ทีดีอาร์ไอ หนุน “การเติบโตสีเขียว” เคลื่อนเศรษฐกิจ คู่รับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฟื้นเศรษฐกิจระยะยาวหลัง โควิด-19

การสัมมนาสาธารณะทีดีอาร์ไอประจำปี 2564 “ความท้าทายและจินตนาการแห่งโลกใหม่: โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศหลังโควิด-19” นักวิชาการทีดีอาร์ไอ เผยไทยจะฟื้นเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 ได้เพียงระยะสั้น หากยังพัฒนาเศรษฐกิจแบบเดิม ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นทั่วโลก เศรษฐกิจไทยเสี่ยงยิ่งหดตัว เสนอไทยเคลื่อนเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ด้วยแนวคิด“การเติบโตสีเขียว” ที่มีเทคโนโลยีเป็นหัวใจ แนะรัฐขจัดอุปสรรค กฎระเบียบ เพิ่มมาตรการจูงใจให้เอกชน ประชาชนร่วมกันมุ่งสู่การเติบโตสีเขียว  

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ในงานสัมมนาสาธารณะทีดีอาร์ไอประจำปี 2564 ดร.ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ นักวิชาการด้านการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน ทีดีอาร์ไอ กล่าวในการนำเสนอ “กระบวนทัศน์ใหม่สู่การเติบโตสีเขียว” ว่า นอกจากประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากวิกฤต โควิด-19 แล้ว ประเทศไทยยังต้องเผชิญความเสี่ยงอีกรอบด้าน หนึ่งในนั้นคือความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบเป็นอันดับต้นๆ ของโลกมาอย่างต่อเนื่อง และหากไม่มีการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเข้มข้น เราอาจต้องเผชิญกับสภาวะอากาศสุดขั้วที่รุนแรงขึ้นและถี่ขึ้น จำนวนการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานของประชากรจะลดลง 

ดร.ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ นักวิชาการด้านการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน ทีดีอาร์ไอ

โดยมีการประเมินจาก Swiss Re Institute ว่าในช่วงปี ค.ศ. 2020 – 2050 หากปล่อยให้อุณหภูมิสูงขึ้นมากกว่า 2 องศาเซลเซียสถึง 3.2 องศาเซลเซียส เศรษฐกิจไทยมีโอกาสจะหดตัวลงถึง 4.9% – 43.6% นอกจากนี้ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นจากการที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยอาจได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น

ในด้านการค้าโลกสหภาพยุโรปกำลังเตรียมที่จะใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของประเทศไทย ทำให้ภาคเอกชนต้องเร่งปรับตัวรับมือ โดยเฉพาะสินค้าจากอุตสาหกรรมซีเมนต์ อลูมิเนียม เหล็ก เหล็กกล้า ปุ๋ย และถ่านหิน ซึ่งมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก

ทางออกคือประเทศไทยต้องใช้รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อให้ประเทศมีภูมิคุ้มกัน (Resilience) และสามารถเติบโตได้ในระยาว แนวคิดการเติบโตสีเขียว (Green Growth) เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกับการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนทุกระดับ โดยมีเทคโนโลยีเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการใช้ทรัพยากรการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ควบคู่กับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังที่มีหลายภาคส่วนธุรกิจได้เริ่มดำเนินการธุรกิจสีเขียวแล้ว เช่น เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าลดมลพิษ โดยการร่วมทุนระหว่าง PTT และ Foxconn เทคโนโลยีการทำปศุสัตว์ที่เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร โดย บริษัท เบทาโกร จำกัด โรงแรมที่ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างโรงแรมศิวาเทล เป็นต้น 

ด้าน ดร. กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์  นักวิชาการอาวุโส กล่าวว่าการขับเคลื่อนเพื่อการเติบโตสีเขียวสำหรับประเทศไทยนั้น มีจุดเริ่มต้นที่ดีที่เป็นความหวังทั้งจากการริเริ่มของภาคเอกชน โดยธุรกิจไทยที่ปรับตัวก่อน (First Mover) ก็จะได้โอกาสทางธุรกิจก่อน ป้องกันความเสี่ยง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจ  

นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีการตั้งเป้าหมายปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2065 ตามแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ แต่ในทางปฏิบัติยังมีอุปสรรคต่าง ๆ ที่เราต้องก้าวข้ามเพื่อให้เกิดการเติบโตสีเขียวที่จะสร้างผลประโยชน์ร่วม (co-benefits)

ดร. กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์  นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ

ภาครัฐจึงมีบทบาทสำคัญในการเสริมแรงผลักดันดังกล่าว ด้วยการเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับภาคเอกชน เช่น นำร่องการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลดล็อกกฎระเบียบที่ไม่ยืดหยุ่น และไม่จูงใจให้เกิดการเติบโตสีเขียว เช่น ในตลาดพลังงานที่กฎหมายยังไม่เอื้อให้ผู้บริโภคเป็นผู้ผลิตและผู้ขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์กลับเข้าสู่ระบบ

ภาครัฐ ควรส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง ภาคเอกชน และชุมชนเพื่อนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และแนวคิดใหม่ๆ เข้ามาขับเคลื่อนโมเดลธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เตรียมความพร้อมเพื่อสนับสนุนการเติบโตสีเขียว เช่น การเสริมทักษะแรงงาน การนำมาตรการเศรษฐศาสตร์ หรือมาตรการจูงใจอื่นๆ มาใช้เพื่อสนับสนุนธุรกิจสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

หากภาครัฐไม่เข้ามามีบทบาท และประเทศไทยยังคงใช้รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเดิมที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเข้มข้น ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กอปรกับปัญหาเดิมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และความเสี่ยงใหม่ที่เกิดขึ้น เศรษฐกิจอาจฟื้นตัวได้เพียงในระยะสั้น และเป็นไปได้ยากที่ประเทศไทยจะเติบโตอย่างยั่งยืน ทำให้ประชาชนไม่อาจมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว 

สำหรับการสัมมนาสาธารณะทีดีอาร์ไอประจำปี 2564 “ความท้าทายและจินตนาการแห่งโลกใหม่: โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศหลังโควิด-19” ยังมีการจัดต่อเนื่องในเดือนพฤศจิกายน โดยในวันอังคารที่ 9 พ.ย. จะมีการนำเสนอหัวข้อ “งานและทักษะสำหรับโลกใหม่” และ “สู่ระบบสวัสดิการใหม่…ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

วันอังคารที่ 16 พ.ย. จะมีการนำเสนอหัวข้อ “ปรับรัฐและราชการไทย ให้ตอบสนองโลกใหม่” พร้อม session พิเศษ “การเมืองเรื่องจินตนาการใหม่ของสังคมไทย” 

สามารถติดตามรับชมสดได้ที่ https://www.facebook.com/tdri.thailand และ https://www.youtube.com/user/tdritv