tdri logo
tdri logo
1 ธันวาคม 2021
Read in Minutes

Views

เกายังไม่ถูกที่คัน นำเข้าแรงงานข้ามชาติด้วย MOU

เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้เห็นชอบแนวทางการนำเข้าแรงงานข้ามชาติด้วยวิธี MOU ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ (แรงงานกลุ่มนี้เป็นแรงงานทักษะต่ำถึงปานกลางจากประเทศเพื่อนบ้าน)

ค่าใช้จ่ายสำหรับการนำเข้าด้วยวิธี MOU ที่กล่าวถึงนี้ไม่ว่านายจ้างจะไปหักคืนจากแรงงานหรือไม่ นั้นอยู่ที่ประมาณ 11,490-22,040 บาทต่อแรงงานหนึ่งคน (ค่าใช้จ่ายนี้รวมค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการตรวจ โควิดและกักตัวประมาณ 6,000-15,000 บาท)

นายจ้างที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่และ จำเป็นต้องใช้แรงงานอย่างเร่งด่วนน่าจะพอยอมจ่ายได้ แต่นายจ้างที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กไม่ว่าจะเป็นห้างร้าน ร้านอาหาร หรือกิจการอื่นๆ นั้นจะยอมหรือมีกำลังจ่ายหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ข่าวการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่ผ่านมาเป็นคำตอบต่อคำถามที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

ยิ่งไปกว่านั้น มาตรการอื่นๆ ของทางการ เช่น การผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทยแต่ใบอนุญาตหมดอายุหรือไม่มีใบอนุญาตสามารถมาขึ้นทะเบียนได้นั้น กลับเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน

เมื่อใดก็ตามที่ทางการไทยประกาศว่าจะผ่อนผันให้แรงงานที่ไม่มีใบอนุญาตมาขึ้นทะเบียนได้ เมื่อนั้นการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจะเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ

 มาตรการต่างๆ เหล่านี้ไม่ว่าจะเป็น การนำเข้าแรงงานแบบ MOU หรือการผ่อนผันให้ขึ้นทะเบียน แม้ว่าเป็นมาตรการที่มีเจตนาดี แต่กลับทำให้แรงงานข้ามชาติที่แอบลักลอบเข้าเมืองนั้นมีเพิ่มมากขึ้น

หากย้อนกลับไปพิจารณาดูนโยบายและมาตรการต่างๆ ของทางการไทย เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติไร้ทักษะ หรือมีทักษะต่ำถึงปานกลางที่ผ่านมานั้น ไม่พบว่าทางการไทยมีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องนี้

มาตรการที่เกิดขึ้นเป็นไปแบบเฉพาะกิจ เห็นได้จากการพิจารณาอนุมัติมาตรการต่างๆ เหล่านี้มักเกิดขึ้นจากมติของที่ประชุม ไม่ว่าจะเป็นคณะรัฐมนตรี หรือ ศบค. (ในช่วง สถานการณ์โควิด) เหตุผลประการสำคัญที่มักถูกกล่าวอ้างเป็นนัยว่าทางการไทย ไม่สามารถมีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องนี้ได้ คือเรื่อง “ความมั่นคง” แต่จะเป็นความมั่นคงของใครนั้นทุกท่านคงทราบดี

จนถึง ณ ขณะนี้คงไม่มีใครปฏิเสธความสำคัญของแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ และอาจมีเพิ่มมากขึ้นจากสถานการณ์สังคมสูงวัยของไทย แต่จะไม่ขอลงรายละเอียดในที่นี้ หลายท่านอาจแย้งว่าแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมของไทยไม่พัฒนาไปข้างหน้าเสียที แต่หากเราพิจารณาประเทศเพื่อนบ้านที่มีระดับการพัฒนาสูงกว่าเรา เช่น สิงคโปร์และมาเลเซีย ต่างก็เปิดโอกาสให้แรงงานไร้ทักษะหรือทักษะต่ำเข้าไปทำงานในประเทศของเขา

ในกรณีของสิงคโปร์นั้น การดำเนินการ ขอใบอนุญาตทำงานของแรงงานเป็นหน้าที่ของนายจ้าง ซึ่งใบอนุญาตมีระยะเวลาประมาณ 2 ปีและสามารถขอต่อใบอนุญาตได้ ระยะเวลาในการออกใบอนุญาตคือ 1-3 สัปดาห์ (โดยประมาณ) ค่าใช้จ่ายในการ ออกใบอนุญาตอยู่ที่ประมาณ 205 ดอลลาร์หรือเกือบ 7,000 บาท (ขณะที่ค่าใช้จ่ายของไทยกรณีไม่มีโควิดอยู่ที่ประมาณ 7,000-8,500 บาทขึ้นอยู่กับการครอบคลุมของประกันสังคม) สำหรับมาเลเซียนั้นมีนโยบาย และมาตรการที่ไม่ต่างจากสิงคโปร์นัก

เป็นที่น่าสนใจว่าสิงคโปร์และมาเลเซียนั้น เป็นปลายทางสำคัญของแรงงานข้ามชาติไร้ฝีมือจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ซึ่งลักลอบเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม จำนวนแรงงานข้ามชาติ ผิดกฎหมายจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากประเทศต้นทางได้แก้ไขและปรับปรุงกระบวนการขอเอกสารให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น และสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายให้การเป็นแรงงานถูกกฎหมายนั้นต่ำกว่าแรงงานผิดกฎหมาย

นอกจากนั้น สิงคโปร์และมาเลเซียยังได้กำหนดบทลงโทษของการเป็นแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายไว้อย่างชัดเจน การลักลอบเข้ามาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือลักลอบทำงานโดยใช้วีซ่า ท่องเที่ยวนั้นมีบทลงโทษตั้งแต่การปรับ จำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ ต่างจากทางการไทย ที่ใจดีมีเพียงจับและผลักดัน (นำไปส่ง) กลับที่ชายแดน

การที่ทางการไทยไม่มีนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาตินั้น ส่งผลกระทบที่ชัดเจนต่อเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสุขภาพ

กรณีของเศรษฐกิจนั้นเป็นความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมที่ไม่พึ่งพิงแรงงาน ราคาถูก ในส่วนของสังคมนั้นคือการผนวกเข้าสู่สังคมไทยของแรงงานข้ามชาติและลูกหลาน ประเด็นการเมืองคือความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นประเทศต้นทางของแรงงานเหล่านี้

ส่วนเรื่องสุขภาพนั้นคือโรคอุบัติใหม่และเก่า การปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ ไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทยอย่างแน่นอน ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะเบื้องต้นดังนี้

1) ทางการไทยควรมีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้และออกมาตรการให้สอดคล้องกัน เช่น ควรพิจารณาความต้องการแรงงานกลุ่มนี้ว่าเป็นอย่างไรและจำนวนเท่าใดโดยคำนึงถึงแนวทางการพัฒนาประเทศในระยะยาว หลังจากนั้นควรปรับปรุงระบบการขอใบอนุญาตให้ง่ายและมีค่าใช้จ่ายไม่สูงนัก และควรจัดเก็บข้อมูลแรงงานอย่างเป็นระบบและใช้งานได้จริง

2) ทางการไทยควรหารืออย่างจริงจังกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นประเทศต้นทางของแรงงานกลุ่มนี้ในการแก้ไขปัญหา การลักลอบเข้าเมืองเพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย

3) ทางการไทยควรมีบทลงโทษที่ชัดเจนและบังคับใช้อย่างจริงจังผ่านกระบวนการทางศาล เพื่อความโปร่งใสและยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย บทลงโทษดังกล่าวควรครอบคลุมตัวแรงงาน นายจ้าง นายหน้า และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง “นโยบายและมาตรการเพื่อรองรับและป้องกันผลกระทบของ COVID-19 ต่อแรงงานและการจ้างงาน” สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

บทความโดย ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร นักวิจัยที่ปรึกษารับเชิญ ทีมวิเคราะห์ตลาดแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยและ Senior Lecturer in Analytics/Statistics, Auckland University of Technology, New Zealand เกศินี ธารีสังข์ นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ อลงกรณ์ ฉลาดสุข นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 1 ธันวาคม 2564


ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด