การลงทุนยกระดับสาธารณสุขให้ประเทศกลับสู่ปกติโดยเร็วคุ้มค่าที่สุด

เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดโควิด-19 รัฐบาลได้ออก พรก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทในปี พ.ศ. 2563 และได้ออก พรก. เงินกู้อีก  5 แสนล้านบาทในปี พ.ศ. 2564 โดยมีแผนงานหรือโครงการด้านสาธารณสุขใน พรก. ทั้งสองฉบับ 6.4 หมื่นล้านบาทและ 3 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีงบกลางในปีงบประมาณ 2564 อีกประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังพอมีเงินเหลือบางส่วน และยังจะมีงบกลางในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งสามารถใช้จ่ายในด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้นอีก  พรก. เงินกู้ทั้งสองฉบับและงบกลางดังกล่าวทำให้รัฐบาลมีเงินเพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขอันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 ในช่วงนี้อย่างน้อย 1.34 แสนล้านบาท เพื่อให้ประเทศไทยสามารถกลับสู่ปกติหรือเกือบปกติโดยเร็ว

ความล่าช้าในการกลับสู่ปกติจะส่งผลเสียหายต่อชีวิตของประชาชนจำนวนมาก และเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ เฉพาะเพียงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติก็เสียหายไปกว่า 1.5 แสนล้านบาทต่อเดือนเมื่อเทียบกับช่วงปกติ

ประสบการณ์ของหลายประเทศ เช่น อังกฤษ อิสราเอล และสิงคโปร์ แสดงให้เห็นว่า เกณฑ์สำคัญในการกลับสู่ภาวะปกติจนสามารถเปิดประเทศได้คือ 1) ฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงแก่ประชากรส่วนใหญ่ให้ครบสองเข็มอย่างน้อยร้อยละ 70 ในกรณีของอังกฤษ และร้อยละ 80 ในกรณีของสิงคโปร์และอิสราเอล 2) ควบคุมการแพร่ระบาดได้ในระดับที่มีอัตราการเสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อต่ำที่ร้อยละ 0.1-0.2 และ 3) รักษาอัตราผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องอยู่ในห้อง ICU ไม่เกิน 9 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน  

จากตารางที่ 1 จะเห็นว่า ในปัจจุบัน ประเทศไทยยังห่างไกลจากระดับที่สามารถกลับสู่ภาวะปกติดังกล่าวได้ และน่าจะยังยากที่จะบรรลุระดับดังกล่าวได้ในเดือนตุลาคม 2564 ตามที่รัฐบาลประกาศว่าจะเปิดประเทศ  

บทความนี้ต้องการนำเสนอแนวคิดว่ารัฐบาลควรใช้เงินดังกล่าวในการ “ลงทุน” ด้านสาธารณสุขใน 5 ด้านต่อไปนี้ เนื่องจากจะมีผลตอบแทนสูงและมีความคุ้มค่าอย่างมาก 

หมายเหตุ:  *เฉพาะสหราชอาณาจักร ข้อมูล ณ วันที่ 19 ก.ค. 2564 ซึ่งเป็นวันที่ประกาศเปิดประเทศ  **องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ตัวชี้วัดหนึ่งที่สะท้อนการควบคุมการแพร่ระบาดได้คือ อัตราผลตรวจเป็นบวกต่อการตรวจเชื้อทั้งหมดน้อยกว่าร้อยละ 5 เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน

1. ประเทศไทยควรเร่งลงทุนในการจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงโดยเร็วที่สุด และกระจายวัคซีนไปยังกลุ่มเป้าหมายให้ตรงจุดและโปร่งใส 

ประเทศไทยมียอดการฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้วกว่า 20.3 ล้านโดส ณ วันที่ 6สิงหาคม 2564 อย่างไรก็ตาม เราก็ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้จนสถานการณ์อยู่ในขั้นวิกฤติ ส่วนหนึ่งเพราะหนึ่งในวัคซีนหลักที่ประเทศไทยใช้คือ ซิโนแวค มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อต่ำ ดังนั้น แม้สามารถฉีดวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็มครอบคลุมประชากร 50 ล้านคนตามเป้าหมาย ก็จะยังไม่เพียงพอในการควบคุมการแพร่ระบาด   

แม้การจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น ไฟเซอร์ (ประมาณ 2,600 บาทต่อสองเข็ม) หรือโมเดอร์นา (ประมาณ 3,300 บาทต่อสองเข็ม) มาฉีดให้ประชาชน 50 ล้านคนจนครบสองเข็ม จะต้องใช้เงินมากถึงประมาณ 1.3-1.65 แสนล้านบาทก็ตาม วงเงินดังกล่าวก็ยังคิดเทียบเท่ารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงที่มีนักท่องเที่ยวเต็มที่เพียงประมาณเดือนเดียวเท่านั้น  (ภาพที่ 1)  

ดังนั้น การจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงมาให้ได้โดยเร็วจึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากในเชิงเศรษฐกิจ เพราะนอกจากจะช่วยลดการสูญเสียชีวิตของคนไทยจำนวนมาก ยังน่าจะสามารถคืนทุนได้ในเวลาไม่กี่เดือนที่สามารถเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาได้และแม้กระทั่งนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังไม่กลับมาเท่ากับในช่วงก่อนโควิด-19 เราก็จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเกือบปกติ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจในประเทศและภาคการส่งออกยังเดินหน้าต่อไปได้ (ดูข้อเสนอโดยละเอียดของทีดีอาร์ไอในการจัดหาและการกระจายวัคซีนโควิด-19 หรือที่ https://bit.ly/375nDjz)

ด้วยเหตุผลในทำนองเดียวกัน รัฐบาลควรเร่งจัดยารักษาโรคที่มีประสิทธิผลมาโดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) และยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ตลอดจนยาอื่น ๆ โดยให้แพทย์สามารถเบิกมาใช้ได้โดยง่าย ไม่มีกฎเกณฑ์ที่หยุมหยิม เพราะการลงทุนในการจัดหายารักษาโรคดังกล่าวจะมีความคุ้มค่าอย่างแน่นอนเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ได้จากการลดการเจ็บป่วยหนัก หรือเสียชีวิตของประชาชน 

ในกรณีของสิงคโปร์ รัฐบาลของสิงคโปร์สร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่า สามารถจัดหายาที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาโรคอย่างเพียงพอ นอกจากการจัดซื้อในเชิงรุกแล้ว สิงคโปร์ยังติดตามความก้าวหน้าในการพัฒนายาใหม่ ๆ ในโลกอย่างใกล้ชิด และส่งนักวิจัยไปร่วมกับต่างประเทศในการพัฒนายาใหม่เพื่อให้มั่นใจว่า สิงคโปร์จะสามารถจัดซื้อยาใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีอย่างรวดเร็วและเพียงพอ เมื่อการพัฒนาประสบความสำเร็จ

ที่มา: กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา (ณ วันที่ 25 มกราคม 2564)

หมายเหตุ: *รายได้คาดการณ์ จากข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละเดือนคูณกับค่าเฉลี่ยของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่อคน

2. ในระหว่างที่การจัดหาวัคซีนยังทำได้ช้า ควรลงทุนเพิ่มศักยภาพในการตรวจเชิงรุกขนานใหญ่ เพื่อกักตัวผู้ติดเชื้อและควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งจะลดความสูญเสียชีวิตและความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล 

ประเทศที่มีศักยภาพสูงในการตรวจเชื้อ ติดตามผู้อาจสัมผัสเชื้อ และกักแยกผู้ติดเชื้อ (test-trace-isolate: TTI) สามารถลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี เช่น สิงคโปร์ และจีน กล่าวคือ นอกจากตั้งเป้าหมายฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดให้ครอบคลุมร้อยละ80 ของประชากรแล้ว สิงคโปร์ยังมีการตรวจแบบ RT-PCR เฉลี่ยประมาณ​ 68,500 ตัวอย่างต่อวัน หรือประมาณ 12,039 ตัวอย่างต่อประชากรหนึ่งล้านคนต่อวัน[1]  ในขณะที่ ประเทศไทยมีการตรวจแบบ RT-PCR เฉลี่ยประมาณ 61,790  ตัวอย่างต่อวัน หรือประมาณ 933 ตัวอย่างต่อประชากรหนึ่งล้านคนต่อวัน[2]   

ที่น่าสนใจคือ สิงคโปร์สนับสนุนให้ประชาชนตรวจเชื้อเบื้องต้นด้วยตนเองโดยใช้การทดสอบที่เร็วและง่าย เช่น Rapid Antigen Test แม้ว่าประสิทธิภาพในการทดสอบดังกล่าวจะไม่แม่นยำเหมือน RT-PCR test และอาจมีโอกาสเกิดผลลบลวง (false negative) บ้าง  นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ยังแจกเครื่องวัดปริมาณออกซิเจนในเลือด (oximeter) ให้ทุกครัวเรือนในสิงคโปร์เพื่อทดสอบเบื้องต้นด้วยตนเองที่บ้านด้วย ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว รวมทั้งเร่งตรวจเชื้อเชิงรุกในหอพัก โฮสเทล หรืออาคารชุดที่พักอาศัย โดยตรวจหาเชื้อจากน้ำทิ้ง   

ในประเทศไทยซึ่งมีอัตราการระบาดในระดับสูงต่อเนื่องมาหลายเดือน การติดตามผู้อาจสัมผัสเชื้อ (tracing) เป็นสิ่งที่ไม่สามารถดำเนินการได้ง่ายมาระยะหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ตาม การค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกเพื่อแยกผู้ติดเชื้อออก ยังเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก  แต่การค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกยังดำเนินการอย่างจำกัดมาจนถึงปัจจุบัน จากจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วประเทศประมาณ 3.5 แสนราย ในเดือนกรกฎาคม 2564 สัดส่วนผู้ติดเชื้อที่พบจากการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกและผู้ติดเชื้อในชุมชนประมาณร้อยละ 19 จากจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด  และในกรุงเทพและปริมณฑลซึ่งมีสัดส่วนผู้ติดเชื้อประมาณร้อยละ 43 ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งประเทศ มีสัดส่วนผู้ติดเชื้อที่พบจากการค้นหาเชิงรุกและผู้ติดเชื้อในชุมชนประมาณร้อยละ 29[3]   

หากประเทศไทยยังมีการตรวจเชื้อ และค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกได้น้อย หลังจากคลายล็อกดาวน์ ก็เป็นไปได้สูงที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะมีแนวโน้มกลับมาเพิ่มได้อีก เนื่องจากการล็อกดาวน์ช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้อย่างมีนัยสำคัญได้ชั่วคราวในช่วง 60 วันแรก และลดอัตราการแพร่เชื้อได้อย่างมีประสิทธิผลใน 20 วัน แต่หลังจากนั้น ประโยชน์จะลดลงเนื่องจากประชาชนเหนื่อยล้าจากมาตรการล็อกดาวน์[4] ทั้งนี้ รายละเอียดและความเข้มข้นของการดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ที่แตกต่างกันอาจส่งผลต่อตัวเลขประสิทธิผลที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ มาตรการล็อกดาวน์ยังมีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูง โดย SCB EIC ประมาณการว่า ผลของมาตรการล็อกดาวน์ ความวิตกกังวลของประชาชนต่อการติดเชื้อ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่สูง และรายได้ที่ลดลง ส่งผลเสียหายต่อการบริโภคภาคเอกชนกว่า 7.7 แสนล้านบาท ในช่วงเดือนเมษายน-พฤศจิกายน 2564 (ประมาณร้อยละ 4.8 ของ GDP)[5]

การตรวจเชื้อในลักษณะต่าง ๆ รวมทั้งการตรวจเชิงรุกแล้วแยกกักตัวและรักษาผู้ติดเชื้อโดยเร็ว จะมีความคุ้มค่า เนื่องจาก ลดอาการป่วยหนักของผู้ติดเชื้อและลดการแพร่เชื้อ จึงทำให้ช่วยลดค่ารักษาพยาบาล และที่สำคัญ ลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ ทั้งนี้ จากการประมาณการต้นทุนและผลประโยชน์ของมาตรการเร่งตรวจหาเชื้อ พบว่า การตรวจหาเชื้อเชิงรุกในประชากรหนึ่งล้านคนและแยกผู้ติดเชื้อออกมา น่าจะช่วยทำให้สามารถลดการติดเชื้อและลดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ประมาณ 5.1 พันล้านบาท ดังแสดงในตารางที่ 2  ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขขั้นต้นที่ยังไม่ได้พิจารณาถึงผลการกระจายเชื้อต่อเนื่องหลายครั้ง

ที่มา: *อัตราผลตรวจเชื้อเป็นบวกต่อการตรวจเชื้อทั้งหมดร้อยละ 23  เป็นค่าประมาณการเฉลี่ย 7 วันที่ผ่านมา ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2564 จากข้อมูลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ **ค่าใช้จ่ายในการรักษาเฉลี่ยต่อคนประมาณ 1 แสนบาท ***สมมติฐาน Effective Reproduction Rate (R) =1.24 เป็นค่าประมาณการจาก Our World in Data ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2564

ทั้งนี้ การเร่งตรวจเชิงรุกในประเทศไทยควรดำเนินการดังนี้

1) เร่งตรวจหาเชื้อและเพิ่มจุดตรวจ โดยจัดตั้งศูนย์คัดกรองที่ให้บริการตรวจเชื้อโดยไม่เว้นวันหยุด พร้อมทั้งจัดทำระบบที่ให้จองคิวผ่านออนไลน์หรือทางโทรศัพท์ เพื่อป้องกันการแออัดที่ศูนย์คัดกรอง ควบคู่ไปกับตรวจแบบ on-site โดยเฉพาะในสถานที่เสี่ยง เช่น ที่พักคนงาน แคมป์คนงานก่อสร้าง ชุมชนแออัด สนามบิน ท่าเรือ ตลาด ห้างสรรพสินค้า และสถานดูแลผู้สูงอายุในจังหวัดที่มีอัตราการติดเชื้อสูง โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนกว่าในแต่ละจังหวัดจะมีอัตราผลตรวจเชื้อเป็นบวกน้อยกว่าร้อยละ 5 ซึ่งเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่แสดงถึงความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดได้[6]   

2) ปรับปรุงระบบเฝ้าระวังการแพร่ระบาด ดังนี้

2.1 แจกอุปกรณ์ตรวจสอบเบื้องต้น เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดปริมาณออกซิเจนในเลือด และชุดตรวจ Rapid Antigen Test เพื่อให้ประชาชนสามารถทดสอบเบื้องต้นด้วยตนเองอย่างทั่วถึง   โดยเฉพาะในชุมชนแออัดและกลุ่มเสี่ยงที่ทำงานอาชีพบริการและนอกระบบ เช่น คนขับรถแท็กซี่ คนขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง พนักงานส่งอาหาร พนักงานทำความสะอาด พนักงานเก็บขยะ และผู้ค้าหาบเร่แผงลอย  

จากข้อมูลของกรุงเทพมหานคร ในปี 2561 ชุมชนแออัดจำนวน 638 ชุมชน มีจำนวนประชากรเกือบ 6 แสนคน หรือจำนวนครัวเรือน 146,462 ครัวเรือน[7] ซึ่งหากรัฐจัดสรรงบประมาณซื้ออุปกรณ์ตรวจสอบเบื้องต้นด้วยตนเอง (เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดปริมาณออกซิเจนในเลือด และชุดตรวจ Rapid Antigen Test) ประมาณ 1 พันบาทต่อครัวเรือน จะใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 146.5 ล้านบาท  ซึ่งคุ้มค่ามากหากเทียบกับการประหยัดจากค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ติดเชื้อภายใต้สมมติฐานที่ตรวจเชื้อและกักตัวได้เร็ว (ดังแสดงข้างต้น) ประมาณ 3.2 พันล้านบาท และที่สำคัญ การตรวจเชื้อในวงกว้างจะช่วยลดการป่วยหนักและการสูญเสียชีวิตของประชาชน ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้อุปกรณ์ดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ควรให้คำแนะนำและข้อควรระวังในการใช้แก่ผู้ได้รับอุปกรณ์

2.2 แจกชุดทดสอบการตรวจเชื้อแบบ Rapid Antigen Test ให้สถานประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ในกิจการที่พนักงานไม่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ หรือทำงานบริการที่ต้องสัมผัสกับลูกค้าใกล้ชิด เช่น โรงงานในสายการผลิต (เช่น การผลิตอาหาร ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารในประเทศ) บริการขนส่ง บริการก่อสร้าง ร้านอาหาร โรงแรม ร้านเสริมสวย ร้านนวดสปา สถานออกกำลังกาย สถานดูแลผู้สูงอายุ และสถานเลี้ยงเด็กเล็ก เพื่อส่งเสริมให้มีการตรวจหาเชื้อเป็นประจำอย่างน้อยทุกสองสัปดาห์ ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสี่ยงที่จะต้องปิดกิจการอีกหลังคลายล็อกดาวน์ โดยดำเนินการอย่างเป็นระบบ ดังนี้ 

  • จัดทำระบบข้อมูลลงทะเบียนและรายงานออนไลน์ ที่ให้สถานประกอบการลงทะเบียนเพื่อขอรับชุดทดสอบ กำหนดรายชื่อผู้รับผิดชอบดำเนินการตรวจและรายงานผลการตรวจ ซึ่งเชื่อมโยงกับระบบกักแยกและรักษาโรคเพื่อทำให้เกิดประสิทธิผลในการควบคุมโรค
  • จัดการฝึกอบรมวิธีการตรวจที่ถูกต้องให้บุคลากรของสถานประกอบการผ่านระบบออนไลน์ก่อนเริ่มดำเนินการ โดยให้เฉพาะผู้ที่ผ่านการอบรมเท่านั้นที่สามารถตรวจหาเชื้อได้

ทั้งนี้ ควรเริ่มดำเนินการอย่างเร็วที่สุด สำหรับกิจการที่ไม่ถูกสั่งปิดในช่วงล็อกดาวน์ (และทุกกิจการหลังจากคลายล็อกดาวน์) และดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนกว่าในแต่ละจังหวัดจะมีอัตราผลตรวจเชื้อเป็นบวกน้อยกว่าร้อยละ 5 เป็นระยะเวลาอย่างน้อยสองสัปดาห์

เช่นเดียวกันกับที่กล่าวมาข้างต้น การลงทุนดังกล่าวจะมีความคุ้มค่ามาก เนื่องจาก ในสาขาการผลิต การก่อสร้าง การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า และกิจกรรมโรงแรมและการบริการด้านอาหาร มีแรงงานประมาณ 11.9 ล้านคน (ประมาณเกือบครึ่งหนึ่งทำงานในSMEs) และมีมูลค่าผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ประมาณ 5.8 ล้านล้านบาทหรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37 ของ GDP ในปี 2563  ขณะที่ ค่าใช้จ่ายชุดตรวจ Rapid Antigen Test อยู่ในระดับชุดละ 120 บาท[8] หรือประมาณ 2,856 ล้านบาทต่อเดือนสำหรับการตรวจทุกสองสัปดาห์ของแรงงานทั้งหมดนี้ ซึ่งถือว่าคุ้มค่ามากในการรักษาระดับมูลค่าการผลิตที่ประมาณ 5 แสนล้านบาทต่อเดือน และการลดค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ติดเชื้อประมาณ 6.6 หมื่นล้านบาท ภายใต้สมมติฐานที่กล่าวมาข้างต้น นอกเหนือจากการลดการป่วยหนักและการสูญเสียชีวิตของประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

2.3 แจกชุดทดสอบการตรวจเชื้อแบบ Rapid Antigen Test ในสถานที่ซึ่งมีผู้คนจำนวนมาก เช่น โรงเรียน เพื่อให้การเรียนการสอนสามารถดำเนินการไปได้อย่างปกติ โดยดำเนินการอย่างเป็นระบบในลักษณะเดียวกันกับ (2.2) และกำหนดให้ผู้จัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีผู้คนจำนวนมากมารวมตัวกันต้องดำเนินการตรวจเชื้อผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยผู้จัดกิจกรรมเสียค่าใช้จ่ายเอง  

2.4 ยกเว้นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับชุดตรวจ Rapid Antigen Testเพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงชุดตรวจ Rapid Antigen Test ได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ประชาชนซื้อชุดตรวจจากร้านขายยาทั่วไปในราคาที่รวม VAT ประมาณ 250-400 บาท

3. กักแยกตัวและรักษาผู้ติดเชื้อโดยเร็ว โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยในชุมชนแออัดและผู้ไร้บ้าน

โดยเพิ่มสถานที่แยกกักผู้ป่วยในชุมชน (Community Isolation) สำหรับการกักตัวผู้ติดเชื้อซึ่งมีอาการน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้ที่ใกล้ชิด และเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก่อนที่ผู้ป่วยจะมีอาการหนัก

หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรบูรณาการทำงานเพื่อให้ผู้ติดเชื้อสามารถได้รับการกักตัวและเข้าถึงการรักษาได้ง่ายและเร็วที่สุด เช่น ในกรณีที่ได้รับแจ้งว่ามีผู้เสี่ยงสูง เช่น มีอาการเหนื่อย หอบ ไข้สูง ค่าออกซิเจนในเลือดต่ำ  ควรส่งต่อผู้เสี่ยงสูงให้เข้ารับการตรวจเชื้อเพื่อให้ได้ผลทดสอบที่แน่ชัดโดยเร็ว และจัดการแยกผู้ติดเชื้อจากคนในครอบครัว โดยให้ความช่วยเหลือจัดหาที่พักที่เหมาะสม โดยเฉพาะผู้อาศัยในชุมชนแออัดและผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีข้อจำกัดด้านที่พักอาศัยแออัด เพราะแม้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกักแยกตัวและรักษาผู้ติดเชื้อโดยเร็วก็ยังมีความคุ้มค่ากว่าการต้องรักษาผู้ติดเชื้ออาการหนักและการมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นที่จะตามมา

นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 จำนวนผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการและมีอาการเล็กน้อย-ปานกลาง เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (ภาพที่ 2) ดังนั้น การกักแยกตัวและให้การรักษาผู้ติดเชื้อเหล่านี้โดยเร็วในสถานที่แยกกักผู้ป่วยในชุมชน จะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักและป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้ที่ใกล้ชิด เนื่องจากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที  ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมการแพทย์พบว่า ปัจจัยสำคัญที่ลดความเสี่ยงของอาการรุนแรงคือ การได้รับการรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์เร็วภายใน 4 วันตั้งแต่เริ่มมีอาการ และยาฟาวิพิราเวียร์ช่วยลดปริมาณไวรัสได้ดี ดังนั้น ควรให้ยาเร็วก่อนที่ผู้ป่วยจะมีอาการหนักดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น[9]  

ที่มา: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

หมายเหตุ: Severe case Confirmed case: ที่มีอาการหรืออาการแสดงเข้าได้กับปอดอักเสบ และ SpO2 ที่ room air < 95% จำเป็นต้องรักษาด้วยการช่วยหายใจขั้นสูง หรือการรักษาเพื่อช่วยพยุงอวัยวะ, Moderate case Confirmed case: ภาพถ่ายรังสีปอดปกติ แต่มีปัจจัยเสี่ยงโรคร่วมสำคัญข้อใดข้อหนึ่งหรือมีตัวชี้วัดโรครุนแรงข้อใดข้อหนึ่ง, Mild case Confirmed case: ภาพถ่ายรังสีปอดปกติ ไม่มีภาวะเสี่ยงโรคร่วมสำคัญ และ Asymptomatic Confirmed case: ไม่มีอาการ

ในกรณีที่ผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อยได้รับการตรวจเชื้อโดยเร็ว รัฐจะเสียค่ารักษาพยาบาลในสถานที่แยกกักผู้ป่วยในชุมชนประมาณเกือบ 3 หมื่นบาท ซึ่งคุ้มค่ามากหากเทียบกับการรักษาผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วจนต้องเข้าโรงพยาบาล ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาประมาณ 1.9–3.6 แสนบาทแล้วแต่ความรุนแรงของอาการ (ตารางที่ 3)

ที่มา: แนวทางปฏิบัติในการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข สำหรับกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019ฯ (ฉบับแก้ไขและเพิ่มเติม) และประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 สำหรับการดูแลรักษาในที่พักระหว่างรอเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยในโรงพยาบาล (Home Isolation) และการดูแลรักษาในโรงพยาบาลสนาม สำหรับคนในชุมชน (Community Isolation) 

4. เพิ่มค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า และมีมาตรการป้องกันความเสี่ยงให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าและครอบครัว

โดยจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าและครอบครัวที่เป็นผู้สูงอายุหรือผู้มีโรคประจำตัว เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า 

แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขได้ให้ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในช่วงโควิด-19 แก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุมและรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19บ้างแล้ว แต่ก็น่าจะยังไม่เพียงพอ โดยแพทย์ได้ 1,500 บาทต่อผลัด ส่วนผู้ปฏิบัติงานอื่น ๆ (เช่น พยาบาล นักวิชาการด้านการสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ทีมสนับสนุน) ได้ 1,000 บาทต่อผลัด โดยแต่ละผลัด ต้องทำงานไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง ซึ่งเป็นภาระที่หนักและมีความเสี่ยงมาก   ดังนั้น ในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงเช่นนี้ รัฐควรให้ค่าตอบแทนพิเศษ เช่น ให้โบนัสหนึ่งเดือนแก่บุคลากรที่มีความเสี่ยงดังกล่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในทุกสังกัด เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ

5. เพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครดูแลผู้ป่วยที่แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และในสถานที่แยกกักผู้ป่วยในชุมชน (Community Isolation)

เพื่อรับมือกับจำนวนผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ-อาการเล็กน้อยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และลดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะมีอาการหนักขึ้น รัฐควรเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครดูแลผู้ป่วยที่ทำ Home Isolation และผู้ป่วยใน Community Isolation โดยดำเนินการดังนี้

  • รับสมัครเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครดูแลผู้ป่วยที่ทำ Home Isolation โดยเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์เหล่านี้ต้องผ่านการอบรมระยะสั้นเร่งด่วนเกี่ยวกับการติดตามอาการและดูแลผู้ป่วย รวมทั้ง การบันทึกอาการผู้ป่วยในระบบ online เพื่อส่งต่อข้อมูลให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในการวินิจฉัยต่อไป โดยเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมตามปริมาณงาน 
  • รับสมัครเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครดูแลผู้ป่วยใน Community Isolation โดยเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครต้องผ่านการอบรมระยะสั้นเร่งด่วนเกี่ยวกับการติดตามอาการและดูแลผู้ป่วย รวมถึงการดูแลความปลอดภัยของตน โดยเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม และได้รับการตรวจเชื้อเป็นประจำอย่างน้อยทุกสามวัน ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครควรได้รับการฉีดวัคซีนครบหรือเป็นผู้ที่เคยติดเชื้อแต่รักษาหายแล้ว
  • ร่วมมือกับกลุ่มจิตอาสาที่ช่วยค้นหาและดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ต่าง ๆ เช่น กลุ่มเส้นด้าย กลุ่มเป็ดไทยสู้ภัย โครงการ “ช่วยด้วย! ช่วยคุณจากโควิดได้ถึงบ้าน” และกลุ่มจิตอาสาช่วยไทย โดยสนับสนุนทางการเงินในอัตราเดียวกับที่จ่ายให้หน่วยงานรัฐ เพื่อช่วยให้กลุ่มจิตอาสาเหล่านี้สามารถดูแลผู้ป่วยในจำนวนที่มากขึ้น และใช้โอกาสนี้ในการวางแผนร่วมกันเพื่อให้เกิดการทำงานอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิผลสูงสุด

โดยสรุป การดำเนินการตามแนวทางทั้ง 5 ประการข้างต้นเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากในทางเศรษฐศาสตร์ และที่สำคัญช่วยลดการป่วยหนักและการสูญเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมากได้   รัฐบาลไทยมีทรัพยากรทางด้านการเงินที่เพียงพอที่จะใช้หนุนเสริมความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขในประเทศ และสร้างความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน 

บทความ โดย ดร. เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

**ผู้เขียนขอขอบคุณ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ดร.สมชัย จิตสุชน รศ.ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ นพ.ต่อพงศ์ อัศวิษณุ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ ผศ.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ รองผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สำหรับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์อย่างมาก และ คุณวรากร อาวุธปัญญากุล คุณปริญญา มิ่งสกุล คุณเมธิส โลหเตปานนท์ คุณนัชชา ยงพิพัฒน์วงศ์ คุณปิยาภัสร์ ปันฉิม สำหรับความช่วยเหลือในการรวบรวมข้อมูลเป็นอย่างดี


อ่านเพิ่มเติม : บทความและข้อเสนอในการบริหารจัดการวิกฤตโควิด-19 ของทีดีอาร์ไอที่ผ่านมา

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

[1] ข้อมูลค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 7 วัน ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2564 จากกระทรวงสาธารณสุข สิงคโปร์

[2] ข้อมูลค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 7 วัน ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2564 จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

[3] รายงานข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประจำวัน

[4] ข้อสรุปดังกล่าวเป็นผลจากการศึกษาของ Goldstein et al. (2021) โดยใช้ข้อมูลของ 152 ประเทศทั่วโลกนับตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดจนถึงเดือนธันวาคม 2020

[5] EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2021 เหลือโต 0.9% (เดิมคาด 1.9%) จากภาวะวิกฤติของการระบาด COVID-19 ในประเทศ

[6] องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่า ตัวชี้วัดหนึ่งที่สะท้อนการควบคุมการแพร่ระบาดได้คือ อัตราผลตรวจเชื้อเป็นบวกที่ต่ำกว่าร้อยละ5 อย่างน้อยสองสัปดาห์

[7] สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร. 2561. สถิติข้อมูลชุมชนในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2561

[8] สปสช. จัดซื้อชุตรวจโควิด 8.5 ล้านชุดในงบประมาณ 1,014 ล้านบาท หรือเฉลี่ยประมาณ 120 บาทต่อชุด

[9]https://covid19.dms.go.th