tdri logo
tdri logo
1 กรกฎาคม 2021
Read in Minutes

Views

ล่อซื้อ’น้ำส้ม’สู่การ แก้ปม’Home Kitchen’

การขายอาหารออนไลน์เป็นอีกหนึ่งทางออกของใครหลายคนในช่วงวิกฤติ ด้วยลักษณะธุรกิจที่เริ่มต้นได้ง่าย ใช้ทุนไม่มาก เนื่องจากไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน หรือที่เรียกว่า Home kitchen โดยผู้ขายจะประกอบอาหารภายในบ้านและจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มขนส่งอาหาร หรือนัดรับส่งอาหารกับลูกค้าโดยตรง ช่วยให้ทั้งผู้ขายและลูกค้าได้รับความสะดวก

แต่จากเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตล่อซื้อน้ำส้มผ่านช่องทางออนไลน์ นำไปสู่การตั้งคำถามโดยเฉพาะจากผู้ค้ารายย่อยว่า การขายอาหารออนไลน์มีความเสี่ยงที่จะโดนล่อซื้อและเรียกค่าปรับดังเช่นผู้ค้าน้ำส้ม หรือเข้าข่ายผิดกฎหมายและมีโทษอื่นๆ อีกหรือไม่ ความคลุมเครือนี้หากไม่ได้รับความชัดเจน ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ

ทำอาหารขายออนไลน์แบบไม่มีหน้าร้าน ผิดกฎหมายหรือไม่

ปัจจุบันกฎหมายที่ใช้กำกับดูแลการประกอบธุรกิจร้านอาหาร คือ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 มีสาระสำคัญคือ เจ้าของร้านอาหารต้องได้รับใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองก่อนประกอบธุรกิจ และร้านอาหารต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสุขลักษณะที่กำหนด หากเจ้าของร้านอาหารเปิดร้านโดยไม่มีใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองจะมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-50,000 บาท หรือมีโทษจำคุก 3-6 เดือน ขึ้นอยู่กับประเภทของร้านอาหารและขนาดของพื้นที่

ดังนั้น การขายอาหารออนไลน์โดยร้านอาหารที่ได้รับใบอนุญาตหรือหนังสือรับรอง ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย เพราะร้านได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบแล้วจึงได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการ เพียงแต่เปลี่ยนจากบริการนั่งกินที่ร้านเป็นการส่งไปให้ผู้บริโภคทานที่อื่นแทน แต่การขายอาหารออนไลน์ของร้านอาหารแบบไม่มีหน้าร้านถือว่ามีความผิดหรือไม่นั้น ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายระบุไว้ชัดเจน เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขในปัจจุบันแบ่งการกำกับดูแลร้านอาหารออกเป็น 2 ประเภท ตามเกณฑ์ของพื้นที่ ได้แก่ สถานที่จำหน่ายอาหาร (กรณีใช้พื้นที่ส่วนบุคคล) และสถานที่จำหน่ายอาหารในที่หรือทางสาธารณะ (กรณีใช้พื้นที่สาธารณะ เช่น หาบเร่/แผงลอย)

แม้ว่าร้านอาหารแบบไม่มีหน้าร้านจะเข้าข่ายเป็นการดำเนินธุรกิจในพื้นที่ส่วนบุคคล แต่กฎหมายก็มิได้มีการระบุชัดเจนว่า “สถานที่จำหน่ายอาหาร” นั้นจะรวมถึงร้านอาหารแบบไม่มีหน้าร้านด้วยหรือไม่ อีกทั้งเกณฑ์การกำกับดูแลสถานที่จำหน่ายอาหารที่บังคับใช้อยู่ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับร้านอาหารในรูปแบบดั้งเดิม คือ ภัตตาคารหรือร้านแบบมีที่นั่ง ซึ่งต้องมีการจัดการสถานที่สำหรับบริโภคอาหาร การจัดการเกี่ยวกับห้องน้ำ เป็นต้น

ความไม่ชัดเจนของกฎหมายนำไปสู่สองความเสี่ยง

ประการแรก ความเสี่ยงต่อผู้บริโภคเรื่องความปลอดภัยของอาหาร เนื่องจากปัจจุบันยังขาดการกำหนดมาตรฐานร้านอาหารแบบไม่มีหน้าร้านที่เหมาะสม และประการที่สอง ความเสี่ยงต่อผู้ประกอบธุรกิจจากความไม่ชัดเจนของกฎหมายที่ต้องอาศัยการตีความ อาจนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมหรือการแอบอ้างกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่หรือผู้ไม่หวังดี

ต่างประเทศมีแนวทางกำกับดูแลสำหรับร้านอาหารที่หลากหลาย

ในหลายประเทศ ทั้งสหภาพยุโรป สหรัฐ และญี่ปุ่น มีการกำกับดูแลร้านอาหารที่ครอบคลุมร้านอาหารประเภทต่างๆ อาทิ ร้านสตรีทฟู้ด ร้านฟู้ดทรัค และร้านอาหารแบบไม่มีหน้าร้าน ทั้งนี้ หลักการกำกับดูแลจะเน้น 3 เรื่องหลัก ได้แก่ ความสะอาดของอาหาร สุขอนามัยของบุคลากร และสุขลักษณะของสถานที่ โดยสุขลักษณะของสถานที่จะแตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสมสำหรับร้านอาหารแต่ละประเภท ตัวอย่างการกำกับดูแลร้านอาหารแบบไม่มีหน้าร้านในสหรัฐ กรณีรัฐฟลอริดาจะอยู่ภายใต้กฎหมาย Cottage Food Operations กำหนดให้เจ้าของร้านต้องปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยอาหาร (food safety) อย่างเคร่งครัด และจะต้องแสดงข้อมูลบนฉลากอาหาร อาทิ ส่วนประกอบหรือข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร ชื่อและสถานที่ผลิตเพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

ส่วนกรณีรัฐแคลิฟอร์เนียแม้จะใช้กฎหมายชื่อเดียวกันกับรัฐฟลอริดา แต่แตกต่างตรงที่เจ้าของร้านต้องขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตก่อนประกอบธุรกิจ คล้ายคลึงกับแนวทางของสหภาพยุโรปที่กำหนดให้ผู้ที่จะจำหน่ายอาหารปรุงที่บ้าน (home-cooked food) จะต้องขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานในท้องถิ่นและปฏิบัติตามกฎหมายด้านอาหาร

ข้อเสนอการกำกับดูแลร้านอาหารแบบไม่มีหน้าร้านของไทย

กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลควรทบทวน และปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน โดยควรเร่งแก้ไขใน 2 เรื่อง

เรื่องแรก การชี้แจงว่าสถานที่จำหน่ายอาหาร หมายรวมถึงร้านอาหารแบบไม่มีหน้าร้านด้วยหรือไม่ และผู้เขียนเสนอให้มีการออกกฎกระทรวงกำหนดประเภทร้านอาหารที่เข้าข่ายเป็นสถานที่จำหน่าย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเปิดช่องทางไว้สำหรับการเพิ่มประเภทของร้านอาหารรูปแบบใหม่ๆ หากกระทรวงพิจารณาแล้วว่าร้านอาหารแบบไม่มีหน้าร้านเข้าข่ายเป็นสถานที่จำหน่ายอาหารที่ต้องแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น เพื่อขอหนังสือรับรองก่อนดำเนินกิจการ จะต้องมีการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถแจ้งขอหนังสือรับรองออนไลน์ได้

เรื่องที่สอง การจัดทำมาตรฐานสุขลักษณะที่เหมาะสมกับร้านอาหารแบบไม่มีหน้าร้าน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและเป็นบรรทัดฐานให้เจ้าของร้านปฏิบัติตาม ภาครัฐอาจขอความร่วมมือกับแพลตฟอร์มขนส่งอาหารให้กำหนดมาตรฐานสุขลักษณะเป็นหนึ่งในเงื่อนไขการสมัครเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้เจ้าของร้านอาหารต้องปฏิบัติตาม อีกทั้งเงื่อนไขดังกล่าวจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคได้อีกด้วย

ประโยชน์ของการมีแนวทางกำกับดูแลที่ชัดเจนจะช่วยยกระดับให้ Home Kitchen กลายเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค และเป็นทางรอดของคนในภาวะวิกฤติ เอื้อให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ และเป็นการตัดโอกาสที่จะเกิดกรณีการแอบอ้างหาประโยชน์จากความคลุมเครือของกฎหมาย

บทความ โดย อุไรรัตน์ จันทรศิริ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 1 กรกฎาคม 2564

อุไรรัตน์ จันทรศิริ

นักวิจัยด้านการกำกับดูแลที่ดี จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม
มีความสนใจและเชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมการแข่งขันและการกำกับดูแล

ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด