tdri logo
tdri logo
26 กันยายน 2022
Read in Minutes

Views

ปิดช่องโหว่ ‘คดีแชร์ลูกโซ่’

คดี Forex 3D ไม่ใช่คดีแรกที่มีประชาชนจำนวนมากถูกฉ้อโกง และมีผู้มีหน้ามีตาในสังคมถูกดำเนินคดี คดีลักษณะนี้เกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน

สำหรับคดี Forex3D เป็นการฉ้อโกงประชาชนที่พัฒนารูปแบบจากแชร์ลูกโซ่ดั้งเดิม มาสู่การหลอกลวงที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยอิงกับการลงทุนที่คนกำลังให้ความสนใจ เช่น การลงทุนในตลาดหุ้นไทย ตลาด แลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ และตลาดสกุลเงินดิจิทัล

คดี Forex 3D ที่ยังอยู่ในกระบวนการสืบสวนสอบสวนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนั้น เป็นการหลอกลวงเชิญชวนให้ประชาชนเข้ามาร่วมลงทุนซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ (Forex) ผ่านเว็บไซต์ www.forex-3D.com สร้างความเสียหาย ต่อประชาชนชนเป็นวงกว้างและยากต่อการตรวจสอบ โดยมีผู้หลงเชื่อตกเป็น ผู้เสียหายราว 8,436 คน มีมูลค่าความเสียหายรวมจำนวนกว่า 2,000 ล้านบาท

รูปแบบของแชร์ลูกโซ่ในปัจจุบันมักเปิดเป็นบริษัทบังหน้า หรือมีการอ้างตนเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการลงทุนและเชิญชวนให้ลงทุน โดยการโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มสื่อโซเชียลมีเดีย สร้างภาพลักษณ์ให้ตน ดูร่ำรวย ใช้ชีวิตหรูหรา อาศัยกลุ่มบุคคลที่มีชื่อเสียง ดารา เน็ตไอดอล หรือแม้กระทั่งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาสนับสนุนสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจ

ส่วนเงินที่ได้มาจากการหลอกลวงจะสูญเสียไปกับการซื้อทรัพย์สินเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้แก่ตนเอง และนำไปหมุนเวียนจ่ายเป็นผลตอบแทนแก่ผู้ร่วมลงทุนใน ชั้นแรกๆ ทำให้เงินของผู้เสียหายไม่สามารถตามคืนกลับมาได้ ซึ่งการกระทำเช่นนี้เข้าข่ายเป็นการฟอกเงินตามกฎหมายการฟอกเงินอีกด้วย

การกำกับดูแลแชร์ลูกโซ่มีกฎหมายหลัก ที่ใช้มานานกว่า 40 ปี คือ พระราชกำหนดการ กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 และอีกฉบับคือ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542  โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบหลัก คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

หากเป็นกรณีที่มีผู้เสียหายเป็นจำนวนมากและมีวงเงินความเสียหายตามเกณฑ์ ที่กำหนด จะเป็นคดีพิเศษภายใต้ DSI นอกจากนี้ยังมีสำนักงานป้องกันและ ปราบปรามการฟอกเงิน ที่รับผิดชอบด้านการยึดและอายัดทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำ ความผิด

ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และกระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงาน ที่ผู้เสียหายสามารถไปร้องเรียนได้ แต่ไม่มีอำนาจสอบสวน ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้การร้องทุกข์และดำเนินคดีล่าช้า เพราะก่อภาระต้นทุนด้านเวลาเพิ่มเติมแก่ผู้เสียหาย อีกทั้งผลจากความล่าช้า อาจส่งผลให้ผู้ฉ้อโกงไหวตัวทันว่าจะถูกดำเนินคดี จึงทำการโอนย้ายถ่ายเททรัพย์สินที่ได้จากการกระทำผิดออกนอกประเทศ

นอกจากความล่าช้าที่สร้างผลกระทบ หลายทางแล้ว โอกาสที่เจ้าหน้าที่จะกวาดล้างแชร์ลูกโซ่ให้หมดไปนั้นยังเป็นไปได้ยาก ถึงแม้จะมีกฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานแล้วก็ตาม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ แชร์ลูกโซ่เป็นคดีที่ต้องมีพยานหลักฐานถึงสามารถเอาผิดผู้ฉ้อโกงได้ หากยังไม่มีความ เสียหายเกิดขึ้นและไม่มีการร้องทุกข์เจ้าหน้าที่ ก็ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการใดๆ

ถึงแม้จะมีการดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว แต่กฎหมายกลับมีช่องโหว่ด้าน บทลงโทษ ที่หากเทียบกับต้นทุนของการ กระทำความผิดหรือบทลงโทษที่อาชญากรจะได้รับนั้นน้อยกว่าทรัพย์สินที่ได้จากการหลอกลวงหรือฉ้อโกงประชาชน ทำให้ ผู้ฉ้อโกงอาจไม่เกรงกลัวต่อโทษที่จะได้รับเช่น คดีแชร์ชม้อย หรือคดีนางชม้อย ทิพย์โส มีมูลค่าความเสียหายกว่า 4,000 ล้านบาท แม้จะถูกตัดสินจำคุกแสนกว่าปี แต่ตามกฎหมายกำหนดให้ผู้กระทำผิดรับโทษสูงสุดได้ 20 ปี และท้ายที่สุดนางชม้อยกลับถูกจำคุก 7 ปี 11 เดือน 5 วัน

จึงเป็นที่ปรากฏว่า บางคดีแชร์ลูกโซ่มีกลุ่มคนกลุ่มเดิมเป็นผู้ฉ้อโกง หรืออาจเป็นผู้เสียหายในคดีก่อนที่ผันตัวมาเป็นผู้ฉ้อโกงเสียเองเพราะต้องการเงินที่ สูญเสียคืน อีกทั้งปัจจุบันยังพบว่ากลุ่ม ผู้เสียหายไม่ใช่กลุ่มผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่เป็นกลุ่มชนชั้นกลางที่รายได้ไม่พอกับ รายจ่ายและต้องการหารายได้เพิ่ม รวมทั้งกลุ่มที่มีฐานะดีที่ต้องการความมั่งคั่ง ต้องการหาประโยชน์จากการเก็งกำไรในระยะสั้นแม้รู้ว่าเสี่ยงถูกหลอกลวงก็ตาม

แชร์ลูกโซ่ถือว่าเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความเสียหายในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ทำให้เงินไหลออกนอกระบบ สร้างปัญหาหนี้สิน และสร้างพฤติกรรมเลียนแบบหวังรวยลัดโดยสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ดังนั้น ปัญหาแชร์ลูกโซ่ควรมีการดำเนินการทั้งการป้องกันและการปรามปราบ ดังนี้

– หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันทำงานเชิงรุก (ป้องกัน) มากกว่าเชิงรับ (ปราบปราม) โดยธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งต้องให้ความร่วมมืออย่างเข้มงวดในการรายงานธุรกรรมทางการเงินที่ต้องสงสัยให้กับสำนักงาน ปปง. ภายใต้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเพื่อเร่ง ดำเนินการตรวจสอบและระงับเหตุก่อนเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง

อีกหน่วยงานคือ สำนักงาน กลต. ควรสอดส่องการใช้การสร้างกลุ่มเพื่อชี้ชวนการลงทุนในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โดยไม่ได้รับใบอนุญาตที่ปรึกษา การลงทุนจาก กลต. ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีการใช้ช่องทางนี้อย่างแพร่หลายโดยผิด กฎหมาย

– ควรกำหนดให้มีหน่วยงานหลัก รับผิดชอบในการรับเรื่องร้องเรียน แล้วส่งต่อเรื่องไปยังหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนดำเนินคดี เพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างมีระบบ รวดเร็ว และสอดคล้องกับรูปแบบกลโกงที่เปลี่ยนไป เพื่อลดภาระต้นทุนการร้องทุกข์ของผู้เสียหาย จากการที่มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบและทำงานแบบ แยกส่วน

– ทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์และทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ โดยดำเนินการทบทวนและประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 โดยเฉพาะในเรื่องอัตราโทษว่ายังมีความคุ้มค่ากับภาระที่เกิดขึ้นแก่รัฐ ในดำเนินติดตามคดีและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนหรือไม่ เนื่องจากกฎหมายบังคับใช้มาเป็นระยะเวลาเกือบ 40 ปี

ประการสุดท้าย คือการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจประชาชนเกี่ยวกับกลโกงแชร์ลูกโซ่และผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันป้องกันการตกเป็นเหยื่อหรือแม้กระทั่งการเป็นผู้ฉ้อโกงเสียเอง

บทความ โดย ชณิสรา ดำคำ

เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 8 กันยายน 2565


ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ

นักวิจัย

ชณิสรา ดำคำ
นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด