ปิดจุดอ่อนการบังคับใช้กฎหมาย ขยายความเข้าใจในมาตรการ “ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก” ที่รัฐควรทำ

พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 เพิ่งจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 โดยมีบทบัญญัติบังคับให้กรณีที่มีคนโดยสาร“รถยนต์”เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี หรือสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ต้องมี “ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก” หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ โดยจะเริ่มบังคับใช้จริงในเวลาอีกแค่ 120 วัน จากวันที่ประกาศ (5 กันยายน 2565) 

การบังคับให้มีที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก มีความสำคัญในการปกป้องชีวิตและความปลอดภัยของเด็กเล็ก เนื่องจากผู้โดยสารที่เป็นเด็กเล็กใช้งานเข็มขัดนิรภัยแบบทั่วไปเข็มขัดนิรภัยจะไม่พาดผ่านบริเวณไหล่และหน้าท้องซึ่งเป็นจุดที่ใช้ดึงรั้งป้องกันภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุแต่จะพาดผ่านบริเวณหน้าหรือลำคอ ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขณะใช้งาน เช่น อวัยวะได้รับแรงกระแทกหรือแรงรัดมากเกินไปเนื่องจากการใช้งานผิดตำแหน่ง หรือแม้กระทั่งหลุดออกจากการดึงรั้งได้หากเกิดอุบัติเหตุ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการใช้งานอุปกรณ์ที่ได้รับการออกแบบสำหรับเด็กโดยเฉพาะ โดยที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กจะสามารถลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในขณะเกิดอุบัติเหตุของเด็กได้มากกว่า 70% เมื่อเทียบกับการคาดเข็มขัดนิรภัยเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการประกาศใช้มาตรการบังคับให้ใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ดังนี้

1. การใช้งานที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กอย่างถูกต้อง

แม้ว่ากฎหมายระดับพระราชบัญญัติจะมีการประกาศใช้แล้วก็ตาม แต่อย่าลืมว่าการติดตั้งที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กไม่ได้เหมาะสมกับการติดตั้งทุกตำแหน่งในรถ ยกตัวอย่างเช่น ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กจะต้องใช้กับที่นั่งที่มีการติดเข็มขัดนิรภัยเท่านั้น และห้ามใช้กับที่นั่งที่มี airbag ดังนั้นที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กไม่สามารถติดตั้งในรถกระบะที่มีแต่เบาะหน้าได้เลย แต่จากข้อถกเถียงเป็นวงกว้างที่ผ่านมาหลายวันมานี้ก่อให้เกิดคำถามสำคัญคือรัฐที่ออกกฎหมายมาบังคับใช้กับประชาชนได้มีการสื่อสารให้ประชาชนรู้ถึงการใช้งานที่ถูกต้องเพียงพอหรือไม่

ขณะที่ในต่างประเทศมีการบังคับให้เด็กนั่งที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กเช่นกัน อย่างไรก็ตามการประกาศใช้มาตรการดังกล่าว ออกมาควบคู่กับการกำหนดมาตรฐานของที่นั่งและเงื่อนไขในการนำมาใช้งาน อาทิ ประเทศออสเตรเลีย การใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กมีพื้นฐานมาจาก the Model Australian Road Rules โดยแต่ละรัฐได้นำไปบังคับใช้แตกต่างกันในบางข้อกำหนด โดยมีเกณฑ์ขั้นต่ำดังนี้

  • เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนต้องใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กที่หันหน้าไปทางด้านหลัง 
  • เด็กอายุระหว่าง 6 เดือนและต่ำกว่า 4 ปีต้องใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กที่หันหน้าไปทางด้านหลัง หรือที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กที่หันหน้าไปทางด้านหน้าและมีสายรัดในตัว
  • เด็กที่มีอายุระหว่าง 4 ปีและต่ำกว่า 7 ปีต้องใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กที่หันหน้าไปทางด้านหน้าและมีสายรัดในตัว หรือเบาะนั่งเสริมที่ถูกติดตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม
  • ผู้ขับขี่จะต้องมีใบรับรองจากแพทย์หากเด็กมีอาการป่วยหรือทุพพลภาพทางร่างกายจนไม่สามารถใช้เบาะนั่งสำหรับเด็กได้

โดยออสเตรเลียกำหนดให้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กต้องเป็นไปตามมาตรฐาน AS/NZS 1754 ซึ่งกำหนดเกณฑ์ในการใช้งานที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กตามช่วงอายุ และข้อกำหนดต่อมาตรฐานที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กที่สามารถใช้ในออสเตรเลียได้ เช่น การทำเครื่องหมายแสดงความสูงของไหล่เด็กที่สูงสุดในการใช้งานที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก และการทำเครื่องหมายสีของเส้นทางเข็มขัดนิรภัยบนเบาะนั่งสำหรับเด็ก (สีน้ำเงินสำหรับหันหน้าไปทางด้านหลัง สีเหลืองสำหรับหันหน้าไปข้างหน้า สีแดงสำหรับเบาะรองนั่ง)

2. ประเภทของรถยนต์ที่จะมีการบังคับใช้มาตรการ

พระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ ได้ให้นิยามคำว่า “รถยนต์” ว่าหมายถึง  “รถที่มีล้อตั้งแต่สามล้อและเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้าหรือพลังงานอื่น ยกเว้นรถที่เดินบนราง” หมายความว่ามาตรการให้ใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กครอบคลุมถึงรถยนต์ทุกประเภททั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถที่ใช้ขนส่งผู้โดยสารด้วย เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นที่กำหนดในมาตรา 123 วรรคท้าย ได้แก่ รถสามล้อ รถบดถนน รถแทรกเตอร์ และรถใช้งานเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และรถยนต์อื่นที่ไม่ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยตามที่อธิบดีกรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด และข้อยกเว้นตามมาตรา 123/1 เช่น รถนั่งสองแถว และรถบรรทุกคนโดยสารที่เป็นรถประจำทางที่ไม่ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยตามที่อธิบดีกรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด

อย่างไรก็ดี คนขับรถแท็กซี่ หรือกรณีของรถตู้โดยสารประจำทาง หากรัฐไม่ออกกฎหมายมายกเว้นการใช้บังคับมาตรการนี้กับยานพาหนะประเภทดังกล่าว คำถามที่เกิดคือเป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง คนขับรถ หรือผู้ประกอบการที่ต้องจัดให้มีที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก และหากมีการฝ่าฝืนเกิดขึ้นใครจะเป็นผู้รับผิด ทั้งนี้ ยังไม่นับกรณีของผู้โดยสารที่ใช้บริการเรียกรถผ่าน application ที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน นอกจากนี้ รถโดยสารระหว่างเมืองแม้จะถือว่าเป็นรถที่ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัย แต่เข็มขัดนิรภัยที่ติดตั้งในรถโดยสารระหว่างเมืองมีหลายประเภท และไม่ใช่ว่าเข็มขัดนิรภัยทุกประเภทที่กฎหมายอนุญาตให้ผู้ประกอบการรถโดยสารระหว่างเมืองใช้อยู่ในปัจจุบันจะสามารถใช้กับที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กได้

ขณะที่ในบางประเทศ เช่น ประเทศสิงคโปร์มีการกำหนดข้อยกเว้นสำหรับรถสาธารณะบางประเภทอย่างชัดเจน รวมถึงแท็กซี่ที่ได้รับการยกเว้นจากข้อกำหนดเกี่ยวกับที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก เนื่องจากไม่สามารถบรรทุกที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กที่มีขนาดแตกต่างหลากหลายแบบได้ อย่างไรก็ตาม รถเช่าส่วนตัว หรือบริการเรียกรถผ่าน application จะไม่ได้รับการยกเว้นดังกล่าว ผู้ปกครองจึงจำเป็นจะต้องพกพาที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กไปด้วยและการรับผิดชอบต่อความผิดหรือค่าปรับในการไม่ปฏิบัติตามจึงต้องตกเป็นของผู้ปกครอง ขณะที่ประเทศออสเตรเลีย ในการใช้บริการแท็กซี่ผู้ปกครองจำเป็นจะต้องพกพาที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กไปด้วย หรือสามารถแจ้งให้แท็กซี่จัดหาที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กไว้ล่วงหน้าได้ (บางรัฐ) โดยกำหนดให้แท็กซี่ต้องมีจุดยึดที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กอย่างน้อยหนึ่งจุดแม้ว่าจะไม่มีหน้าที่ต้องจัดหาที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก[1]

3. ความสามารถในการจ่ายได้ (Affordability) ของประชาชน

บทบัญญัติข้อนี้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงเป็นวงกว้างว่ากฎหมายนี้มีการออกมาโดยผ่านการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องโดยรอบคอบและรัดกุมหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มีการศึกษาว่าคนไทยโดยทั่วไปมีความสามารถในการจ่ายเพื่อซื้อที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กหรือไม่ เนื่องจาก ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กมีราคาสูง โดยมีราคาตังแต่ 3,000-20,000 บาท 

ขณะที่หลายประเทศต่างมีมาตรการช่วยเหลือให้ประชาชนสามารถซื้อที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กได้ในราคาที่ถูกลง  เช่น สหราชอาณาจักร รัฐได้กำหนดมาตรการที่เป็นแรงจูงใจและเป็นการช่วยเหลือประชาชนผ่านการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มลงร้อยละ 5 สำหรับที่นั่งของเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปีหรือสูงต่ำกว่า 135 เซนติเมตร ขณะที่ประเทศมาเลเซีย รัฐมนตรีว่าการคมนาคมได้ประกาศยกเว้นภาษีนำเข้าที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กและประกาศลดภาษีสรรพสามิตจากร้อยละ 10 เหลือร้อยละ 5 เช่นเดียวกับในสาธารณรัฐเช็กที่ลดอัตราภาษีลงจากร้อยละ 21 เหลือเพียงร้อยละ 15 สำหรับที่นั่งสำหรับเด็กเนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นเพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง

จากข้อกังวลและความไม่แน่นอนในการบังคับใช้กฎหมาย สิ่งที่รัฐต้องเร่งดำเนินการมีสองส่วนคือ (1) ทำให้บทบัญญัตินี้ถูกบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความแน่นอนยิ่งขึ้น เพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ที่แท้จริงของการตราบทบัญญัตินี้คือความปลอดภัยของผู้โดยสารที่มีอายุน้อย และ (2) ช่วยเหลือให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กได้ โดยไม่เป็นภาระจนเกินควร

แนวทางดำเนินการต่อไปของรัฐคือ

  1. ควรมีการประชาสัมพันธ์วิธีการใช้งานที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กที่ถูกต้อง โดยอาจจัดทำไกด์ไลน์หรือคำแนะนำโดยละเอียดสำหรับผู้ใช้งานว่ารถชนิดไหนให้จึงจะติดตั้งอุปกรณ์ได้และควรติดในตำแหน่งใด
  2. กำหนดมาตรการช่วยเหลือประชาชนให้สามารถซื้อที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กได้ในราคาที่ถูกลง โดยอาจใช้มาตรการทางภาษี
  3. ภายใต้มาตรา 123 วรรคสาม[2] รัฐต้องประกาศข้อยกเว้นว่ารถยนต์ชนิดใดที่ไม่ต้องมีการติดตั้งที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดความแน่นอน มีมาตรฐาน และไม่เปิดช่องให้ต้องมีการตีความ ทั้งนี้ กฎหมายต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าผู้ใดมีหน้าที่ในการจัดให้มีที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก และใครมีความรับผิดหากฝ่าฝืนกฎหมาย และหากบังคับให้มีการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กบนรถโดยสารระหว่างเมือง รัฐต้องดำเนินทบทวนมาตรฐานเข็มขัดนิรภัยที่อนุญาตให้ผู้ประกอบการติดตั้งด้วย
  4. สุดท้ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการรับรองตลอดจนการตรวจสอบมาตรฐานที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กให้เป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล UNR44 หรือ UNR129 เพื่อให้อุปกรณ์มีความปลอดภัยและเหมาะสมกับการใช้งาน

พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 ที่กำหนดให้เด็กต้องนั่งที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กในขณะโดยสารรถยนต์ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและอัตราการบาดเจ็บบนท้องถนน อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวก่อให้เกิดความกังวลเรื่องของราคาอุปกรณ์ที่สูงกว่าที่คนไทย “ธรรมดา” จะสามารถซื้อหาได้ และยังขาดการให้ข้อมูลการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กที่ถูกต้อง ตลอดจนขาดการกำหนดประเภทของรถยนต์ที่เหมาะสมกับการใช้งาน ในระยะเวลา 120 วันก่อนกฎหมายนี้จะถูกบังคับใช้จึงเป็น “หน้าที่ของหน่วยงานรัฐ” ในให้ข้อมูลกับประชาชนในการใช้ที่นั่งนิรภัย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่เด็กอย่างแท้จริง ต้องกำหนดชนิดของรถยนต์ที่บังคับใช้ให้แน่นอนเหมาะสม ตลอดจนหาแนวทางให้ประชาชนเข้าถึงที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กได้เป็นการทั่วไป

บทความ โดย ดร. สุเมธ องกิตติกุล และ ดร. สลิลธร ทองมีนสุข


[1] ทั้งนี้ในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีต้องใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กในรถแท็กซี่โดยไม่มีข้อยกเว้น แต่ในรัฐอื่นๆ เด็กสามารถเดินทางด้วยแท็กซี่ได้โดยไม่มีนั่งนิรภัยสำหรับเด็กโดยกำหนดให้

o เด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปีต้องนั่งเบาะหลัง และสามารถนั่งบนตักของผู้โดยสารที่เป็นผู้ใหญ่โดยไม่ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย

o เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 – 7 ปีจะต้องนั่งในที่นั่งแถวหลังของรถแท็กซี่ (เว้นแต่ว่าที่นั่งเหล่านั้นมีเด็กอายุต่ำกว่า 7ปีคนอื่นนั่งอยู่) และต้องคาดเข็มขัดนิรภัยที่ปรับและรัดให้เหมาะสมที่สุดเท่าที่จะทำได้

[2] มาตรา 123 วรรคสาม บัญญัติว่า “ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กและที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตรายตาม (๒) (ข) และวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ ให้เป็นไปตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนด”


ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ