‘สะกิดราชการ’ เพิ่มความเชื่อมั่นจัดการน้ำท่วม

ท่ามกลางวิกฤติโรค โควิด-19 ประเทศไทยเผชิญกับอีกหนึ่งวิกฤตการณ์  ในช่วงเดือน ก.ย. คือ ภัยพิบัติน้ำท่วม ซึ่งเราเผชิญกับเหตุการณ์น้ำท่วมกันทุกปีและเห็นภาพประชาชนได้รับความเดือดร้อนมาตลอด หนึ่งในความ เสียหายครั้งใหญ่เกิดขึ้นในปี 2561 ที่มีทรัพย์สินเสียหายกว่า 540 ล้านบาท และประชาชน มากถึง 1 ล้านคนได้รับผลกระทบ

สถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดนี้ นอกจากประชาชนไม่สามารถเตรียมการรับมือกับน้ำท่วมได้ทันแล้ว ยังเกิดกรณีการเสียชีวิต จากการถูกกระแสน้ำพัดและไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต ในกลุ่มประชาชนส่วนหนึ่งที่ ไม่ย้ายออกจากบริเวณน้ำท่วม ปัญหานี้มีส่วนมาจากการขาดข้อมูลและการไม่เชื่อมั่น ในการสื่อสารของภาครัฐ หนทางแก้ไขคือ ประชาชนต้องได้รับแนวทางปฏิบัติตัวที่ ถูกต้อง พร้อมกับมีความเชื่อมั่นในการปฏิบัติ ตามแนวทางนั้น เพื่อการรับมือน้ำท่วมอย่างปลอดภัย ลดความเสียหายและผลกระทบที่จะเกิดตามมา

เริ่มต้นด้วยความเข้าใจ ลงท้ายด้วยความเปลี่ยนแปลง

ปัญหานี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทย หลายประเทศรวมถึงประเทศอังกฤษก็เผชิญปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วม และประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ปฏิบัติตัวตามมาตรการ  คำแนะนำของรัฐ จนกระทั่งประเทศอังกฤษนำหลักการพฤติกรรมศาสตร์มาใช้สื่อสารกับประชาชน ประชาชนจึงพร้อมให้ความร่วมมือ ซึ่งได้ช่วยลดความเสียหายต่อชีวิตและบ้านเรือนได้ดีขึ้นมาก

ในปี 2562-2563 ประเทศอังกฤษเผชิญกับภัยพิบัติน้ำท่วมที่เกิดความ เสียหายทางเศรษฐกิจรวมกว่า 333 ล้านปอนด์ ประเทศอังกฤษจึงจัดทำมาตรการป้องกันและฟื้นฟูจากน้ำท่วม (Property Flood Resilience) ให้ประชาชนปฏิบัติตาม ประกอบด้วยมาตรการป้องกันน้ำที่จะเข้ามาในอาคาร เช่น การติดตั้งคันกั้นน้ำหรือปั๊มน้ำ และมาตรการการฟื้นตัวที่ช่วยลดความเสียหายจากน้ำที่เข้ามาในอาคาร เช่น การเตรียมแท่นยกของ หรือการยกปลั๊กให้อยู่สูงขึ้น หากประชาชนปฏิบัติตามมาตรการเหล่านี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูอาคารภายหลังน้ำท่วมได้

แต่กลับมีคนเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ปฏิบัติตามมาตรการเหล่านี้ สำนักงานสิ่งแวดล้อมที่ประเทศอังกฤษ (EA) จึงจ้างหน่วยพฤติกรรมศาสตร์ ชื่อ The Behavioral Insight Team (BIT) และบริษัทที่ปรึกษาด้านนโยบายจากเอกชน ร่วมกันหาวิธีการที่ทำให้ประชาชนให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว โดยเลือกใช้วิธี “การสะกิด-Nudge” ตามหลักพฤติกรรมศาสตร์

วิธี “การสะกิด” คือการที่ภาครัฐออกแบบสภาพแวดล้อมหรือทางเลือกที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของประชาชนให้ไปในทางที่พึงประสงค์ โดยไม่ใช่เป็นการบังคับ

เมื่อได้รับโจทย์มา BIT ได้ทำการวิเคราะห์ปัญหา และพบว่าสิ่งที่ต้องการสะกิดประชาชนเพื่อให้เกิดพฤติกรรม พึ่งประสงค์ มี 3 ส่วนคือ ความสนใจและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและฟื้นฟูจากน้ำท่วม การรับรู้ข้อมูลการรับมือน้ำท่วมจากช่องทางออนไลน์ และการเห็นความสำคัญและวางแผนรับมือน้ำท่วม

BIT ยังได้ออกแบบการทดลองเพื่อค้นหาแนวทางที่จะทำให้ประชาชนเกิดพฤติกรรมดังกล่าว โดยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันน้ำท่วมเพื่อศึกษาพฤติกรรมของประชาชนและบริบทโดยรอบ ให้เข้าใจถึงพฤติกรรมและมุมมองต่อสถานการณ์ น้ำท่วมของประชาชน เช่น เจ้าของบ้านประเมิน ความเสี่ยงจากน้ำท่วมน้อยกว่าความเป็นจริง หรือไม่ รู้ข้อมูลมาตรการการป้องกันหรือไม่ เป็นต้น

แล้วจึงออกแบบการทดลอง ที่ประกอบด้วย 2 การทดลอง

การทดลองแรก การพัฒนาเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลมาตรการป้องกันและฟื้นฟูจาก น้ำท่วม ที่หวังผลให้คนปฏิบัติตามมาตรการมากขึ้น โดยปรับปรุงเว็บไซต์ของ EA ตามหลักพฤติกรรมศาสตร์ 3 หลักการ ได้แก่ 1.หลักการเรียนรู้จากสังคม คือ นำกรณีตัวอย่างจากผู้ที่ทำตามมาตรการแล้วเกิดผลลัพธ์ที่ดีมาแสดงให้เห็น เพื่อโน้มน้าวให้คนมีความมั่นใจที่จะปฏิบัติตาม

หลักการที่ 2 คือ ทำให้เข้าใจง่าย โดยจัดกลุ่มข้อมูลที่เกี่ยวข้องไว้ด้วยกันและจัดเรียงเป็นลำดับขั้นที่อ่านง่าย และหลักการที่ 3  เป็นการต่อยอดจากหลักการที่ 2 โดยการใช้ภาพช่วยในการสื่อสาร ผลลัพธ์คือเว็บไซต์เดิมของ EA และเว็บไซต์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาให้ผลลัพธ์ไม่ต่างกัน

การทดลองที่สอง การโฆษณาออนไลน์ โดยหวังผลให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลรับมือน้ำท่วมเพิ่มขึ้น โดย BIT ได้ทดลองสร้างโฆษณาเชิญชวนผ่าน facebook 2 ชิ้น ตามหลักการพฤติกรรมศาสตร์ ในชิ้นแรกใช้ หลักการการตอบแทนการได้รับ (Recipro city) โดยบอกว่า EA กำลังช่วยคุณป้องกันน้ำท่วมอยู่นะ อยากชวนคุณมาร่วมด้วย และชิ้นที่สองอาศัยหลักพฤติกรรมที่คนมักกลัวการสูญเสีย (Loss aversion) โดยบอกว่าพื้นที่อยู่อาศัยของคุณอยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม โปรดศึกษาข้อมูลการรับมือ ผลลัพธ์ที่ได้คือ การโฆษณาที่อาศัยหลักการ การตอบแทนการได้รับ ทำให้คนเข้าสู่เว็บไซต์ของ EA ได้มากกว่า

จากการศึกษาทั้งหมดของ BIT ภาครัฐ จึงได้แนวทางในการพัฒนาเว็บไซต์และแนวทางการสื่อสารเพื่อให้ประชาชนเข้าถึง และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและฟื้นฟู จากน้ำท่วม

หากมองกลับมาที่ประเทศไทย ข้อมูล เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมยังคงกระจัด กระจายอยู่หลายแหล่ง ทำให้ประชาชนต้องติดตามสืบค้นข้อมูลเองจากหลายช่องทาง ส่วนข้อมูลที่ได้รับก็ยังเข้าใจยากและหลายครั้งก็แจ้งเตือนล่าช้าหรือไม่ชัดเจน จึงไม่นำไปสู่การเตรียมการล่วงหน้าของประชาชน รวมถึงยังไม่มีการแนะนำแนวทางการ เตรียมการป้องกันน้ำท่วมที่สามารถนำไปปฏิบัติตามได้โดยง่าย ประชาชนต้องอาศัยประสบการณ์ที่ผ่านมา หรือการบอกต่อจากผู้มีประสบการณ์ในการเตรียมรับมือกับสถานการณ์

ดังนั้น ภาครัฐที่รับรู้ถึงสถานการณ์น้ำได้ดีกว่า รวมถึงมีข้อมูลมากกว่าประชาชน จึงควรพัฒนาการสื่อสารให้ประชาชน รับรู้และเตรียมการป้องกัน โดยการรวบรวมข้อมูลสำหรับการป้องกันสถานการณ์ น้ำท่วมไว้แหล่งเดียว รวมถึงมาตรการหรือแนวทางสำหรับประชาชนในการเตรียม รับมือ

โดยรูปแบบในการสื่อสารควรปรับให้เข้าใจง่ายและสร้างวิธีสะกิดให้เกิดพฤติกรรมนำไปปฏิบัติ แต่จะทำเช่นนั้นได้ภาครัฐ ต้องเข้าใจประชาชนทั้งพฤติกรรมและ มุมมองต่อสถานการณ์น้ำท่วม แล้วจึงออกแบบแนวทางในการให้ข้อมูลที่อิงกับพฤติกรรมประชาชนในหลายๆ รูปแบบ เพื่อทดลองหาแนวทางที่สามารถสร้างผลลัพธ์ได้ดีที่สุด

บทความโดย อรรถสิทธิ์ ขจรรุ่งศิลป์

เผยแพร่ครั้งแรก: กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 3 พฤศจิกายน 2564


ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ