ทีดีอาร์ไอ เร่ง รัฐตื่นตัว หนุนประชาชนยกระดับทักษะ รับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ทันโลกเปลี่ยน หลังโควิด-19เพื่อให้คนไทยมีงานทำและรายได้ดี

การสัมมนาสาธารณะทีดีอาร์ไอประจำปี 2564 “ความท้าทายและจินตนาการแห่งโลกใหม่: โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศหลังโควิด-19” ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอ เผยโควิด-19 เร่งเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจใส่ใจ และเศรษฐกิจสีเขียว เติบโต กระทบโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ทำให้งานบางอย่างหายไป และคนต้องมีทักษะใหม่ ๆ รับโลกเปลี่ยนแปลง กระตุ้นเตือนรัฐตื่นตัว หนุนให้คนไทยยกระดับทักษะให้สูงขึ้นเพื่อให้มีงานทำและรายได้ดี โดยสร้างความรับผิดรับชอบของระบบการศึกษา ควบคู่ไปกับการขยายโอกาสของคนไทยในการเข้าถึงการพัฒนาทักษะ ด้วย4 แนวทาง ‘แจกคูปองฝึกทักษะ สร้างความรับผิดชอบของสถานศึกษาต่อผู้เรียน ลดข้อจำกัดเพื่อเร่งผลิตวิชาชีพที่มีความต้องการสูง และเพิ่มการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์สำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล’ 

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ในงานสัมมนาสาธารณะทีดีอาร์ไอประจำปี 2564 ดร. เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทีดีอาร์ไอ กล่าวในการนำเสนอหัวข้อ “งานและทักษะสำหรับโลกใหม่” ว่า  โลกใหม่หลังโควิด-19 เป็นโลกของเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจใส่ใจ และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 และเมื่อเกิดโควิด-19 ยิ่งกระตุ้นให้เศรษฐกิจเหล่านี้เติบโตมากขึ้น การเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจที่มากับเศรษฐกิจเหล่านี้ จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของงานที่เกิดขึ้น  หลายงานในโลกใหม่จะต้องการทักษะที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น เช่น ช่างซ่อมรถยนต์ไฟฟ้าที่ต้องมีความรู้เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าความดันสูง ซึ่งเป็นทักษะที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากทักษะของช่างซ่อมรถยนต์ที่ใช้นำมันแบบเดิม ดังนั้น หากประเทศไทยไม่ปรับตัวให้ทัน จะทำให้คนจำนวนหนึ่งตกงาน 

งานในในโลกใหม่ที่มีรายได้ดีล้วนต้องการทักษะที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ในต่างประเทศ รัฐบาลของหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ และอังกฤษ มีการตื่นตัวอย่างมากในการสนับสนุนประชาชนให้ยกระดับทักษะเพื่อให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป หากประเทศไทยต้องการให้คนไทยมีงานทำและรายได้ดีในโลกใหม่ ภาครัฐควรช่วยให้คนไทยสามารถยกระดับทักษะให้สูงขึ้น โดยการสร้างความรับผิดรับชอบของระบบการศึกษา ควบคู่ไปกับการขยายโอกาสของคนไทยในการเข้าถึงการพัฒนาทักษะ

โดย ดร. เสาวรัจ รัตนคำฟู ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการดำเนินการ ดังนี้ 

  1. แจกคูปองฝึกทักษะ โดยแจกคนอายุ 18 ปีขึ้นไปทุกคน เช่น คนละ 6 พันบาททุกสามปี และให้ผู้เรียนสามารถเลือกฝึกทักษะที่ต้องการได้จากสถาบันที่ผ่านการรับรองคุณภาพ ทั้งนี้ ในอนาคต อาจพัฒนาคูปองเป็น NFT (สินทรัพย์ดิจิทัลที่ใช้บล็อกเชน) เพื่อกันไม่ให้มีการขายสิทธิไปให้ผู้อื่น
  2. สร้างความรับผิดชอบของสถาบันการศึกษาและสถาบันฝึกอบรม โดยเผยแพร่ข้อมูลการมีงานทำ และรายได้ของผู้เรียนรายสถาบันและสาขาวิชา เพื่อให้ผู้เรียนมีข้อมูลในการตัดสินใจเลือกเข้าเรียนในสถาบันการศึกษา และสาขาวิชาต่าง ๆ  
  3. ลดข้อจำกัดในการผลิตวิชาชีพที่มีความต้องการสูง เช่น ผู้ช่วยพยาบาล และพยาบาล  ปัจจุบัน มีข้อบังคับสภาการพยาบาล ที่ให้สถาบันการศึกษาใหม่ที่อยากเปิดสอนหลักสูตรพยาบาล ต้องทำโครงการร่วมกับสถาบันการศึกษาพี่เลี้ยง และสถาบันการศึกษาพี่เลี้ยงหนึ่งแห่งสามารถทำข้อตกลงเป็นพี่เลี้ยงให้สถาบันการศึกษาใหม่ได้ไม่เกินหนึ่งแห่ง แม้ว่า ข้อจำกัดนี้น่าจะมีขึ้นเพื่อมุ่งรับประกันคุณภาพ แต่จริงๆ มีวิธีรับประกันคุณภาพได้อีกหลายวิธีที่สร้างอุปสรรคที่ไม่จำเป็นน้อยกว่า และไม่เป็นการกีดกันรายใหม่ ดังนั้น ควรพิจารณายกเลิก เนื่องจาก ข้อจำกัดนี้ทำให้ไม่สามารถผลิตพยาบาลได้มากขึ้นเร็วพอ ทั้งที่ เรากำลังเข้าสู่เศรษฐกิจใส่ใจ ซึ่งมีความต้องการบุคลากรทางการแพทย์สูง โดยเฉพาะพยาบาล และผู้ช่วยพยาบาล
  4. เพื่อขยายโอกาสของคนไทยในการเข้าถึงการพัฒนาทักษะในโลกเศรษฐกิจดิจิทัล ภาครัฐควรเพิ่มการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์สำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะ เด็กยากจนในพื้นที่ห่างไกล เพื่อไม่ให้เกิดการตกหล่นในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล 

สำหรับการสัมมนาสาธารณะทีดีอาร์ไอประจำปี 2564 “ความท้าทายและจินตนาการแห่งโลกใหม่: โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศหลังโควิด-19” ยังมีการจัดต่อเนื่อง โดยในวันอังคารที่ 16 พ.ย. จะมีการ สนทนากับ ดร.วิรไท สันติประภพ กรรมการสถาบัน ทีดีอาร์ไอ “จินตนาการใหม่สำหรับภาครัฐ” ชวนสนทนาโดย คุณณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ

การนำเสนอ “ปรับรัฐและราชการไทย ให้ตอบสนองโลกใหม่” โดย คุณศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ

การเสวนา “การเมืองและราชการแบบไหนที่คนไทยต้องการ?” โดย คุณพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี  คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณฉัตร คำแสง นักวิจัยนโยบาย Think Forward Center ดำเนินรายการ โดย คุณไอลดา พิศสุวรรณ พิธีกร เวิร์คพอยท์ทูเดย์

และ Extra Session สรุปสัมมนา “ความท้าทายและจินตนาการแห่งโลกใหม่หลังโควิด-19”  โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน ทีดีอาร์ไอ ปิดท้ายด้วยการสนทนากับ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา “การเมืองเรื่องจินตนาการใหม่ของสังคมไทย” ชวนสนทนาโดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน ทีดีอาร์ไอ  “ปรับรัฐและราชการไทย ให้ตอบสนองโลกใหม่” 

สามารถติดตามรับชมสดได้ที่ https://www.facebook.com/tdri.thailand และhttps://www.youtube.com/user/tdritv