‘เด็ก’ คือ เจ้าของการเรียนรู้ สู่ผลสัมฤทธิ์การศึกษา จ.สตูล (1)

การเรียนการสอนในระบบการศึกษาไทย มักสอนให้เด็กเรียนรู้หาคำตอบจากโจทย์ที่ครูหรือผู้ใหญ่ตั้งให้ โดยอาจลืมไปว่าการฝึกเด็กให้ “ตั้งคำถาม” และให้เขาได้ลองหาคำตอบ อาจเป็นการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดีกว่า

การตั้งคำถามโดยผู้เรียน ทำให้เกิดคำถามที่หลากหลาย และการหาคำตอบด้วยวิธีการที่แตกต่าง ขณะที่ครู ผู้ปกครอง และ ชุมชนอาจได้เรียนรู้ไปพร้อมกับเด็กด้วย

วิธีการเรียนรู้เช่นนี้หาได้ยาก แต่มีกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจใน จ.สตูล โดยเด็กๆ ชั้นประถมปีที่ 5 ใน จ.สตูล พวกเขาเรียนรู้ จากการตั้งคำถาม พวกเขาถามจากความสงสัย เช่น “ทำอย่างไรกองทุนหมู่บ้านจึงกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง” “ทำอย่างไรจึงจะลดค่าไฟฟ้าของชุมชนได้” เป็นต้น

เพื่อตอบคำถามแรก “ทำอย่างไรกองทุนหมู่บ้านจึงกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง” เด็กๆ วางแผนหาข้อมูลและคำนวณว่า กองทุนติดลบเท่าไร ใครไม่คืนหนี้ และพบว่าหนึ่งในนั้นคือคนในครอบครัว เด็กๆ จึงสอบถามและทำให้คนในครอบครัวนำเงินมาคืนกองทุนหมู่บ้านได้

การตั้งคำถามหนึ่งคำถามทำให้เด็กได้เรียนรู้หลายอย่าง ทั้งการฝึกการทำบัญชีและการสื่อสาร อีกทั้งได้ตระหนักถึงความสำคัญของกองทุนหมู่บ้าน และแสดงออกผ่านการเป็น active citizen ซึ่งช่วยทำให้ชุมชนของตนมีความเข้มแข็งอีกครั้ง

สำหรับคำถาม “ทำอย่างไรจึงจะลดค่าไฟฟ้าของชุมชนได้” เด็กๆ เริ่มหาคำตอบโดยการนำใบเสร็จค่าไฟฟ้าของทั้งชุมชนมาคำนวณ ศึกษาวิธีการลดค่าไฟฟ้าและนำมาเสนอคนในชุมชน ผลลัพธ์คือในเดือนต่อมาพบว่าค่าไฟฟ้าลดลง 2 แสนบาท ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็ก ที่ช่วยให้มีทักษะ ความรู้ สมรรถนะ และเจตคติ แต่ขยายไปถึงการสร้างผลกระทบครอบคลุมการเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ซึ่งนี่คือตัวอย่างความสำเร็จของการจัดการศึกษาใน จ.สตูล

การจัดการศึกษาลักษณะนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจาก จ.สตูล เป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่องของพื้นที่นวัตกรรม ซึ่งมีกลไกการทำงานเชิงพื้นที่ ขับเคลื่อนการศึกษาของการจังหวัด มีการทดลองปรับการเรียนการสอนในแบบที่โรงเรียน นักเรียนและคนในพื้นที่ต้องการ การจัดการศึกษาใน จ.สตูล จึงมีบทเรียนที่น่าสนใจ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงการแก้ปัญหาอุปสรรคระหว่างทาง

จุดเริ่มต้นจากหัวใจของการเรียนรู้ : RBL-ครูสามเส้า-หลักสูตรภูมิสังคม

เพื่อให้ได้ผลลัพธ์การเรียนรู้ดังตัวอย่างเบื้องต้น จ.สตูล ริเริ่มโดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ “Research-based learning” หรือ RBL  คือ นำขั้นตอนและกระบวนการวิจัย มาเป็นกระบวนการหลักในการเรียนรู้ เด็กๆ ได้เรียนรู้จากการตั้งโจทย์วิจัยของ ตัวเองจากเรื่องใกล้ตัว โดยการเก็บข้อมูลและสำรวจชุมชนผ่านเครื่องมือต่างๆ (Social mapping) แล้วศึกษาหาคำตอบ พร้อมสร้างนวัตกรรมขึ้นมาเพื่อแก้โจทย์

อย่างไรก็ตาม เด็กๆ ยังจำเป็นต้องมีครูเป็นผู้สนับสนุน โดย จ.สตูลใช้ “รูปแบบ ครู 3 เส้า” คือ ครูจากสามส่วนหรือ สูตร 30-30-40 ได้แก่ ครูในโรงเรียน ครูชุมชน และครูพ่อแม่

ครูในโรงเรียนจะเป็นผู้วางแผนการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามขั้นตอนโครงงานฐานวิจัย พาสำรวจชุมชน เพื่อค้นหาประเด็นที่เด็กสนใจ และร่วมกันพัฒนาให้เป็นโจทย์วิจัย

ครูในโรงเรียนจึงเปรียบเสมือนโค้ชที่ช่วยให้คำแนะนำ รวมถึงการประเมินพัฒนาการของเด็กในชั้นเรียน และการเชื่อมโยงการจัดการเรียนรู้กับครูอีก 2 เส้า คือ ครูในชุมชน ผู้เข้ามาสนับสนุนการเรียนรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาและสิ่งแวดล้อม และครูพ่อแม่ คือ ผู้เข้ามาร่วมสร้างการเรียนรู้สำหรับเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นการสอนการบ้าน การทำกิจกรรมร่วมกับลูก และร่วมออกแบบกิจกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้กับโรงเรียน

ครูโรงเรียนจะใช้ “หลักสูตรภูมิสังคม” เป็นเหมือนแผนที่ในการกำหนดทิศทางการจัดกระบวนการจัดการเรียนรู้ร่วมกับครูชุมชนและครูพ่อแม่ ซึ่งเป็นหลักสูตรสถานศึกษาที่ผสมผสานระหว่างสาระเนื้อหาที่จำเป็นตามหลักสูตรแกนกลางฯ และที่ยึดโยงกับชุมชน ดังนั้น แม้อยู่ในจังหวัดเดียวกันแต่ส่วนประกอบของหลักสูตรของแต่ละโรงเรียนอาจแตกต่างกัน

ผู้ที่ร่วมออกแบบหลักสูตรนี้คือ ผู้เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้หลักสูตร แกนกลางฯ เช่น ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา ครู ทำงานร่วมกับผู้ที่เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ความรู้ ชุมชนหรือภูมิปัญญา เช่น พ่อแม่ ครูชุมชน และเด็กนักเรียน ซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญที่จะ แสดงความเห็นต่อหลักสูตรที่ตนเองจะใช้เรียนรู้

อย่างไรก็ตาม ช่วงริเริ่มเป็นช่วงที่ท้าทายมาก โดยเฉพาะสำหรับผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้เป็นกระบอกเสียงชักชวนคนในชุมชนมาร่วมกระบวนการออกแบบ หลักสูตรด้วยกัน ซึ่งการรับมือกับความท้าทายนี้ไม่ง่าย แต่สามารถทำได้ โดยทำอย่างไรนั้น ผู้เขียนขอนำเสนอในวาระทีดีอาร์ไอ ครั้งหน้า

บทความโดย ภูษิมา ภิญโญสินวัฒน์ นักวิจัย นโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา

เผยแพร่ครั้งแรก ใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 23 กันยายน 2564

ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ