ทีดีอาร์ไอ ประเมินคุณภาพภาครัฐไทย ชี้ไม่พร้อมรับโลกใหม่ ตอบสนองล่าช้า แก้ปัญหาซับซ้อนไม่ได้ แนะปรับสู่ “รัฐเครือข่าย” ขยายความร่วมมือ ลดรวมศูนย์

งานสัมมนาสาธารณะทีดีอาร์ไอ ประจำปี 2564 “ความท้าทายและจินตนาการแห่งโลกใหม่: โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศหลังโควิด-19”  นักวิชาการทีดีอาร์ไอเผยภาครัฐไทยแบบเดิมไปต่อไม่ไหวในโลกใหม่หลังโควิด-19 ทั้งตอบสนองช้า ทำงานแยกส่วนและมีปัญหาด้านการจัดการ แนะหนทางปรับตัวทันโลกใหม่ ต้องทำงานแบบเครือข่าย กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ขยายความร่วมมือกับภาคธุรกิจ-ภาคประชาสังคม ลดยึดติดกฎระเบียบและเปิดกว้างทางการเมือง

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน วันสุดท้ายของงานสัมมนาสาธารณะทีดีอาร์ไอประจำปี 2564 นาย ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ กล่าวในการนำเสนอ “ปรับรัฐราชการไทย สู่รัฐเครือข่าย ให้ตอบสนองโลกใหม่”ว่าระบบราชการไทยแบบเดิมไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้นในโลกใหม่ได้

ภาครัฐไทยตอบสนองช้าต่อปัญหาที่เกิดขึ้นฉับไว อย่างการจัดหาวัคซีนเพื่อรับมือกับวิกฤตโควิดล่าช้า และการทำงานแยกส่วนกันจนไม่สามารถแก้โจทย์ซับซ้อนที่เกี่ยวข้องกับหลายมิติอย่างมลพิษทางอากาศได้ และมีประสิทธิภาพถดถอยลงในด้านการบริหารจัดการโครงการพัฒนาประเทศ ซึ่งตัวอย่างหนึ่งคือการจัดซื้อหัวรถจักรใหม่ที่ไม่น่าจะเพียงพอต่อความต้องการการใช้งานที่เพิ่มขึ้นในโครงรางรถไฟทางคู่ระยะที่หนึ่งที่กำลังจะเสร็จในปี 2565 ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน 

 

ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ

ศุภณัฏฐ์เสนอว่า “ภาครัฐไทยต้องปรับตัวจากการบริหารงานแบบราชการรวมศูนย์ไปสู่“รัฐเครือข่าย” ซึ่งมีหัวใจสำคัญ 2 ประการ ประการแรกคือความร่วมมือกับภาคส่วนอื่น นั้นก็คือการที่ภาครัฐส่วนกลางเองมองเห็นศักยภาพของภาคส่วนอื่นนอกหน่วยรัฐ ทั้งท้องถิ่น ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม และเห็นประโยชน์ร่วมของการทำงานกับภาคส่วนอื่น 

หัวใจอีกประการคือความยืดหยุ่น ซึ่งภาครัฐต้องมุ่งที่ไปผลลัพธ์มากกว่าการยึดติดขั้นตอนของตัวเอง และปรับขั้นตอนการทำงานให้เชื่อมต่อเข้ากับภาคส่วนอื่นได้ง่าย พร้อมทั้งกล้าทดลองและยอมรับความล้มเหลวได้”

ในการทำงานแบบเครือข่าย รัฐส่วนกลางเองก็ไม่ควรยึดว่าตนเองต้องเป็นผู้ริเริ่ม แต่เปิดกว้างให้ภาคส่วนอื่นนำได้ ทั้งเครือข่ายท้องถิ่น เครือข่ายประชาสังคม และเครือข่ายภาคธุรกิจ ซึ่งที่จริงแล้วประเทศไทยมีตัวอย่างการทำงานเครือข่ายหลากหลายแบบ เช่น กรมสรรพากรจัดกิจกรรม “Hackatax” โดยเชิญภาคธุรกิจเข้ามาทำงานกับเจ้าหน้าที่สรรพากรและแข่งขันกันปรับปรุงบริการด้านภาษี

ในจังหวัดเชียงใหม่ มีการสร้างเครือข่ายสุขภาพ “ผ่อดีดี” ในการเฝ้าระวังโรคระบาดในสัตว์ โดยมีการทำแอปพลิเคชันให้คนในพื้นที่รายงานการตายของสัตว์ที่ผิดปกติเข้ามาให้ทีมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทราบ เพื่อการรับมือรักษาพร้อมป้องกันปัญหาได้ทันท่วงที และได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจเพื่อสังคมอย่างบริษัท OpenDream วิเคราะห์ความเสี่ยงการเกิดโรคระบาด ซึ่งหากมีโอกาสสูง ก็จะส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์และสาธารณสุขจังหวัดลงพื้นที่

ส่วนท้องถิ่นเองก็มีการสร้างเครือข่ายในพื้นที่ของตนเองอย่างเทศบาลแสนสุขร่วมมือกับมหาวิยาลัยบูรพาและบริษัทเอกชนในการพัฒนาเทคโนโลยีสายคล้องคอและสายข้อมืออัจฉริยะสำหรับผู้สูงอายุให้สามารถกดปุ่มฉุกเฉินเรียกเพื่อนบ้านและทีมฉุกเฉินในกรณีเกิดเหตุที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน   

ตัวอย่างทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นศักยภาพของท้องถิ่น ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมในประเทศ อย่างไรก็ตาม ราชการไทยยังเน้นคิดเองและทำเองค่อนข้างมาก ไม่ได้เปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่นมากนัก ทำให้การทำงานแบบเครือข่ายยังมีค่อนข้างจำกัด อีกทั้ง ภาครัฐมีการรวมศูนย์อำนาจและทรัพยากรต่าง ๆ ไว้ที่ส่วนกลางค่อนข้างมากดังจะเห็นได้จากกำลังคนในภาครัฐที่กระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลางถึงร้อยละ 60 อีกประมาณร้อยละ 22 เป็นกำลังคนในส่วนภูมิภาค และมีที่เหลือเพียงร้อยละ 18 เท่านั้นที่ทำงานในท้องถิ่น

ส่วนการกระจายอำนาจที่ผ่านมามีลักษณะการถ่ายโอนภารกิจแบบเป็นส่วน ๆ ตามแผนงานของหน่วยงานส่วนกลาง ทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถแก้ปัญหาของพื้นที่ได้อย่างครบวงจร อีกทั้งยังมีกฎระเบียบจำนวนมากที่จำกัดอิสระของท้องถิ่น  เช่น ในการดูแลผู้สูงอายุ มีการถ่ายโอนภารกิจบางส่วนมาให้ท้องถิ่นแล้ว แต่ท้องถิ่นทั่วไปที่ไม่ใช่เมืองอัจฉริยะไม่สามารถใช้งบจัดซื้อเทคโนโลยีมาดูแลผู้สูงอายุได้ และมีงบในการดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงได้ไม่เกิน 9 พันบาท/คน/ปี  

ศุภณัฏฐ์เสนอว่าการก้าวเข้าสู่รัฐเครือข่ายจำเป็นต้องสร้างสมดุลอำนาจและการทำงานระหว่างรัฐส่วนกลาง ท้องถิ่น ธุรกิจ สังคมไปพร้อมกัน ภาครัฐส่วนกลางจะเข้มแข็งแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ การทำงานแบบรัฐเครือข่ายจำเป็นต้องมีหุ้นส่วนการพัฒนาที่มีศักยภาพ และมีท้องถิ่นที่จัดการแก้ปัญหาได้เสร็จสิ้น ภาคธุรกิจที่คิดสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะแก้ปัญหาสังคมได้ รวมทั้งภาคประชาสังคมที่พร้อมจะลุกขึ้นแก้ปัญหาและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของภาครัฐ

รัฐเครือข่ายจะเกิดขึ้นไม่ได้ในระบบการเมืองเศรษฐกิจที่รวมศูนย์อำนาจ มีการผูกขาดทางเศรษฐกิจและมีการใช้อำนาจรัฐควบคุมสังคม 

ศุภณัฏฐ์ ได้ให้ข้อเสนอ 4 แนวทางในการปรับไปสู่รัฐเครือข่ายดังนี้   

  1. ปรับบทบาทของภาครัฐส่วนกลางเป็นผู้สนับสนุนการทำเครือข่ายมากขึ้น โดยต้องลดการมองตัวเองว่าเป็นผู้ให้บริการเพียงผู้เดียว และเปิดภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการมากขึ้นเพราะภาคส่วนอื่นมีข้อได้เปรียบในการให้บริการมากกว่า เช่น ท้องถิ่นและภาคประชาสังคมทำงานใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่าและรู้โจทย์ลึกกกว่า ส่วนภาคธุรกิจมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ด้านภาครัฐควรทำหน้าที่ในส่วนที่จะช่วยผ่อนคลายกฎระเบียบให้เกิดการทดลองวิธีการแก้ปัญหาใหม่ ๆ ให้งบอุดหนุนในการขยายผลนวัตกรรมการแก้ไขปัญหาที่ได้ผลดี และกำกับดูแลการทำงานของภาคส่วนอื่น
  2. กระจายอำนาจสู่เครือข่ายท้องถิ่น โดยให้ท้องถิ่นทำแผนการกระจายอำนาจเองด้วยการระบุภารกิจทั้งหมดที่จำเป็นสำหรับกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาของพื้นที่ พร้อมพิจารณาโละกฎระเบียบของกระทรวงมหาดไทยที่จำกัดอิสระการบริหารของท้องถิ่นโดยไม่มีเหตุผลจำเป็น รวมทั้งสนับสนุนให้ท้องถิ่นดึงภาคธุรกิจและสังคมเข้ามาร่วมทำงานเป็นเครือข่ายและรับการประเมินความพร้อมในการรับถ่ายโอน นอกจากนั้น ควรต้องมีการปรับเพิ่มงบอุดหนุนที่ท้องถิ่นบริหารได้อย่างอิสระ รวมทั้งการเพิ่มอำนาจในการจัดเก็บภาษีของท้องถิ่น เพราะปัจจุบัน แม้งบทั้งหมดของท้องถิ่นจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 30 ของรายได้สุทธิของรัฐแล้ว แต่หากตัดงบอุดหนุนที่มีการระบุภารกิจจากส่วนกลางและนับเฉพาะรายได้ภาษีที่ท้องถิ่นได้รับจริง งบที่ท้องถิ่นสามารถบริหารได้จริงจะเหลือเพียงร้อยละ 16 เท่านั้น 
       
  3. ส่งเสริมการแข่งขัน ลดการผูกขาด โดยเริ่มต้นจากการแก้ไขกฎระเบียบที่จำกัดการเข้าสู่ตลาดของธุรกิจขนาดเล็กและกลาง เช่น กฎหมายที่กำหนดให้ผู้ส่งออกข้าวต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาทหรือกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ผลิตเบียร์ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาทและต้องผลิตไม่ต่ำกว่า 1 แสนลิตรต่อปี  
  4. ส่งเสริมศักยภาพของภาคประชาสังคม โดยลดการขยายขอบเขตการใช้อำนาจของรัฐในการควบคุมสังคม เช่น ถอดร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ซึ่งมีลักษณะเข้าข่ายการพยายามควบคุม NGOหรือแก้ไข พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่หลายครั้งมีการใช้ไปในทางควบคุมเนื้อหาการวิพาษ์วิจารณ์ความเห็นต่าง ยิ่งไปกว่านั้น ควรต้องมีการส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และตรวจสอบการทำงานของภาครัฐมากขึ้นอย่างการเปิดเผยข้อมูล (Open data) ให้ประชาชนเข้าถึงและใช้งานได้ง่ายขึ้น  

ศุภณัฏฐ์ ทิ้งท้ายว่า “การจะเป็นรัฐเครือข่ายที่เข้มแข็ง รัฐต้องเลิกวางอำนาจคุมสังคม ไม่ผูกขาดอำนาจทางความคิด จินตนาการและอนาคต เพราะการพัฒนาประเทศต้องการเมืองที่เปิดกว้างและเปิดรับเจตจำนงของคนทุกกลุ่ม” 

สำหรับงานสัมมนาสาธารณะทีดีอาร์ไอ ประจำปี 2564 “ความท้าทายและจินตนาการแห่งโลกใหม่: โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศหลังโควิด-19” ที่จัดขึ้นทั้งหมด 3 วัน ในวันที่ 2, 9 และ16 พ.ย. ผู้สนใจสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ tdri.or.th หรือที่ facebook: @tdri.thailand