เชื่อว่าหลายท่านเคยมีประสบการณ์ “อิน” กับซีรีส์หรือภาพยนตร์รักที่กว่าจะ Happy Ending ต้องปาดเหงื่อลุ้นเอาใจช่วยให้ตัวเอก “เปลี่ยนลุกส์” หรือ “อัปเวล” เพื่อจะฝ่าฟันอุปสรรคและพิชิตใจตัวเอกอีกตัวจนได้
การออกแบบมาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชนก็คล้ายกับการเขียนบทซีรีส์รักดังกล่าว วันนี้จึงขอชวนมาช่วยกันลุ้นว่า ซีรีส์ตามชื่อบทความเรื่องนี้ที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ ทีดีอาร์ไอร่วมกันร่างบทไว้แล้วส่วนหนึ่ง จะทำให้ตัวเอกอย่าง SME สมหวังกับการขายสินค้า/บริการให้แก่องค์กรธุรกิจได้มากน้อยแค่ไหน
ปมของเรื่องคือ SME ไทยถูกใจองค์กรธุรกิจหนึ่งและอยากเข้าไปเป็นคู่ค้าด้วย แต่ยังไม่กล้า ไม่มั่นใจ และยังอาจไม่ดีพอที่จะทำให้องค์กรธุรกิจนั้นตอบตกลงด้วย
หนทางแก้ปมมีอยู่ 3 หนทางที่จะช่วยให้สมหวังได้ 1.การ “เสริมเสน่ห์” พัฒนาขีดความสามารถของ SME ให้มีความพร้อมในการขายสินค้า/บริการ 2.การสร้างเหตุการณ์ให้องค์กรธุรกิจ “ยอมเปิดใจ”มีแรงจูงใจในการซื้อสินค้า/บริการจาก SME และ 3.เพื่อนตัวเอกร่วมกัน “สร้างบรรยากาศชวนฟิน” ระบบนิเวศทางธุรกิจให้ตัวเอกทั้งสองเข้าอกเข้าใจกันแม้ในวันที่ต้องเจออุปสรรค
จากที่ สสว.และทีดีอาร์ไอได้มีโอกาส พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนได้ศึกษาแนวทางปฏิบัติที่ดีของต่างประเทศ ทำให้ได้ 28 “ซีนชวนฝัน” หรือมาตรการสำหรับ 3 หนทางข้างต้น ที่จะ ทำให้ SME สามารถเข้าถึงและถูกใจภาคธุรกิจไทยได้
การดำเนินมาตรการดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงและจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากตัวละครหลายฝ่าย ทั้ง 1) ผู้ซื้อ 2) SME 3) ซัพพลายเออร์ของ SME 4) ผู้ให้บริการทางธุรกิจ 5) แหล่งเงินทุน 6) หน่วยงานภาครัฐ และ 7) ลูกค้าที่ซื้อสินค้า/ บริการจากองค์กรธุรกิจที่เป็นผู้ซื้อ
เพื่อให้ซีรีส์เรื่องนี้ใช้ทุนในการสร้างพอเหมาะและดำเนินเรื่องกระชับ จึงหยิบ 11 มาตรการนำร่องที่ทำได้ทันทีและเห็นผลเร็ว (quick win) อีกทั้งเป็นประโยชน์ในวงกว้าง (high impact) มาเริ่มขับเคลื่อนก่อน หากไม่เพียงพอจึงจะทยอยนำมาตรการที่เหลือมาใช้ในซีซั่นถัดๆ ไป
ขอยก 3 ตัวอย่าง ได้แก่ มาตรการแรกใช้หนุนหนทาง “เสริมเสน่ห์” ให้ SME ที่จากเดิมเคยมีภาพว่ามักมีราคาสูงกว่าคู่แข่ง สามารถปรับมาเสนอราคาขายทัดเทียมกับ คู่แข่งได้ดีขึ้น ด้วยมาตรการให้ส่วนลดในการ ใช้บริการทางธุรกิจแก่ SME ผ่านระบบ Business Development Service (BDS) ที่ดำเนินการโดย สสว. เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของ SME ให้พร้อมในการขายสินค้า/บริการ
มาตรการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านต่างๆ ในการประกอบธุรกิจของ SME เช่น การตรวจสอบคุณภาพมาตรฐาน การทดสอบทางห้องปฏิบัติการ การจัดทำบัญชี/สอบบัญชี การจ้างที่ปรึกษา ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้สามารถเสนอราคาขายทัดเทียมกับคู่แข่งได้ อย่างไรก็ตาม การดำเนินมาตรการนี้อาจพบกับความท้าทายอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสรรหา “นักแสดงฝีมือดี” ในแต่ละด้านมารับบทเป็นผู้ให้บริการทางธุรกิจที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของ SME
ตัวอย่างต่อมาเป็นการทำให้ภาคธุรกิจ “ยอมเปิดใจ” สร้างแรงจูงใจให้เกิดการซื้อสินค้า/บริการจาก SME โดยให้องค์กรธุรกิจที่ซื้อสินค้า/บริการจาก SME สามารถสะสมแต้ม เพื่อรับสิทธิประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เช่น 1) รางวัลเป็นสินค้า/บริการจาก SME 2) ส่วนลดค่าสินค้า/บริการจาก SME หรือ 3) ส่วนลดเพิ่มเติมในการใช้บริการทางธุรกิจผ่านระบบ BDS
ระบบการสะสมแต้มนี้เป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครนำมาใช้ ดังนั้น หากเราจะเป็นผู้บุกเบิก ก็จำเป็นต้องช่วยกันออกแรงคิดหาแนวทางดำเนินการที่เหมาะสมรัดกุม ไม่ว่าจะเป็นระบบการคิดคำนวณและตรวจสอบแต้มที่ สสว. ซึ่งมีฐานข้อมูลว่าผู้ขายรายใดเป็น SME บ้าง จะต้องเชื่อมโยงกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งมีฐานข้อมูลธุรกรรมการซื้อขาย ตลอดจนสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขในการสะสมและการแลกแต้มที่สามารถ “มัดใจ” ผู้ซื้อแต่ละกลุ่มที่มีรูปแบบ ลักษณะ และความต้องการในการจัดซื้อจัดจ้างแตกต่างกันให้ซื้อสินค้า/บริการจาก SME มากขึ้น
ตัวอย่างมาตรการสุดท้ายเป็นการสร้างระบบนิเวศ หรือ “สร้างบรรยากาศ” ที่ช่วยอำนวยความสะดวก เพิ่มประสิทธิภาพ และลดภาระที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชน ให้กับทั้ง SME และองค์กรธุรกิจที่เป็นผู้ซื้อ โดยส่งเสริมการพัฒนาแพลตฟอร์มการจัดซื้อจัดจ้างแบบครบวงจร
ประกอบด้วยระบบประเมินและคัดเลือก ผู้ขายตามหลักเกณฑ์/ความต้องการของผู้ซื้อ ระบบบริหารจัดการคำสั่งซื้อ ระบบเรียก เก็บเงิน ระบบชำระเงิน ไปจนถึงระบบวิเคราะห์ ประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้าง
หากมีครบจะทำให้ SME รู้ถึงระดับความสามารถของตนเองในการเสนอขายให้องค์กรธุรกิจระดับต่างๆ และช่วยลดต้นทุน และข้อผิดพลาดในการจัดเตรียมเอกสาร การจัดทำใบแจ้งหนี้/ใบกำกับภาษี ไปจนถึงการกระทบยอดบัญชี
ในอีกด้านหนึ่ง องค์กรธุรกิจที่เป็นผู้ซื้อ ก็จะสามารถคัดเลือกคู่ค้าที่เหมาะสม ตอบโจทย์ความต้องการของตนได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งมีต้นทุนและข้อผิดพลาดลดลงในการบริหารจัดการคำสั่งซื้อและชำระเงินให้กับคู่ค้า
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญของการพัฒนาแพลตฟอร์มแบบครบวงจรอยู่ที่ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างมักเป็นความลับทางการค้า ซึ่งผู้เกี่ยวข้องอาจพบกับความยุ่งยากในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 นอกจากนี้ การเชื่อมโยงแพลตฟอร์มที่มีอยู่เข้ากับระบบ PromptBiz ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกลางในการชำระเงินดิจิทัลระหว่างธุรกิจ นับเป็นเรื่องใหม่ที่ ผู้ประกอบการต้องศึกษาเพิ่มเติม
คงต้องดูกันว่า เมื่อซีรีส์เรื่องนี้เปิดฉาก ฉายจริงแล้ว มาตรการที่มีการนำไปปฏิบัติเหล่านี้จะ “ปัง” อย่างที่หวังไว้หรือไม่ แต่ไม่ว่าอย่างไร สสว.และทีดีอาร์ไอจะเตรียมพร้อม เสมอหากต้องมีการปรับแก้บทให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
ท่านที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม 28 มาตรการสามารถอ่านได้ที่นี่
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดบทความสร้างโอกาสให้แก่ SME ผ่านการจัดซื้อ จัดจ้างภาคเอกชนภายใต้การศึกษา เรื่อง “แนวทางการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการ จัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชน (Corporate Procurement)” โดย ทีดีอาร์ไอ และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
บทความ โดย ณัฐวุฒิ ลักษณาปัญญากุล และ ยศ วัชระคุปต์
เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 17 พฤศจิกายน 2565