ฟื้นฟูหัตถกรรมไทย ทำอย่างไรให้ตรงจุด?


ทำอย่างไรสินค้าไทยจึงจะวางขายและเป็นที่ต้องการในตลาดโลกได้?  นี่อาจไม่ใช่คำถามและความท้าทายใหม่ แต่คำถามนี้กำลังเป็นโจทย์ที่ ยากยิ่งขึ้นสำหรับผู้ผลิตสินค้า “หัตถกรรมไทย” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุนและเทคโนโลยี

อีกทั้งที่ผ่านมาอุตสาหกรรมหัตถกรรมไทยมีแนวโน้มชะลอตัว เมื่อยิ่งเผชิญ ผลกระทบจากสถานการณ์การท่องเที่ยวที่ซบเซาจากการระบาดของโควิด-19 การขาดกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยิ่งกลายเป็นตัวเร่งทำให้การเติบโตลดลงเร็วและรุนแรงขึ้นกว่าที่ผ่านมา

การทำให้สินค้าหัตถกรรมไทยเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ จึงยิ่งมีความสำคัญและจะเป็นทางรอดของอุตสาหกรรมสินค้าหัตถกรรมไทยในระยะยาวอีกด้วย

ประเทศญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสินค้าหัตถกรรมท้องถิ่นหลากหลายเช่นเดียวกัน และรัฐบาลส่งเสริมหัตถกรรมดั้งเดิมอย่างเป็นระบบ ภายใต้โครงการ Cool Japan ที่รัฐบาลวางยุทธศาสตร์กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการผลักดันสินค้าและบริการอันเป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นในต่างประเทศ ในโครงการนี้มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยพัฒนาแบรนด์ท้องถิ่น และสนับสนุนการส่งออกผ่านการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ โดยองค์กร Association for Promotion of Traditional Craft Industries (DENSAN)

ตัวอย่างเช่น กาต้มน้ำเครื่องโลหะนัมบุ  Nambu Tekki จาก จ.อิวาเตะ ซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานเกือบ 400 ปี นอกจากจะมีจุดเด่นเรื่องรูปลักษณ์ของกาน้ำแล้ว ยังมีชื่อเสียงในเรื่องการทำน้ำร้อนดื่มแสนอร่อยจากธาตุเหล็กตามธรรมชาติด้วย ผลิตภัณฑ์นี้ ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นเวลาถึง 3 ปี ให้ออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับ Euro Branding Project และได้ร่วมกับนักออกแบบจากฟินแลนด์ สร้างผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับตลาดยุโรป ทำให้จากที่ต้องพึ่งตลาดในประเทศเกือบทั้งหมด ในปัจจุบันได้รายได้จากต่างประเทศถึงครึ่งหนึ่ง

สำหรับประเทศไทย ก็มีสินค้าหัตถกรรมที่สามารถเพิ่มมูลค่าและขายได้ในราคาสูง เช่น กระเป๋าสานจากกกจันทบูร ขายได้ ในราคาหลักหมื่น รวมทั้งมีศูนย์ทำกระจูดที่พร้อมด้วยกิจกรรมและโฮมสเตย์ ทั้งสอง ตัวอย่างนี้เกิดจากความพยายามของทั้ง ผู้ประกอบการที่อยู่ในวงการมานานและ คนรุ่นใหม่ที่ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ หมายความว่าอุตสาหกรรมสินค้าหัตถกรรมไทยนั้นมีศักยภาพเพียงแต่ต้องได้รับการสนับสนุนที่ตรงจุด

ผู้ประกอบการในกลุ่มหัตถกรรมในประเทศไทยนั้น มีทั้งที่เป็นชุมชนทำหัตถกรรมแบบดั้งเดิม และหัตถกรรมที่ พัฒนาต่อยอดจากแบบดั้งเดิมจนเป็นแบรนด์สินค้าโดยคนรุ่นใหม่ เพื่อคว้าโอกาสในตลาดใหม่ๆ การสนับสนุนที่ตรงจุดจากภาครัฐ จึงต้องตอบโจทย์เหล่านี้พร้อมกับถอดบทเรียนจากยุทธศาสตร์ Cool Japan ของญี่ปุ่นมาเป็นแนวทาง โดยผู้เขียนเห็นว่าสองสิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการ คือ

1) ส่งเสริมคนรุ่นใหม่ที่ต้องการมี ส่วนร่วมในการพัฒนาและฟื้นฟูหัตถกรรมไทยในการเข้าถึงแหล่งทุน

กลุ่มธุรกิจหัตถกรรมโดยคนรุ่นใหม่ มีศักยภาพสูงในพัฒนาสินค้าด้วยความคิด สร้างสรรค์ เป็นตัวอย่างของธุรกิจที่ปรับตัวสร้างแบรนด์พรีเมียม และมองหาช่องทางใหม่ๆ ในการนำเสนอสินค้า แต่อุปสรรคสำคัญคือการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ที่ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาปลดล็อกช่วยเหลือ

นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ยังมีทักษะสำคัญที่จำเป็นสำหรับการประกอบธุรกิจในยุคนี้ ซึ่งจะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมหัตถกรรมของไทยได้ เช่น ทักษะดิจิทัล หรือทักษะออนไลน์ โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ระบาด ทำให้ ผู้บริโภคคุ้นชินกับการซื้อ-ขายออนไลน์มากขึ้น หลายธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัว หรือต้องมองหาแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัล พร้อมทำ การค้า-การเงินออนไลน์ และการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย

2) ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเรื่องการทำการตลาดอย่างเป็นระบบ

ที่ผ่านมาภาครัฐมีการสนับสนุนหัตถกรรมไทยอยู่บ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นด้วยโครงการโอท็อป หรือการช่วยเหลือต่างๆ ของกรมการพัฒนาชุมชน แต่เสียงสะท้อนจาก ผู้ประกอบการในชุมชนท้องถิ่นที่ส่วนใหญ่เห็นตรงกัน คือ แม้ว่าภาครัฐจะช่วยสนับสนุนการออกแบบแต่สินค้าที่ผลิตออกมาไม่มีตลาดรองรับ ดังนั้น การให้คำแนะนำเฉพาะรายเรื่องการทำสินค้าให้เหมาะสมกับตลาดใดตลาดหนึ่งและวิธีการเข้าถึงตลาด จึงมีความสำคัญเพื่อให้การออกแบบและการผลิตตรงตามความต้องการและเพียงพอกับความต้องการของตลาด

ผู้เขียนเห็นว่า ภาครัฐมีศักยภาพในการหาตลาดรองรับ จากที่ภาครัฐเคยให้ความช่วยเหลือเรื่องการหาตลาดและประสบผลสำเร็จแล้ว เช่น กลุ่มหัตถกรรมบ้านทับลาน จ.ปราจีนบุรี ซึ่งมีจุดเด่นในเรื่องการใช้ใบลานจากป่าลานที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชียมาทำกระเป๋า และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐให้นำไปขายที่ต่างประเทศ การทำเช่นนี้ได้ช่วยขยายศักยภาพของผู้ผลิตหัตถกรรมไทยเป็นอย่างมาก เพียงแต่ภาครัฐต้องทำอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

ดังเช่นกรณีของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ยกตัวอย่างในเบื้องต้น ที่ให้การสนับสนุนถึง 3 ปี ผนวกกับการช่วยสนับสนุนในด้านของ Business Matching เช่น การส่งเสริมการจับคู่ระหว่างนักออกแบบกับผู้ประกอบการ เพื่อสนับสนุนในด้านของการออกแบบที่ตรงกับรสนิยมของตลาดต่างๆ รวมไปถึงการจับคู่ผู้ประกอบการกับคู่ค้า ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ภาคอุดมศึกษา เพื่อช่วยตอบโจทย์ปัญหาของธุรกิจ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ ที่ผู้ผลิตสินค้าหัตถกรรมไทยไม่เคยไปถึง

หัตถกรรมไทยเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของเศรษฐกิจฐานราก เป็นแหล่ง รายได้หลักและรายได้เสริมที่ทำให้เกิดการ กระจายรายได้สู่ชุมชน และทำให้ภูมิปัญญา ชาวบ้านได้รับการสืบทอด ต่อยอด ไปพร้อมๆ กับการเผยแพร่อัตลักษณ์ของ ท้องถิ่น

ดังนั้น การไม่ทิ้งอุตสาหกรรมหัตถกรรมนี้ไว้ข้างหลัง และให้การสนับสนุนอย่าง ตรงจุดให้สามารถเข้าถึงเงินทุน และเปิดตลาดทั้งในไทยและต่างประเทศได้ จึงไม่เพียงแต่เป็นการหนุนเศรษฐกิจฐานราก แต่เท่ากับเป็นการเพิ่มโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศที่รัฐบาลกำลังให้ความสำคัญอยู่ในขณะนี้ด้วย

บทความ โดย เมธิส โลหเตปานนท์

บทความเผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 16 กรกฎาคม 2564

เมธิส โลหเตปานนท์

นักวิจัย นโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

จบการศึกษาด้าน Political Science จาก University of California มีความสนใจประเด็นด้านรัฐศาสตร์ภาษาต่างประเทศ และงานเขียน

ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ