เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 และการเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 ที่ไทยประกาศไว้ในการประชุม COP26 ถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย และต้องอาศัยแรงผลักดันมากกว่าแค่นโยบายของภาครัฐ
ผู้เล่นสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายท้าทายนี้คือ “กลุ่มธุรกิจ” ซึ่งมีศักยภาพสูงในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายงานของโครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้ และมั่นคงสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CASE) ระบุว่า หน่วยงาน ในภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันเทียบเท่า กับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมของประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ในปี 2562
ที่ผ่านมา ภาคธุรกิจขนาดใหญ่หลายรายทั้งในไทยและต่างประเทศ ได้ส่งสัญญาณและเริ่มปรับตัวเพื่อบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกไปสู่ธุรกิจยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
เนื่องมาจาก แรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงภายนอกหลายอย่าง เช่น ความคาดหวังของนักลงทุนให้ดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีธรรมาภิบาลที่ดีตามแนวทาง Environmental, Social, Governance (ESG) พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป บทบาทของธุรกิจที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ ตลอดจนแนวโน้มการกีดกันสินค้าและบริการที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงผ่านมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศต่างๆ เช่น Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความพร้อม เดินหน้าปรับตัวเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน
แรงกดดันจากภายนอก เช่น การบังคับใช้มาตรการ CBAM ไม่เพียงแต่กระทบธุรกิจขนาดใหญ่ที่ส่งออกสินค้าไปยังประเทศในสหภาพยุโรป แต่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของธุรกิจใหญ่ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
เพราะการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนภายใต้มาตรการ CBAM จะคิดทั้งวงจรการผลิตสินค้า ในไม่ช้า SMEs จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกกดดันจากบริษัทใหญ่ทั้งในและต่างประเทศให้ลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ในการประกอบธุรกิจ (carbon footprint)
สำหรับเอสเอ็มอี การปรับตัวที่จะช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้มากที่สุด คือการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการผลิตไฟฟ้าใช้เองจากพลังงานหมุนเวียน เช่น ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงที่ติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) การปรับเปลี่ยนดังกล่าวนอกจากจะช่วยให้สามารถลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้แล้ว เอสเอ็มอียังได้ผลประโยชน์โดยตรงจากการที่ต้นทุนพลังงานลดลงอีกด้วย
ปัจจุบันภาครัฐของไทยมีกลไกส่งเสริม ให้เอสเอ็มอีปรับตัวไปสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม โดยส่งเสริมให้เอสเอ็มอีดำเนินกิจกรรมการประหยัดพลังงานด้วยตนเอง การให้ คำปรึกษา สร้างความรู้ความเข้าใจด้านการอนุรักษ์พลังงาน รวมทั้งการสนับสนุนเงินทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรอุปกรณ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการใช้พลังงานทดแทน เช่น การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ฯลฯ
โดยมีสิทธิประโยชน์และแรงจูงใจ ได้แก่ การยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับเครื่องจักร และการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภายใต้นโยบายส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ภาคเอกชนก็ได้เริ่มสร้างกลไกสนับสนุน เอสเอ็มอี ลดการปล่อยคาร์บอน เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรม ได้ร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก วางแผนก่อตั้งสถาบันบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกแบบครบวงจร โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้เอสเอ็มอี เข้าถึงพลังงานสะอาดได้ 100% เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนในห่วงโซ่อุปทาน
นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งยังมี “สินเชื่อสีเขียว” (Green credit)เพื่อให้ธุรกิจปรับปรุงประสิทธิภาพการ ใช้พลังงาน และติดตั้ง solar rooftop อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การศึกษาเบื้องต้นของโครงการ Green Industry (GI) โดยองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) พบว่าเอสเอ็มอี ส่วนใหญ่ยังไม่มีการปรับตัวเพื่อลด carbon footprint เท่าใดนัก
เนื่องจากประเด็นนี้ยังไม่ถูกให้ความสำคัญและยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมไปถึงวิธีการประเมินผลประโยชน์ ตัวเงินจากการลงทุนในเทคโนโลยีเหล่านี้ เช่น ค่าไฟฟ้าที่ลดลง ทำให้การตัดสินใจลงทุนหรือกู้ยืมเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตเป็นไปได้ยาก
นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคในการเข้าถึงมาตรการส่งเสริมที่มีอยู่ เช่น การขาดข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริม รวมถึงขั้นตอนในการดำเนินการและเอกสารที่เกี่ยวข้องยังมีความยุ่งยาก
ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งที่แม้จะมีสินเชื่อสีเขียว แต่มักประเมินความเสี่ยงเอสเอ็มอีสูง เพราะธนาคารอาจยังไม่มีความเชี่ยวชาญในการประเมินความเสี่ยงของเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ จึงส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของเอสเอ็มอีสูงตามไปด้วย
หากดูตัวอย่างนโยบาย/มาตรการในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมให้เอสเอ็มอีปรับตัว พบว่ามีหลายมาตรการคล้ายกับไทย แต่ยังมีมาตรการเพิ่มเติมที่ช่วยเอสเอ็มอีมากยิ่งขึ้น เช่น ออสเตรีย พัฒนาแพลตฟอร์มให้เอสเอ็มอี เป็นสมาชิกได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำร่วมกัน
สาธารณรัฐเช็กสนับสนุนเอสเอ็มอี โดยการจัดสัมมนาในหัวข้อต่างๆ เช่น “Sustain able SME Entrepreneurship” และในประเทศอิตาลี องค์กร SACE ซึ่งเป็น Italian Export Credit Agency ให้ การสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีในการเข้าถึงเงินทุน โดยการให้ Green Guarantee เป็นต้น
จากตัวอย่างในต่างประเทศ และอุปสรรคของเอสเอ็มอีไทย ทำให้เห็นว่าการส่งเสริมเอสเอ็มอีในไทยต้องอาศัยมาตรการเพิ่มเติม ได้แก่ การสร้างความตระหนักว่าการปรับตัวสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำจะช่วยลดต้นทุนในระยะยาว การประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์และมาตรการส่งเสริมทั้งของภาครัฐ/เอกชน และการค้ำประกันสินเชื่อและการลดขั้นตอนเอกสารในการสมัครขอรับการส่งเสริม โดยอาจตั้ง one-stop service สำหรับเอสเอ็มอีที่ต้องการปรับตัว สู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ ตั้งแต่การให้คำปรึกษา ชี้แนะทางเลือกเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ ประเมินความคุ้มค่า แหล่งเงินทุน การจัดเตรียมเอกสารรับการส่งเสริม
Net-zero เป็นวาระระดับโลกที่ต้องการส่วนร่วมจากทุกฝ่ายและการผลักดันอย่างจริงจัง ไม่เว้นแม้กระทั่งเอสเอ็มอีและภาคประชาชน หากมีเพียงภาครัฐ และธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีส่วนร่วมหรือแสดงบทบาทต่อวาระดังกล่าว การบรรลุ เป้าหมาย Net-zero ของไทย ภายในปี 2065 ก็คงเป็นไปได้ยาก
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้ และมั่นคงสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CASE) ดำเนินการโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และองค์กรเชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ สนับสนุนโดยกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU)
บทความโดย ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ และ ดร.วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ