ผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา-ไม่ใช่ผู้ลี้ภัย?

ช่วงกลางธันวาคมก่อนปีใหม่ มีการปะทะกันระหว่างทหารรัฐบาลเมียนมากับกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) ทั้ง 2 ฝ่ายใช้อาวุธปืนและระเบิดถล่มใส่กันหลายครั้ง ซึ่งการสู้รบดังกล่าวเริ่มรุนแรงขึ้นหลังสิ้นฤดูฝน โดยเฉพาะพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงชายแดนด้านเมียวดี อ.แม่สอด จ.ตาก และมีกระสุนอาวุธหนักตกเข้ามาฝั่งไทยในพื้นที่ บ.ดอนไชย น่าน และบ.แม่หละ จ.ตาก ทำให้ชาวเมียนมาเชื้อสายกะเหรี่ยงต้องอพยพหนีภัยจากการสู้รบสี่พันกว่าคนเข้ามาอยู่ในพื้นที่ชายแดนตรงข้าม อ.แม่สอด และกองกำลังป้องกันชายแดนทหาร ตำรวจไทยได้เข้าควบคุมสถานการณ์ด้วยการแจ้งเตือนผ่านกลไกชายแดนและตอบโต้ด้วยกระสุนควัน และร่วมกับฝ่ายปกครองดูแลอพยพคนไทยในพื้นที่เสี่ยงออกไปยังที่ปลอดภัย

การสู้รบระหว่างทหารรัฐบาลเมียนมากับกองกำลังชนกลุ่มน้อยและการหลบหนีภัยการสู้รบชายแดนเข้าชายแดนไทยเกิดขึ้นมากว่า 40 ปีแล้ว ตั้งแต่ประมาณปี 2523 โดยในระยะแรกรัฐบาลไทยห้ามผู้อพยพมิให้ดำเนินการใดๆ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลเมียนมาและให้มีการควบคุมและติดตามความเคลื่อนไหว แต่เนื่องจากพื้นที่ชายแดนเต็มไปด้วยเขตป่าทึบและเทือกเขา ทำให้ผู้หนีภัยฯสามารถเล็ดลอดเข้ามาได้ง่าย ฝ่ายไทยเองไม่มีเจ้าหน้าที่เพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้มีการอพยพเข้ามาในเขตไทย

ถึงแม้จะมีการจับกุมและส่งกลับไปแต่คนเหล่านี้ก็กลับมาอีก ยิ่งกว่านั้นหมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์ฝั่งชายแดนไทยก็มีความผูกพันทางชาติพันธุ์หรือเครือญาติกับผู้หนีภัยฯ ดังนั้น ผู้หนีภัยฯจึงมักจะมาขอพักอาศัย ขอความช่วยเหลือเป็นการชั่วคราว และอพยพกลับเมื่อเหตุการณ์การปะทะกันสงบลง อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยได้ถือหลักการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ที่หนีภัยสงคราม และตั้ง “ศูนย์แรกรับ” ขึ้นในบริเวณชายแดนกาญจนบุรี ราชบุรี ตาก เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน โดยมีองค์กรเอกชนระหว่างประเทศเข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านปัจจัยสี่แก่ผู้หนีภัยเหล่านี้

ต่อมามีการตั้ง “พื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยการสู้รบจาก เมียนมา” เพิ่ม ซึ่งองค์กรที่ทำงานในพื้นที่ดังกล่าวและผู้หนีภัยจะเรียกกันเองว่า refugee camp หรือค่ายผู้ลี้ภัย ในปัจจุบันเหลือศูนย์หลักๆ 9 ศูนย์ ที่ใหญ่ที่สุดคือ ที่บ้านแม่หละ อ.ท่าสองยาง ตากมีผู้หนีภัยฯอาศัยอยู่ประมาณ 4 หมื่นคน และ เล็กที่สุด ที่บ้านต้นยาง อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ประมาณ 3,400 คน และ บ้านแม่สุริน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน จำนวนประมาณ 3,600 คน

กระทรวงมหาดไทยเริ่มมีการรวบรวมข้อมูลผู้หนีภัยฯโดยการจดทะเบียนผู้หนีภัยฯที่อยู่ในศูนย์ตั้งแต่ปี 2542 แต่ได้ข้อมูลจำกัด จนปลายปี 2547 จึงได้ร่วมมือกับ UNHCR (United Nations Commission for Refugees) สำรวจจดทะเบียนใหม่ รวมจำนวนผู้ลี้ภัย (รวมPOC) ณ เมษายน 2548 จำนวน 139,990 คน เท่ากับในปี 2555 ที่ประมาณว่ามีผู้หนีภัยฯ 140,000 คน ในจำนวนนี้มีเพียงร้อยละ 60 ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับศูนย์อย่างถูกต้อง ในปี 2558 สำรวจพบว่าประชากรในศูนย์ มีจำนวนลดลง คือ มีเพียง 109,035 คน (ในปี 2560 สภาความมั่นคงแห่งชาติให้ตัวเลข 66,390 คน และในปี 2564 นายกรัฐมนตรีบอกว่ามีผู้หนีภัยฯ 9 หมื่นคน) อย่างไรก็ดี จำนวนผู้หนีภัยฯและ ผู้แสวงหาที่พักพิงในศูนย์พักพิงฯ มีจำนวนที่แตกต่างกันในบัญชีของ UNHCR กระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบของฝ่ายไทย และ The Border Consortium (TBC เดิมคือ TBBC: Thai-Burma Border Consortium) กลุ่มพันธมิตรของ 10 องค์กรเอกชนระหว่างประเทศที่ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารปันส่วน และที่อยู่อาศัย)

ในด้านการหลบภัย ย้อนหลังไปเมื่อ 14 ธันวาคม ผู้หนีภัยจากการสู้รบที่อยู่มาก่อนในศูนย์พักพิงฯบ้านแม่หละ ต.แม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ได้ชุมนุมประท้วงเจ้าหน้าที่ อส.ในศูนย์พักพิงฯที่ทำร้ายร่างกายผู้หนีภัยฯ 4 คนได้รับบาดเจ็บ ส่งผลให้ผู้หนีภัยฯทั้งหมดไม่พอใจและออกมาชุมนุม มีการเคาะภาชนะ และไม้ไผ่แสดงความไม่พอใจต่อเจ้าหน้าที่ และก่อนหน้านี้ เมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ศูนย์แห่งนี้ก็เพิ่งเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่พักผู้หนีภัยฯกว่า 100 หลังคาเรือน สะท้อนให้เห็นว่าศูนย์พักพิงก็ไม่ค่อยน่าอยู่เท่าใดนัก

ผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา เป็นผู้ลี้ภัยหรือไม่

คำว่าผู้ลี้ภัย ในภาษาอังกฤษมีใช้อยู่ 4 คำ คือ Refugee (ผู้ลี้ภัย) Asylum seeker (ผู้ขอลี้ภัย) Asylee (ผู้ลี้ภัยรวมผู้ขอลี้ภัย) และ people of concerns (รวมคนพลัดถิ่นทุกประเภท)

ตามมาตรา 1 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 ของสหประชาชาติ (Convention Relating to the Status of Refugees 1951) ผู้ลี้ภัยหมายถึง บุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเองเนื่องจากความหวาดกลัวอันมีมูลว่าจะถูกประหัตประหารไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ ความคิดเห็นทางการเมือง หรือการเป็นสมาชิกในกลุ่มสังคมเฉพาะ โดยตามมาตรา 33 ของอนุสัญญา ผู้ลี้ภัยจะได้รับความคุ้มครองโดยไม่ส่งกลับไปประเทศต้นทางตามหลักการของการไม่ส่งกลับ (non-refoulement) ยกเว้นผู้ลี้ภัยที่ถูกพบว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศที่เข้าไปอยู่ ทั้งนี้ รัฐที่ปฏิบัติตามหลัก Non-Refoulement นั้นไม่จำเป็นที่จะต้องให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่ผู้ขอลี้ภัย

Asylum seeker ผู้ขอลี้ภัย ต่างกับผู้ลี้ภัยตรงที่ผู้ขอลี้ภัยยังไม่ได้มีการรับรองสถานะผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494

Asylee เป็นคำที่ใช้โดยกระทรวง Homeland Security ของสหรัฐหมายความรวมๆ ถึงผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัย

Persons of concerns to UNHCR (POC) หมายถึง คนพลัดถิ่นที่ UNHCR เป็นกังวล อาทิ ผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัย ผู้กลับมาตุภูมิ บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ และคนพลัดถิ่นในประเทศ (ตามกฎหมายเข้าเมืองของไทย POC มีสถานะเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย)

สำหรับการรับรองสถานะผู้ลี้ภัยนั้น แต่ละประเทศที่ให้สัตยาบันฯจะมีระบบการขอลี้ภัย ยกเว้นในกรณีของการมีผู้ลี้ภัยเป็นจำนวนมากเช่นกรณีเกิดสงครามกลางเมืองหรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ซึ่งทำให้ไม่สามารถคัดกรองผู้ขอลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัยดังกล่าวนับเป็น “ผู้ลี้ภัยที่มีหลักฐานชัดเจน (prima facie refugees)” ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้มีการบริหารจัดการสำหรับศูนย์พักพิงฯ โดยมีคณะกรรมการพิจารณาสถานภาพผู้หนีภัยระดับจังหวัด (Provincial Admission Board) ที่มีการจัดตั้งศูนย์พักพิงฯอยู่นั้นเข้ามาทำการประเมินสถานะผู้ขอลี้ภัยจากเมียนมาก่อนที่จะทำการขึ้นทะเบียนผู้หนีภัยฯอย่างเป็นทางการเพื่ออาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงฯได้ กระทรวงมหาดไทยและคณะกรรมการศูนย์เป็นหน่วยงานที่ดูแลและจัดการค่าย

ทั้งนี้ องค์กรเอกชนและหน่วยงานในระดับชุมชนได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านอาหาร ที่พัก ยารักษาโรคและการศึกษาแก่ผู้หนีภัยฯ ตั้งแต่ปี 2562 รัฐบาลไทยได้ออกระเบียบการจัดการผู้หนีภัยฯใหม่ แต่บทเฉพาะกาลกำหนดว่าการพิจารณาให้สถานะผู้ได้รับความคุ้มครองก่อนวันที่ระเบียบบังคับใช้ให้คำนึงผลการพิจารณาของ UNHCR

เนื่องจากประเทศไทยมิได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 ซึ่งหมายถึงว่า ประเทศไทยไม่ยอมรับว่ามีผู้ลี้ภัยอยู่ในประเทศตนเอง

ดังนั้น ก่อนปี 2562 รัฐบาลไทยเรียกคนเหล่านี้ว่า “ผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา (ผภร.) หรือ Displaced persons (คนพลัดถิ่น)” ซึ่งตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนตามหลักสากลในการรับผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา ให้เข้ามาอยู่ในศูนย์พักพิงฯตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาในแม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี โดยได้ให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร ที่พักอาศัย บริการสุขภาพ การศึกษาและการฝึกอบรม

สำหรับคำว่า “ผู้ลี้ภัย” เป็นคำที่เรียกกันเองตามที่ผู้หนีภัยฯและอาศัยในศูนย์พักพิงฯเรียกตนเองและ UNHCR ก็เรียกคนเหล่านี้ว่าผู้ลี้ภัยเช่นเดียวกัน และนักวิจัยบางคนก็ใช้คำว่าผู้ลี้ภัย แต่รัฐบาลไทยไม่ยอมรับและปฏิเสธการปฏิบัติการใดๆ ที่มีผลผูกพันถึงการให้สิทธิต่างๆ ของผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญาฯ ดังกล่าว แต่ก็ได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม กล่าวคือการให้อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค การศึกษา พอเพียงแก่การดำรงชีพ

เมื่อ 25 ธันวาคม 2562 รัฐบาลได้ออก “ระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ.2562” ซึ่งระเบียบดังกล่าวก็ไม่ใช้คำว่าผู้ลี้ภัยแต่ใช้คำว่า “ผู้ได้รับการคุ้มครอง” และคำว่าผู้ขอลี้ภัยใช้คำว่า “ผู้อยู่ระหว่างคัดกรองสถานะ” และได้ตั้ง “คณะกรรมการพิจารณาคัดกรองผู้ได้รับความคุ้มครอง” โดยมีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน โดยหน้าที่หลักของคณะกรรมการคือ “กำหนดหลักเกณฑ์และพิจารณาคัดกรองคนต่างด้าวเพื่อให้สถานะเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง และส่งเรื่องไปดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามระเบียบนี้ รวมทั้งพิจารณาอุทธรณ์การยกคำร้องขอรับสิทธิเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง”

ครับ ใครอยากเรียกผู้ลี้ภัยก็เรียกไป แต่รัฐบาลไทยไม่ยอมรับเท่านั้นเอง


เขียนเรื่องนี้ไปเมื่อ 7 มกราคม มีท่านผู้อ่านสนใจถามไปว่ารัฐบาลไทยให้ความช่วยเหลืออะไรกับ “ผู้หนีภัยฯ” บ้าง และทำไมรัฐบาลไทยไม่ยอมรับว่าผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมาเป็นผู้ลี้ภัย ขออนุญาตตอบสั้นๆ ซึ่งสำหรับคำถามหลังก็ได้บอกแล้วว่าเป็นเพราะไทยไม่ได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 (Convention Relating to the Status of Refugees 1951) (ขอเรียกสั้นๆ ว่าอนุสัญญาผู้ลี้ภัย)

และขอเพิ่มเติมว่า นอกจากอนุสัญญาผู้ลี้ภัยแล้ว อีกเงื่อนไขหนึ่งคือเป็นเพราะไทยไม่ได้เข้าร่วมภาคยานุวัติพิธีสารเกี่ยวกับสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1967 (Protocol Relating to The Refugee Status 1967) ด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากอนุสัญญาผู้ลี้ภัยมีข้อจำกัดสำคัญสองประการ ได้แก่ (1) ข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์ เนื่องจากผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญาฯจะต้องเป็นผู้ลี้ภัยจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในทวีปยุโรป และ (2) ข้อจำกัดด้านเวลา เนื่องจากเหตุการณ์ที่จะทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญาฯนี้ได้ ต้องเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2494 คือเมื่อจบสงครามโลกใหม่ๆ

จากข้อจำกัดดังกล่าว ทำให้ผู้ที่มีเหตุแห่งการลี้ภัยเกิดขึ้นหลัง 1 มกราคม พ.ศ.2474 และนอกยุโรปไม่สามารถใช้ประโยชน์จากอนุสัญญาฯฉบับนี้ได้ จึงได้มีการตราพิธีสารเกี่ยวกับสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ.2510 ขึ้นเพื่อยกเลิกข้อจำกัดของอนุสัญญาฯดังกล่าว โดยถือว่าประเทศที่เข้าร่วมพิธีสารเกี่ยวกับสถานภาพผู้ลี้ภัย 1967 ยอมรับอนุสัญญาผู้ลี้ภัย คือถ้าไม่ร่วมพิธีสารนี้ถือว่าอนุสัญญาผู้ลี้ภัยไม่มีผลบังคับใช้ (กฤษฎีกาฯ 2017)

สำหรับความช่วยเหลือที่ผ่านมาของรัฐบาล ขอตอบย่อๆ ว่าตลอดเวลาเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน ตามหลักสากลในการรับผู้หนีภัยจากการสู้รบจากเมียนมาให้เข้ามาอยู่ในค่ายพักพิงตามแนวชายแดนไทย-พม่าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี จำนวน 9 แห่งหลักๆ โดยได้ให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร ที่พักอาศัย บริการสุขภาพ การศึกษา และการฝึกอบรม พอเพียงแก่การดำรงชีพเท่าที่หน่วยงานต่างๆ ของไทยจัดสรรให้ เช่น ข้าวสารคนละ 8 กิโลกรัม ที่อยู่อาศัยเป็นสิ่งก่อสร้างแบบไม่ถาวร เป็นวัสดุธรรมชาติหลังคามุงด้วยใบตองตึง บางแห่งคลุมทับด้วยพลาสติกสีดำ ตัวบ้านสร้างด้วยไม้ไผ่ เครื่องนุ่งห่มได้จากการบริจาค เช่นเดียวกับยาและการศึกษา เป็นไปตามการจัดสรรของหน่วยงานภายนอก ผู้ลี้ภัยจะไม่สามารถออกนอกพื้นที่ค่ายได้นอกจากจะได้รับอนุญาตจากปลัดอำเภอก่อน บางคนอาจจะหลบหนีไปโดยไม่ได้ขออนุญาตก็จะถูกจับกุมข้อหาเป็นผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522) (กสม. 2559)

สำหรับคำถามหลัง ทำไมรัฐบาลไทยไม่ยอมเข้าร่วมภาคีอนุสัญญาผู้ลี้ภัยและพิธีสารดังกล่าว

 ผู้เขียนคิดว่าเหตุผลหลักคือ รัฐบาลไทยไม่อยากแบกรับภาระและเงื่อนไขการดูแล “ผู้ลี้ภัย” ตามกฎ กติกา มารยาท ที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาผู้ลี้ภัย รวมทั้งหลักการไม่ผลักดันกลับสู่อันตราย (ทางการเมือง) และภาระในการคัดเลือกผู้หนีภัยที่มีคุณสมบัติและการประสานงานกับประเทศที่สามที่จะส่งไป

ภาระที่ว่าประกอบด้วย 1) ภาระตามอนุสัญญาผู้ลี้ภัย และ 2) ภาระ อื่นๆ ทางสังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคงและการเมืองของรัฐบาลไทย

อนุสัญญาผู้ลี้ภัยมี 46 มาตรา มีหลายมาตราที่ผูกมัดรัฐบาลเจ้าบ้านแต่ขอยกเฉพาะบางตัวอย่างเช่น มาตราที่เกี่ยวกับแรงงาน (ตัวเอนในวงเล็บท้ายมาตราเป็นข้อสังเกตของผู้เขียน) เช่น

มาตรา 15 สิทธิในการสมาคม-ในการเข้าร่วมสมาคมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองและไม่แสวงผลกำไร รวมถึงสหภาพแรงงาน ให้รัฐภาคีปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยที่อยู่ในอาณาเขตของรัฐตนโดยชอบด้วยกฎหมาย อย่างเป็นคุณที่สุด เสมือนที่ปฏิบัติต่อบุคคลสัญชาติของรัฐตนในสถานการณ์เดียวกัน

(ไทยยังไม่ได้ร่วมอนุสัญญา ILO 87 และ 98 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง ดังนั้น ผู้ลี้ภัยย่อมไม่มีสิทธิแต่อย่างใด)

มาตรา 17 การรับจ้างเพื่อค่าแรง 1.รัฐภาคีต้องปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยที่พำนักอยู่ในอาณาเขตรัฐตนโดยชอบด้วยกฎหมายอย่างเป็นคุณที่สุดเสมือนกับที่ปฏิบัติต่อบุคคลสัญชาติรัฐของตนในสถานการณ์เช่นเดียวกัน ในเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิในการประกอบอาชีพรับจ้างเพื่อค่าแรง

2. ……3.รัฐภาคีต้องคำนึงอย่างเมตตาต่อการปรับสิทธิของผู้ลี้ภัยที่เกี่ยวกับการรับจ้างเพื่อค่าแรงให้เท่าเทียมกับบุคคลสัญชาติของรัฐตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ลี้ภัยที่เข้ามาในอาณาเขตรัฐตนผ่านโครงการรับสมัครแรงงานหรือคนเข้าเมือง

(ในมาตราที่ 17 นี้ ประการแรกคำว่า “ผู้ลี้ภัยที่พำนักอยู่ในอาณาเขตรัฐตนโดยชอบด้วยกฎหมาย” จะต้องมีการคัดกรองและเป็นที่ยอมรับ ซึ่งในทางปฏิบัติการให้สถานะ “ผู้ลี้ภัย” มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ ประการที่สอง ไทยมีกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายการทำงานของคนต่างด้าว มีการทำความตกลงกับประเทศต้นทาง มีการบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมือง มีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว มีการตรวจโรคและประกันสังคม มีการกำหนดงานที่ห้ามทำ ฯลฯ ผู้ลี้ภัยจึงไม่ควรมีอภิสิทธิ์เหนือแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยถูกกฎหมายด้วยช่องทางอื่นๆ)

มาตรา 18 การประกอบธุรกิจส่วนตัวรัฐภาคีจะต้องปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยที่อยู่ในอาณาเขตของรัฐตนโดยชอบด้วยกฎหมายอย่างเป็นคุณเท่าที่เป็นได้ และไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ต้องไม่ด้อยกว่าที่ปฏิบัติต่อคนต่างด้าวอื่นๆ ในสถานการณ์เช่นเดียวกัน ในกรณีที่เกี่ยวกับสิทธิในการประกอบเกษตรกรรม อุตสาหกรรม หัตถกรรม การพาณิชย์ และการจัดตั้งบริษัทการค้าหรืออุตสาหกรรมของตน (ประการแรก “คนต่างด้าวอื่นๆ ในสถานการณ์เช่นเดียวกัน” หมายความถึงใคร เพราะคนอื่นๆ ที่จะสามารถเข้ามาประกอบอาชีพในประเทศไทยได้ ต้องเป็นไปตามข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ เช่น WTO/GATS (General Agreement on Trade in Services) หรือ AEC (ASEAN Economic Community), AFAS (ASEAN Framework Agreement on Services) และ MRA (Mutual Recognition Agreement) ดังนั้น ถ้าผู้ลี้ภัยมาจากประเทศที่ไม่มีความตกลงดังกล่าว ย่อมไม่มีอภิสิทธิ์เท่าเทียมคนต่างด้าวที่เข้ามาประกอบธุรกิจตามข้อตกลงทางการค้า)

มาตรา 24 กฎหมายว่าด้วยแรงงานและประกันสังคม 1.รัฐภาคีจะต้องปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยที่อยู่ในอาณาเขตของรัฐตนโดยชอบด้วยกฎหมาย เสมือนกับที่ปฏิบัติต่อบุคคลสัญชาติรัฐของตน ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเด็นต่างๆ ต่อไปนี้

(ข) ประกันสังคม (…การบาดเจ็บจากการประกอบอาชีพ โรคต่างๆ อันเกิดจากการประกอบอาชีพ การตั้งครรภ์ การเจ็บป่วย การทุพพลภาพ ชราภาพ การว่างงาน ภาระหน้าที่ต่อครอบครัว และการจัดการชั่วคราวอื่นๆ ที่ประกันสังคมให้การคุ้มครอง ตามที่กฎหมายภายในรัฐกำหนด) …

2.สิทธิในการได้รับการชดเชยจากการเสียชีวิตของผู้ลี้ภัยโดยมีเหตุมาจากการบาดเจ็บระหว่างประกอบอาชีพ หรือจากโรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพ ต้องไม่ได้รับผลกระทบด้วยเหตุที่ผู้รับประโยชน์จากสิทธินั้นอาศัยอยู่นอกอาณาเขตรัฐภาคี

(สิทธิประโยชน์บางประการที่คนไทยได้รับแต่แรงงานต่างด้าวทั่วไปไม่ได้ เช่น กรณีชราภาพ เนื่องจากยากต่อการปฏิบัติและติดตาม ในขณะที่กรณีว่างงานอาจจะขัดกับเงื่อนไขการที่แรงงานต่างด้าวขออนุญาตทำงานว่าต้องมีนายจ้างยกเว้นกรณีโควิด-19 ส่วนการชดเชยการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการประกอบอาชีพนั้น แรงงานไทยจะได้รับการคุ้มครองจากกองทุนทดแทนซึ่งมีนายจ้าง (ไทย) เป็นผู้จ่ายเงินสมทบ ดังนั้น มาตรานี้จึงไม่เหมาะกับผู้ลี้ภัย)

ยังมีมาตราอื่นๆ อีกที่มีปัญหาการตีความและการกำหนดให้เป็นภาระของรัฐบาลเจ้าบ้าน

สำหรับภาระด้านอื่นๆ เคยมีผู้ให้ข้อสังเกตว่า ศูนย์พักพิงฯหรือ “แคมป์ผู้อพยพ” 9 แห่งที่กระจายอยู่ใน 4 จังหวัดชายแดนไทย-เมียนมา คือ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และราชบุรี มีสภาพไร้การควบคุม และไม่มีใครสนใจ การเจรจาส่งคนเหล่านี้กลับประเทศไม่มีความคืบหน้า และเมื่อมีการสู้รบก็จะมีคนทะลักเข้ามาเรื่อยๆ ส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อย

สภาพของศูนย์พักพิงฯกลายเป็นแหล่งทำมาหากินของบางกลุ่ม บางหน่วยงาน ทั้งขายข้าว ขายน้ำ บัตรเติมเงินโทรศัพท์ และยังเป็นที่ซ่องสุม ค้ามนุษย์ อาวุธสงคราม ยาเสพติด และส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ตลอดจนชุมชนคนไทยที่อยู่ใกล้เคียง เพราะคนเหล่านี้ถือว่าอยู่ถาวร ไม่ใช่ “พักพิงชั่วคราว” ตามชื่อ

หลายครั้งเกิดอุบัติภัย บางครั้งเกิดความวุ่นวายของผู้อพยพ ทำให้ต้องจัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลมาตลอด เช่น เหตุจลาจลเมื่อ 14 ธันวาคม 2564 ในศูนย์พักพิงฯบ้านแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เกิดความชุลมุนวุ่นวายของผู้อพยพที่ก่อหวอดสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินไปไม่น้อย ขณะที่ก่อนหน้านั้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศูนย์พักพิงฯแห่งนี้ก็เพิ่งเกิดเหตุไฟไหม้ ทำให้ที่พักของผู้หนีภัยถูกไฟเผาวอดไปกว่า 100 หลังคาเรือน

นอกจากนั้นแล้ว กระบวนการผลักดันหรือส่งกลับ รวมทั้งการส่งไปประเทศที่สามที่ผ่านมาล่าช้ามาก….ลองคิดดูว่าเด็กเกิดเมื่อตอนตั้งศูนย์พักพิงฯอยู่ถึงวันนี้ก็อายุ 37 ปีแล้ว คิดว่าเด็กจะไปไหนและอยู่อย่างไร (พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก อ้างโดย ปกรณ์ พึ่งเนตร 2 เมษายน 2564)

ทั้งนี้ ยังไม่นับผู้ลักลอบเข้าเมืองที่แฝงตัวมาในคราบผู้หนีภัยสู้รบรวมทั้งขบวนการค้ามนุษย์ที่อยู่เบื้องหลัง

ครับ ท่านผู้อ่านที่ถามไปคงเข้าใจดีขึ้นทำไมรัฐบาลจึงไม่รับสถานะ “ผู้ลี้ภัย” ของผู้หนีภัยสู้รบจากเมียนมา ทั้งที่ปัญหาผู้หนีภัยสู้รบจากเมียนมานี้ผ่านรัฐบาลไทยมาเกือบ 20 รัฐบาลแล้ว

บทความ โดย  สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์       

เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชน คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ เมื่อ 7 มกราคม 2565 และ 4 กุมภาพันธ์ 2565


ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ