กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) มีความสำคัญทั้งในด้านของการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และในด้านของการกำกับดูแลการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งปัจจุบันมีความสำคัญทั้งกับภาคธุรกิจและการดำเนินภารกิจของหน่วยงานของรัฐ
อย่างไรก็ดี เมื่อไม่นานมานี้ หลังจาก พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ใช้บังคับมาได้เพียง 1 เดือน คณะรัฐมนตรีได้มีมติและเห็นชอบหลักการของพระราชกฤษฎีกายกเว้นการบังคับใช้ พ.ร.บ.ให้กับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลในหน่วยงานของรัฐ เพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคงของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ การจัดเก็บภาษีของหน่วยงานรัฐ การดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ การดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศ การดำเนินการของหน่วยงาน ศาล อัยการ และผู้บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งขอบเขตของการยกเว้นดังกล่าวค่อนข้างกว้าง และอาจกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศ
ในด้านสิทธิและเสรีภาพของประชาชน พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ทำหน้าที่เสมือนผ้าเบรกช่วยลดการ แทรกแซงสิทธิความเป็นส่วนตัวและคุ้มครองสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล โดยการกำหนดมาตรฐานและวิธีการในการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล
การยกเว้นการบังคับใช้ พ.ร.บ.นั้น มีความน่ากังวลในประเด็นนี้ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือขอบเขตของการยกเว้น ซึ่งตามร่างพระราชกฤษฎีกานี้มีการยกเว้นการนำกฎหมายมาใช้ในเรื่องสำคัญๆ ได้แก่ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล การร้องเรียน ความรับผิดทางแพ่ง และบทกำหนดโทษ โดยเปิดโอกาสให้หน่วยงานของรัฐลอยนวลพ้นผิดจากการละเมิดสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลในรูปแบบต่างๆ
เรื่องที่สอง วัตถุประสงค์ของการยกเว้น อาทิ การรักษาความมั่นคงของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และการดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะนั้นมีความไม่เฉพาะเจาะจง และไม่อาจคาดหมายได้ว่าจะมีความหมายเช่นไรขึ้นกับดุลยพินิจและการตีความของหน่วยงานรัฐ ซึ่งข้อยกเว้นดังกล่าวนั้นขยายออกไปจากข้อยกเว้นเดิมที่กฎหมายกำหนดไว้
ที่ผ่านมา ภาครัฐมีปัญหาในเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมาโดยตลอด ดังเช่นในปีที่ผ่านมาพบการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลจากหน่วยงานของรัฐ 5 ครั้ง ซึ่งรวมถึงข้อมูลสุขภาพที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหวที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองเป็นพิเศษ
ล่าสุด ภาครัฐยังมีประเด็นเกี่ยวกับการคุกคามความเป็นส่วนตัวของประชาชนที่น่ากังวลและไม่ชัดเจน จากกรณีที่มีนักกิจกรรมหลายคนถูกติดตามด้วยซอฟต์แวร์สปายแวร์บนโทรศัพท์มือถือ และ ถูกเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลรวมถึงข้อมูลพิกัดตำแหน่งบุคคลโดยผู้ใช้ไม่รู้ตัว
สิ่งที่เกิดขึ้นนำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความโปร่งใสและความรับผิดชอบของภาครัฐ ดังนั้น การยกเว้นการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ยิ่งอาจจะทำให้มีปัญหาให้หน่วยงานของรัฐใช้หรือเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลโดยปราศจากความรับผิดชอบและกลายเป็นการซ้ำเติมปัญหาวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดเมื่อเกิดการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล
ในทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ทำหน้าที่สำคัญในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเคลื่อนย้ายข้อมูลส่วนบุคคล ข้ามพรมแดน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่มีความจำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้ายข้อมูลส่วนบุคคลข้ามพรมแดน ดังจะเห็นได้จากกรอบความตกลงทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น RCEP หรือ CPTPP ที่กำหนดให้ประเทศภาคีต้องรับรองหลักการดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการทำให้ประเทศมหาอำนาจอย่างประเทศจีนต้องผ่านกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออกมาในปีที่ผ่านมา
หลักการสำคัญของการเคลื่อนย้ายข้อมูลส่วนบุคคลข้ามพรมแดนนั้น ให้ความสำคัญกับการส่งข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศผู้รับข้อมูลส่วนบุคคลนั้น จะต้องมีมาตรฐานในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เพียงพอไม่น้อยกว่าประเทศผู้ส่งข้อมูลส่วนบุคคล GDPR หรือ General Data Protection Regulation ของสหภาพยุโรป กำหนดว่ามาตรฐานที่เพียงพอนี้รวมถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายจะต้องไม่ถูกแทรกแซงโดยรัฐ หรือหน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของรัฐที่เป็นนิติรัฐที่มุ่งคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
ดังนั้น ผลของพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้เปิดช่องให้สามารถตีความรวมถึงไม่ได้รับรองสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลเอาไว้ก็อาจจะทำให้ประเทศไทยไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เท่าเทียมกันกับสหภาพยุโรป
นอกจากนี้ อิทธิพลของ GDPR ได้สร้างมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลใหม่ทั่วโลก หากประเทศไทยไม่มีมาตรฐานเทียบเท่า GDPR ก็จะมีผลให้ไม่มีมาตรฐานเทียบเท่ากับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศอื่น ส่งผลให้การเคลื่อนย้ายข้อมูลส่วนบุคคลเข้ามาในประเทศไทยทำได้ยาก และทำให้เอกชนของประเทศไทยอาจจะพลาดโอกาสในการเติบโตในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
ดังนั้นหากคณะรัฐมนตรียังต้องการผลักดันพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวต่อไป ต้องพิจารณาข้อน่ากังวลที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งสองประการข้างต้น และควรตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้เป็นสำคัญ
บทความ โดย เขมภัทร ทฤษฎิคุณ
หมายเหตุ บทความเผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 10 สิงหาคม 2565
ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ
- พินิจเศรษฐกิจการเมือง: สร้างเมืองใหม่…ให้ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ
- คิดยกกำลังสอง: ทรัมป์ 2.0…หนุนประสิทธิภาพรัฐ ?
- พินิจเศรษฐกิจการเมือง : ช่วยภาคการผลิต…ไม่ติดปัญหาท่วม-แล้ง ภาคอุตสาหกรรม – การท่องเที่ยว
- ขาดระบบเตือนภัย ทำ 3 จังหวัดชายแดนใต้วิกฤต
- การพัฒนาชุดข้อมูลการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Profile) ระดับจังหวัด ใน 15 จังหวัดเป้าหมาย