tdri logo
tdri logo
10 มีนาคม 2022
Read in Minutes

Views

2 นักเศรษฐศาสตร์หญิงรางวัลป๋วย อึ๊งภากรณ์ เรียกร้องรัฐสร้างระบบประกันภัยพืชผลและรับมือภูมิอากาศแปรปรวนด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ มูลนิธิ 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับ 7 สถาบันด้านเศรษฐศาสตร์  “มอบรางวัลป๋วย อึ๊งภากรณ์ สำหรับนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีผลงานดีเด่น ประจำปี 2564” ให้แก่ 2 นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ดีเด่น คือ ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ จันทร์วิไลศรี ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ศึกษาระบบประกันภัยพืชผลและสินเชื่อเกษตรกร สู่ข้อเสนอรัฐและเอกชน ให้เชื่อม แชร์ และใช้ข้อมูลร่วมกัน เพื่อพัฒนาระบบประกันภัยพืชผลอย่างครบวงจร และ ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส นโยบายด้านภูมิอากาศและการพัฒนาสีเขียว ทีดีอาร์ไอ ผู้ศึกษาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเสนอแนวทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนเพื่อรับมือกับปัญหา โดยนำแนวคิด “สะกิดพฤติกรรม” (Nudge) จากวิชาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาใช้          

วันที่ 9 มีนาคม สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ และ มูลนิธิ 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของประเทศไทย 7 สถาบัน อันได้แก่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย จัดงานมอบรางวัลป๋วย อึ๊งภากรณ์ สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ที่มีผลงานดีเด่น ประจำปี 2564 ให้แก่นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ซึ่งมีอายุไม่เกิน 45 ปีที่สามารถผลิตผลงานวิชาการคุณภาพสูงได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นแบบอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่คนอื่น ๆ ในการทำงานวิชาการ โดยรางวัลนี้ได้ผ่านการกลั่นกรองคุณสมบัติที่เข้มงวดโดยคณะทำงานจาก 7 สถาบัน

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในฐานะเลขานุการของคณะทำงาน 7 สถาบัน กล่าวคำประกาศเกียรติคุณของ ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ จันทร์วิไลศรี ว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายทั้งด้านการพัฒนาและการเกษตร  สามารถตั้งโจทย์วิจัยที่ชัดเจนภายใต้กรอบแนวคิดทางทฤษฎีที่รัดกุม ผลงานวิจัยได้แสดงถึงการผสมผสานองค์ความรู้ที่ทันสมัย และสามารถใช้ข้อมูลขนาดใหญ่มาวิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจในระดับครัวเรือนอย่างลึกซึ้ง ซึ่งมีคุณูปการต่อวงการวิชาการเศรษฐศาสตร์ไทยและมีนัยสำคัญต่อการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศ

ในขณะที่ ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ เป็นนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลาย ทั้งด้านการเงินระหว่างประเทศและสิ่งแวดล้อม  สามารถตั้งโจทย์วิจัยจากปัญหาจริง โดยบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกันในหลายสาขาวิชา เพื่อหาแนวทางในการลดปัญหาความล้มเหลวของตลาดการเงิน ตลอดจนนำเสนอแนวทางลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านการปรับตัวในภาคเกษตรและแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลงานวิจัยให้ความรู้ที่ลุ่มลึกในเชิงวิชาการและมีนัยสำคัญต่อการดำเนินนโยบายของประเทศ

ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ จันทร์วิไลศรี ผู้ได้รับรางวัลกล่าวว่า ขณะนี้ความไม่แน่นอนจากวิกฤติโควิด-19 สงครามในยุโรป และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจทำให้คนกลุ่มเปราะบางต้องตกอยู่ใน “หลุมพรางแห่งความยากจน”  โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่มีหนี้สิน ซึ่งแม้ว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐมาก แต่กลับไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควรและมีหนี้สินเพิ่มขึ้น เพราะการให้เงินเยียวยาของภาครัฐช้าเกินไป  และครัวเรือนที่อยู่นอกเขตภัยพิบัติไม่ได้รับการเยียวยา  ในขณะที่ภาคเอกชนก็ไม่มีแรงจูงใจในการให้บริการประกันภัยแก่เกษตรกร  รัฐจึงควรเร่งเพิ่มประสิทธิภาพของระบบประกันภัยพืชผลเพื่อรองรับเกษตรกรที่ประสบปัญหา และให้ความสำคัญต่อการเชื่อม ใช้ และแชร์ข้อมูลกับเอกชน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรอย่างครบวงจร

ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ จันทร์วิไลศรี ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์

ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ อีกหนึ่งผู้ได้รับรางวัล กล่าวว่าแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม สามารถนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้อากาศแปรปรวนเสมือน “โลกรวน” ซึ่งจะกระทบกับชีวิตของประชาชนอย่างมาก  รัฐควรกำหนดนโยบายออกมารองรับ และช่วยกระตุ้นให้ภาคส่วนต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เช่น “สะกิด” (Nudge) ให้ครัวเรือนคัดแยกขยะอย่างเหมาะสม  สะกิดให้ครัวเรือนประหยัดไฟฟ้า โดยให้ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนอื่นเปรียบเทียบ สะกิดให้ภาคเกษตรรับเทคโนโลยีใหม่ เช่น ใช้ข้าวพันธุ์ใหม่ที่ต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสะกิดให้ธุรกิจการท่องเที่ยวพัฒนากิจกรรมหลากหลาย ไม่พึ่งพาเพียงแต่สภาพอากาศที่เหมาะสมเพียงอย่างเดียว  

ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส นโยบายด้านภูมิอากาศและการพัฒนาสีเขียว สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

สำหรับการมอบรางวัลสำหรับนักนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีผลงานดีเด่นจัดขึ้นทุก 2 ปี ตั้งแต่ปี 2550 โดยความริเริ่มของ ศ. ดร. อัมมาร สยามวาลา โดยล่าสุดในปี 2564 ซึ่งเป็นการมอบรางวัลครั้งที่ 8 ไม่สามารถจัดงานได้เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา จึงได้จัดงานขึ้นในปีนี้แทน โดยนักเศรษฐศาสตร์ 2 คนได้รับรางวัล คือ  ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ จันทร์วิไลศรี ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และ ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส นโยบายด้านภูมิอากาศและการพัฒนาสีเขียว สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)


ดูรายละเอียดของรางวัล และรายชื่อผู้ได้รับรางวัล พร้อมตัวอย่างผลงาน ตั้งแต่ ปี 2550 ได้ที่นี่ 

นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด