“สวัสดิการ ไม่ใช่การสงเคราะห์” ทีดีอาร์ไอ เสนอปรับสวัสดิการรับโลกใหม่ไร้ตกหล่น เน้น “คน” เป็นศูนย์กลาง เปิดทางเอกชน ประชาสังคมเข้าร่วม

การสัมมนาสาธารณะทีดีอาร์ไอประจำปี 2564 “ความท้าทายและจินตนาการแห่งโลกใหม่: โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศหลังโควิด-19” ผู้อำนวยการวิจัยและนักวิชาการอาวุโส เผยระบบสวัสดิการประเทศไทย ยังห่างไกลเป้าไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เหตุยังมีคนกว่า 60 % มีโอกาสตกหล่น เสนอทางแก้สู่สวัสดิการถ้วนหน้า พัฒนาคนทุกวัย แนะวิธีเพิ่มงบฯ ไม่กระทบการคลัง อีกทั้งหนุนเอกชน คนในสังคมร่วมลงทุน-ความคิด ปิดช่องโหว่สวัสดิการ-บริการสังคม 

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ในงานสัมมนาสาธารณะทีดีอาร์ไอประจำปี 2564 ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ กล่าวในการนำเสนอหัวข้อ สู่ระบบสวัสดิการใหม่…ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ว่า นอกจากผลกระทบจากโควิด-19 แล้ว ประเทศไทยยังมีปัญหาสำคัญ คือ ความเหลื่อมล้ำที่มีคน ‘จนกระจาย’ การเป็นสังคมสูงวัย คนสูงอายุมีจำนวนมาก คนหนุ่มสาวต้องเตรียมรับภาระหนักในอนาคต และการติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางมากว่า 20 ปีแล้ว จากการที่ไทยมีปัญหาผลิตภาพแรงงานต่ำ

จึงถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องปรับระบบสวัสดิการเพื่อรับโลกใหม่ ให้ ‘คน’ เป็นศูนย์กลาง ที่ต้องมีความครอบคลุม ทั่วถึง และที่สำคัญไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาสำคัญข้างต้นได้

“ที่ผ่านมาระบบสวัสดิการของประเทศไทย เน้นการให้ความช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาเฉพาะกลุ่ม ทำให้เกิดปัญหาคนตกหล่นจากนโยบายเป็นจำนวนมาก อีกทั้งผลการศึกษาพบว่า มีคนไทยกว่า 60% ที่มีโอกาสถูกทิ้งไว้ข้างหลัง สวนทางเป้าหมายรัฐบาล โดยคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้มีการศึกษาระดับมัธยมต้นหรือต่ำกว่า และยังมีกลุ่มที่อยู่นอกระบบการศึกษาไม่ได้รับการจ้างงานอีกจำนวนมาก เท่ากับเป็นความสูญเสียด้านกำลังแรงงานที่สำคัญของประเทศ” 

ระบบสวัสดิการที่ดี โดยมี ‘คน’ เป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่ระบบสวัสดิการสังคมที่เป็นการสงเคราะห์ แต่เป็นเครื่องมือเชิงนโยบายในการพัฒนาประเทศที่มีคนเป็นศูนย์กลาง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาศักยภาพคน การดูแลคนเมื่อยามตกทุกข์ได้ยาก การช่วยเหลือคนจนและกลุ่มเปราะบางผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งการส่งเสริมให้ได้ทำงานที่ดี

ดร.สมชัย ได้ให้ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมสำหรับระบบสวัสดิการสังคมใหม่ ด้วย ‘ขนมชั้น’ ระบบสวัสดิการ (Multi-tier Social Protection)  โดยใช้ชั้นแรกรัฐควรเพิ่มมาตรการหลายประการที่ครอบคลุมประชาชนทุกคนอย่างถ้วนหน้าจากเดิมที่มีบางมาตรการอยู่แล้ว ประกอบด้วย (1) Quasi-Universal Basic income การประกันรายได้พื้นฐานกึ่งถ้วนหน้า (2) Social Service การฝึกทักษะกึ่งถ้วนหน้า การดูแลเด็กเล็กถ้วนหน้า และเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดถ้วนหน้า (3) Social Insurance ประกันสังคมพื้นฐานถ้วนหน้า การดูแลผู้ป่วยระยะยาวถ้วนหน้า  (4)Social Assistance เบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยผู้พิการ

ในชั้นที่สองคือ สวัสดิการเพิ่มจากนายจ้างหรือองค์กรที่ทำงานด้วย คือ  ประกันสังคม ม.33 กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ สวัสดิการจาก platform

ในชั้นที่สาม มีนโยบายที่เสนอเพิ่มเติม คือ ประกันสังคมภาคสมัครใจสำหรับแรงงานนอกระบบรายได้สูง เช่น Gig Workers ทั้งหมดนี้ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น แต่จะเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่า และอยู่ในวิสัยที่สามารถจัดหารายได้ภาครัฐจนไม่กระทบความยั่งยืนทางการคลัง

โดย ดร.สมชัย มี 2 ข้อเสนอทางเลือกต่อรัฐในการหารายได้ เพิ่มประชาชนได้รับสวัสดิการถ้วนหน้าในชั้นแรก  และรัฐยังคงรักษาความมั่นคงทางการคลังในระยะยาวได้

ทางเลือกแรก รัฐจัดหารายได้เพิ่ม 4.76 แสนล้านบาทต่อปี เพื่อคนไทยได้รับสวัสดิการเพิ่มในชั้นแรกข้อ (1) – (3)  โดยรัฐต้องการลดรายจ่ายไม่จำเป็นอื่น ปรับอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปรับระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพิ่มเงินภาษีเงินได้นิติบุคคล และเพิ่ม VAT 

ทางเลือกที่สอง ใช้งบประมาณต่ำกว่า คือ 1.87 แสนล้านบาท แต่ประชาชนจะไม่ได้รับการประกันรายได้กึ่งถ้วนหน้า ส่วนแนวทางการเพิ่มรายได้แตกต่างเพียงรัฐไม่ต้องเพิ่มภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ เก็บ VAT เท่าเดิม

ด้าน ดร.บุญวรา สุมะโน นักวิชาการอาวุโส นโยบายเพื่อการพัฒนาสังคม วิเคราะห์ว่าการปรับสวัสดิการที่รวมถึงบริการทางสังคมโดยไม่ตกหล่น-ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่สามารถทำได้โดยรัฐเพียงฝ่ายเดียว เพราะประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหามากมายที่ทวีความซับซ้อนขึ้นจากวิกฤติโควิด-19 อีกทั้งภาคเอกชนและประชาสังคมมีศักยภาพในการเข้ามามีบทบาทในการให้บริการทางสังคมได้ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ (1) ประเทศไทยมีเงินบริจาคจำนวนมาก เฉลี่ยสิบปีอยู่ที่ปีละ 7.3 หมื่นล้านบาท สูงกว่างบประมาณของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หลายเท่า แต่ข้อจำกัดคือ เม็ดเงินกระจัดจาย ไม่แน่นอน และไม่ค่อยมีการติดตามผล (2) มีองค์กรภาคประชาสังคมที่ให้บริการสังคมสงเคราะห์เกิดขึ้นจำนวนมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา แต่ส่วนใหญ่ยังเน้นให้ความช่วยเหลือเป็นเงินสดมากกว่าให้บริการ ซึ่งอาจไม่เพียงพอในการช้อนคนที่ตกหล่นจากระบบสวัสดิการ และ (3) ภาคเอกชนแสดงความสนใจในการเข้ามาร่วมพัฒนาสังคมมากขึ้น เห็นได้จากงบประมาณ CSR รวมของบริษัท 50 อันดับแรกของตลาดหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2560 ที่ 632.08 ล้านบาท เป็นกว่า 3.7 พันล้านบาท ในปี พ.ศ. 2562

หากพิจารณาจุดแข็ง-จุดอ่อนของแต่ละภาคส่วนแล้ว การจะปิดช่องว่างในการให้บริการสังคมควรจะต้องมีอย่างน้อย 3 ปัจจัย ได้แก่ เงินทุนที่จะให้บริการอย่างต่อเนื่อง ตัวชี้วัดที่เน้นผลลัพธ์กับคน และการติดตามประเมินผล

ซึ่งทั้งสามปัจจัยปรากฎอยู่ในโมเดลความร่วมมือที่เน้นผลลัพธ์เพื่อสังคม (Social Impact Partnership – SIP) ซึ่งเกิดขึ้นแล้วเกือบ 200 โครงการใน 33 ประเทศทั่วโลก ตัวอย่าง เช่น โครงการ Utah High Quality Preschool Program ในรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา มีเป้าหมายเตรียมความพร้อมให้เด็กปฐมวัยในครอบครัวยากจนก่อนเข้าเรียน ซึ่งมีการตั้งกองทุน 7 ล้านดอลลาร์จากบริษัทเอกชน สำหรับการดำเนินงาน 5 ปี พร้อมการประเมินผล โครงการนี้ช่วยรัฐยูทาห์ประหยัดงบประมาณในการแก้ปัญหา ไปได้ถึงร้อยละ 95 ซึ่งภายหลังรัฐยูทาห์ก็ได้มีการจ่ายเงินกลับเข้ากองทุนเพื่อนำไปใช้ให้บริการแก่เด็กคนอื่นในพื้นที่ต่อไป

ประเทศไทยสามารถนำโมเดลแบบนี้มาใช้เพื่อเชื่อมโยงพลังจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในการให้สวัสดิการสังคมเสริมจากของรัฐได้ โดยเฉพาะในประเด็นที่ค่าใช้จ่ายในการรับมือกับปัญหาการตกหล่นจะยิ่งสูงขึ้นในอนาคต เช่น เด็กเล็ก โดยเริ่มจากการเปลี่ยนทัศนคติการบริจาคเงินแบบไม่หวังผล มาเป็นการลงทุนทางสังคมที่เน้นผลลัพธ์ที่เกิดกับคนและมีการติดตามประเมินผล และที่สำคัญคือ ภาคเอกชน ประชาสังคม ชุมชนและท้องถิ่นสามารถริเริ่มโครงการนำร่องที่ใช้โมเดลแบบนี้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอภาครัฐ เพื่อให้แน่ใจว่าประเทศไทยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สำหรับการสัมมนาสาธารณะทีดีอาร์ไอประจำปี 2564 “ความท้าทายและจินตนาการแห่งโลกใหม่: โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศหลังโควิด-19” ยังมีการจัดต่อเนื่องในเดือนพฤศจิกายน โดยในวันอังคารที่ 16 พ.ย. จจะมีการนำเสนอหัวข้อ “ปรับรัฐและราชการไทย ให้ตอบสนองโลกใหม่” พร้อม session พิเศษ “การเมืองเรื่องจินตนาการใหม่ของสังคมไทย”โดย ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกุล สามารถติดตามรับชมสดได้ที่ https://www.facebook.com/tdri.thailand และ https://www.youtube.com/user/tdritv