ไทยอยู่ตรงไหน…ในรายงานการจัดอันดับดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพของโลก

ในเดือนตุลาคมปี 2019 เพียง 2 เดือนก่อนการพบโรคโควิด-19 3 องค์กรซึ่งประกอบด้วย Nuclear Threat Initiative (NTI), Johns Hopkins Center for Health Security (JHU) และ The Economist Intelligence Unit (EIU) ของนิตยสาร Economist 
(ปัจจุบันเรียก Economist Impact) ได้ออก รายงานดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพของโลก (Global Health Security Index หรือ GHS Index) โดยรวบรวมข้อมูลจาก 195 ประเทศที่เป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยมีแผนที่จะออกรายงานทุก 2-3 ปี

ข่าวสารที่สำคัญจากรายงานในปี 2019 อยู่ในหน้า 9 ของรายงาน ตามรูปข้างล่างนี้ คือ “ไม่มีประเทศไหนที่พร้อมจริง ๆ ในทุกด้านในการรับมือกับโรคระบาดในอนาคต และทุกประเทศมีช่องว่าง (gap) ที่สำคัญที่ต้องจัดการ/ดูแล” ซึ่งแม้ว่าจะเป็นข่าวสารที่ไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญมากนักในช่วงนั้น แต่การระบาดของโควิด-19 ในอีกไม่กี่เดือนต่อมาและความล้มเหลวของแทบทุกประเทศ รวมทั้งของ 13 อันดับแรกที่ได้คะแนนสูงสุดในปี 2019 ก็พิสูจน์ความถูกต้องของข้อสรุปดังกล่าว

รูปที่ 1 ข้อสรุปหลักจากรายงาน 2019 Global Health Security (GHS) Index 

ที่มา: 2019 Global Health Security (GHS) Index. October 2019. หน้า 9

รายงานการจัดอันดับดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพของโลกครั้งที่ 2 ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2021 ก็ยังคงเสนอบทสรุปหลักที่ไม่ค่อยต่างจากปี 2019 โดยระบุไว้ว่า “ไม่มีประเทศไหนที่พร้อมจริง ๆ ในทุกด้านในการรับมือกับโรคระบาดในอนาคต” โดยยังไม่มีประเทศไหนที่ได้คะแนนเกิน 80 จาก 100 ในทุกด้านเลย (ประเทศไทยได้คะแนนเกิน 80 ในด้านเดียวคือด้าน “การตรวจและรายงาน”) และโดยเฉลี่ย 195 ประเทศได้คะแนนรวมเพียง 38.9 จาก 100 ซึ่งแทบไม่ต่างจากในปี 2019 และคะแนนเฉลี่ยด้านความสามารถในการป้องกันการระบาดก็อยู่ที่ 28.9 เท่านั้น (ดูรูปที่ 2 และ 3 และหน้าหลักของ https://www.ghsindex.org/)

รูปที่ 2  ข้อสรุปหลักจากเว็บที่รายงาน “2021 Global Health Security (GHS) Index” 

รูปที่ 3 ข้อค้นพบหลักและคำแนะนำในภาพรวม จากรายงาน 2021 Global Health Security (GHS) Index 

ที่มา: ADVANCING COLLECTIVE ACTION AND ACCOUNTABILITY AMID GLOBAL CRISIS. 2021 Global Health Security (GHS) Index. หน้า 11. https://bit.ly/3qPtGCA  (หมายเหตุ: ดัชนีปี 2021 มีรายละเอียดที่ต่างจากในรายงานปี 2019 ตัวเลขที่เพิ่มหรือลดในปีนี้เป็นการเทียบปีนี้กับดัชนีใหม่ที่ใช้ข้อมูลปี 2019)

ประเทศที่ได้อันดับ 1 ในปีนี้ยังคงเป็นสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้คะแนนเฉลี่ย 75.9 และมีเพียง 3 ประเทศที่ได้คะแนนเกิน 70 (อันดับ 2 ออสเตรเลีย 71.1 และอันดับ 3 ฟินแลนด์ 70.9)

ในบรรดา 15 อันดับแรกของปีนี้นั้น มีเพียงแคนาดา (อันดับ 4) นิวซีแลนด์ (13) และลัตเวีย (14 ร่วม) ที่มีคะแนนเพิ่มขึ้น ที่เหลือรวมทั้งอันดับ 1-3 ไทย (อันดับ 5) อันดับ 6-12และ 14 ได้คะแนนลดลง โดยประเทศไทยในปีนี้ได้คะแนนลดลง 0.7 เป็น 68.2 แต่อันดับสูงขึ้น1 อันดับจาก 6 มาเป็น 5 (ประเทศที่ตกลงไปจาก 5 อันดับแรกเดิมคือสหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์ และออสเตรเลีย)

รายงานสำหรับแต่ละประเทศในปีนี้ยังประกอบด้วยดัชนีใน 6 หมวดเหมือนเดิม แต่ดัชนีปีนี้มีรายละเอียดที่ต่างจากในปี 2019 ตัวเลขที่เพิ่มหรือลดในปีนี้เป็นการเทียบปีนี้กับดัชนีใหม่ที่ใช้ข้อมูลปี 2019 

รูปที่ 4 แสดงคะแนนของไทยในแต่ละหมวดและแต่ละรายการในหมวดของปี 2019 2021 และค่าเฉลี่ยของ 195 ประเทศในปี 2021

ที่มา 2021 Global Health Security (GHS) Index. หน้า 238

คะแนนและอันดับของไทยในแต่ละหมวด

ในหมวดที่ 1 คือด้าน “การป้องกันโรค” ไทยได้คะแนน 59.7 เป็นอันดับ 10 จาก 195 ประเทศ โดยได้คะแนนรวมลดลงจากปี 2019 4.2 ซึ่งเป็นผลจากได้คะแนนการฉีดวัคซีนลดลงจาก 100 เหลือ 75 ในขณะที่คะแนนด้านอื่น ๆ ในหมวดไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม (ดูรายละเอียดคะแนนย่อยในหมวดได้รูปข้างล่าง)

ในหมวดที่ 2 ด้าน “การตรวจและรายงาน” เป็นหมวดที่ไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้นมากที่สุด (เพิ่มขึ้น 8.3) เป็น 91.5 (อันดับ 1 ของโลก) โดยได้อันดับ 1 ใน 4 รายการซึ่งเป็นด้านความพร้อมของห้องปฏิบัติการและความรวดเร็วของกระบวนการตรวจและรายงาน  ได้คะแนนเพิ่มในด้านการสอบสวนโรคอีก 25 เป็น 75 (อันดับ 3)  และมีคะแนนคงที่ในด้านการเข้าถึงและความโปร่งใสของข้อมูลที่ตรวจ (อันดับ 18)

ในหมวดที่ 3 ด้าน “การรับมือ/ตอบสนองอย่างรวดเร็ว” เป็นหมวดที่ไทยได้คะแนนลดลงมากที่สุด (-11.3) เป็น 67.3 (แต่ก็ยังเป็นอันดับ 2 ของโลก) โดยคะแนนใน 5 รายการแรกคงเดิม (ได้อันดับ 1 รวม 4 รายการ โดยเป็นคะแนนเต็ม 100 ใน 3 รายการ ประกอบด้วยด้านการวางแผนรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้านการเชื่อมสาธารณสุขกับหน่วยงานด้านความมั่นคง และด้านการสื่อสารความเสี่ยง และได้ 66.7 ในด้านการปฏิบัติการรับมือกับกับสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ได้คะแนนการปฏิบัติตามแผนเพียง 25 (อันดับ 19)) 

ส่วนอีก 2 ด้านที่ได้คะแนนลดลงคือด้านการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสาร (อันดับ 49) และด้านการมีมาตรการปิดกั้นการค้าและการเดินทางที่แรงเกินไปหรือทำโดยฝ่ายเดียว ได้คะแนนลดลงจาก 75 เหลือ 0 (เป็นอันดับต่ำสุดคือ 171 ร่วม)

ในหมวดที่ 4 ด้าน “ระบบสาธารณสุข” ไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้น 2.4 เป็น 64.7 (อันดับ 10 ของโลก) โดยจาก 7 รายการ ไทยได้คะแนนเพิ่ม 16.6 ในด้านศักยภาพของสถานพยาบาลระดับต่าง ๆ จาก 39.6 เป็น 56.2 (อันดับ 24) จากการขยายศักยภาพของสถานพยาบาลและการกักตัว  ที่เหลืออีก 6 รายการคะแนนคงเดิม รวมทั้งในด้านการเข้าถึงบริการที่ได้ 96.8 (อันดับ 2 ของโลก) ซึ่งคงเป็นคะแนนที่ให้กับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย และคะแนนเต็ม 100 ในด้านศักยภาพในการควบคุมโรคติดต่อ และศักยภาพในการตรวจอนุมัติยาหรือมาตรการใหม่ ๆ แต่ได้คะแนนเพียง 50 ในด้าน supply chain ของระบบสาธารณสุข และในด้านการสื่อสารกับผู้ปฏิบัติงานในระบบสาธารณสุข

ในหมวดที่ 5 ด้าน “การปฏิบัติตามบรรทัดฐานของนานาชาติ” ไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้น 2.4 เป็น 68.9 (อันดับ 10 ของโลก) โดยได้คะแนนดีในด้านการรายงานและความร่วมมือกับนานาชาติ การสนับสนุนด้านการเงิน และการแชร์ข้อมูลและตัวอย่างต่าง ๆ 

ในหมวดที่ 6 ด้าน “ความเสี่ยงของภาวะแวดล้อม” เป็นหมวดที่ไทยได้คะแนนและอันดับต่ำสุด (เช่นเดียวกับในปี 2019) โดยในปีนี้ไทยได้คะแนนลดลง 1.7 เหลือ 57.2 (อันดับ 88 ของโลก) ในหมวดนี้ คะแนนสูงสุดที่ไทยได้คือด้านความเปราะบางด้านสาธารณสุข 70.7 คะแนน (อันดับ 29) ที่เหลือความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมได้อันดับ 70 ด้านความเพียงพอของโครงสร้างพื้นฐานอันดับ 85 ความสามารถในการปรับตัวในด้านเศรษฐกิจและสังคมอันดับ 90 และที่ได้คะแนนต่ำสุดคือความเสี่ยงด้านการเมืองและความมั่นคงได้ 41.6 คะแนน (เพิ่มขึ้น 6.5 แต่ยังอยู่ที่อันดับ 149 จาก 195 ประเทศ)

รูปสุดท้ายเปรียบเทียบคะแนนของไทยกับอีก 3 ประเทศ คือ จีน เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านการตรวจและการลงทุนในด้านการตรวจโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอาจมีข้อกังขาว่าประเทศไทยมีการตรวจและรายงานที่ครอบคลุมกว่าหรือมีมาตรการป้องกันและสืบสวนโรคที่ดีกว่าประเทศเหล่านั้นจริงหรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีข้อควรสังเกตอีกบางประการ เช่น

1.แม้ว่ารายงานครั้งที่สองนี้จะมีการปรับดัชนีต่าง ๆ ไปบ้างหลังจากการระบาดของโควิด-19 (ในช่วงสิงหาคม 2563 – มิถุนายน 2564 ซึ่งข้อมูลที่ใช้จึงเป็นข้อมูลที่รวบรวมมาก่อนหรือภายในเดือนมิถุนายน 2564) กรอบของการเปรียบเทียบของดัชนีนี้ยังสนใจภาพรวมที่กว้างกว่าโควิด-19 ซึ่งแม้ว่าหลายตัวแปรจะเกี่ยวข้องกันและคงสะท้อนภาพในช่วงโควิดได้มากพอสมควร (เช่น ประเทศหรือพื้นที่ที่เคยมีปัญหาการฉีดวัคซีนโรคหัดก็มักจะมีปัญหาการยอมรับวัคซีนโควิด-19 เช่นกัน)

2.แม้ว่าดัชนีชุดนี้ใช้ตัวแปรมากกว่าอีกหลายดัชนี (ใช้ตัวแปร 171 ตัวในปี 2021) แต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีข้อจำกัดในการเลือกใช้ตัวแปรที่มีความเป็นวัตถุวิสัย (objective) หรือ update ข้อมูลดัชนีต่าง ๆ พอสมควร

จะเห็นได้ว่าค่าดัชนีหลายกลุ่มย่อยในแต่ละหมวดในปี 2021 ของไทยไม่ได้เปลี่ยนไปจากค่าเมื่อสองปีก่อนในปี 2019 ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากดัชนีจำนวนมากหรือส่วนใหญ่มี “ความหยาบ” ที่เสนอค่าจาก 0-100 ได้เพียง 4 ระดับ [0, 33.3, 66.7, 100] หรือ 5 ระดับ [0, 25, 50, 75, 100]

3.ดัชนีในบางรายการก็น่าจะยังไม่ครอบคลุมหรือแยกแยะรายละเอียดได้ดีพอ ซึ่งอาจทำให้มีเป็นสิบรายการที่ไทยได้คะแนนเต็ม 100 (อันดับ 1 หรือ 1 ร่วม) ซึ่งหลายรายการในนี้เป็นรายการที่คนไทยจำนวนมากเห็นว่ามีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นศักยภาพด้านการตรวจและการตรวจจริง ไปจนถึงการสื่อสารด้านความเสี่ยง หรือด้านการเชื่อมสาธารณสุขกับหน่วยงานด้านความมั่นคง ซึ่งการใช้ฝ่ายความมั่นคงเป็นผู้นำในการรับมือของไทยมีข้อกังขาทั้งในด้านการรับมือกับโควิดในด้านต่าง ๆ เช่น การตรวจ ติดตาม ควบคุม ป้องกัน และการกำหนดมาตรการเยียวยาที่ช่วยเสริมมาตรการควบคุมโรค และในด้านความมั่นคงเอง ตั้งแต่เรื่องชายแดนและธุรกิจสีเทาต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังที่แก้ได้จำกัดและมีส่วนสร้างปัญหาการระบาดตั้งแต่ระลอก 2 เป็นต้นมา และมีข้อกังขาว่าผู้ที่มีหน้าที่แก้ปัญหาอาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมไทยเองด้วย

ทำให้ชวนให้คิดว่า “ความสำเร็จ” ที่เราเห็นหลังการระบาดในระลอกแรกเป็นภาพลวงที่สะท้อน “ความเฮง” ที่่เกิดจากในช่วงนั้นประเทศเพื่อนบ้าน CLMV ยังมีการระบาดที่ต่ำกว่าไทยมาก แต่เมื่อประเทศเหล่านี้มีการระบาดมากขึ้น ก็เผยจุดอ่อนที่ทำให้เราประสบกับการระบาดที่รุนแรงขึ้นในระลอก 2-4

ซึ่งในประเด็นเหล่านี้ คนไทยที่อยู่ใกล้และพบปัญหาจำนวนมากคงจะไม่เห็นพ้องกับคะแนนเต็ม 100 ในหลายรายการเหล่านั้น ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจาก “ความหยาบของดัชนี” ที่หลายตัวอาจมีแค่ 5 ระดับ (คือ 0, 25, 50, 75 และ 100) ด้วย

ในทางกลับกัน รายการที่ไทยได้คะแนนเป็น 0 เช่น ในด้านการออกมาตรการปิดกั้นการค้าและการเดินทางที่แรงเกินไปหรือทำโดยฝ่ายเดียว ที่คะแนนของไทยถูกปรับลดลงจาก 75 เหลือ 0 (เป็นอันดับต่ำสุดคือ 171 ร่วม) ซึ่งแม้จะมีมูลอยู่บ้างพอสมควร  แต่ก็คงสะท้อนข้อจำกัด หรือ “ความหยาบ” ของดัชนีที่ใช้เช่นเดียวกัน

สรุปแล้ว รายงานนี้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าประเทศทั่วทั้งโลก (ตั้งแต่สหรัฐอเมริกาลงมา) สอบตกในด้านการรับมือกับโควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับที่รายงานได้แสดงความกังวลเอาไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2019 ว่า “ไม่มีประเทศไหนที่พร้อมจริง ๆ ในทุกด้านในการรับมือกับโรคระบาดในอนาคต” ซึ่งมียอดป่วย/ตายของ 13 อันดับแรกของปี 2019 เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ (รวมทั้งของไทยที่มีผู้ติดเชื้อไปแล้วกว่า 2 ล้านคน (หรือร้อยละ 3 ของประชากร) และมีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 20,000 คน) ในการจัดอันดับครั้งนี้ที่แทบทุกประเทศได้คะแนนต่ำลง ก็ยิ่งตอกย้ำถึงปัญหาในปัจจุบันที่ผู้จัดอันดับชี้ไว้เหมือนเดิม (ในรูปที่ 2) ว่า “ไม่มีประเทศไหนที่พร้อมจริงๆ ในทุกด้านในการรับมือกับโรคระบาดในอนาคต” (โดยไม่มีประเทศไหนที่ได้คะแนนเกิน 80 จาก 100 ในทุกด้านเลย)

แม้ว่ารายงานปีนี้จะตระหนักว่า หลายประเทศได้ขยายศักยภาพในด้านต่าง ๆ เพื่อรับมือกับการระบาดของโควิด-19 แต่ก็ชี้ด้วยว่าส่วนใหญ่ยังเป็นมาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจากโควิด-19

ทำให้ “ทุกประเทศยังขาดความพร้อมในระดับที่อันตรายในการรับมือกับการระบาดในอนาคต” (All countries remain dangerously unprepared for meeting future epidemic and pandemic threats.”) 

ที่น่าสนใจคือรายงานนี้ให้ความสำคัญกับการที่ประเทศมีแผน นโยบาย กฎระเบียบ และมาตรการที่ออกมาสำหรับการดำเนินการในระยะยาว (นอกเหนือจากมาตรการเฉพาะหน้า) ด้วย ซึ่งไทยก็ได้รับเครดิตในด้านเหล่านี้ด้วย เช่นในหมวดที่ 3 “การรับมือ/ตอบสนองอย่างรวดเร็ว” ที่ไทยได้คะแนนเต็ม 100 ในด้านการวางแผนรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน  ถึงแม้ว่าแผนเหล่านั้นอาจไม่ได้ส่งผลในทางปฏิบัติมากนัก โดยจะเห็นได้จากไทยได้คะแนนด้านการปฏิบัติตามแผนอยู่ในระดับต่ำเพียง 25 จาก 100 ทั้งในปี 2019 และยังคงที่อยู่ในระดับต่ำในปี 2021 นี้ 

ในแง่หนึ่ง รายงานนี้เป็นรายงานที่ออกมาช่วยวัดความมั่นคงด้านสุขภาพของเรา รวมทั้งการวางแผนในการรับมือกับการระบาดในอนาคต  ซึ่งถ้าเรานำไปศึกษาและปรับปรุงก็จะช่วยให้เรามีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ให้พร้อมที่จะรับมือกับโรคอุบัติใหม่ได้ดีขึ้นในอนาคต  แต่รายงานนี้อาจจะไม่มีประโยชน์เท่าที่ควรถ้าเรามัวแต่หลงใหลได้ปลื้มไปกับ “อันดับ” ที่ถึงแม้ว่าจะเป็นอันดับต้นๆ แต่ก็ยังเป็นอันดับต้นๆ ในกลุ่มของผู้ที่สอบตกยกชั้นทั่วโลก และอันดับในหลายด้านก็ยังเป็นที่กังขาว่าเราสมควรได้อันดับ 1 หรือ 100 คะแนนเต็มจริงหรือไม่

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย Covid-19 Policy Watch ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

บทความโดย ดร.วิโรจน์  ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายด้านสาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย


ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ