ข้อเสนอแนวทางการรับมือกับปัญหาการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศไทย

ปลายปี 2562 พบข่าวการตายของสุกรในฟาร์มสุกรขนาดเล็กในจังหวัดเชียงราย ซึ่งตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำรวกที่เป็นที่มาของการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever หรือ ASF) เนื่องจากผู้เลี้ยงสุกรในพม่าทิ้งซากสุกรติดเชื้อลงในแม่น้ำ และฟาร์มสุกรไทยในบริเวณดังกล่าวส่วนใหญ่นำน้ำจากแม่น้ำมาใช้ จากนั้นไม่นานการแพร่ระบาดของโรค ASF จึงได้ขยายไปสู่แหล่งเลี้ยงสุกรสำคัญในภาคเหนือทั้งเชียงใหม่และลำพูน 

เหตุที่ระยะแรกของการแพร่ระบาดไม่มีใครทราบข้อมูล เนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสุกรตัดสินใจไม่เปิดเผยข้อมูลเพราะมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมโรคได้ โดยบริษัทเอกชนรายใหญ่ได้ร่วมกันลงขันจ่ายเงินชดเชยค่าทำลายสุกรให้แก่ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย-รายเล็ก ต่อมารัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณเพื่อใช้ในการชดเชยค่าสุกรที่ถูกทำลายเพราะติดโรค ASF และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานควบคุมและป้องกันของกรมปศุสัตว์ทั้งหมด 3 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 996.9 ล้านบาท ในช่วงเดือนเมษายน 2562 ถึงกรกฎาคม 2564

แต่ปัญหาคือการควบคุมและป้องกันการระบาดของ ASF “แบบสมัครใจ” ไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เนื่องจากเชื้อไวรัส ASF สามารถติดต่อได้ง่ายโดยอาศัยพาหะอย่างแมลงวัน คนงานในฟาร์มสุกร รถขนส่งสุกร และโรงฆ่าสัตว์ เมื่อไม่มีการใช้กฎหมายควบคุมการเคลื่อนย้ายและไม่มีการส่งตัวอย่างเลือดจากฟาร์มสุกรเข้าตรวจหาเชื้อ ผู้เลี้ยงบางรายจะรีบจำหน่ายสุกรที่เริ่มป่วยออกสู่ตลาด อีกทั้งรถบรรทุกขนส่งสุกร เนื้อสุกรและอาหารสัตว์ยังสามารถเดินทางไปทั่วประเทศ โรค ASF จึงเริ่มระบาดไปจังหวัดต่าง ๆ ในที่สุดช่วงต้นปี 2564 โรค ASF ก็ระบาดเข้าสู่จังหวัดในภาคตะวันตกที่เป็นแหล่งเลี้ยงสุกรใหญ่ที่สุดของประเทศรวมถึงจังหวัดในภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งที่ตั้งของฟาร์มสุกรขนาดใหญ่

ผลจากการระบาดทำให้จำนวนแม่สุกรลดลงมากกว่าครึ่งจากปี 2562 เหลือเพียง 4 – 5 แสนตัว ในปลายปี 2564 อีกทั้งฟาร์มจำนวนมากต้องหยุดการเลี้ยงสุกรโดยสิ้นเชิง มีการประมาณการว่าความสูญเสียจากการเสียชีวิตของสุกรน่าจะมีมูลค่าขั้นต่ำ 1.5 แสนล้านบาท ในปี 2564 ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ราคาเนื้อสุกรจึงพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 เป็นต้นมา สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้บริโภค

แม้ว่าหลังจากมีข่าวการระบาดของโรค ASF ในประเทศจีนไม่นาน คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรค ASF ในประเทศไทยตามที่กรมปศุสัตว์เสนอ ซึ่งแผนดังกล่าวมาจากความร่วมมือของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันและควบคุมโรคระบาดสัตว์และการวิจัยของอาจารย์ด้านสัตวแพทย์จากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย แต่น่าเสียดายว่าแผนดังกล่าวไม่ได้ถูกนำไปใช้ดำเนินการใด ๆ ยิ่งไปกว่านั้นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยราชการ หรือแม้แต่นักวิชาการต่างกลัวที่จะเปิดเผยข้อมูลการระบาดของโรค AFS ในประเทศไทย

ขณะนี้การระบาดของโรค ASF ในสุกรของไทยอยู่ในขั้นวิกฤติแล้ว หากรัฐบาลไม่เร่งลงมือแก้ไขในที่สุดอุตสาหกรรมสุกรไทยจะล่มสลาย เหลือแต่ฟาร์มของบริษัทธุรกิจยักษ์ใหญ่ไม่กี่รายที่มีทั้งทรัพยากรและความรู้ด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety and Biosecurity) คนไทยทั้งประเทศจะประสบปัญหาวิกฤติความมั่นคงด้านเนื้อสัตว์

ข้อเสนอหลักจากการประชุมปรึกษาหารือเรื่องแนวทางแก้ไขควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ที่ทีดีอาร์ไอ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญจากด้านต่าง ๆ อาทิ สัตวแพทย์ อาจารย์มหาวิทยาลัย เกษตรกรผู้เลี้ยง บริษัทเอกชน และนักวิจัยของทีดีอาร์ไอ รวม 24 คน เสนอว่า รัฐจำเป็นต้องมีนโยบาย “เปิดโรค”และ “กำหนดนโยบาย/มาตรการแก้ปัญหาโรค ASF” โดยเร่งด่วน เพื่อทำให้อุตสาหกรรมสุกรสามารถฟื้นตัวได้ในระยะกลาง

นโยบายที่สำคัญคือ การลงทุนสร้างระบบป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคที่เข้มข้น รวมถึงการพัฒนางานวิจัยด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการตรวจหา antigen และantibody การพัฒนายาและวัคซีน ฯลฯ นโยบายดังกล่าวจะทำให้อุตสาหกรรมสุกรไทยมีโอกาสกลับมาเริ่มต้นพัฒนาการเลี้ยงสุกรภายใต้ระบบความปลอดภัยด้านชีวภาพสูงสุดที่จะทำให้อุตสาหกรรมสุกรกลับมาเติบโตจนกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกเนื้อสุกรรายสำคัญได้ในระยะยาว ผู้เลี้ยงสุกรทุกขนาดจะมีรายได้สูงขึ้นอย่างยั่งยืน 

ข้อเสนอหลักสามารถแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ดังนี้

ข้อเสนอที่ (1) รัฐบาลกับผู้เกี่ยวข้องต้องร่วมกันดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อควบคุมการระบาดของโรค ASF และมีมาตรการป้องกันมิให้เกิดการระบาดซ้ำในพื้นที่เดิม หรือการแพร่ระบาดไปยังพื้นที่อื่น ๆ

1.1 การจัดทำแผนงานการกำจัดหรือการอยู่กับโรค ASF รวมทั้งการควบคุมและป้องกันการระบาด 

1.2 การจัดข้อมูล องค์ความรู้ด้านความเสี่ยง และความปลอดภัยทางชีวภาพที่ถูกต้องเหมาะสมกับห่วงโซ่อุปทานของสุกรในประเทศไทย รวมทั้งการสื่อสารประชาสัมพันธ์อย่างโปร่งใส 

1.3 การขึ้นทะเบียนฟาร์ม/ ปรับปรุงทะเบียนฟาร์ม จำนวนสัตว์ การควบคุมการเคลื่อนย้าย การฆ่า และการแปรรูปให้มีประสิทธิภาพและถูกต้องมากที่สุด

1.4 การสำรวจโรคและตรวจสอบโรคด้วยวิธีที่เหมาะสม ไม่แพงและรวดเร็ว

1.5 การชดเชยการทำลายสุกรแก่ผู้เลี้ยงสุกรอย่างเป็นธรรม และพัฒนาระบบประกันสุขภาพสัตว์ที่มีอัตราการคุ้มครองที่เหมาะสมร่วมกับภาคเอกชน

1.6 รัฐสนับสนุนงบประมาณวิจัยด้านการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค รวมทั้งมาตรการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพตลอดห่วงโซ่อุปทาน

1.7 การกำหนดมาตรการแรงจูงใจเพื่อให้ฝ่ายต่าง ๆ สามารถดำเนินการตามแผนงานอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ

1.8 การกำหนดมาตรการนำเข้าเนื้อสุกรเป็นการชั่วคราว โดยมีมาตรการป้องกัน (safeguard measures) ที่สอดคล้องกับมาตรา 19 ของ GATT 1994 หรือมาตรการอื่นเพื่อป้องกันความเสียหายต่อผู้เลี้ยงสุกรในระยะยาว รัฐบาลอาจกำหนดให้มีการนำภาษีนำเข้าบางส่วนมาใช้เป็นเงินชดเชยการทำลายสุกร

ข้อเสนอที่ (2) การลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานความปลอดภัยทางชีวภาพ และกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่จำเป็นต้องมีอย่างชัดเจน

2.1 โรงฆ่าสัตว์และโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ต้องมีห้องปฏิบัติการตรวจโรคที่รวดเร็ว 
และการลงทุนดังกล่าวควรได้รับเงินอุดหนุนบางส่วนจากรัฐ 

2.2 รัฐบาลต้องลงทุนในโรงกำจัดซากทั้งที่เป็นโรคและไม่เป็นโรคเหมือนในต่างประเทศ

2.3 รัฐบาลต้องจัดตั้งกองทุนชดเชยการทำลายสุกร และระบบประกันภัยโรคสัตว์ 
โดยร่วมมือกับสมาคมประกันวินาศภัย มีการจัดตั้งกองทุนชดเชยผู้เลี้ยงสุกรโดยอาศัยเงินค่าธรรมเนียมจากผู้เลี้ยงสุกรในอัตราที่เหมาะสมตามขนาดของฟาร์ม นอกจากนั้น รัฐควรพิจารณาสนับสนุนและส่งเสริมให้มีระบบประกันภัยโรคสัตว์โดยภาคเอกชน ระบบประกันภัยที่จะรับมือกับโรคระบาดลักษณะนี้ควรประกอบด้วยการประกันสองชั้น ชั้นแรกคือการประกันวินาศภัยโดยภาคเอกชนตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยและการกระจายความเสี่ยง  และชั้นที่สองเป็นการประกันภัยโดยภาครัฐในกรณีที่เกิดโรคระบาดร้ายแรงจนอาจทำให้ระบบประกันภัยเอกชนล้มละลาย

2.4 การจัดตั้งทีมงานเพื่อปฏิบัติงานที่เร่งด่วนและมีประสิทธิภาพ 3 ด้าน ได้แก่ 
(1) การตั้งทีมงานที่เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้เลี้ยงสุกรเพื่อจ่ายเงินเยียวยาและให้ความช่วยเหลือด้านการฟื้นฟูหลังเกิดโรค (2) จัดตั้งทีมงานสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่อาศัยนักสื่อสารมวลชนมืออาชีพ (3) ตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐ (กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง) สมาคมประกันวินาศภัย และนักวิชาการเพื่อสร้างกรมธรรม์ประกันภัยโรคสุกร

2.5 การกำหนดนโยบายให้ห้องปฏิบัติการชันสูตรโรคสัตว์ของมหาวิทยาลัยมีความเป็นอิสระทางวิชาการ (Academic Freedom) และต้องเปิดเผยผลการตรวจโรคต่อเจ้าของสัตว์และต่อสาธารณะ โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือความเห็นจากภาครัฐ แต่ต้องรายงานให้ทางหน่วยงานรัฐทราบในกรณีเป็นโรคระบาดในสัตว์

ข้อเสนอที่ (3) การกำหนดยุทธศาสตร์และเส้นทาง (road map) สู่การปลอดโรค 
โดยการศึกษาตัวอย่างการดำเนินงานของประเทศที่ประสบปัญหา ASF มาก่อน เช่น สเปน จีน เวียดนาม เป็นต้น ตัวอย่างเช่น ในระยะแรกอาจมีเขตเลี้ยงสุกรที่ปลอดโรค (AFS Free Compartment) หรือฟาร์มปลอดโรค (ASF Free Farm) กับเขตที่ไม่ปลอดโรค แล้วค่อยขยายเขตปลอดโรคไปยังพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโรค ASF จนปลอดโรคจริง ๆ เป็นต้น

ข้อเสนอที่ (4) รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อเสนอแนะแนวทางและมาตรการในการดำเนินงานตามข้อเสนอทั้งสามข้อข้างต้น โดยคณะกรรมการดังกล่าวต้องมีอิสระในการดำเนินงาน มีการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล (good governance) ได้รับการสนับสนุนทั้งทรัพยากรและอำนาจตามกฎหมายจากรัฐบาล คณะกรรมการชุดนี้ควรประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้เลี้ยงสุกร นักวิชาการด้านต่าง ๆ และสื่อมวลชน นอกจากนั้น คณะกรรมการควรมีอำนาจแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ เพื่อพิจารณาจัดทำข้อเสนอในข้อดังที่กล่าวมาข้างต้น

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมที่ประกอบด้วยเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่เป็นผู้บริหารสหกรณ์ นักวิชาการด้านสัตวแพทย์และเศรษฐศาสตร์  อดีตผู้บริหารภาครัฐ และภาคเอกชน หวังว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสุกร และประชาชนผู้บริโภคเนื้อสุกรและนักการเมือง ที่เห็นด้วยกับข้อเสนอของเรา จะช่วยกันผลักดันให้รัฐเร่งดำเนินการตามข้อเสนอข้างต้น

บทความโดย ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ผู้อำนวยการวิจัย ด้านศึกษาการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ และนโยบายเกษตรสมัยใหม่ ทีดีอาร์ไอ ศาสตราจารย์ (กิตติคุณ) อรรณพ คุณาวงษ์กฤต อดีตคณบดี คณะสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ อุไรรัตน์ จันทรศิริ นักวิจัยอาวุโส นโยบายการกำกับดูแลที่ดี (Good Regulatory Policy) ทีดีอาร์ไอ


ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ