มาตรการ “แนะนำให้ตรวจ ATK ก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมง” ไม่เพียงพอสำหรับลดการติดเชื้อและการเสียชีวิตจากโควิดโอมิครอนในช่วงสงกรานต์

ถึงวันนี้ภาครัฐก็ยังคาดการณ์ว่ายอดผู้ติดเชื้อใหม่จะเพิ่มสูงสุดในช่วงหลังสงกรานต์ โดยยอดจริงของผู้ติดเชื้อใหม่จริงน่าจะเพิ่มเป็นกว่าแสนคนต่อวัน (ซึ่งถ้าเทียบกับปีที่แล้วที่เกิดการระบาดระลอก 3 ในเดือน เม.ย. และ พ.ค. 2564 มียอดผู้ติดเชื้อระหว่าง 10 เม.ย. – 9 พ.ค. รวมแล้วไม่ถึง 52,000 คนใน 1 เดือน) และยอดผู้เสียชีวิตก็คงจะเพิ่มตามยอดผู้ติดเชื้อแล้วเข้ารับการรักษา และมีอาการหนักในช่วงต่อมา ซึ่งในเดือนหน้าก็คงน่าจะสูงขึ้นกว่าที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นมาจากวันละ 10-20 คนเมื่อตอนต้นปีมาเป็นวันละ 100 กว่าคนในช่วงนี้ โดยอาจจะเพิ่มมากขึ้นเป็น 2-3 เท่า เมื่อมีผู้ป่วยหนักมากเกินกว่าศักยภาพของสถานพยาบาลในพื้นที่จะรับไหว

แต่ในช่วงนี้ภาครัฐก็คงทำงานตั้งรับเท่าที่ทำไหวเป็นหลัก (เพราะผู้ติดเชื้อมีมากเหลือเกิน) และมีมาตรการเฉพาะกิจออกมาบ้าง เช่นมาตรการช่วงสงกรานต์ ซึ่งมาตรการหนึ่งคือ “แนะนำ” ให้ตรวจ ATK ไม่เกิน 72 ชม. ก่อนเดินทาง/กิจกรรม

และเมื่อกลับถึงบ้านแล้วใช้มาตรการ Family bubble and seal คืออยู่แต่ในบ้านกับครอบครัว หลีกเลี่ยงการสังสรรค์นอกบ้าน ป้องกันการนำโรคมาติดผู้สูงอายุหรือกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ในบ้าน รวมทั้งเด็กเล็กที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน แต่มาตรการนี้มีจุดอ่อนที่สำคัญอย่างน้อยสองประการ

ประการแรก ผลตรวจ ATK (กรณีที่พบว่าติดเชื้อ) นั้น “ชัวร์แต่ช้า” เพราะ ATK เป็นวิธีตรวจที่ไม่ได้ไวมาก จะตรวจเจอก็ต่อเมื่อมีเชื้อในร่างกายมากพอสมควร (ซึ่งมักจะหลังจากติดเชื้อมาหลายวันและมักมีอาการบ้างแล้ว)

การแนะนำให้ตรวจได้ถึง 72 ชั่วโมงล่วงหน้าจึงมีโอกาส “หลุด” (คือตรวจไม่พบทั้งที่ติดเชื้อ) สูงพอสมควร

และประการที่สอง ในกรณีที่หลุดไปแล้ว มาตรการ Family bubble and seal ก็อาจแทบจะไม่มีประโยชน์ เพราะเชื้อสายพันธุ์หลักในช่วงนี้ (โอมิครอน) ติดกันภายในบ้านง่ายกว่าเชื้อรุ่นเก่ามาก คือโอกาสติดต่อภายในบ้านนั้นสูงมาก หรือเมื่อมีใครติดเชื้อสักคน โอกาสที่คนอื่นในบ้านจะรอดจากการติดเชื้อมีน้อยมาก

จริงๆ สิ่งที่รัฐบาลยังทำได้ในช่วงนี้ ซึ่งอย่างน้อยน่าจะช่วยลดการแพร่เชื้อทั่วประเทศในช่วงสงกรานต์ ก็คือการไปตั้งโต๊ะตรวจ ATK ที่สถานีขนส่งและสถานีรถไฟที่สำคัญ โดยตรวจผู้เดินทางทุกรายก่อนเดินทาง ถ้าตรวจพบว่าติดเชื้อ ก็ให้บริการที่เหมาะสม อย่างน้อยที่สุดก็ให้บริการส่งตัวผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวพร้อมกับยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้กลับไปกักตัวที่บ้าน (ซึ่งก็คล้ายกับ “คำแนะนำ” ของรัฐบาลที่ออกมาในช่วงนี้ว่าผู้ที่มีอาการหรือตรวจพบการติดเชื้อควรเลิกหรือเลื่อนการเดินทางแล้วมากักตัวแทน)

แม้ว่าวิธีนี้อาจจะสร้างความโกลาหลพอสมควรในช่วงที่คนจำนวนมากกำลังจะเดินทางกลับบ้าน (และเริ่มตอนนี้ก็อาจช้าไปบ้าง และอาจจะทำได้ไม่ครบถ้วน) แต่โดยรวมแล้วก็น่าจะคุ้มในการลดการติดเชื้อและการเสียชีวิตที่คาดกันว่าจะเพิ่มขึ้นมากหลังสงกรานต์ปีนี้มากกว่าปีก่อนๆ หลายเท่าตัวลงไปได้บ้าง

และสำหรับประชาชนเองนั้น ในช่วงที่โอมิครอนระบาดอย่างหนัก และมีการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั้น ข้อมูลที่มีอยู่ในขณะนี้คือ ผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมดคือผู้ที่ฉีดวัคซีนไม่ถึง 3 เข็ม และใบบรรดาผู้เสียชีวิตนั้น เกือบทั้งหมดเป็น กลุ่ม 608 หรือกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรัง (เช่น 107 จาก 108 รายเมื่อวานนี้ (10 เมย.) ซึ่งสูงกว่าร้อยละ 99) และในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็มที่ 3 ขึ้นไป) ถึง 95 ราย หรือเกือบร้อยละ 90)

ดังนั้น วิธีลดความสูญเสียที่ดีที่สุดในขณะนี้คือ ต้องรีบฉีดวัคซีนเข็ม 3 (หรือเข็ม 3 และ 4 สำหรับผู้ที่ฉีด 2 เข็มแรกเป็นวัคซีนเชื้อตายอย่างซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม)โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง (ผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรัง) แต่ก็รวมถึงคนอื่นด้วยเพื่อลดโอกาสที่จะป่วยมากจนมีอาการและ/หรือมีโอกาสแพร่เชื้อไปให้กลุ่มเสี่ยงในบ้านมากขึ้น

บทความ โดย ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัย ด้านสาธารณสุขและการเกษตร

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการย่อย “Covid-19 PolicyWatch เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และโครงสร้างการกำหนดนโยบายและมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อแก้วิกฤตโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ” ซึ่งได้รับทุนสนับจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)


ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ