อ่านเศรษฐกิจไทยปี 65 โอกาส-อุปสรรค ฟื้นกลับมา

การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ เศรษฐกิจไทยปี 2565 ยังคงฟื้นตัวได้ แม้จะมีความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน แต่มูลค่าเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด โดยทีดีอาร์ไอ คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวราว 3.5% จากปีก่อนหน้า และมูลค่าของเศรษฐกิจจะกลับไปสู่ระดับเดิมก่อนโควิดภายใน ปี 2566

การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ช่วงปลายปี 2564 ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ แต่ยังไม่เท่ากับระดับก่อนโควิดเนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนจากการระบาดที่ยังคงอยู่ โดยคาดว่าการบริโภคของประชาชนจะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับเดิมก่อนโควิดภายในปี 2566 เช่นกัน

ในด้านการส่งออกจะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยการส่งออกในปีที่ผ่านมาขยายตัวราว 15% และคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องราว 10% ในปีนี้ โดยเฉพาะตลาดหลักอย่างสหรัฐ จีน ยุโรป และญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว หลังการระบาดใหญ่ และที่ผ่านมาสินค้าส่งออกมากกว่า 3 ใน 4 มีการขยายตัวมากกว่าระดับก่อนโควิดแล้ว เช่น อาหารแปรรูป ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อห่วงโซ่อุปทานในประเทศ

ด้านการลงทุนในปีนี้ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเห็นสัญญาณจากการลงทุนของบริษัทไทยและต่างชาติที่เริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ปีที่แล้ว

อีกทั้งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศยังได้อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ และการบริการคลาวด์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐและจีน

นอกจากนี้ บริษัทต่างชาติหลายแห่งยังได้เข้ามาร่วมทุนกับบริษัทไทยเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นแหล่งวัตถุดิบทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพ

ด้านภาคการท่องเที่ยวอาจต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2-3 ปีกว่าที่จะกลับมาเหมือนเดิมก่อนโควิด คาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศราว 5 ล้านคน แม้ว่าจะมากกว่าปีที่แล้ว แต่ยังคงอยู่ในต่ำกว่าก่อนโควิดที่เคยมีเกือบ 40 ล้านคนต่อปีเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ยังคงอยู่ จึงเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง ท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ด้วยจำนวนเที่ยวบินที่ลดลงและข้อกำหนดในการเดินทางจำนวนมาก ทำให้การเดินทางระหว่างประเทศมีความยุ่งยากและมีราคาแพง

อีกทั้งนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (ZeroCovid policy) ของรัฐบาลจีนที่เข้มงวดอย่างมาก ทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งคิดเป็นหนึ่งในสามของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางมาประเทศไทยได้อย่างอิสระ คาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะเริ่มเดินทางมาท่องเที่ยวได้ในช่วงปลายปีนี้

ขณะที่การท่องเที่ยวของคนไทยในประเทศจะฟื้นตัวค่อนข้างเร็วในช่วงแรกหลังจากปิดเมืองมานาน แต่จะค่อยๆ ฟื้นตัว กลับสู่ระดับก่อนโควิดภายในปี 2566 เนื่องจากยังมีความกังวลเกี่ยวกับการระบาดและความไม่แน่นอนของรายได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจ SMEs ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ที่มีการจ้างงานมากกว่า 4 แสนคน

ในขณะที่ภาครัฐยังมีเงินทุนเพียงพอที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หากเกิดการระบาดระลอกใหม่ในอนาคต หลังจากที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้ยืมเงิน 1.5 ล้านล้านบาท ตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งได้มีการเบิกจ่ายใช้ไปแล้วกว่า 1.2 ล้านล้านบาท อีกทั้ง แม้ว่าหนี้สาธารณะในขณะนี้อยู่ที่ราว 60% ของจีดีพี แต่ด้วยการขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ของจีดีพี ทำให้ยังพอมีช่องว่างสำหรับการจัดหาเงินกู้ เพิ่มเติมได้อีกราว 1 ล้านล้านบาท ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยของไทยปีนี้คาดว่าจะ “ไม่” เปลี่ยนแปลงจนกว่าจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างแข็งแกร่ง แม้ว่าสหรัฐมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ยในช่วงกลางปีนี้

ขณะที่ค่าเงินบาทปีนี้คาดว่าจะอ่อนค่ากว่าปีที่แล้ว เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นหลังจากสหรัฐยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) โดยทีดีอาร์ไอคาดว่า ค่าเงินบาทปีนี้จะอยู่ที่ราว 32 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นการอ่อนค่าที่สุดในภูมิภาค นอกจากนี้ แม้ว่าหลายธุรกิจยังไม่ ฟื้นตัวสู่ระดับก่อนโควิด โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว แต่ยังมีธุรกิจจำนวนมากที่สามารถเติบโตได้ เนื่องจากการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัวและการเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัล เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ การผลิตอาหาร การขนส่งและคลังสินค้า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ บริการดิลิเวอรี่ ธุรกิจไอที การแพทย์ทางไกล ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ศูนย์ข้อมูลบนคลาวด์ และแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยปีนี้มี ความเสี่ยงที่อาจทำให้การฟื้นตัวไม่เป็นไป ตามที่คาด อาทิ (1) การระบาดของโควิด สายพันธุ์โอมิครอนที่สร้างความไม่แน่นอน ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย (2) สงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐและจีนที่กลายเป็นข้อจำกัดของการค้าโลก ซึ่งส่งผลให้ เกิดการหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานการผลิต ดังที่เห็นแล้วจากการขาดแคลน semiconductor ในปีที่ผ่านมา และ (3) ราคาสินค้า รวมถึงราคาพลังงาน ค่าขนส่ง ตลอดจนราคาอาหาร เช่น สุกร ไก่ ไข่ไก่ ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก จนกระทบ ต่อกำลังซื้อของประชาชน เหล่านี้เป็นโจทย์สำคัญสำหรับปีนี้ที่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลจะต้องรับมือและแก้ไขเพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้

บทความโดย  ดร.กิริฎา เภาพิจิตร และ กิตติพัฒน์ บัวอุบล

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 14 มกราคม 2565

ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ