‘COP26’ เป้าหมาย ‘เน็ตซีโร่’ ไทย ก้าวทันประชาคมโลก?

การเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต้องเผชิญวิกฤติน้ำแล้ง พายุ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และภัยพิบัติทางธรรมชาติที่บ่อยครั้งขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้น  เพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทยต้องทำหน้าที่ของตน โดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ หรือที่เรียกว่า Net Zero Emission โดยเร็วที่สุด

Net Zero เป็นประเด็นใหญ่ที่กำลังได้รับความสนใจทั่วโลก โดยในวันที่ 31 ต.ค.นี้ ผู้นำจากกว่า 190 ประเทศ ทั่วโลกจะมารวมตัวกันที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เพื่อร่วมประชุมรัฐ ภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP 26

จุดประสงค์หลักของการประชุมในปีนี้ คือ การให้แต่ละประเทศเสนอเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิม โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการบรรลุ Net Zero ทั่วโลกภายในปี 2050 (พ.ศ.2593) โดยเป้าหมาย Net Zero ดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เทียบกับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

สำหรับประเทศไทย (ร่าง) ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พบว่า หากประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายตามที่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ได้กำหนดไว้ คือ รักษาอุณหภูมิให้เพิ่มขึ้น ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ประเทศไทยจะต้องบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 (พ.ศ.2593) และหากจะรักษาอุณหภูมิให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ประเทศไทยจะต้องบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2090 (พ.ศ.2633)

ภาครัฐและภาคเอกชนได้เริ่มให้ความสำคัญกับเป้าหมายนี้แล้ว โดยภาคพลังงานซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุด (71.65% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งประเทศ) เป็นภาคส่วนแรกที่แสดงท่าทีที่ชัดเจนต่อเป้าหมายดังกล่าว โดยกำหนดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ภายในปี 2065-2070 (พ.ศ.2608-2613) ในกรอบแผนพลังงานชาติ ซึ่งถือเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่ดีที่จะนำไปสู่เป้าหมาย Net Zero ในระดับประเทศ

กรอบแผนพลังงานชาติได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดและรับฟังความคิดเห็น โดยแผนพลังงานชาติมีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายใน ปี 2065-2070 (พ.ศ.2608-2613) โดยเน้นภาคการไฟฟ้าและขนส่งเป็นหลัก เนื่องจากเป็นภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด

ภาคการผลิตไฟฟ้าจะมีมาตรการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มสัดส่วนการ ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ให้ไม่น้อยกว่า 50% โดยสนับสนุนทั้ง โรงไฟฟ้าชีวมวล ก๊าซชีวภาพ โซลาร์ฟาร์ม และ ขยะ

สำหรับภาคขนส่ง จะมีมาตรการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่ง เป็นพลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและเชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาของคุณภาพอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเนื่องมาจากฝุ่นละออง PM 2.5

จุดเด่นของแผนพลังงานชาติ คือ เป้าหมายการเปลี่ยนแหล่งที่มาของพลังงาน จากการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นส่วนใหญ่ให้พึ่งพาพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น โดยการปรับเปลี่ยนดังกล่าวนอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ยังมีผลประโยชน์ร่วม (Co-benefit) อีกหลายประการ เช่น การลดมลภาวะทางอากาศที่เป็นเหตุให้ในแต่ละปี มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 5 หมื่นคนและสร้าง ความเสียหายต่อเศรษฐกิจนับแสนล้านบาทตลอดจนช่วยสร้าง “งานสีเขียว” (Green Jobs) หรืองานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และทำให้ประเทศไทยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงนำเข้า

การประชุมระดับโลก COP 26 ที่กำลังจะเกิดขึ้น ทำให้เห็นชัดเจนว่าประเทศไทยยังคงตามหลังหลายประเทศในด้านการตั้งเป้าหมายและดำเนินงานด้านการ ลดก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้น ในปัจจุบันมี 63 ประเทศที่ได้ประกาศเป้าหมาย Net Zero อย่างเป็นทางการ ซึ่งในจำนวนนี้รวมประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น ลาวและสิงคโปร์ โดยประเทศลาวได้ประกาศคำมั่นสัญญาทางการเมือง (Political Pledge) เรื่อง Net Zero และประเทศสิงคโปร์มีการ บูรณาการแนวทาง Net Zero ไว้ในนโยบายระดับชาติแล้ว ในขณะที่ประเทศไทยยังคงไม่มีการประกาศนโยบายหรือเป้าหมาย Net Zero ครอบคลุมทุกภาคส่วน มีเพียงกรอบแผนพลังงานชาติที่ตั้งเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมที่สุด

การมีแผนพลังงานชาติ ถือเป็นความ ก้าวหน้าที่สำคัญสำหรับประเทศ แต่ประเทศไทยจะก้าวไปถึงเป้าหมาย Net Zero ได้ ต้องอาศัยแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก จึงมีความรับผิดชอบต้องแก้ไขปัญหาร่วมกับประเทศอื่นๆ เวที COP 26 จะเป็นโอกาสให้รัฐบาลไทยได้แสดงจุดยืน ประกาศความก้าวหน้าของไทยต่อประชาคมโลก ความก้าวหน้าของประเทศจึงไม่ควรหยุดอยู่ที่ภาคพลังงาน รัฐบาลควรกำหนดนโยบายหรือเป้าหมาย Net Zero ระดับชาติอย่างเป็นทางการ ครอบคลุมทุกภาคส่วน นอกจากจะทำให้ไทยก้าวทัน ทัดเทียมกับนานาชาติแล้ว ยังเป็นการ ส่งสัญญาณต่อทุกภาคส่วน รวมถึงประชาชน ซึ่งคือส่วนหนึ่งของพลเมืองโลกให้เข้ามามีส่วนผลักดันวาระนี้ร่วมกัน

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้และมั่นคงสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CASE) ซึ่งเป็นโครงการดำเนินการโดยองค์กร ความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ) และองค์กรเชี่ยวชาญด้านการ เปลี่ยนผ่านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งในประเทศ และ ต่างประเทศ สนับสนุนโดยกระทรวง สิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) เพื่อผลักดันนโยบาย เปลี่ยนผ่านพลังงานในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้

บทความ โดย ภาตรี วิฑูรชาติ

หมายเหตุ บทความเผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 19 ตุลาคม 2564


ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ