MOU การจ้างแรงงานผู้สูงอายุโดยภาคเอกชน น่าทำต่อ

ในยุคสังคมสูงวัยของประเทศไทย การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถทำงานหารายได้ต่อไปอีกระยะหนึ่งหลังวัย 60 ปีเป็นเรื่องสำคัญด้วยเหตุผลทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม คือในด้านเศรษฐกิจการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทำงาน (เชิงเศรษฐกิจ) ช่วยให้ผู้สูงอายุมีรายได้ และช่วยรักษาจำนวนแรงงานของประเทศลดความขาดแคลนแรงงานในขณะที่คนเกิดน้อยลง รวมทั้งการลดภาระด้านสวัสดิการสังคม บำนาญและการดูแลผู้สูงอายุ ด้านสังคมคือการทำงานช่วยให้ผู้สูงอายุมีเพื่อน มีคนรู้จักพูดคุยคบค้าสมาคมกัน ไม่เหงา ซึมเศร้า ไม่ต้องอยู่ติดบ้าน ติดเตียง และด้านสุขภาพ คือการให้ร่างกายได้มีการออกแรง สมองได้ทำงาน

การมีงานทำของผู้สูงอายุ มีหลายสถานภาพ ตั้งแต่นายจ้าง ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว ผู้ช่วยธุรกิจในครัวเรือน ลูกจ้างรัฐบาล ลูกจ้างเอกชน สำหรับในบทความนี้ ผู้เขียนจะจับเฉพาะการจ้างผู้สูงอายุโดยภาคเอกชน ซึ่งรัฐบาลมีนโยบาย มาตรการ และปฏิบัติการส่งเสริมอยู่

ผู้เขียนได้ติดตามเอาใจช่วยงานของภาครัฐด้านนี้มานาน ซึ่งยอมรับว่าบางทีก็ดูเหมือนไม่ได้ดังใจและดูเหมือนยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร กล่าวคือเป้าหมายของโครงการและผลลัพธ์ในการจ้างผู้สูงอายุในภาคเอกชนในโครงการมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่นับวันจะเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เชื่อว่ามาตรการและโครงการส่งเสริมการการจ้างงานผู้สูงอายุเป็นเรื่องดี จึงลองหาคำอธิบายผลลัพธ์ของโครงการที่กล่าวมา

เริ่มโดยกลับไปดูโครงการ/มาตรการส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุที่มีการกำหนดเป้าหมายการส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุไว้ชัดเจน 3 โครงการ คือ

1) การขับเคลื่อนตามแนวทางประชารัฐเพื่อสังคม (E6) (ตามแนวคิด ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ตั้งแต่ พ.ศ.2559) – การดำเนินการกรณีเร่งด่วนข้อ (2) การส่งเสริมการมีรายได้และการมีงานทำของ ผู้สูงอายุ – โดยตั้งเป้าการส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุ ทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบไว้รวม 58,000 คน หรือเพิ่มขึ้น 19,000 อัตรา ในปี 2561 เพื่อลดภาระการพึ่งพิงและสร้างงานในชุมชน โครงการนี้ผู้เขียนไม่ทราบผลการดำเนินงาน

2) โครงการบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการมีงานทำให้ผู้สูงอายุ หรือเรียกสั้นๆ ว่า โครงการ MOU (Memorandum of Understanding) หรือโครงการ “รวมพลังประชารัฐ ส่งเสริมการมีงานทำให้ผู้สูงอายุ”

โครงการ MOU ริเริ่มโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) เมื่อ พ.ศ.2559 โดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2 ท่านคือ ดร.แก้วขวัญ ตั้งติพงศ์กูล และ ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ ได้ถอดบทเรียนสถานประกอบการที่มีการจ้างแรงงานสูงวัย 4 แห่ง เพื่อหารูปแบบแนวทาง ในการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุในภาคเอกชน

ต่อมาวันที่ 13 มีนาคม 2562 กระทรวงแรงงานนำโครงการต้นแบบไปขยายผลโดยทำพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการมีงานทำให้ผู้สูงอายุ ระหว่างหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง (กรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม กรมกิจการผู้สูงอายุ กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) และภาคประชาสังคม ได้แก่ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย

สำหรับหน่วยงานภาคเอกชน 12 แห่งที่ร่วมโครงการ ได้แก่ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท บางจากกรีนเนท จำกัด บริษัท บิซิเนส เซอร์วิสเซส อัลไลแอนซ์ จำกัด บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด บริษัท ไทย โตชิบาอุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท เมซโซ่ จำกัด


ในปี 2562 โครงการตั้งเป้าหมายจ้างแรงงานผู้สูงอายุ 100,000 คน แบ่งเป็นแรงงานผู้สูงอายุในระบบ 20,000 คน ประกอบด้วย 1) ลูกจ้างเอกชน 15,000 คน 2) ลูกจ้างภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ 5,000 คน และแรงงานผู้สูงอายุนอกระบบ 80,000 คน ประกอบด้วย 1) การประกอบอาชีพอิสระ 70,000 คน 2) การรับงานไปทำที่บ้าน 10,000 คน เป้าหมาย ตรงนี้ดูเหมือนเป็นอันเดียวกับเป้าหมายนโยบายเร่งด่วน (Agenda Based) ตามแผนแมบทพัฒนาแรงงานไทยในระยะ 5 ปี (พ.ศ.2560-2564) ฉบับทบทวนประจำปี 2562 ของกระทรวงแรงงาน

ลักษณะงานที่จ้างแรงงานในระบบ (1) เป็นการจ้างแรงงานผู้สูงอายุซึ่งอายุ 60 ปีขึ้นไป (2) เป็นงานเสมียนพนักงาน งานเกี่ยวกับการค้า งานด้านบริการ หรืองานซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างผู้สูงอายุ (3) อัตราค่าจ้างรายชั่วโมงเป็นอัตราเดียวเท่ากันทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 45 บาทต่อชั่วโมง และ (4) การกำหนดระยะเวลาทำงานที่เหมาะสมสำหรับลูกจ้างผู้สูงอายุ โดยไม่ควรเกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 6 วันต่อสัปดาห์

โครงการ MOU มีกำหนดเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนาม (13 มีนาคม 2562) ซึ่งแปลว่า ขณะนี้จบโครงการแล้ว ผลการดำเนินงาน ถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2562 มีสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ 359 แห่ง เป็นใน กทม. 57 แห่ง และส่วนภูมิภาค 302 แห่ง มีตำแหน่งงานว่าง 18,437 อัตรา มีผู้สูงอายุที่ประสงค์ทำงาน 7,480 คน (คิดเป็นร้อยละ 40 ของตำแหน่งว่าง) มีผู้สูงอายุที่เข้าทำงานในสถานประกอบการ 3,706 คน (คิดเป็นร้อยละ 50 ของผู้สูงอายุที่ประสงค์จะทำงานในโครงการ และคิดเป็นร้อยละ 25 ของเป้าหมายโครงการ) ในขณะที่มีการจ้างผู้สูงอายุของภาครัฐ 1,429 คนและของรัฐวิสาหกิจ 81 คน

3) ในปี 2563 มีโครงการส่งเสริมการจ้างงานในอาชีพที่เหมาะกับวัย ประสบการณ์การทำงาน และสมรรถนะทางกาย ที่ขับเคลื่อนโดยคณะอนุกรรมการส่งเสริมและขยายโอกาสด้านอาชีพและการทำงานสำหรับผู้สูงอายุ กระทรวงแรงงาน เกิดการจ้างงานผู้สูงอายุโดยภาคเอกชนจำนวน 15,481 คน ทั้งนี้ไม่รวมการจ้างผู้สูงอายุโดยภาครัฐ อีก 517 คน ถามว่า ตัวเลขการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุใน 3 โครงการที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการ MOU ซึ่งเอกชนมีส่วนร่วมที่ชัดเจนและจ้างผู้สูงอายุได้ 3,706 คน เป็นที่น่าพอใจหรือไม่ คงตอบยากแม้จะอดคิดไม่ได้ว่าน่าจะทำได้มากกว่านี้ เพราะตั้งเป้าไว้ 15,000 คน และปัจจุบันประเทศ ไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุแล้ว โดยตามการคาดประมาณประชากรฉบับปรับปรุง (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2562) ในปี 2565 นี้จะมีผู้สูงอายุ 13 ล้านคน และปี 2566 จะมีผู้สูงอายุ 13.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมดของไทย ซึ่งหมายความว่าไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete-aged society) และในปี 2580 จะมีจำนวนผู้สูงอายุเกือบ 20 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 30 ของประชากรรวม เป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super aged society)

ขณะที่โครงการ MOU จ้างผู้สูงอายุได้ไม่ถึง 4 พันคน เมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานผู้สูงอายุ 4 ล้านกว่าคน หรือเทียบกับตัวเลขการจ้างงานสูงอายุในภาคเอกชนจำนวน 5 แสนคนและลูกจ้างภาครัฐ อีกประมาณ 1 แสนคนในแต่ละปีแล้วยังห่างไกลมาก (ทั้งนี้ การจ้างผู้สูงอายุ 3,706 คนในโครงการ MOU นั้นนับถึงแค่ตุลาคม พ.ศ.2562 หลังจากนั้นปี 2564 กระทรวงแรงงานมีการจัดหางานให้ผู้สูงอายุ 739 คน แต่ไม่ได้ระบุว่าเนื่องจากมาจากโครงการ MOU หรือไม่)

แต่มองโลกในแง่ดี ก็นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี และถ้าสังเกตดูจะเห็นว่าผลการส่งเสริมน่าจะมีช่วยสะกิดให้ภาคเอกชนมีความตื่นตัวมากขึ้น (Nudge หรือ Snow ball effect) จาก 12 สถานประกอบการเมื่อเริ่มโครงการ มีนาคม 2562 และเพิ่มเป็น 359 แห่งเมื่อตุลาคม 2562 ทั้งๆ ที่ในปี 2562 การจ้างงานผู้สูงอายุของประเทศในภาพรวมมีอาการสะดุด ลดลงจาก 4.36 ล้านคนในปี 2561 เหลือ 4.23 ล้านคนในปี 2562

นอกจากนั้นแล้ว ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การจ้างงานผู้สูงอายุในภาคเอกชนมีแนวโน้มที่ไม่เสถียร เริ่มจาก 3.9 แสนคนในปี 2560 เพิ่มเป็น 5.3 แสนคน ในปี 2561 แต่ลดลงเหลือ 4.7 แสนคนในปี 2562 แล้วกลับเพิ่มขึ้นเป็น 5.6 แสนคนในปี 2563 (ทั้งที่มีสถานการณ์โควิด-19 และ GDP ติดลบ 6.1 เปอร์เซ็นต์ แต่ตัวแปรหนึ่งที่ทำให้การจ้างงานผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอาจมาจากมาตรการเยียวยาที่เพิ่มการจ้างงาน หรือการตกงานของคนวัยแรงงานทำให้ผู้สูงอายุต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้นตามทฤษฎีการชดเชยแรงงาน (Added Worker Effect) การจ้างงานผู้สูงอายุลดลงเหลือ 4.7 แสนคนในปี 2564 (ดูตาราง)ถ้าจะว่าไปแล้ว ในช่วงเวลาที่ผ่านมาการจ้างงานผู้สูงอายุได้รับผลกระทบจากหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและสถานการณ์โควิด-19 และสายพันธุ์อื่นๆ ตั้งแต่ต้นปี 2563 รวมทั้งมาตรการป้องกัน เช่น การล็อกดาวน์ การห้ามออกนอกเคหสถานหรือห้ามเดินทางและมาตรการเยียวยาต่างๆ จากภาครัฐที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมของประชาชนทั้งการทำงานและการบริโภค และกระทบการผลิตสินค้าและบริการของภาคเอกชน ย่อมกระทบสถานประกอบการที่ร่วมโครงการและทำให้การดำเนินการและการติดตามผลของโครงการ MOU ทำได้ยาก

เทียบกับแรงงานผู้สูงอายุที่จะเพิ่มจาก 4.6 ล้านคนในปี 2565 เป็น 5.4 ล้านคนในปี 2570 และ 5.9 ล้านคนในปี 2575 เฉลี่ยแรงงานผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นปีละกว่าแสนคน แม้การมีงานทำของผู้สูงอายุส่วนหนึ่งจะเป็นไปตามกลไกตลาดแรงงาน มาตรการแทรกแซงและส่งเสริมจากภาครัฐยังเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

ทำโครงการ MOU ต่อเถอะครับ

บทความ โดย สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชน คอลัมน์ ดุลยภาพดุลยพินิจ เมื่อ 28 เมษายน 2565


ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ