885079
เขียนโดย อรรถสิทธิ์ ขจรรุ่งศิลป์
นักวิจัยนโยบายปฏิรูปการศึกษา จบการศึกษาด้าน วิศวกรรมศาสตร์ โลหการ มีความสนใจเรื่องการพัฒนาการศึกษา พัฒนาบุคคล และธุรกิจ
ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ
- ปรับกลยุทธ์พลิกเกม “ล้งผลไม้ไทย” โดดเด่นท้าทายเวทีโลก
- คิดยกกำลังสอง: เข้ากรอบอินโด – แปซิฟิก ติ๊กถูกหรือผิด
- IPEF Pillar III กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- TDRI Annual Public Conference 2024 “ADAPTING TO CLIMATE CHANGE ปรับไทยให้รอดในยุคโลกเดือด”
- หมากไทยสู่ตลาดโลก: โอกาสที่รัฐบาลใหม่จะแสดงฝีมือแก้ปัญหาการส่งออก