โครงการ CASE เชิญตัวแทนเอกชน ประชาสังคม และวิชาการให้ข้อเสนอรัฐบาล เพื่อรักษาคำมั่นพาไทยบรรลุ Carbon Neutrality 2050

องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ), กระทรวงเศรษฐกิจ และการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศแห่งรัฐบาลเยอรมัน (BMWK), สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ERI) และ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมกันจัดเวทีเสวนา “ทบทวนคำสัญญาผู้นำไทยกับความเป็นไปได้สู่เวทีCOP27”   ในงานเสวนาสาธารณะ “จาก COP26 สู่ COP27: เดินหน้าภาคพลังงานสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน2050”  ณ โรงแรม แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ 

โดยได้รับเกียรติจาก คุณจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม(สผ.) คุณอาทิตย์ เวชกิจ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ศ.ดร. พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการด้านพลังงานและคุณสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ ซึ่งเป็นตัวแทนจากทุกภาคส่วน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนอภิปรายถึงความคืบหน้าและให้ข้อเสนอต่อการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) จากคำมั่นสัญญาผู้นำไทยใน COP26 และการเข้าร่วม COP27 ในช่วงเดือน พ.ย.นี้

คุณจิรวัฒน์ ระติสุนทร  รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้นำเสนอ ความคืบหน้าของการดำเนินงานของภาครัฐในการปฏิบัติตามคำมั่นที่ผู้นำไทยได้ให้ไว้ในการประชุม COP26 โดยระบุว่าประเทศไทยมีมาตรการขับเคลื่อนการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจก ที่เหมาะสมกับภาคการปล่อยคาร์บอนจาก 4 แหล่ง ได้แก่ ภาคพลังงาน/ขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม ของเสีย และภาคเกษตร และภาคที่ช่วยดูดซับคือ ภาคป่าไม้ ซึ่งมีความท้าทายอยู่มาก เนื่องจากภาคป่าไม้มีศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนได้น้อยกว่าการปล่อยคาร์บอนจากทั้ง 4แหล่ง  อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้วางหมุดหมาย Roadmap ในการใช้เทคโนโลยีและมาตรการลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อให้ทันกับกรอบเวลาที่กำหนด และรายงานต่อเวที COP27 ในปีนี้  

คุณจิรวัฒน์ ย้ำว่า “ขณะนี้ประเทศไทยคืบหน้าไปแล้วในหลายด้านทั้งด้านนโยบาย และการกำกับดูแลที่ได้บรรจุมาตรการที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายลงในแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทที่เกี่ยวข้องรวมทั้งแผนพลังงานชาติ รวมทั้งอยู่ระหว่างการยกร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศพ.ศ….. ที่จะทำให้หลายเรื่องคืบหน้าในทางปฏิบัติ  เช่น การใช้คาร์บอนเครดิต กลไกทางการเงินและภาษีคาร์บอน เป็นต้น” 

คุณอาทิตย์ เวชกิจ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนมีความตระหนักและให้ความสำคัญอย่างมากต่อการลดการปล่อยคาร์บอน เนื่องจากหากไม่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนลงได้จะส่งผลให้เกิดการลดการผลิต ไปจนถึงย้ายฐานการผลิต ที่ผ่านมาภาคเอกชนได้ลงทุนและเดินหน้าเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนเท่าที่ภาคเอกชนจะสามารดำเนินการได้ แต่ยังมีส่วนที่สำคัญที่ภาครัฐเท่านั้นที่มีอำนาจดำเนินการได้ เช่นโครงสร้างพื้นฐาน และกฏระเบียบ เป็นต้น  

คุณอาทิตย์ กล่าวสรุปสิ่งที่ต้องการจากภาครัฐ คือ ความชัดเจนและการสื่อสารที่ถูกต้องไม่ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนโดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับสัดส่วนพลังงานสะอาดของประเทศ เพื่อมีข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับการช่วยกันขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอน รวมทั้งการหนุนพลังงานสะอาดไปพร้อม ๆ กับ Grid Modernization หรือการปรับปรุงพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้า และ ระบบจำหน่ายไฟฟ้า โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัย  เพื่อช่วยภาคเอกชนลดก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยทางอ้อมผ่านระบบไฟฟ้า ซึ่งเอกชนไม่สามารถลดได้เอง 

และยังได้เสนอแนะว่าโควต้าการดูดซับคาร์บอน ควรวางแผนจัดสรรให้ภาคการเกษตรก่อนภาคพลังงาน เนื่องจากภาคการเกษตรไม่มีเทคโนโลยีในการลดคาร์บอนมากนัก  นอกจากนั้น การผลักดัน Green Financing taxonomy ที่ปัจจุบันมีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นเจ้าภาพอยู่ จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งทุนในการลดคาร์บอนได้ 

ด้าน คุณสฤณี อาชวานันทกุล ได้แสดงความคิดเห็นต่อ คาร์บอนเครดิต ว่าการเดินหน้าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตมีความคืบหน้าที่ดี แต่แนวทางหลักควรจะเป็นการปรับลดคาร์บอนโดยตรงให้ได้ ส่วนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นกลไกเสริม และต้องระมัดระวังไม่ใหการซื้อขายคาร์บอนเครดิตกลายเป็นเพียง Green washing 

คุณสฤณี มองว่าประเทศไทยควรเน้นนโยบายด้านการปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ และการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นหลัก เนื่องจากสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนของประเทศไทย ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ โดยมีสิ่งที่น่ากังวลคือ ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศ ที่มีความเปราะบางต่อผลกระทบจากภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงติด 1 ใน 10 ของโลก  จึงควรเน้นวางนโยบายเพื่อการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบดังกล่าว ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสีย ความเสียหายต่อประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม  

นอกจากนี้ ภาครัฐต้องส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (just transition) ด้วยการปฏิรูปโครงสร้างการจัดการพลังงาน หนุนการผลิตไฟฟ้ากระจายศูนย์ ให้ประชาชนได้เป็นทั้งผู้ใช้และผู้ผลิตไฟฟ้า (Prosumer) เพื่อความมั่นคงทางพลังงานและราคาที่เป็นธรรม

ด้าน ศ.ดร. พรายพล คุ้มทรัพย์ ได้แสดงความเห็นต่อแผน PDP 2022 ที่ควรต้องมีการแก้ไขเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดให้มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ในอีก 15 ปีข้างหน้า และแสดงความกังวลต่อสัดส่วนการใช้พลังงานฟอสซิลที่ยังสูงถึง 57 เปอร์เซ็นต์  โดยเสนอให้มีการจำกัดการปล่อยคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรมให้ชัดเจนโดยเร็ว และสำหรับภาคขนส่งควรมีนโยบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบมีและไม่มีเงื่อนไขการผลิตอีวีในประเทศ เพื่อเร่งให้เกิดการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น รวมทั้งเร่งสร้างทางรถไฟรางคู่ เพื่อทดแทนการขนส่งด้วยรถบรรทุกทางถนน 

นอกจากนี้ ศ.ดร. พรายพล แสดงความเห็นด้วยกับ ข้อเสนอนโยบายส่งเสริม prosumer เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม โดยรัฐบาลควรทำอย่างจริงจังและทำอย่างต่อเนื่อง รัฐควรรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่ราคาเหมาะสม ซึ่งราคารับซื้อปัจจุบันที่ 2 บาทกว่าถือว่าต่ำเกินไป

ในช่วงสุดท้ายของการเสวนา ตัวแทนทุกภาคส่วนได้ฝากทิ้งท้ายถึงข้อเสนอต่อ สผ.และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงพลังงาน ที่จะเป็นตัวแทนไทยเข้าร่วมประชุม COP27 โดย ศ.ดร. พรายพล คุ้มทรัพย์ เห็นว่า ประเทศไทยไม่ควรขยับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และ Net zero ให้เร็วขึ้นหรือช้าลงกว่าเดิม สิ่งที่ต้องทำคือควรให้คำมั่นในสิ่งที่ยังไม่ได้ทำ นั่นคือ คำมั่นต่อการยกเลิกการใช้ถ่านหิน และการให้ความชัดเจนต่อการขยับเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่สูงขึ้น 

เช่นเดียวกับ คุณอาทิตย์ เวชกิจ ที่มองว่าประเทศไทยควรแก้ไขแผน PDP และลดการใช้ฟอสซิลลงอีก และสัดส่วนพลังงานสะอาดควรไปถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเรื่องนี้กระทบหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ ความพยายามส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เพราะหากการผลิตไฟฟ้ายังไม่สะอาด นโยบายส่งเสริมใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อช่วยลดคาร์บอนก็จะสูญเปล่า  นอกจากนี้รัฐบาลต้องชัดเจนต่อการสนับสนุน Prosumer ในการผลิตไฟฟ้า เพราะปัจจุบันภาครัฐเน้นการกำกับแบบคุมกำเนิดมากกว่าส่งเสริม

ด้าน คุณสฤณี อาชวานันทกุล มองว่า เวที COP27 ประเทศไทยควรแสดงจุดยืนต่อประชาคมในด้านความเปราะบางต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ปล่อยคาร์บอนมากเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศไทยจึงควรร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่มีความเปราะบาง ต่อรอง เจรจาการให้ความสนับสนุนจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว  

ก่อนจบการเสวนา คุณจิรวัฒน์ ระติสุนทรในฐานะตัวแทนภาครัฐที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประชุม COP27 ระบุว่า ตนขอรับข้อเสนอแนะจากการเสวนาในครั้งนี้ ไปเพิ่มเติมปรับปรุงให้การจัดทำนโยบายและการดำเนินงานบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และ คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยแจ้งว่าการเข้าร่วมของไทยในปีนี้ นอกจากจะไปรายงานว่าประเทศไทยมีความคืบหน้าในการไปสู่เป้าดังกล่าวอย่างไรแล้ว  ยังมีความตั้งใจไปแสวงหาความร่วมมือกับนานาประเทศและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับภาษีคาร์บอน กลไกทางการเงิน เพื่อนำมาปรับปรุง ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ….. เพื่อหนุนให้ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์สูงสุด

รัชมงานเสวนาย้อนหลังที่นี่