วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยเป็นอย่างมาก การสร้างโอกาสใหม่ๆในการขายสินค้า/บริการเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยสร้างรายได้นำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้ได้ต่อยอดธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้น หรือช่วยต่อลมหายใจให้ SME หลายๆรายสามารถประคับประคองธุรกิจของตนให้รอดพ้นช่วงวิกฤติไปได้
ที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐได้ออกมาตรการสนับสนุนให้ SME สามารถเข้าถึงช่องทางตลาดทั้งที่เป็นลูกค้าประชาชนทั่วไป (B2C) ลูกค้าห้างร้านบริษัทเอกชน (B2B) รวมทั้งลูกค้าหน่วยงานภาครัฐ (B2G) ผ่านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยกรมบัญชีกลางได้ออกกฎกระทรวง กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 กำหนดสิทธิประโยชน์สำหรับ SME ในตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
อีกทั้งกำหนดให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนการเข้าถึงตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้ให้แก่ SME กว่า 5.5 แสนล้านบาทในปี 2564 สสว.จึงมีแนวคิดที่จะขยายผลการขับเคลื่อนไปสู่ตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชน
อย่างไรก็ตาม แม้การจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชนจาก SME จะมีความคล้ายคลึงกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในบางประเด็นและอาจใช้กลไกหรือเครื่องมือในการสนับสนุนบางอย่างร่วมกันได้บ้าง แต่ก็มีหลายประเด็นที่แตกต่างกันอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดซื้อ จัดจ้างภาคเอกชนไม่สามารถใช้ “การขอความร่วมมือแกมบังคับ” แต่จำเป็นต้องใช้ “การสร้างแรงจูงใจ” ให้ผู้ประกอบการเอกชน โดยเฉพาะผู้ซื้อรายใหญ่ซื้อสินค้า/บริการจาก SME มากขึ้น
สสว.จึงร่วมกับทีดีอาร์ไอ ศึกษาแนวทางการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชน ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลยุทธศาสตร์ นโยบาย และกลไกที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ และถอดบทเรียนจากมาตรการสนับสนุนให้เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของประเทศไทย เพื่อสรุปประสบการณ์ของประเทศต้นแบบ (Best practices) และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการและแนวทางที่หน่วยงานของไทยควรจะนำมาใช้ในการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชน
บทเรียนแรกจากมาตรการสนับสนุนให้รัฐจัดซื้อจัดจ้างจาก SME ที่น่าจะนำมาปรับใช้กับการสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชน คือการเตรียมรายการสินค้า/บริการที่มีความพร้อมให้ผู้ซื้อได้เลือกสรร ผู้ซื้อ ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนมีมุมที่คล้ายกันคือ ต่างก็ต้องการสินค้า/บริการในราคาที่เหมาะสม คุณภาพดี ในปริมาณที่ต้องการและทันเวลา แต่ปัญหาที่พบบ่อยคือผู้ซื้อไม่รู้จะไปหาผู้ขายที่ให้ของเหล่านั้นได้ที่ไหน
ปัจจุบันมีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการทำแพลตฟอร์ม THAI SME-GP ให้ SME ที่ต้องการเป็นคู่ค้ากับภาครัฐขึ้นทะเบียนกับ สสว. และในอนาคตอันใกล้นี้แพลตฟอร์มดังกล่าวจะได้รับการพัฒนาให้ครอบคลุมไปถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชนด้วย
จากข้อมูลเดือน มิ.ย.2565 มี SME ที่ ขึ้นทะเบียนผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว 1.3 แสน ราย และมีรายการสินค้าและบริการพร้อมขาย กว่า 1 ล้านรายการ แต่น่าจะยังมีอีกจำนวนมาก ที่ยังไม่รู้ว่าการขึ้นทะเบียนจะเป็นประโยชน์กับตัวเองอย่างไร หรือยังไม่ขึ้นทะเบียนเพราะติดขัดอุปสรรคบางประการ หรือคิดว่าไม่คุ้มที่จะขึ้นทะเบียน
สิ่งที่จำเป็น ซึ่งเป็นการบ้านของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังช่วยกันคิดและทำอยู่มีอย่างน้อย 2 ข้อที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสนับสนุนให้เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างทั้งภาครัฐและเอกชน คือ การเพิ่มจำนวนผู้ขึ้นทะเบียนให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสที่ผู้ซื้อ ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนได้รู้จัก SME ที่จะมาเป็นคู่ค้าได้มากขึ้น โดยเร่งประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้ SME ได้รู้และตระหนักถึงโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นจากการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นรูปธรรม
รวมทั้งการเสนอสิทธิประโยชน์ที่จับต้องได้และคุ้มค่าให้กับ SME ที่ลงทะเบียนและการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อจัดกลุ่ม SME ตามระดับความสามารถและความน่าเชื่อถือ เพื่อเพิ่มโอกาสที่ผู้ซื้อจะได้ “ของตรงปก” ตามต้องการ ซึ่งจำเป็นต้องมีการประสานขอและแบ่งปันการใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่ และอาจต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมเพื่อเก็บข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการตัดสินใจของผู้ซื้อ
อีกบทเรียนหนึ่งคือ การสนับสนุนให้ผู้ซื้อ ซื้อสินค้าและบริการจาก SME ให้มากขึ้น ทั้งในด้านจำนวนคู่ค้าและมูลค่าการซื้อขาย ซึ่งจะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้เลย หาก SME เองยังไม่ “ต๊าช” หรือเก่งมากพอ แม้รัฐจะออกกฎระเบียบที่เอื้อให้ SME มีโอกาสมากขึ้น โดยให้แต้มต่อกับ SME ที่ ขึ้นทะเบียนเพื่อการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐไว้กับ สสว. สามารถเสนอราคาสูงกว่าผู้ประกอบการทั่วไปได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของราคาต่ำสุดของผู้ประกอบการทั่วไป
หรือหากเป็น SME ที่ขึ้นทะเบียนกับ สสว.และได้รับการรับรอง Made in Thailand จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยด้วย สามารถเสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุดได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของผู้ประกอบการทั่วไป รวมทั้งการให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างจาก SME เป็นลำดับแรกก่อน กรณีวงเงินจัดซื้อจัดจ้างไม่เกิน 5 แสนบาทต่อครั้ง
แต่หากสินค้าและบริการของ SME ตกเกณฑ์คุณภาพหรือเงื่อนไขอื่นๆ ก็จะยังขายของไม่ได้อยู่ดี ดังนั้น หัวใจสำคัญของการสนับสนุนจึงไม่ได้จำกัดเพียงแค่การหามาตรการบังคับหรือจูงใจผู้ซื้อเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่การพัฒนาช่วยเหลือให้ SME มีขีดความสามารถทางการแข่งขัน เก่งและกล้าดำเนินธุรกิจที่ตอบโจทย์ลูกค้า สังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย
ประเทศไทยมี SME ที่เก่งและกล้าอยู่ไม่น้อย แต่เราจะทำอย่างไรให้มี SME ที่เก่งและกล้ามากขึ้น และทำให้มีโอกาสได้เจอกับผู้ซื้อรายใหญ่
โจทย์นี้มีความท้าทายมากและต้องการการร่วมแรงร่วมใจจากหลายฝ่ายในการออกแบบและขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุน ส่งเสริม อำนวยความสะดวกและกำกับดูแลอย่างเหมาะสม เพื่อให้ SME สามารถขยายตลาด มีรายได้เพิ่มขึ้น มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น จนสามารถอยู่รอดและเติบโตได้อย่างเข้มแข็งต่อไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดบทความสร้างโอกาสให้แก่ SME ผ่านการจัดซื้อ จัดจ้างภาคเอกชน สนับสนุนโดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในตอนต่อไปจะเป็นการถอดบทเรียน จากต่างประเทศ (Best practices) ที่ควรนำมาปรับใช้กับบริบทในประเทศไทย
บทความ โดย ณัฐวุฒิ ลักษณาปัญญากุล และ ยศ วัชระคุปต์
เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 14 กรกฎาคม 2565
หมายเหตุ ทีดีอาร์ไอ ร่วมกับ สสว. จะจัดงาน เสริมกลยุทธ์ SME เข้าสู่ตลาดเอกชน ไม่ยาก…อย่างที่คิด! ในวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ตามรายละเอียดด้านล่างนี้ เพื่อผู้สนใจได้ร่วมรับฟังผลการศึกษาแนวทางการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชน
ท่านที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่นี่ (ภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2565)