ทีดีอาร์ไอ เตือนรัฐเลี่ยงแทรกแซงตลาด แนะใช้งบให้ตรงจุด ช่วยกลุ่มรายได้น้อย และป้องกันทุนใหญ่ผูกขาดแก้ของแพงระยะยาว

ทีดีอาร์ไอ จัดการเสวนาออนไลน์ ซีรีส์ เศรษฐกิจ-นโยบาย…เรื่องใหญ่ใกล้ตัว ตอนที่ 1 “สินค้าราคาแพง…รัฐแทรกแซงตลาดคือทางออก?” ประเมินอนาคตเงินเฟ้อ วิเคราะห์ตัวเลข 5.3% มาจากราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งสูงเป็นหลัก จับตาสงครามยูเครน-รัสเซียหากบรรเทา คาดครึ่งปีหลังจะปรับลดลง แต่หวั่นสินค้าและค่าครองชีพประชาชนไม่ปรับลดตาม แนะการแทรกแซงและคุมราคาไว้นานไม่ใช่ทางออก เหตุรัฐมีงบฯจำกัด ต้องใช้อย่างตรงจุด อุดหนุนเฉพาะกลุ่ม-ผู้มีรายได้น้อย ชงเฝ้าระวังและป้องกันการผูกขาดของทุนใหญ่ อีกปัจจัยปัญหาทำของแพงกระทบประชาชนระยะยาว 

เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แจกแจงที่มาตัวเลขเงินเฟ้อ 5.3% ของไทยในเดือน ก.พ. 2565 ว่า มาจากการคำนวณราคาโดยเฉลี่ยของ สินค้าอุปโภค บริโภคจำนวน 400 กว่ารายการ เทียบกับ ก.พ. 2564  และสาเหตุหลักที่ส่งผลให้ตัวเลขเงินเฟ้อขยับขึ้น มาจากค่ายานพาหนะและเชื้อเพลิง ซึ่งมีสัดส่วนเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของตัวเลขเงินเฟ้อ

โดยประเทศไทยต้องอาศัยการนำเข้าเชื้อเพลิงและสินค้าหลายรายการจากต่างประเทศ เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี อลูมิเนียม ซึ่งราคาปรับสูงขึ้นตามความต้องการสินค้าในตลาดโลกหลังโควิดบรรเทาลง แต่การขนส่งและการผลิตยังไม่สามารถสนองตอบได้ทัน และมีประเด็นด้านสงครามระหว่างยูเครน -รัสเซีย มาซ้ำเติม ทำให้ราคาน้ำมันดิบ และ ก๊าซธรรมชาติขึ้นแบบก้าวกระโดด 

อย่างไรก็ตาม ดร.กิริฎา ประเมินว่าเงินเฟ้อจะปรับลดลงในครึ่งปีหลัง จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลง เนื่องจากเมื่อราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น จะจูงใจให้ประเทศที่สามารถผลิตน้ำมันได้ เข้ามาในตลาด แต่ย่อมต้องใช้เวลากว่าราคาจะปรับลง และส่งผลต่อราคาสินค้าอื่น ๆ

ด้าน ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center SCB Thailand คาดการณ์ เงินเฟ้อเฉลี่ยในปีนี้ของไทยมีโอกาสสูงเกินกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดไว้ คือ สูงเกินกว่า 3.5%- 3.6%  ส่วนราคาน้ำมันมองว่าจะปรับขึ้นสูงสุดในช่วงครึ่งแรกของปี คาดว่าครึ่งปีหลังจะปรับลงมาที่ราว 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

กรณีการขึ้นดอกเบี้ยที่หลายฝ่ายกำลังจับตา ดร.ยรรยง ประเมินไปในทิศทางเดียวกับ กร.กิริฎา ว่า มีโอกาสน้อยมากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย จะปรับขึ้นดอกเบี้ย เพราะยังไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องชะลอความต้องการสินค้าและบริการ ในขณะที่เศรษฐกิจยังชะลอตัว โดยธนาคารแห่งประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการเติบโตของเศรษฐกิจ ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นการซ้ำเติมภาระประชาชน ที่ยังมีหนี้ครัวเรือนสูง หากมีการขึ้นดอกเบี้ย กำลังซื้อและการชำระหนี้จะลดลงไปอีก

ด้าน คุณ ศิริกัญญา ตันสกุล ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร เห็นเช่นเดียวกันว่า เงินเฟ้อจะบรรเทาลงในช่วงครึ่งปีหลัง ขึ้นกับสถานการณ์สงครามยูเครน-รัสเซียจะคลี่คลายเมื่อไหร่ โดยตนเป็นห่วงราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นจะไม่ปรับลงตามเงินเฟ้อที่ลดลง ซึ่งจะกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยอย่างมาก 

สำหรับมาตรการแก้ปัญหาสินค้าราคาแพงของรัฐบาล วิทยากรทั้ง 3 ท่านเห็นตรงกัน ว่าไม่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนได้ในระยะยาว เพราะการตรึงราคา แม้ดูเหมือนว่าประชาชนไม่ต้องจ่ายแพงขึ้น แต่ได้สร้างผลกระทบอีกหลายอย่างตามมา เช่น การคุมราคาไว้นาน ทำให้ผู้ผลิตสินค้าบางรายต้องงดผลิตสินค้า หรือหายไปจากตลาด และการอุดหนุนราคาต่อเนื่องทำให้รัฐจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ประเทศเสียโอกาสในการลงทุนหรือพัฒนาในด้านอื่น ๆ 

ดร.กิริฎา ชี้ให้ภาพว่าการอุดหนุนราคาน้ำมัน รัฐต้องใช้จ่ายงบประมาณไปต่อเดือน กว่า 7 พันล้านบาท รวมจนถึงตอนนี้รัฐใช้เงินไปแล้ว 2 หมื่นกว่าล้านบาท หากเทียบกับการนำไปจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ เงินเดือน 15,000 บาท ในระยะเวลา 1 ปีจะจ้างงานได้ถึง 1 แสนคน  ดังนั้นรัฐต้องทบทวนความจำเป็นในการอุดหนุนที่แลกกับการเสียโอกาสในการแก้ปัญหาอื่น ๆ

เช่นเดียวกับ ดร. ยรรยง เห็นว่าถ้ารัฐยังใช้งบฯจำนวนมากจนถึงจุดที่ภาระทางการคลัง รัฐตรึงต่อไม่ไหว โอกาสที่ราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้นแรง ดังเช่นในปี 2548 จะเกิดขึ้นอีก และหากราคาตลาดโลกราคาน้ำมันอยู่ที่ ราว 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตลอดปี รัฐบาลอาจต้องใช้เงินถึง 2 แสน 5 หมื่นล้านบาทเพื่อตรึงราคาไว้ ตนมองว่า รัฐควรเอางบฯไปทำอย่างอื่นมากกว่า และใช้แนวทางอื่นที่สามารถทำได้มาแก้ไข อีกทั้ง ทางที่ดีรัฐบาลควรใช้โอกาสนี้พลิกโฉมด้านพลังงาน หนุนการใช้แหล่งพลังงานทางเลือกมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์ทั้งเศรษฐกิจและสังคม

“การอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลนาน ๆ ไม่ได้ดีต่อคนรายได้น้อยจริง ข้อดี คือลดผลกระทบต่อตัวเลขเงินเฟ้อ แต่มีช่องโหว่กับปัญหาที่ตามมา คือ  คนมีรายได้น้อย 20% ล่างของประเทศ ที่ส่วนใหญ่ใช้เบนซินไม่ได้อานิสงค์จากการคุมราคาดีเซลเลย และยังต้องจ่ายเพื่อเป็นการอุดหนุนผู้ใช้น้ำมันดีเซล อีกทั้งมีผลสำรวจทั่วโลกจาก IMF ว่า คนรวยได้ประโยชน์จากการอุดหนุนมากกว่าคนจน จากตัวเลขคนรวย 20 เปอร์เซ็นต์บน ได้รับอุดหนุนเฉลี่ยเป็น 6 เท่า ของคนมีรายได้น้อย 20 เปอร์เซ็นต์ล่าง ส่วนกรณีของไทยนั้นคนรวยยิ่งได้รับการอุดหนุนเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกคือ อยู่ที่ 7.5 เท่าของคนมีรายได้น้อย 20 เปอร์เซ็นต์ล่าง การตรึงดีเซลไว้นาน ยังเป็นอุปสรรคทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดได้ยากขึ้น และประสิทธิภาพการใช้พลังงานของไทยที่เคยถูกจัดอันดับไว้ที่ 55 จาก 70 ประเทศก็อาจไม่ดีขึ้นด้วย” ดร.ยรรยง อธิบาย

สำหรับข้อเสนอจากทางทีดีอาร์ไอ โดย ดร.กิริฎา เสนอว่า “รัฐต้องช่วยแบบเจาะจงกลุ่ม ไม่ใช่อุดหนุนทุกคน เช่น กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ คนขับรถบรรทุก เพื่อลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ รวมทั้งควรใช้โอกาสนี้ผลักดันและอุดหนุนสู่การเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น และในด้านราคาอาหารที่ปรับขึ้น จะต้องเติมเงินให้คนที่ได้รับผลกระทบมาก คือ คนที่มีรายได้น้อย ที่มีค่าใช้จ่าย 45 เปอร์เซ็นต์ เป็น ค่าอาหาร แทนลดราคาอาหารเพื่อช่วยทุกคน ซึ่งใช้วิธีช่วยเฉพาะกลุ่มจะตรงจุดมากกว่า และใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ” 

เช่นเดียวกับ คุณ ศิริกัญญา ชี้ให้เห็นว่าการคุมราคาไม่ใช่ทางออก และกลุ่มที่น่าห่วงมากที่สุดคือผู้มีรายได้น้อย เพราะไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการของรัฐ เนื่องจากผู้มีรายได้น้อยซื้อสินค้า อาหารและพลังงานได้ครั้งละไม่มาก เช่น ไข่ไก่ซื้อเป็นฟอง ไม่ได้ซื้อยกแผง ดังที่รัฐคุมราคาแผงไข่ไก่ จึงเสนอมาตรการเพิ่มรายได้ มากกว่ากดรายจ่าย  โดยเติมเงินในกระเป๋าคนรายได้น้อย แม้บางท่านอาจคิดว่ารัฐแจกเยอะแล้ว แต่หากเทียบสัดส่วนนโยบายการคลังที่อัดฉีดกับต่างประเทศ พบว่ายังน้อยมาก และรัฐต้องไม่ทำให้ตลาดปั่นป่วน หนุนให้เกิดการแข่งขันในตลาดอย่างเป็นธรรม ในตลาดต้องมีสัดส่วนผู้เล่นทั้งรายใหญ่ รายกลาง และรายเล็ก เพื่อลดอำนาจผูกขาดของทุนใหญ่ มิเช่นนั้นราคาสินค้าบริการต่าง ๆ จะปรับสูงขึ้น สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน เช่น กรณีผู้เลี้ยงสุกรรายเล็กต้องหายไปจากตลาด หลังเผชิญกับโรคอหิวาต์​แอฟริกา​ใน​สุกร​ ซึ่งไม่สามารถแข่งขันกับรายใหญ่-รายกลางได้ จึงมีโอกาสที่ราคาอาจปรับสูงขึ้นอีก และกรณีทุนใหญ่ควบรวมกิจการ ส่งผลให้ประชาชนอาจต้องจ่ายแพงขึ้นแต่ได้ประโยชน์น้อยลง เป็นต้น 

ในกรณีนี้ ดร.ยรรยง ได้แสดงความเป็นห่วงถึงผู้ประกอบการรายย่อย (SME) ว่ากรณีสินค้าและน้ำมันแพงย่อมได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ จึงมีข้อเสนอ 3 ข้อสำหรับผู้ประกอบกิจการ SME ว่า 1. ต้องจัดการ บริหารความเสี่ยง โดยเฉพาะ เรื่องซัพพลายเชน ที่ควรมีซัพพลายเออร์หลากหลายในภาวะตลาดผันผวน 2. ต้องเข้าใจและตามทันพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างมาก โดยใช้ เรื่องดาต้า ให้เป็นประโยชน์ 3. ลงทุนเพื่ออนาคต ทักษะใหม่ เข้าสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ปรับโครงสร้างธุรกิจไปสู่การประหยัดพลังงาน จึงจะยืนหยัดได้ในปัจจุบัน

ด้าน คุณ ศิริกัญญา เสนอปิดท้ายอีกทางแก้ไขเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า คือ รัฐต้องมีการกระตุ้นให้เอกชนลงทุนมากขึ้น โดยการออกเพคเกจลดหย่อนภาษี จูงใจให้เอกชน ลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน ปรับเปลี่ยนแปลงที่มาของพลังงานไปสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อ ช่วยเอกชนเพิ่มประสิทธิภาพ (efficiency) ที่ไม่ใช่ขยายการผลิตหรือ capacity ในภาวะที่ความต้องการและกำลังซื้อในตลาดยังมีไม่มาก

สำหรับ ซีรีส์ เศรษฐกิจ-นโยบาย…เรื่องใหญ่ใกล้ตัว จัดโดยทีดีอาร์ไอ มีขึ้นเพื่อนำเสนอบทวิเคราะห์นโยบายและประเด็นทางเศรษฐกิจที่กระทบประชาชน ซึ่งหลายเรื่องอาจถูกมองเป็นเรื่องไกลตัว ทำให้การทำงานของรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องกับนโยบายอาจไม่ได้รับความสนใจหรือติดตามจากสาธารณะมากพอ เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ที่จะตกกับประชาชน บทวิเคราะห์และข้อเสนอจาก ซีรีส์ เศรษฐกิจ-นโยบาย…เรื่องใหญ่ใกล้ตัว จะจัดเป็นประจำ เดือนละครั้ง เพื่อมีส่วนช่วยให้ทุกคนได้สนใจติดตามนโยบายสาธารณะและการทำงานของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้ประชาชน

รับชมย้อนหลัง ตอนที่ 1 “สินค้าราคาแพง…รัฐแทรกแซงตลาดคือทางออก?” ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=AOP-IE6_zN4