“สู้ให้ชนะ” บนความไม่เป็นธรรมกับผู้เสียหายในคดีการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ

กรณีรองหัวหน้าพรรคการเมืองก่อเหตุคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงหลายคน และกรณีค้ามนุษย์ที่มีผู้เสียหายเป็นเด็กและเยาวชนที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ล้วนมีผู้กระทำผิดที่เคยก่อเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันหลายครั้งในอดีต นำไปสู่คำถามว่าเหตุใดกฎหมายจึงไม่สามารถเอาผิดคนเหล่านี้ตั้งแต่เมื่อกระทำผิดครั้งแรกจนสามารถก่อคดีทำร้ายคนจำนวนมากในภายหลัง แน่นอนว่าการใช้อำนาจโดยมิชอบของบุคคลใกล้ชิดผู้กระทำผิดนั้นเป็นปัจจัยสำคัญ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยยังมีช่องว่างในกระบวนการยุติธรรมและค่านิยมทางสังคมที่ทำให้ผู้เสียหายจากการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศเสียเปรียบอยู่หลายประการ จนมีคำกล่าวว่าถึงสู้ไปก็ไม่ชนะ โดยอาจแบ่งตามขั้นตอนการดำเนินคดีดังนี้

ขั้นแรกคือการแจ้งเหตุ ค่านิยมที่ชายเป็นใหญ่และด้อยค่าผู้หญิงที่ผ่านเรื่องเพศไม่ว่าจะยินยอมหรือไม่ก็ตามยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้เสียหายจำนวนมากไม่กล้าแจ้งเหตุ หรือหากแจ้ง ตำรวจมักถามหาถึงพยานหลักฐานที่เห็นชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่จะพิสูจน์ได้ว่าผู้เสียหายโดนคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศจริงถึงจะรับแจ้งความไว้ ซึ่งมีกรณีผู้เสียหายที่รู้สึกว่าถูกคุกคามทางเพศด้วยวาจาหรือท่าทาง เช่น ถูกสะกดรอยตามหรือส่งข้อความตื้อ แต่ตำรวจกลับไม่รับแจ้งความเพราะยังไม่ได้มีความเสียหายที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้น และอาจมองว่าการคุกคามหรือการล่วงละเมิดที่เป็นการกอด จูบ ลูบคลำไม่ใช่เรื่องใหญ่และเป็นธรรมชาติของผู้ชายที่ต้องมีความคึกคะนองและแสดงออกทางเพศ

กระบวนการยุติธรรมและค่านิยมที่ไม่เป็นมิตรต่อผู้หญิงนี้เองอาจทำให้ปัญหาการคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศกลายเป็นเรื่องที่ถูกทำให้เงียบ ข้อมูลการสำรวจประจำปีของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลระบุว่า ผู้หญิงไทยไม่ต่ำกว่า 70% เคยถูกคุกคามทางเพศแต่เลือกที่จะไม่แจ้งเหตุ ดังนั้น การที่ผู้เสียหายหลายรายในกรณีรองหัวหน้าพรรคออกมาบอกเล่าเรื่องราวของตนและดำเนินคดีจึงถือเป็นการกระทำที่กล้าหาญและน่าชื่นชม

นอกจากนี้ ข้อจำกัดทางบุคลากรยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การแจ้งเหตุมีน้อย ในปี 2564 พนักงานสอบสวนหญิงมีจำนวนประมาณ 700 คน หรือไม่ถึง 10% ของพนักงานสอบสวนทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ หนึ่งหมื่นคนทั่วประเทศ สถานีตำรวจบางแห่งอาจไม่มีพนักงานสอบสวนหญิงประจำอยู่ ซึ่งประสบการณ์ถูกคุกคามและล่วงละเมิดนั้นเป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่ยากต่อการเล่าให้คนแปลกหน้าฟังอยู่แล้ว ผู้เสียหายที่มักเป็นผู้หญิงอาจไม่กล้าที่จะเล่าเหตุการณ์ให้พนักงานสอบสวนผู้ชายฟัง และในกรณีแรงงานข้ามชาติหญิงซึ่งถือเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง ก็ต้องพบข้อจำกัดในการเข้าแจ้งความร้องทุกข์เพราะล่ามแปลภาษาตามสถานีตำรวจยังมีน้อยมาก หรือในบางกรณีผู้เสียหายก็จะต้องประสานไปยัง NGOs เองเพื่อให้ช่วยจัดหาล่ามให้ รายงาน ILO (2021) ระบุว่าแรงงานข้ามชาติหญิงหลายคนประสบกับการถูกคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศในไทย แต่จำนวนคดีความกลับมีน้อยมาก

ขั้นที่สองคือการสอบสวนและรวบรวมหลักฐาน ในหลายกรณีผู้เสียหายต้องกลับไปสถานที่เกิดเหตุเพื่อแสดงให้ตำรวจดูว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งสร้างทั้งความอับอายและซ้ำเติมบาดแผลทางจิตใจให้แก่ผู้เสียหาย รวมถึงการที่ฝ่ายผู้กระทำผิดพยายามใช้หลักฐานอื่นโจมตีผู้เสียหาย เช่น ข้อความในเชิงชู้สาว รูปถ่ายในชุดวาบหวิว หรือแม้แต่การที่ผู้เสียหายไม่ปฏิเสธพฤติกรรมคุกคามอย่างชัดแจ้ง เพื่อพิสูจน์การให้ความยินยอม เนื่องจากกฎหมายมองว่าหากมีความยินยอมเกิดขึ้นในการกระทำความผิดที่กล่าวอ้าง ย่อมไม่ถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้เสียหายที่จะมีอำนาจในการฟ้องร้องหรือแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีได้ การพิสูจน์ความยินยอมเป็นประเด็นที่ซับซ้อนและอาจส่งผลเสียต่อผู้เสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสังคมมีการคาดหวังให้ผู้หญิงต้องมีพฤติกรรมบางอย่างจึงจะถือเป็น “ผู้หญิงที่ดี” และสามารถเป็นผู้ถูกกระทำได้ โดยไม่ได้พิจารณาถึงโครงสร้างเชิงอำนาจ เช่น การที่ผู้เสียหายไม่ปฏิเสธคำพูดแทะโลมเพราะผู้กระทำผิดเป็นเจ้านาย ลูกค้าหรือผู้มีอิทธิพลที่ให้คุณให้โทษได้ รวมถึงการที่สังคมไทยไม่ได้สนับสนุนให้ผู้หญิงกล้าปฏิเสธอย่างแข็งกร้าว

ขั้นที่สามคือการดำเนินคดีในศาล การพิจาณาคดีของศาลยุติธรรมในคดีอาญาใช้ระบบกล่าวหา ซึ่งทำให้ผู้เสียหายต้องพิสูจน์ว่าตัวเองถูกกระทำจริง เนื่องจากกฎหมายจะมีหลักการพื้นฐานคือ การสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ากระทำความผิด ดังนั้นหากผู้เสียหาย (โจทก์) ไม่สามารถพิสูจน์ความผิดของผู้กระทำ (จำเลย) ได้ ก็จะทำให้ผู้กระทำพ้นข้อกล่าวหานั้นไป ซึ่งการต้องเล่าเหตุการณ์ถูกคุกคามและล่วงละเมิดอย่างละเอียดให้ทุกคนในศาลฟังอีกครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายจำเลยมีการตั้งคำถามถึงความยินยอมที่สื่อไปทางกล่าวโทษผู้เสียหาย เช่น คุณแต่งกายยังไง ดึกดื่นออกไปเจอเขาทำไม หรือทำไมกินเหล้าจนเมามาย  และบางครั้งการอธิบายว่าตัวเองถูกกระทำอะไรบ้างอาจจะเป็นไปไม่ได้เลยหากผู้เสียหายไม่สามารถจำเหตุการณ์ได้เพราะถูกทำให้หมดสติ หรืออยู่ในอาการช็อค สับสน หรือหวาดกลัว

นอกจากนี้ บทลงโทษยังไม่จูงใจให้เอาผิด ซึ่งสำหรับกรณีการคุกคามทางเพศที่ไม่ได้มีลักษณะเข้าข่ายความผิดถึงขั้นกระทำอนาจาร หรือการข่มขืนกระทำชำเรา ก็อาจเข้าข่ายความผิดในมาตรา 397 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นเพียงความผิดลหุโทษและมีโทษสูงสุดเพียงการระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเท่านั้น หรือมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งได้มีการห้ามมิให้นายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงานหรือผู้ตรวจงาน กระทำการล่วงเกิน คุกคามหรือก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเพศต่อลูกจ้าง ก็มีเพียงโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท โดยที่ลูกจ้างไม่ได้รับเงินค่าปรับนั้นแต่อย่างใด ซึ่งสำหรับผู้เสียหายแล้วบทลงโทษอาจไม่คุ้มกับค่าทนาย ระยะเวลาในการดำเนินคดี และความอับอายจากการถูกตีตรา 

ขั้นสุดท้ายคือการชดเชยและช่วยเหลือผู้เสียหาย แม้ว่าผู้เสียหายจะสามารถขอรับค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ ค่าตอบแทนกรณีถึงแก่ความตาย ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ หรือค่าอื่นๆ ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 แต่กฎหมายก็ยังคงจำกัดความผิดที่กระทำต่อผู้เสียหายไว้ โดยจะต้องเป็นความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 ถึง 287 ที่เป็นการข่มขืนกระทำชำเรา หรือการกระทำอนาจาร แต่ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงกระทำการอันควรขายหน้าต่อหน้าธารกำนัลโดยเปิดเผยร่างกาย หรือกระทำการลามก ตามมาตรา 388 หรือการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ตามมาตรา 397 ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่สมควรถูกเมินเฉยหรือให้ความสำคัญในการเยียวยาน้อยไปกว่ากรณีความผิดอื่น

จะเห็นได้ว่า ยังมีช่องว่างหลายประการในกระบวนการยุติธรรมไทยที่ไม่เป็นมิตรต่อผู้เสียหายจาก การคุกคามและการล่วงละเมิดทางเพศ และอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้กระทำผิดกล้าก่อเหตุซ้ำได้อีก จึงควรต้องปิดช่องว่างดังกล่าวด้วยการเพิ่มจำนวนพนักงานสอบสวนหญิงและล่ามแปลภาษา การพิจารณาใช้ระบบไต่สวนแทนระบบกล่าวหาในคดีที่เกี่ยวกับเพศ รวมไปถึงการที่สังคมจะต้องมาร่วมกันสู้กับผู้เสียหายให้ชนะผู้กระทำผิด โดยเปลี่ยนค่านิยมทางสังคมที่จะไม่ตีตราและสนับสนุนให้ผู้เสียหายกล้าออกมาแจ้งเหตุ ซึ่งจะเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยหยุดพฤติกรรมคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศได้

บทความโดย ดร.บุญวรา สุมะโน และ ชาตบุษย์ ฮายุกต์


ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ