รัฐ เอกชน วิชาการ ร่วมถอดบทเรียนการพัฒนาพื้นที่ EEC เสนอนโยบายเดินหน้าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เวทีเสวนา การพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนภาคตะวันออก จัดโดย GISTDA ร่วมกับ มูลนิธิเสนาะ อูนากูล และ TDRI เชิญตัวแทนภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการ ร่วมรับฟังการรายงานผลการศึกษา การพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ภาคตะวันออก ปี พ.ศ. 2564” พร้อมแลกเปลี่ยนความเห็น ให้ข้อเสนอนโยบายเพื่อการเดินหน้าพัฒนาพื้นที่ EEC ปักธงพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่สิ่งแวดล้อม เน้นแก้ปัญหาเรื้อรังทั้งเรื่องจัดการขยะและมลพิษ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เสนอรัฐดำเนินนโยบายโดยยึดหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการมีส่วนร่วม บังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ด้านภาคธุรกิจพร้อมมีส่วนร่วม ชูหลัก BCG ในการดำเนินงาน สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้านภาควิชาการแนะต่อยอดเทคโนโลยี Actionable Intelligence Policy (AIP) Platform พัฒนาการจัดเก็บข้อมูลอย่างครอบคลุม เพื่อใช้ในการตัดสินใจทางนโยบายในพื้นที่ EEC ได้อย่างตรงจุดยิ่งขึ้น

วันที่ 11 มกราคม GISTDA ร่วมกับ มูลนิธิเสนาะ อูนากูล และ TDRI จัดงานสัมมนาวิชาการ “การพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ภาคตะวันออก”  เพื่อเปิดเผยรายงาน รายงานการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ภาคตะวันออก ปี พ.ศ. 2564” ต่อสาธารณะ และ เชิญตัวแทนภาครัฐ เอกชน นักวิชาการร่วมแลกเปลี่ยน ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อการขับเคลื่อน EEC ตามกรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นางสาว พจณี อรรถโรจน์ภิญโญ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) ดร.วีระภัทร์ ตันตยาคม Division Manager สายงานกลยุทธ์องค์กร บมจ.พีทีที โกลบอลเคมิคอล และ ดร.กฤษนัยน์ เจริญจิตร คณบดี คณะภูมิสารสนเทศ มหาวิทยาลัยบูรพา 

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ กล่าวสรุปให้มุมมองเชิงนโยบายสำหรับการพัฒนาพื้นที่ EEC ว่าโครงการ EEC ประสบความสำเร็จในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม แต่ยังมีประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องแก้ไข ดังนั้นเป้าหมายของ EEC จะต้องเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยให้นิยาม EEC – Eastern Economic Corridor ในอีกความหมายว่า Economic Environment Co-existence  และเสนอประเด็นเชิงนโยบาย 4 ประเด็น เพื่อให้สิ่งแวดล้อมอยู่ร่วมกับการพัฒนาได้ ซึ่งมีหลายประเด็นสอดคล้องกับวิทยากรกล่าวในการเสวนา ดังนี้

1. นโยบายระดับชาติ การเลือกอุตสาหกรรมที่จะส่งเสริมต้องมุ่งไปที่อุตสาหกรรม New S-Curve เน้นทักษะแรงงานระดับสูง นวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์ แทนการเน้นอุตสาหกรรมที่เน้นใช้ทรัพยากรและวัตถุดิบที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริม Bio-Circular-Green Economy (BCG) โดยต้องคำนึงถึงข้อจำกัดหรือปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น การทำเกษตรที่ยังต้องใช้น้ำมาก และ ปล่อยคาร์บอนสูง 

ด้านภาคเอกชน  ดร.วีระภัทร์ ตันตยาคม บมจ.พีทีที โกลบอลเคมิคอล มีความคิดเห็นต่อการดำเนินธุรกิจแบบ BCG ว่า เป็นทั้งโอกาสในการแก้ปัญหาสังคมและโอกาสทางธุรกิจ โดยที่ผ่านมา ทาง บมจ.พีทีที โกลบอลเคมิคอลได้ดำเนินกิจการในพื้นที่ EEC เน้นแนวทาง  Circularliving เพื่อบริหารจัดการน้ำ ของเสีย และขยะอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการนำขยะมาผลิตเป็นไฟฟ้า ซึ่งการทำให้เป็นมาตรฐานต้องอาศัยความร่วมมือในการดำเนินการกับทั้งภาครัฐ หน่วยงาน EEC นักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาดำเนินการ และข้อมูลจากรายงานที่นำเสนอในครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการวางแผนจัดการขยะในพื้นที่ EEC ต่อไป และอาจพัฒนาเป็น Platform สำหรับการนำขยะประเภทต่าง ๆ ในพื้นที่มาใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้า 

2. การบังคับใช้กฎหมาย ทั้งกฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายโรงงานและกฎหมายผังเมืองที่ต้องมีการบังคับใช้อย่างเข้มงวด ไม่ปล่อยให้เกิดการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่ไม่สอดคล้องกับผังเมือง และป้องกันการลักลอบทิ้งขยะ 

ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองข้อเสนอของ ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ (GISTDA) ที่เล็งเห็นว่าการสร้างธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและประชาชน รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เพื่อกำกับดูแลเรื่องการลักลอบทิ้งขยะและการปล่อยมลพิษ ซึ่งเป็นปัญหาเดิมที่เคยเกิดขึ้นและเป็นมาตั้งแต่ Eastern Seaboard Development Program (ESB) 

นอกจากนี้ ดร.บัณฑูรยังมีความเห็นว่า อีกภารกิจสำคัญคือ การบรรลุเป้าหมาย Big rock ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการยกเลิกเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่มาบตาพุดและใกล้เคียงตามที่ประกาศไว้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 เพื่อดำเนินการขจัดและลดมลพิษให้หมดไป แต่จนถึงวันนี้ซึ่งใกล้ครบกำหนด 13 ปีแล้ว ยังไม่สามารถดำเนินการเพื่อไปสู่การยกเลิกเป็นเขตควบคุมผลพิษได้ หากสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงได้ จะยิ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ EEC

3. การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ติดตาม แก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ได้ยกตัวอย่างกรณีแก้ปัญหาการลักลอบทิ้งขยะ โดยการติด GPS รถบรรทุกขยะไม่ให้วิ่งออกนอกเส้นทาง ดังที่กรมขนส่งทางบกเคยดำเนินการติด GPS รถขนส่งสาธารณะเพื่อลดอุบัติเหตุได้สำเร็จ และเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลด้วย IOT เพื่อติดตามการปล่อยของเสียจากโรงงาน

4. การบูรณาการระหว่างภาครัฐและองค์กรอื่นในรูปแบบเครือข่าย (Network Governance)คือ ต้องร่วมมือกับท้องถิ่น เอกชน ประชาสังคม ในการพัฒนาพื้นที่ EEC และรัฐต้องเปิดเผยข้อมูล ซึ่งการทำ Dashboard ตามรายงาน “การพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ภาคตะวันออก ปี พ.ศ. 2564” ได้ช่วยรวบรวมข้อมูลสำคัญ ๆ อย่างเป็นระบบ แต่ยังขาดข้อมูลระดับพื้นที่ ดังนั้นจึงต้องมีกลไก 

ที่จะเจาะลงไปถึงข้อมูลระดับพื้นที่ เช่นการให้ประชาชนได้รายงาน แจ้งเบาะแสสภาพปัญหาจากพื้นที่ในรูปแบบ Crowdsourcing เพื่อให้ภาครัฐมีข้อมูลตัดสินใจที่สมบูรณ์ที่สุด   

ข้อเสนอเรื่องการ Crowdsourcing สอดคล้องกับ มุมมองของ ดร.กฤษนัยน์ เจริญจิตร คณบดี คณะภูมิสารสนเทศ มหาวิทยาลัยบูรพา ตัวแทนนักวิชาการในพื้นที่ EEC ที่ได้ให้ความเห็นต่อเทคโนโลยีบริหารจัดการด้านข้อมูลในพื้นที่ EEC ว่า จากที่มีการใช้เทคโนโลยี Actionable Intelligence Policy (AIP) Platform ซึ่งพัฒนาโดย GISTDA ในการรวมรวมข้อมูลทั้งข้อมูลภูมิสารสนเทศ และขัอมูลอื่นๆ เพื่อแสดงผลการติดตามความเปลี่ยนจากการพัฒนาในพื้นที่ EEC นั้นมีประโยชน์อย่างมากในการติดตามแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ทันกาล โดยมีการอาศัยการเก็บข้อมูลในฐานข้อมูล ในรูปแบบ Big Geo-Spatial data แต่ในอนาคตควรพัฒนาไปถึงการเก็บแบบ Crowdsourcing เพื่อเพิ่มโอกาสเก็บข้อมูลได้จากทุกภาคส่วน และเชื่อมโยงด้วยพิกัดสถานที่ อีกทั้ง AIP ยังสามารถต่อยอดไปถึงการคาดการณ์อนาคตและจำลองสถานการณ์ต่างๆ นำไปสู่การสนับสนุนการกำหนดนโยบายได้ดียิ่งขึ้น สามารถนำมาแก้ปัญหาที่ยังค้าง เช่น การจัดการขยะในพื้นที่ EEC ว่าเกิดขึ้นจากแหล่งใดเพื่อนำไปสู่การกำกับและแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากขึ้น

ด้านนางสาว พจณี อรรถโรจน์ภิญโญ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตัวแทนภาครัฐผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ EEC กล่าวถึงความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ EEC ว่าได้เดินหน้าตามแผน และ พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561  ไปแล้วหลายเรื่องทั้งการจัดพื้นที่ตามผังเมืองเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ทั้งด้านการเดินทาง การศึกษา และสาธารณสุข รวมทั้ง การเดินหน้าลงทุนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ กว่า 6 แสนล้าน แต่หลังจากนี้ยังมีสิ่งท้าทายที่ต้องดำเนินการต่อไปคือ การเพิ่มการผลิตและใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น การจัดการขยะและการผลิตไฟฟ้าจากขยะ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีขยะที่ยังตกค้างอยู่จำนวนมาก หรือ 5.57 ล้านตัน โดยประเมินว่าการเพิ่มโรงกำจัดขยะและผลิตไฟฟ้าจากขยะเพิ่มอีก 6 โรง จะช่วยกำจัดขยะดังกล่าวได้ภายใน 12 ปี และการพยากรณ์ปริมาณขยะอุตสาหกรรมในอนาคตจาก“ รายงานการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ภาคตะวันออก ปี พ.ศ. 2564”   ได้ช่วยให้มีข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น แต่การพยากรณ์ปริมาณขยะอุตสาหกรรมต้องคำนึงถึงผังการใช้ประโยชน์ที่ดินด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลพยากรณ์ปริมาณขยะที่แม่นยำมากขึ้น 

ทั้งนี้ นางสาวพจณี ย้ำว่าการแก้ปัญหาขยะ โดยสำนักงาน EEC จะไม่เน้นเพียงกำจัดขยะที่ปลายทาง แต่จะแก้ปัญหาที่ต้นทางด้วย ซึ่งต้องมีภาคท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมปฏิบัติตามแนวทางลดการสร้างขยะและนำขยะกลับมาใช้ ตามข้อเสนอแนะในรายงาน

นอกจากนี้แล้ว ยังเห็นว่าประเด็นที่ควรศึกษาเพิ่มเติม คือ การจัดการปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นมาจากผลกระทบของโควิด-19 การบริหารจัดการน้ำเสียชุมชนการบริหารจัดการขยะต้นทางและขยะในทะเล การบริหารจัดการมลพิษทางอากาศ การกัดเซาะชายฝั่งทะเล เพื่อเดินหน้าผลักดันให้ EECเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง


ท่านสามารถดาวน์โหลด รายงาน ได้ที่นี่

รับชมงานสัมมนาวิชาการ “การพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ภาคตะวันออก” ย้อนหลัง ได้ที่นี่