รัฐบาลไทยอยู่ตรงไหนในมิติใหม่แห่งการศึกษา

กรณีการยกเลิกการกำหนดระยะเวลาการสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา: ข้อดี ข้อจำกัด และความเป็นไปได้

มิติใหม่ทางการศึกษาของประเทศไทยจากการระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.) มีมติให้ยกเลิกการกำหนดระยะเวลาการสำเร็จการศึกษาของนิสิต/นักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก จากที่เคยมีกำหนดระยะเวลาสำเร็จการศึกษา 8 ปี 5 ปี และ 6 ปี ตามลำดับ นโยบายนี้นับได้ว่าเป็นนวัตกรรมเชิงนโยบายทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก ซึ่งนับว่าเป็นวาระทางการศึกษาที่กำหนดออกมาจากผลกระทบของ COVID-19 ที่กระทบต่อภาคการศึกษาไทยในหลายมิติตั้งแต่ต้น พ.ศ.2563  

สำหรับนิสิต/นักศึกษา วาระดังกล่าว คือการเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-long learning) และการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนและทำงานไปในเวลาเดียวกันจากการสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank) แต่การปลดล็อคกฎเกณฑ์ดังกล่าวนอกจากจะมีข้อดีแล้ว ยังมีข้อจำกัดที่ต้องคลายล็อคไปพร้อม ๆ กันเพื่อให้นโยบายมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ

Life-long learning สำหรับการเรียนรู้และพัฒนาทักษะตลอดชีวิต

ข้อดีประการแรกของการยกเลิกการกำหนดระยะเวลาการสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา คือการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตตามแผนอุดมศึกษาระยะยาว 20 ปี พ.ศ.2561 – 2580 แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (Big rock) ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา 

การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-long learning) เป็นทักษะการเรียนรู้ที่ไม่ได้ยึดติดอยู่ในกรอบการเรียนรู้ในรั้วของสถาบันการศึกษา ทำให้ผู้เรียนต้องพัฒนาตนเองตลอดเวลาตามบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่ง UNESCO International Bureau of Education (UNESCO-IBE, 2016) ได้ให้นิยามว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิตหมายถึงกิจกรรมการเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดชีวิตของบุคคลซึ่งนำไปสู่การยกระดับความรู้ (Knowledge) ความเข้าใจในวิธีการ (Know-how) สมรรถนะ (Competences) และ/หรือคุณสมบัติเฉพาะบุคคล (Qualifications) บนพื้นฐานของเหตุผลส่วนบุคคล สังคม และ/หรือวงการวิชาชีพ

World Economic Forum (2020) ได้รายงานสถานการณ์ตลาดแรงงานของโลกว่าภายใน ค.ศ.2022 แรงงานต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทักษะที่เรียนรู้จากการทำงานและชุดทักษะใหม่ ผนวกกับสถานการณ์ปัจจุบันดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเรียนรู้ตั้งแต่วัยเรียนจนถึงวัยทำงานมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดคำถามว่าการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วกระตุ้นการเกิดความล้าหลังของทักษะแรงงาน(Skill obsolescence) และส่งผลให้แรงงานออกจากตลาดแรงงานเร็วขึ้นหรือไม่ ซึ่งการศึกษาของ Jim Allen & Andries de Grip (2007) เป็นบทพิสูจน์หนึ่งว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-long learning) สามารถลดการสูญเสียการจ้างงานและความล้าหลังของทักษะได้อย่างมีนัยสำคัญจากการที่แรงงานสามารถเข้าถึงการฝึกอบรมทักษะ และคอร์สเรียนระยะสั้นได้บ่อยขึ้น 

รูปแบบการเรียนรู้ในปัจจุบันผู้เรียนสามารถเลือกเรียนสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ได้โดยง่ายผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต สามารถเลือกได้ทั้งเวลาและสถานที่เรียน เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้น

โดยผู้เรียนสามารถจัดการการเรียนของตนเองได้ตลอดเวลาผ่านช่องทางการเรียนรู้ยอดนิยมต่าง ๆ เช่น Podcast Youtube และ Skillane  จากการศึกษาของ Leong, Sung, Au, and Blanchard (2020) พบว่าแนวโน้มการค้นหาการเรียนออนไลน์แบบ Micro-learning มีความถี่ในการค้นหาเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ ค.ศ.2006 – 2019 ส่วนทางกับการค้นหาคำว่า Learning ที่มีแนวโน้มลดลง (รูปที่ 1)  

Micro-Learning เป็นคอร์สการเรียนรู้ระยะสั้นที่มีบทบาทในการช่วยพัฒนาความรู้และทักษะเฉพาะทาง ซึ่งมีความแตกต่างจาก E-Learning และ Learning ที่เป็นการเรียนรู้ในภาพรวมหรือเป็นการเรียนรู้เนื้อหาทั้งคอร์สซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการเรียนมากกว่า

ประเทศไทยได้มีการประยุกต์ใช้ Micro-learning และ E-learning เพิ่มเติมจากการเรียนในระบบประมาณ 8 ปีมาแล้ว ซึ่งรูปแบบการเรียนรู้แบบ Micro-learning และ E-learning ที่โดดเด่นของประเทศไทย ได้แก่ MOOCs (Massive Open Online Course) ซึ่งถือกำเนิดและได้รับความนิยมอย่างมากในต่างประเทศ เนื่องจากเป็นการเรียนรู้ทางออนไลน์ที่สามารถรองรับผู้เรียนได้ทุกช่วงวัยและไม่จำกัดการศึกษา บรรยายโดยอาจารย์เจ้าของวิชาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังระดับโลกและระดับประเทศ มีแบบฝึกหัดหลังบทเรียนบางแพลตฟอร์มและมีกระดานสนทนา (Forum) ให้ผู้เรียนได้เข้าไปแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้สอนหรือผู้เรียนด้วยกันเองได้

แตกต่างจากรูปแบบการเรียนแบบเดิม เช่น E-learning ที่จำกัดการเรียนสำหรับผู้เรียนเฉพาะกลุ่มเรียนในสถาบันการศึกษานั้น ๆ โดยสถาบันการศึกษาของไทยที่นำ MOOCs มาใช้ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula MOOC) มหาวิทยาลัยมหิดล (MUx) รวมถึงมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทยซึ่งเป็นหน่วยงานกลางที่ประสานงานกับมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในการจัดทำหลักสูตรร่วมกัน (Thai MOOC) เพื่อเชื่อมโยงโลกแห่งการศึกษาและโลกแห่งการทำงาน

รูปที่ 1  แนวโน้มการค้นหา Micro-learning, E-learning, Learning โดยใช้ Search volume index

ที่มา: Leong, Sung, Au, and Blanchard (2020)
หมายเหตุ: Search volume index คือ ดัชนีที่แสดงการค้นหาคำโดยวัดความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณการค้นหาและเวลา (>100 = มีความนิยม)

ข้อดีประการที่สองของการยกเลิกระยะเวลาการสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาคือการส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการทำงาน และเชื่อมโยงโลกแห่งการศึกษาและโลกแห่งการทำงานเข้าด้วยกัน เช่นรูปแบบการเรียนแบบ WIL (Worked-integrated Learning) และ Credit Bank ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของประเทศไทยที่ต้องเร่งพัฒนาผลิตภาพแรงงานและแก้ปัญหาความไม่สอดคล้องระหว่างความรู้และทักษะที่แรงงานมีและความรู้และทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการ (Bonnie, D., & Campbell, M., 2020)

ก่อนการระบาดของ COVID-19 ภาคการศึกษาไทยมีการปรับตัวจากโมเดลทางการศึกษาใหม่ ๆ เพื่อจุดประสงค์ของการเพิ่มความยืดหยุ่นให้ผู้เรียนและแก้ไขปัญหาการผลิตบัณฑิตให้มีทักษะสอดคล้องกับตลาดแรงงานมากยิ่งขึ้น จากแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (Big rock) หนึ่งในโมเดลทางการศึกษาที่ประเทศไทยนำมาใช้ คือ Credit Bank สิ่งสำคัญของ Credit Bank คือ การลดบทบาทของระยะเวลาในการเรียน และการพัฒนาทักษะแรงงาน ซึ่งเป็นแผนการพัฒนากำลังแรงงานที่สำคัญในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นการเรียนรู้แบบ On the job training และ Coaching ของผู้เรียนสายอาชีวศึกษาไปจนถึงระดับปริญญาตรีกลุ่ม STEM เป็นสำคัญ โดยเน้น Re-skill และ Up-skill

จากวิกฤตการณ์การระบาดของ COVID-19 ภาคการศึกษาทั่วโลกถูกเร่งด้วยปัจจัยกระตุ้นหลายด้าน นำไปสู่รูปแบบการเรียนรู้ออนไลน์และทางไกลมากยิ่งขึ้น ผนวกกับภาคการศึกษาไทยไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการที่ผลิตบัณฑิตออกสู่ตลาดแรงงานและกำหนดรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 15,000 บาทได้ (เสาวรัจ, 2564) ถึงแม้จะมีความพยายามในการปรับเปลี่ยนโมเดลทางการศึกษาหลายรูปแบบแต่ยังมีข้อจำกัดของการประสบความสำเร็จในวงกว้าง ซึ่งโมเดลดังกล่าว คือ Worked-integrated Learning (WiL) ที่เป็นโมเดลทางการศึกษาที่ทำให้ผู้เรียนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นในระดับปริญญาตรีเท่ากับ 30,000 บาท ซึ่งมากกว่ารายได้เฉลี่ยของบัณฑิตจบใหม่ทั่วไปถึง 2 เท่า และคอร์สเรียนระยะสั้นส่งผลให้ผู้เรียนมีรายได้เฉลี่ยเท่ากับ 20,000 บาทต่อเดือน โดยสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทยมีการใช้ WiL ในหลักสูตรการเรียนการสอนกว่าหนึ่งทศวรรษก่อนการระบาดของ COVID-19 เสียด้วยซ้ำ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการขยายการศึกษาแบบนี้ออกไปในวงกว้าง 

ค่าเทอมและสัดส่วนอาจารย์ต่อนิสิต/นักศึกษา ยังคงเป็นข้อจำกัดที่ต้องได้รับการคลายล็อค

ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นโมเดลทางการศึกษาของไทยมีการประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาทักษะแรงงานและเพิ่มมูลค่าเพิ่มด้านรายได้แก่บัณฑิตในรั้วอุดมศึกษา แต่ผลตอบรับที่ผ่านมาดูเหมือนว่าภาคการศึกษาไทยยังมิได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม จนกระทั่งการระบาดของ COVID-19 หน่วยงานที่รับผิดชอบจึงมีมติให้ยกเลิกการกำหนดระยะเวลาการสำเร็จการศึกษาของนิสิต/นักศึกษา ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  อย่างไรก็ตาม 

เงื่อนไขข้อกำหนดหนึ่งของการกำหนดระยะเวลาการศึกษาของนิสิต/นักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย คือ ค่าเทอมของบางมหาวิทยาลัยที่เป็นแบบเหมาจ่าย ซึ่งแสดงถึงรายได้ส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยมาจากค่าเทอมของนิสิต/นักศึกษา  อีกทั้ง เงื่อนไขของการรับนิสิต/นักศึกษาในการปกครองของอาจารย์ตามเกณฑ์มาตรฐานอุดมศึกษาและ/หรือเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพยังไม่มีมาตรการในการรองรับเรื่องนี้ หากไม่มีการกำหนดระยะเวลาในการสำเร็จการศึกษา และผู้เรียนยังไม่สำเร็จการศึกษา อาจารย์จะไม่มีโอกาสรับเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของนิสิต/นักศึกษารุ่นใหม่เพิ่มได้เลยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับบัณฑิตศึกษา หากอาจารย์ได้รับนิสิต/นักศึกษาไว้ครบเต็มจำนวนที่กำหนดไว้ในเกณฑ์มาตรฐานอุดมศึกษาแล้ว

ผนวกกับนิสิต/นักศึกษาในสาย STEM Education ต้องทำการทดลองในห้องปฏิบัติการภายใต้การดูแลของอาจารย์อย่างใกล้ชิด ดังนั้นการออกนโยบายดังกล่าวทำให้ภาระงานของอาจารย์เพิ่มขึ้นและนิสิต/นักศึกษาอาจมีปัญหาในการเข้าถึงการได้รับความดูแลจากอาจารย์ที่ตนเองสังกัด

จากการวิเคราะห์ความถี่ของคำที่ปรากฏในข่าวของกระทรวง อว. ซึ่งคณะผู้วิจัยนำมาวิเคราะห์ในรูป Word Cloud  พบว่า ผลตอบรับจากสังคมของมติดังกล่าวมีทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ประชาชนยังมีความกังวลในแง่ของค่าเทอมและค่ารักษาสถานภาพนิสิตที่ยังคงเป็นภาระสำคัญของนิสิต/นักศึกษา อีกทั้งกังวลเรื่องการหางานทำในอนาคตของบัณฑิตที่ยังไม่มีแนวทางหรือข้อปฏิบัติจากภาครัฐมารองรับ จึงมองว่าหากสำเร็จการศึกษามาแล้วยังไม่มีงานทำก็อาจไม่จำเป็นต้องรีบสำเร็จการศึกษาก็ได้ ดังรูปที่ 2

รูปที่ 2 ความถี่ของผลตอบรับทางสังคม

ที่มา: คณะผู้วิจัย

ผู้เรียนระดับอุดมศึกษาของไทยมี “ความอยากรู้” มากเพียงพอจะทำให้นโยบายเกิดผลกระทบเชิงบวกหรือไม่ ?

คำถามต่อมาที่สำคัญอย่างยิ่งในการพิจารณาความเป็นไปได้ในการเกิดผลกระทบเชิงบวกของนโยบายดังกล่าว คือแรงจูงใจของผู้เรียน จากการศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-long Learning) โดย DİNDAR, H., & BAYRAKCI, M. (2015) และ Sabrià-Bernadó, B., LLinàs-Audet, X., & Isus, S. (2017) ทางคณะผู้วิจัยเห็นว่าหากนำมาประยุกต์ใช้และปรับให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย สามารถจำแนกปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ แรงจูงใจ (Motivations) ความขัดแย้ง/ความยากลำบาก (Conflicts/difficulties) และการพัฒนาวิชาชีพ (Career development) (ตารางที่ 1) ซึ่งพบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ คือความอยากรู้ (Curiosity) และการเปิดกว้างสำหรับการเรียนรู้ (Openness to Learning)  คำถามสำคัญที่ตามมาจากนโยบายการยกเลิกกำหนดระยะเวลาการสำเร็จการศึกษาคือผู้เรียนในระดับอุดมศึกษาของไทยมี “ความอยากรู้” และโอกาสมากน้อยเพียงใดต่อ “การเปิดกว้างสำหรับการเรียนรู้” เมื่อหยุดเรียนไปแล้วหรือมีความยืดหยุ่นในการเรียนรู้มากขึ้นจะเพิ่ม/ลดโอกาสในการกลับมาศึกษาต่อของนิสิต/นักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างไร  

ตารางที่ 1  ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-long learning)

ที่มา: DİNDAR, H., & BAYRAKCI, M. (2015) และ Sabrià-Bernadó, B., LLinàs-Audet, X., & Isus, S. (2017)

ข้อเสนอแนะ 

โดยภาพรวมจะเห็นได้ว่านโยบายการยกเลิกระยะเวลาสำเร็จการศึกษาจะสนับสนุนความพยายามของประเทศไทยในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีมาหลายทศวรรษได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเป็นการตอบสนองเป้าหมายการศึกษาตามที่ระบุไว้ในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตตามแผนอุดมศึกษาระยะยาว 20 ปี พ.ศ.2561 – 2580 แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (Big rock) ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564  อย่างไรก็ตาม จากการทบทวนแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการวิเคราะห์เสียงตอบรับจากประชาชน คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้เพื่อให้นโยบายดังกล่าวมีความเป็นไปได้และส่งผลกระทบเชิงบวกต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น

  1. คลายข้อกำหนดเรื่องการจัดเก็บค่าเทอมหรือค่าธรรมเนียมการศึกษาต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถรักษาสถานภาพนิสิต/นักศึกษาไว้ได้โดยไม่เป็นภาระมากจนเกินไป และในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาที่ต้องพึ่งพารายได้จากค่าเทอมก็จะมีแนวทางในการปฏิบัติที่ชัดเจน
  2. ทบทวนจำนวนนิสิต/นักศึกษาต่อความดูแลของอาจารย์ประจำหลักสูตร 1 ท่านตามเกณฑ์มาตรฐานอุดมศึกษา และเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง 
  3. รัฐควรสนับสนุนและขยายผลการพัฒนาระบบ MOOCs และ Micro-learning เพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษา
  4. ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่าง ๆ ควรคำนึงถึงปัจจัยสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-long learning) ตามบริบทของประเทศไทยและผลักดันให้ผู้เรียนกลับมาเรียนจนสำเร็จการศึกษาหลังจากหยุดเรียนไปแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเปล่าในการลงทุนสนับสนุนการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งโดยรัฐและประชาชนเอง
  5. กระทรวง อว. ควรนำเสียงสะท้อนของสังคมมาประกอบการกำหนดนโยบายหรือมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้นโยบายการยกเลิกระยะเวลาการสำเร็จการศึกษาปฏิบัติได้จริงและก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อภาคการศึกษา ตลาดแรงงาน และภาคส่วนทางสังคมอื่นที่เกี่ยวข้อง

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง “นโยบายและมาตรการเพื่อรองรับและป้องกันผลกระทบของ COVID-19 ต่อแรงงานและการจ้างงาน” สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

บทความโดย อุษณีย์ ศรีจันทร์ และ กันต์ ธีระพงษ์ นักวิจัยทีมวิเคราะห์ตลาดแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย


อ้างอิง

เสาวรัจ รัตนคำฟู. (2564). TDRI Annual Public Virtual Conference 2021 “ความท้าทายและจินตนาการ แห่งโลกใหม่: โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศหลังโควิด-19”. (Online). https://tdri.or.th/2021/10/tdri-annual-public-virtual-conference-2021/. 5 ธันวาคม 2564

Allen, J., & Grip, A. (2007). Skill Obsolescence, Lifelong Learning and Labor Market Participation. Research Centre for Education and the Labour Market.

Bonnie, D., & Campbell, M. (2020). Reshaping work-integrated learning in a post-COVID-19 world of work. International Journal of Work-Integrated Learning, 21(4), 355–364.

DİNDAR, H., & BAYRAKCI, M. (2015). Factors Effecting Students’ Lifelong Learning in Higher Education. International Journal on Lifelong Education and Leadership, 1(1).

Leong, K., Sung, A., Au, D., & Blanchard, C. (2020). A review of the trend of microlearning.         
Journal of Work-Applied Management, 13(1), 88–102. https://doi.org/10.1108/jwam-10-2020-0044

Sabrià-Bernadó, B., LLinàs-Audet, X., & Isus, S. (2017). Determinants of user demand for 
lifelong learning in institutions of higher education. International Journal of Training 
and Development
, 21(2), 145–166.https://doi.org/10.1111/ijtd.12101

UNESCO-IBE. (2016). Lifelong learning. International Bureau of Education. (Online)
http://www.ibe.unesco.org/en/glossary-curriculum-terminology/l/lifelong-learning. 
5 December 2021

World Economic Forum. (2020). (Online) https://www3.weforum.org/docs/WEFFutureofJobs_2020.pdf 5 December 2021

ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ