tdri logo
tdri logo
28 เมษายน 2022
Read in Minutes

Views

ทีดีอาร์ไอ เสนอ ผู้ว่าฯใหม่ ปรับบทบาทเร่งแก้โจทย์สำคัญ กทม. 

ทีดีอาร์ไอชงข้อเสนอปรับบทบาท กทม. จากผู้กำหนดนโยบาย กำกับดูแลและให้บริการเอง สู่หน่วยงานที่ทำงานเป็นเครือข่ายกับรัฐบาลกลาง-เอกชน-สตาร์ทอัพ-ประชาสังคม โดย กทม. ปรับบทบาทของตนให้เหมาะสมกับแต่ละปัญหา เพื่อช่วยแก้ 9 โจทย์สำคัญ  และหนุน กทม. เป็นต้นแบบสร้างความเชื่อมั่นในการกระจายอำนาจ สู่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดในอนาคต 

ในงานเสวนา “ตรวจการบ้านผู้ว่าฯ เดิม เติมโจทย์ให้ผู้ว่าฯ ใหม่” เมื่อวันที่ 21 เมษายน จัดโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC-CEUS) ได้นำเสนอ รายงาน การประเมินผลงานผู้ว่าฯ อัศวิน และข้อเสนอแนะสำหรับผู้ว่า กทม. คนใหม่ ในด้านที่สำคัญ 9 ด้าน ได้แก่ การวางผังเมือง การจราจรและความปลอดภัย การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การจัดการขยะมูลฝอย การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย การส่งเสริมทักษะเพื่อการประกอบอาชีพ การศึกษา และการรักษาพยาบาล พร้อมเสนอแนวทางการทำงานสำหรับ ผู้ว่าฯ คนใหม่ ตามโมเดล “การบริหารจัดการแบบเครือข่าย” (network governance) และปรับบทบาทในการบริหารเมืองจากเป็นผู้ให้บริการ (service provider) เองส่วนใหญ่หรือทั้งหมด สู่การเลือกเล่นบทบาทที่หลากหลาย ตามลักษณะของปัญหาที่ต้องแก้ไข ทรัพยากรและความพร้อมของแต่ละภาคีที่เกี่ยวข้อง

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้กล่าวถึงศักยภาพของ กทม. ว่าเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมในการบริหารจัดการสูงสุดในประเทศ ทั้งในด้านกำลังคนและงบประมาณ โดยมีงบประมาณเกือบ 8 หมื่นล้านบาทในแต่ละปี  อย่างไรก็ตาม กรุงเทพฯ ก็มีโจทย์ท้าทายหลายประการเนื่องจากเป็นเมืองหลวงซึ่งมีลักษณะโตเดี่ยวที่ใหญ่กว่าเมืองอันดับรองถึง 10 เท่า และมีสัดส่วนของเศรษฐกิจร้อยละ 36.3 ของ GDP ทั้งประเทศ จึงมีปัญหาต่างๆ ที่รอให้ผู้ว่า กทม. คนใหม่และทีมงานเข้ามาแก้ไข อย่างน้อย 9 เรื่องที่ TDRI และ UddC-CEUS ได้นำเสนอ  ปัญหาต่างๆ เหล่านี้จะยิ่งมีความท้าทายมากขึ้นในอนาคตจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลก (global climate change) ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงใหม่ ๆ แก่ กทม.

การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนและมีความท้าทายเหล่านี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย และจะไม่สามารถทำได้หากปราศจากการปรึกษาหารือและการสร้างส่วนร่วมในการทำงานกับภาคีต่างๆ ผู้ว่า กทม. คนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ควรทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ตามโมเดล “การบริหารจัดการแบบเครือข่าย” (network governance) ทั้งการทำงานอย่างบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ที่จำเป็นในการแก้ไขปัญหาของ กทม. ตลอดจนประสานงานกับธุรกิจเอกชน ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่  SMEs สตาร์ทอัพและวิสาหกิจเพื่อสังคม ภาควิชาการ อาสาสมัครและภาคประชาสังคมต่างๆ ที่มีอยู่จำนวนมากและสนใจปัญหาที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยบนท้องถนน การบรรเทาสาธารณภัย ชุมชนแออัดและที่อยู่อาศัย การศึกษาและการฝึกอาชีพ สุขภาพ เป็นต้น

ในการทำงานกับเครือข่ายดังกล่าว กทม. จะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ให้บริการ (service provider) เองส่วนใหญ่หรือทั้งหมด มาสู่บทบาทที่หลากหลาย โดยคงบทบาทเป็นผู้กำหนดนโยบาย (policymaker) และผู้กำกับดูแล (regulator) ที่ยังจำเป็นไว้ แต่เพิ่มการปรึกษาหารือกับสาธารณะมากยิ่งขึ้น  ในขณะที่เพิ่มบทบาทการเป็นผู้ซื้อบริการ (service purchaser) ผู้เชิญหารือ (convenor) ผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) และผู้ให้ความชอบธรรม (legitimizer) แก่ภาคีภาคสังคมให้มากขึ้น  ทั้งนี้ การจะเลือกเล่นบทบาทไหน จะขึ้นอยู่กับลักษณะของปัญหาที่ต้องแก้ไข ทรัพยากรและความพร้อมของแต่ละภาคีที่เกี่ยวข้อง

ตัวอย่างเช่น ในด้านการจัดการการศึกษา รายงานดังกล่าวชี้ว่า ที่ผ่านมา กทม.แก้โจทย์ผิดข้อ คือ การมุ่งขยายโรงเรียนมัธยมในสังกัดของตน ทั้งที่จำนวนนักเรียนลดลงและมีโรงเรียนมัธยมในสังกัดอื่นรวมถึงภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการศึกษาจำนวนมากใน กทม. แต่ยังไม่ได้ร่วมมือกันเท่าที่ควร  กทม. ควรนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่ไปใช้แก้ปัญหาให้เกิดผลสำเร็จ เช่น จัดสรรครูให้เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละโรงเรียน จัดสรรงบประมาณเพื่อรองรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ และเป็นต้นแบบในการปฏิรูปการศึกษาระดับประถมให้มีคุณภาพสูง โดยพัฒนาหลักสูตรเพื่อการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ สร้างพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กทุกช่วงวัย ทั้งศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ศูนย์เยาวชน พิพิธภัณฑ์และห้องสมุดและศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่ต่างๆ โดยทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ  

เช่นเดียวกับ ด้านการรักษาพยาบาล ที่แม้ว่า กรุงเทพฯ จะเป็นศูนย์กลางด้านการรักษาพยาบาล มีโรงพยาบาลหลายแห่ง อีกทั้งเป็น medical hub แต่การเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลในกรุงเทพฯ กลับมีความเหลื่อมล้ำสูงเพราะคนรายได้น้อยเข้าถึงโรงพยาบาล และคลินิกเอกชนได้ยาก  ทั้งนี้ กทม. ไม่ควรสร้างโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นเอง แต่ควรขยายศูนย์บริการสาธารณสุขให้เป็นศูนย์รักษาพยาบาลของชุมชน รับหน้าที่รักษาผู้ป่วยในเบื้องต้น พร้อมวางระบบการคัดกรองและส่งต่อผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติม ไปยังโรงพยาบาลต่างๆ โดยประสานงานกับโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลเอกชน  

การจัดการด้านการศึกษาและการรักษาพยาบาล เป็นเพียงสองเรื่องจากอีกหลายเรื่องที่ กทม. โดยการนำของผู้ว่าฯ คนใหม่ ต้องปรับบทบาทการทำงานใหม่ ซึ่งในรายงานยังมีการนำเสนอประเด็นด้านการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ควรจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมไม่ให้กระจุกตัวในบางเขต และใช้ประโยชน์จากพื้นรกร้างใน กทม. มาจัดทำพื้นที่สีเขียวเพิ่ม ด้านผังเมือง ควรผลักดันการใช้ผังเมืองเฉพาะหรือผังเมืองระดับย่าน ให้เป็น “ธรรมนูญของท้องถิ่น” ที่ประชาชนในย่านมีส่วนร่วมในการออกแบบเมือง ในด้านการจัดการขยะ ควรศึกษาพฤติกรรมการทิ้งขยะของแต่ละชุมชนอย่างเป็นระบบ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบจัดการขยะต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ที่เหมาะสมและมีส่วนร่วมของชุมชน  

ด้านการจราจรและความปลอดภัย ควรลงทุนสร้างความปลอดภัยแก่คนเดินเท้า โดยติดสัญญาณไฟแดงที่ทางม้าลาย พัฒนาป้ายรถเมล์ให้ครอบคลุม ลงทุนในระบบขนส่งสาธารณะให้เชื่อมต่อการเดินทางทั้งบนถนนสายหลักและซอย ด้านการบรรเทาสาธารณภัย ควรเพิ่มจำนวนสถานีดับเพลิง และจัดหาอุปกรณ์เพิ่ม ทำแนวกันน้ำถาวรในพื้นที่ฟันหลอ ทำระบบเตือนภัยน้ำท่วม และสำรวจจุดเสี่ยงจากภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านการทำมาหากินหาบเร่แผงลอย ควรมุ่งสร้างสมดุลระหว่างผู้ใช้พื้นที่ทางเท้ากลุ่มต่างๆ มากกว่าการห้ามใช้พื้นที่ทางเท้าโดยสิ้นเชิง โดยบริหารจัดการหาบเร่แผงลอยแบบรายพื้นที่ ตามโมเดลพื้นที่อัตลักษณ์ ซึ่งให้ผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์ในพื้นที่  และใช้แนวทาง “การกำกับดูแลร่วม” (co-regulation) กับผู้ค้า และจัดหาพื้นที่ถาวรเพิ่มเติมในทำเลที่เหมาะสมมากขึ้น ดังตัวอย่างของสิงคโปร์ และ ด้านการฝึกทักษะอาชีพ ควรออกแบบและปรับปรุงหลักสูตรร่วมกับนายจ้าง ให้สามารถฝึกทักษะอาชีพสอดคล้องกับความต้องการของตลาด และวางกลไกติดตามประเมินผลการฝึกอาชีพ  

การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนและมีความท้าทายทั้งหมดนี้ต้องมีการปรึกษาหารือและการทำงานร่วมกับภาคีต่างๆ โดย ดร.สมเกียรติ กล่าวทิ้งท้ายจากการฝาก 9 โจทย์ ว่า “ในระยะยาว ผู้ว่าฯ คนใหม่ ควรขับเคลื่อนให้เกิดการปรับโครงสร้างการกระจายอำนาจ โดยหารือและต่อรองกับรัฐบาลกลางอย่างเหมาะสม และหาก กทม. สามารถบริหารจัดการได้ดี ก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. ทั้งหลายให้เดินหน้าต่อไปจนทุกจังหวัดมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในอนาคต จากที่การกระจายอำนาจถดถอยลงอย่างมากในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา”


ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด