ยกเครื่องกฎหมาย ต่อลมหายใจโรงแรมเล็ก

ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวโดยตรง ทำให้ธุรกิจโรงแรมหลายแห่งต้องปิดกิจการชั่วคราว แต่สำหรับบางโรงแรมที่ส่วนใหญ่คือโรงแรมขนาดเล็กขาดสภาพคล่องไปต่อไม่ไหว รวมทั้งเข้าไม่ถึง โครงการช่วยเหลือของรัฐ ต้องยุติกิจการและเลิกจ้างพนักงานในที่สุด

ดังที่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็กทั่วประเทศเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากการที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการ Sandbox เนื่องจากไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ แม้จะพยายามยื่นขออนุญาตแต่ติดกฎหมายหลายฉบับ ที่ไม่สามารถปรับปรุงอาคารได้

โควิด-19 จึงไม่ใช่สาเหตุหลักสาเหตุเดียวที่ทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็กเผชิญความลำบากในการประกอบกิจการ ในแวดวงผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมทราบกันดีว่า การบังคับใช้กฎหมายและใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมภายใต้กฎหมาย คือ กฎหมายผังเมือง พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ และ พ.ร.บ.โรงแรมฯ ไม่สอดคล้องกับสภาพการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน และการบังคับใช้ตั้งอยู่บนมาตรฐานของโรงแรมขนาดใหญ่ ไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของโรงแรมขนาดเล็ก สร้างภาระปัญหาให้กับทั้งผู้ประกอบการเดิมและรายใหม่ในอนาคต

กฎหมายกดทับโรงแรมเล็ก

ประเทศไทยมีโรงแรมขนาดเล็กจำนวนมากที่มีคุณสมบัติไม่สอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย ได้แก่ กฎเกณฑ์ภายใต้กฎหมายผังเมืองที่ได้จำกัดการใช้ประโยชน์ที่ดินด้วยแนวคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของโรงแรมขนาดใหญ่ซึ่งมีการใช้ทรัพยากรจำนวนมาก เช่น การบำบัดน้ำเสีย การมีที่จอดรถ หรือการสร้างมลภาวะทางเสียง เป็นต้น

พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ ได้กำหนดลักษณะ ขนาดพื้นที่และที่ตั้งของอาคาร รวมถึงความปลอดภัยของโครงสร้างอาคาร โดยยึดโยงอยู่กับมาตรฐานอาคารขนาดใหญ่เช่นกัน ซึ่งไม่ครอบคลุมโรงแรมขนาดเล็กที่มีการนำบ้านเก่า อาคารพาณิชย์เก่า หรือหอพักมาดัดแปลง แม้กรมโยธาธิการและผังเมืองมีความพยายามผ่อนคลายกฎเกณฑ์ ในเรื่องมาตรฐานอาคารโดยปรับให้สอดคล้องกับอาคารขนาดเล็กมากขึ้น แต่ยังไม่ครอบคลุมลักษณะที่พักอีกหลายประเภท เช่น เรือนแพ บ้านต้นไม้ เป็นต้น

เมื่อไม่ผ่านเงื่อนไขนี้ ทำให้การขอใบอนุญาต ตาม พ.ร.บ.โรงแรมฯ ของโรงแรมขนาดเล็กจึงเป็นไปได้ยาก ทั้งที่ในความเป็นจริง มีแนวโน้มความนิยมการเข้าพักโรงแรมขนาดเล็กที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเมืองและใกล้แหล่งท่องเที่ยว ทั้งบ้านเก่า อาคารพาณิชย์เก่า หรือหอพักดัดแปลง จึงทำให้เกิดช่องโหว่ของภาครัฐในการกำกับดูแลธุรกิจโรงแรม

หากพิจารณาจากจำนวนโรงแรมที่ได้รับอนุญาตจากกรมการปกครอง มีประมาณ 30,000 กว่าแห่ง ในขณะที่โรงแรมที่ลงทะเบียนกับแพลตฟอร์มเว็บไซต์ OTA สำหรับจัดการการจองที่พัก มีโรงแรมมากกว่า 60,000 แห่ง

นอกจากการกำหนดเรื่องขนาดพื้นที่ ลักษณะอาคารแล้ว พ.ร.บ.โรงแรมฯ ยังกำหนดเงื่อนไขการต้องแยกสัดส่วนระหว่างที่พักอาศัยกับส่วนที่เป็นโรงแรมและจำกัดจำนวนห้องพักไม่เกิน 4 ห้อง จำนวนคนพักไม่เกิน 20 คนสำหรับโฮมสเตย์ เงื่อนไขนี้กระทบต่อธุรกิจที่มีบ้านพักอาศัยกับโรงแรมที่ตั้งอยู่ในที่เดียวกัน จึงทำให้การประกอบธุรกิจแบบโฮมสเตย์ถูกจำกัดเอาไว้ด้วยผลของกฎหมายเช่นกัน ไม่เอื้อให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงสถานที่เพื่อให้บริการลูกค้า

อีกทั้งยังมีการกำหนดว่าโรงแรมต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรบ้าง ซึ่งในปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักโรงแรมขนาดเล็ก อาจไม่ต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย เพียงแต่ต้องการห้องพักที่สะอาดเท่านั้น สิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมตามกฎหมายกำหนดบางอย่างเป็นต้นทุนสำหรับผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมขนาดเล็กทั้งสิ้น

ปัญหาโรงแรมขนาดเล็กไม่สามารถดำเนินกิจการและขอใบอนุญาตโรงแรมได้เพราะติดข้อกฎหมายนั้น เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน หน่วยงานของรัฐได้มีความพยายามผ่อนผันโดยใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 6/2562 เรื่อง มาตรการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานการประกอบธุรกิจโรงแรมบางประเภท เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถปรับปรุงอาคารและดำเนินการขอใบอนุญาตโรงแรมได้ โดยกฎหมายได้มีการยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษให้ผู้ประกอบการจนถึงวันที่ 18 ส.ค.ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี เนื่องจากประสบปัญหาการขาดทุนจากการไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ และต้องหยุดกิจการตามมาตรการของรัฐบาลจากการระบาดของ โควิด-19 แม้จะมีการกำหนดมาตรการผ่อนผันเพียงชั่วคราว โรงแรมขนาดเล็กก็ยังไม่สามารถดำเนินการปรับปรุงอาคารและขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรมให้สอดคล้องกับที่กฎหมายกำหนดได้ตามกำหนดระยะเวลาดังกล่าวเพราะโรงแรมขนาดเล็กไม่มีเงินทุนมากพอที่จะดำเนินการแก้ไขและปรับปรุงอาคาร

รื้อกฎหมายเอื้อรายเล็กเริ่มต้นใหม่และไปต่อได้

แม้กฎหมายที่กำหนดเงื่อนไขของอาคารและการให้บริการโรงแรม จะทำขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ที่ดีเพื่อคุ้มครองประชาชนจากการได้รับผลกระทบของการประกอบกิจการ และเพื่อยกมาตรฐานดูแลผู้เข้าพักในโรงแรม แต่เงื่อนไขของกฎหมาย ดังกล่าวนั้นอาจจะล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน

ทางแก้ไขปัญหานี้จะต้องปรับรื้อกฎหมายเอื้อให้ผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็กดำเนินธุรกิจได้ ซึ่งมีส่วนช่วยฟื้นคืนภาคการท่องเที่ยวบริการของประเทศไทย โดยจำเป็นต้องทำอย่างเป็นระบบเสมือนการยกเครื่องรถยนต์ใหม่ทั้งคัน

ในระยะแรกจะต้องมีการคุ้มครองผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากการที่คำสั่ง คสช.ที่ 6/2562 หมดอายุลง การแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ในช่วงโควิด-19 ระบาดนั้น รัฐบาลอาจจะต้องออก พ.ร.ก.งดเว้นการบังคับใช้กฎหมายโรงแรมและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมขนาดเล็ก ที่ดำเนินการมาก่อนหน้าปีการระบาดของ โควิด-19 เพื่อไม่ให้มีการเอาผิดกับผู้ประกอบที่ดำเนินการในช่วงเวลานี้

พร้อมทั้งให้เวลากับผู้ประกอบการปรับปรุงสภาพอาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจให้สอดคล้องกับกฎหมาย และให้เวลาหน่วยงานของรัฐดำเนินการแก้ไขปัญหาระยะยาวต่อไป

การแก้ไขปัญหาในระยะยาวเพื่อรองรับการประกอบธุรกิจโรงแรมขนาดเล็ก รัฐบาลควรดำเนินการแก้ไขกฎหมายและใบอนุญาตเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจโรงแรมใหม่ โดยการปรับกฎเกณฑ์ของมาตรฐานอาคารที่ใช้ในการประธุรกิจโรงแรมให้รองรับลักษณะของการประกอบธุรกิจโรงแรมที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงแรมขนาดเล็ก และโรงแรมที่มีรูปแบบ เฉพาะตัว เช่น เรือนแพ บ้านต้นไม้ เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน นโยบายเกี่ยวกับการประกอบกิจการโรงแรม ควรสนับสนุนการประกอบธุรกิจโรงแรมขนาดเล็ก โดยยกเลิกการผูกโยงเงื่อนไขการประกอบธุรกิจโรงแรมที่ไม่จำเป็นต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคกับโรงแรมขนาดเล็ก รวมถึงการยกเลิกการนำกฎหมายโรงแรมกับกฎหมายควบคุมอาคารมาผูกไว้ด้วยกัน เพื่อให้การประกอบธุรกิจกับการควบคุมอาคารแยกออกจากกันตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย

ท้ายที่สุด การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจโรงแรม ควรจะเปลี่ยนมือจากหน่วยงานของรัฐส่วนกลางแบบกรมการปกครองมาสู่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งใกล้ชิดกับพื้นที่ทำให้สามารถเข้าถึงปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจโรงแรมได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีแรงจูงใจที่สนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่มากกว่าหน่วยงานของรัฐที่ส่วนกลาง

การปรับแก้กฎหมายในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการช่วยผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมขนาดเล็กไปต่อได้แล้ว การประหยัดต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎหมายยังช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถนำเงินไปใช้กับการจ้างพนักงานเพิ่มขึ้น ด้านนักท่องเที่ยวก็มีทางเลือกรูปแบบโรงแรมเข้าพักที่หลากหลาย สอดรับกับการที่ประเทศไทยเป็นจุดหมายทางการท่องเที่ยวของคนทั่วโลก

บทความ โดย  เขมภัทร ทฤษฎิคุณ

เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 10 มีนาคม 2565


ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ