ทีดีอาร์ไอ เสนอแนวทาง “ปรับพื้นที่การเรียนรู้” เสนอ “3 ปรับ” เพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้สำหรับคนยุคใหม่

TDRI Annual Public Virtual Conference 2022 “ทำอย่างไรให้ประเทศไทยหนุ่มสาวขึ้น?” วันอังคารที่ 29 พ.ย. นักวิจัยนำเสนอประเด็น “เปิดใจ เปิดประตู เรียนรู้ใหม่” ชวนสำรวจประเด็นปัญหาพื้นที่การเรียนรู้ของไทย ที่ยังไม่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะเพื่อการปรับตัวต่อความท้าทายรอบด้านที่คนยุคใหม่ต้องแผชิญ เพราะพื้นที่ยังมีข้อจำกัดในแง่การเข้าถึงพื้นที่การเรียนรู้ พื้นที่ไม่ทันสมัย ความรู้ในและนอกห้องเรียนไม่เชื่อมกัน และพื้นที่การเรียนรู้อาจเป็นพื้นทื่ที่ไม่ปลอดภัยสำหรับการเรียนรู้ การตั้งคำถาม โดยเสนอแนวทางแก้ไข คือ ปรับเป้าหมายการเรียนรู้ ปรับบรรทัดฐานและปรับการลงทุนของสังคมเพื่อร่วมสร้างพื้นที่การเรียนรู้ใหม่ที่ตอบโจทย์ 

ดร.ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ นักวิชาการ นโยบายการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน และ คุณพงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยอาวุโส นโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ชี้ให้เห็นความสำคัญของการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้พร้อมต่อการปรับตัวของคนยุคใหม่ โดยระบุว่ามี 3 ความท้าทายที่กระทบวิถีชีวิตของคนยุคใหม่ อย่างวิกฤตโรคระบาด COVID-19 การพัฒนาของเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างก้าวกระโดด และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ  

ความท้าทายแรก คือ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่สะท้อนให้เห็นว่าแม้โรคอุบัติใหม่มีโอกาสเกิดขึ้นไม่บ่อย แต่ทุกคนทั้งวัยเรียนและวัยทำงานต้องพร้อมปรับตัวรับมือหากเกิดขึ้นอีกในอนาคต  

ความปั่นป่วนของเทคโนโลยี เป็นอีกความท้าทายหนึ่งจากการพัฒนาของเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างก้าวกระโดด ถึงแม้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก แต่ก็กระทบอาชีพของคนยุคใหม่เช่นกัน ทั้งอาชีพที่ใช้ทักษะทั่วไป เช่น การขับรถ และอาชีพที่ใช้ทักษะเฉพาะ อย่างการประเมินความเสี่ยงในการอนุมัติสินเชื่อ ไปจนถึงอาชีพที่เป็นวิชาชีพขั้นสูง เช่น นักกฎหมาย 

ความท้าทายสุดท้าย คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กระตุ้นให้คนยุคใหม่ต้องมีทักษะการปรับตัวทั้งในปัจจุบันและอนาคตในแง่การดำเนินชีวิต และการทำงาน รวมถึงการศึกษาความรู้ และทักษะที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ 

คุณพงศ์ทัศ นำเสนอผลวิเคราะห์ดัชนีทุนมนุษย์ (Human Capital Index) ของไทยปี 2020 และแบบสำรวจ PISA 2018 ถึงความพร้อมในการปรับตัวของเด็กไทยอายุ 15 ปี พบว่า คนไทยยังไม่พร้อมรับมือกับ 3 ความท้าทายข้างต้น  

ในด้านทุนมนุษย์ของไทยบ่งชี้ว่า เด็กแรกเกิดในวันนี้เมื่อกลายเป็นแรงงานอีก 18 ปีข้างหน้า จะสามารถทำงานได้เพียงร้อยละ 61 ของระดับเต็มศักยภาพ รวมทั้งความพร้อมในการปรับตัวของเด็กไทยอายุ 15 ปีอยู่รั้งท้ายในระดับโลก และยังมีประเด็นเรื่องความเหลื้อมล้ำที่เด็กจากครอบครัวที่มีฐานะยากจนมีความพร้อมในการปรับตัวน้อยกว่าเด็กจากครอบครัวที่มีฐานะดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญ 

ข้อเสนอเพื่อการเพิ่มทักษะการปรับตัว คือ ประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัยพื้นที่การเรียนรู้ที่ออกแบบมาเพื่อให้คนไทยเปิดใจ กล้าลอง และพร้อมเติบโต แต่พื้นที่การเรียนรู้ของไทยในปัจจุบันกลับไม่ตอบโจทย์ความท้าทายในอนาคต โดย ดร.ชาริกา และ คุณพงศ์ทัศนำผลการลงพื้นที่ และผลการศึกษาของทีมวิจัย TDRI มาแสดงภาพ “พื้นที่การเรียนรู้ของไทยในปัจจุบัน” และชวนมอง 4 องค์ประกอบของพื้นที่การเรียนรู้ คือ ประตูเข้าพื้นที่ ความทันสมัยของพื้นที่ สะพานเชื่อมโยงแต่ละพื้นที่ และความปลอดภัยของพื้นที่ 

องค์ประกอบแรก ประตูเข้าพื้นที่ที่ทางเข้าไม่เปิดกว้าง ทุกคนยังไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่การเรียนรู้ได้ เห็นได้จากอัตราการเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของไทยมีเพียงร้อยละ 55-57 เท่านั้น และหากพิจารณาตามฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวพบว่าเด็กในครอบครัวยากจนสุดร้อยละ 10 มีอัตราการเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ปวช. และอุดมศึกษา ต่ำกว่าเด็กในครอบครัวรวยสุดร้อยละ 10 ค่อนข้างมาก สำหรับการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนก็ยังจำกัด การสำรวจของ คิด for คิดส์ พบว่า เยาวชนไทยอายุ 15-25 ปี ร้อยละ 28 ไม่เคยไปแหล่งเรียนรู้ เช่น พิพิธภัณฑ์ หอศิลปะ หรือห้องสมุด เป็นต้น โดยมีสาเหตุหลักคืออยู่ไกล และมีไม่มากพอ 

องค์ประกอบที่สอง พื้นที่ที่มีไม่ทันสมัย ความรู้ส่วนใหญ่อยู่ในห้องเรียน และเป็นเรื่องตายตัว การเรียนรู้จะนำไปใช้กับโลกจริงได้จำเป็นต้องส่งเสริมการคิดขั้นสูง ได้แก่ วิเคราะห์ ประเมินคุณค่า และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ แต่ห้องเรียนไทยยังให้น้ำหนักไม่มากนัก เช่น การเรียนประวัติศาสตร์ในวิชาสังคม มีตัวชี้วัดเพียงร้อยละ 22 เท่านั้น ที่ส่งเสริมการคิดขั้นสูง นอกจากนี้เวลาสอนส่วนใหญ่เน้นให้เข้าใจความเป็นมาของไทย มากกว่าสอนให้มีเครื่องมือทางประวัติศาสตร์ในการคิดและรู้จัดพัฒนาของโลก 

องค์ประกอบสาม การขาดสะพานเชื่อมความรู้ในและนอกห้องเรียน สื่อการสอนในห้องเรียนส่วนใหญ่ขาดความเชื่อมโยงกับโลกภายนอกที่ซับซ้อน แม้บางโรงเรียนจะนำปัญหาในชีวิตประจำวันมาเรียนรู้ร่วมกัน ดังเช่น โรงเรียนในจังหวัดสตูลนำปัญหาเรื่อง “ทำอย่างไร จึงจะลดค่าไฟฟ้าของชุมชนได้?” ซึ่งทำให้ทั้งเด็ก ครู และชุมชนเกิดการเรียนรู้ไปพร้อมกัน แต่การสอนลักษณะนี้ยังอยู่ในพื้นที่ที่จำกัด สำหรับการเรียนเพื่อทำงาน ปัจจุบันมีหลักสูตรที่พัฒนาร่วมกับสถานประกอบการเพื่อสร้างการเรียนรู้ในที่ทำงานจริง แต่ก็ยังมีจำนวนในสัดส่วนที่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับหลักสูตรทั้งหมด 

องค์ประกอบสุดท้าย พื้นที่ไม่ปลอดภัยต่อการเรียนรู้ ตั้งคำถาม เห็นได้จากการตั้งคำถามเกี่ยวกับบรรทัดฐาน หรือแนวปฏิบัติแบบเดิมอาจถูกมองเป็นสิ่งที่ผิด และรับไม่ได้ ทำให้ไม่เกิดการตั้งคำถาม เปิดรับมุมมองใหม่ และการเรียนรู้ร่วมกันในสังคม อย่างไรก็ตามถึงแม้พื้นที่ออนไลน์เริ่มเปิดกว้างมากขึ้นทำให้ประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงสามารถถูกตั้งคำถามได้บ้าง เช่น ประเด็นเกี่ยวกับศาสนา หรือประเด็นเรื่องเพศ เป็นต้น แต่พื้นที่ออนไลน์ก็อาจเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยเช่นกัน 

เพื่อศึกษาการสร้างพื้นที่การเรียนรู้สำหรับคนยุคใหม่ ดร.ชาริกา ชวนมองพื้นที่การเรียนรู้นอกประเทศไทย ในบริบท “เมืองแห่งการเรียนรู้” โดยยก โครงการ Whole City ที่เมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ และเมืองซูวอน ประเทศเกาหลีใต้ มาเป็นตัวอย่าง  

สำหรับโครงการ Whole City  มีการออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ที่สะท้อนถึงการมีสะพานเชื่อมที่แข็งแรงในการเชื่อมการเรียนรู้ใน และนอกโรงเรียนอย่างชัดเจน โดยครูสามารถพานักเรียนขึ้นรถสาธารณะฟรีไปยังแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ในเวลาเรียน มีการเรียนการสอนที่ทันสมัย และปลอดภัยโดยใช้ปัญหานำการเรียนรู้ และครูไม่ใช่ผู้กุมความรู้ รวมทั้งยังมีประตูพื้นที่การเรียนรู้ที่เปิดกว้างจากตัวอย่างการออกแบบห้องสมุดให้เป็นพื้นที่ทุกคนเข้ามาเรียนรู้ได้  

ส่วนกรณี เมืองซูวอน ประเทศเกาหลีใต้ ที่มีแหล่งการเรียนรู้มากมาย หลายรูปแบบ โดยมีสถานที่อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้มากกว่า 600 แห่ง (ข้อมูลปี 2019) แหล่งการเรียนรู้ในเมืองซูวอนที่สะท้อนการตอบโจทย์ของคนยุคใหม่ที่หลากหลาย เช่น สถาบันโวลาโดที่เป็นโรงเรียนสำหรับผู้สูงอายุ หรือสถาบันนูกูน่าที่เป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้มีโอกาสแชร์ความรู้ เพื่อเป็นการสร้างระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ และพิพิธภัณฑ์ห้องน้ำ หรือ ศูนย์วัฒนธรรม แฮวูแจ ที่สอนเรื่องใกล้ตัวอย่างเรื่องสุขภาพ และการขับถ่าย พื้นที่การเรียนรู้ของเมืองซูวอน มีการออกแบบให้มีประตูที่เปิดกว้าง และมีสะพานเชื่อมเพียงพอโดยการสร้างเครือข่ายพื้นที่การเรียนรู้ให้คนเข้าถึงได้ด้วยการเดิน 5-10 นาที มีการทำพื้นที่ให้ทันสมัย ตอบโจทย์ผู้เรียน โดยทำแบบสำรวจความต้องการของประชาชน และทุกคนมีส่วนร่วมออกแบบพื้นที่โดยคณะทำงานบริหารพื้นที่มาจากทุกภาคส่วน ที่สำคัญใช้สื่อเพื่อประชาสัมพันธ์โอกาสในการเข้าถึงเรียนรู้ที่หลากหลายให้คนในพื้นที่รับรู้ในวงกว้าง 

ในตอนท้ายของการนำเสนอ ดร.ชาริกา และ คุณพงศ์ทัศสนอแนวทางการออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ใหม่ของไทยให้ตอบโจทย์ความท้าทายข้างต้น ดังนี้ 

1.ขยายประตูให้คนเข้าถึงพื้นที่การเรียนรู้มากขึ้น ต้องปรับการลงทุนเพื่อเน้นมาตรการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงพื้นที่การเรียนรู้ทุกระดับ  

2.ทำพื้นที่ให้ทันสมัย ต้องปรับการลงทุนเพื่อขจัดอุปสรรคในการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการเรียนรู้ เช่น การปรับระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างสื่อการเรียนการสอนแบบใหม่ อย่างโมเดล subscription หรือ แชร์ต้นทุนระหว่างหน่วยงาน รวมถึงต้องมีการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางอย่างสม่ำเสมอเพื่อยกระดับเป้าหมายการเรียนรู้ให้ผู้เรียนพร้อมปรับตัว 

3.สร้างสะพานเชื่อมที่แข็งแรง ต้องปรับการลงทุนด้านพื้นที่ เช่น นำที่ดินรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาเป็นแหล่งการเรียนรู้ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีแหล่งการเรียนรู้น้อย สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนโดยนำพื้นที่ของภาคเอกชนมาปรับเป็นศูนย์การเรียนรู้ หรือพิพิธภัณฑ์ที่เป็นความรู้เฉพาะของธุรกิจ ทั้งนี้รัฐต้องช่วยเสริมแรงจูงใจให้เอกชนหันมาลงทุนในพื้นที่เหล่านี้ และเปิดให้สาธารณชนใช้ ความร่วมมือกับเอกชนยังรวมไปถึงการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้โดยมีภาคเอกชนเป็นภาคี เพื่อยกระดับเป้าหมายการเรียนรู้ให้เชื่อมกับการปฏิบัติงานจริง ในบริบทที่ทำงานจริง รวมถึงปรับปรุงและพัฒนาการผลิตบุคคลากรผู้สอนให้สามารถออกแบบกระบวนการเรียนรู้ช่วยเชื่อมโยงความรู้ในห้องเรียน และนอกห้องเรียนเข้าด้วยกันได้  

นอกจากนี้การปรับบรรทัดฐานของสังคมเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ดร.ชาริกา และ คุณพงศ์ทัศ เน้นว่าการจะปรับบรรทัดฐานของสังคมนั้น “สื่อ” มีบทบาทสำคัญ โดยต้องนำเสนอข้อมูล หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้รอบด้าน โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงของสังคม หรือประเด็นที่ละเอียดอ่อน เพื่อให้คนในสังคมได้เรียนรู้จากมุมมองที่หลากหลาย นอกจากนี้ควรเลี่ยงนำเสนอข้อมูลในลักษณะที่นำไปสู่คำตอบเดียวตายตัว เพื่อให้คนในสังคมเรียนรู้ฟังความคิดเห็นที่ซับซ้อน หลากหลาย และยอมรับความแตกต่าง 

เมื่อมีการปรับการลงทุน ปรับเป้าหมายการเรียนรู้ ปรับบรรทัดฐานของสังคม เพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้อันพึงประสงค์แล้ว พื้นที่เหล่านั้น จะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เปิดกว้างสำหรับคนยุคใหม่ ให้เรียนรู้ทักษะที่สนใจ เชื่อมกับโลกจริง และเสริมทักษะการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ดร.ชาริกา และ คุณพงศ์ทัศชวนคนยุคใหม่สำรวจพื้นที่การเรียนรู้รอบตัวในปัจจุบัน  และลองเปิดใจเพื่อปรับเปลี่ยนให้เป็นประตูสู่การเรียนรู้ใหม่ที่ทำให้คนไทยมีทักษะการปรับตัวพร้อมเผชิญกับความท้าทายในอนาคต 

รับชมและดาวน์โหลดเอกสาร TDRI Annual Public Conference 2022 “ทำอย่างไรให้ประเทศไทยหนุ่มสาวขึ้น?”  ได้ที่นี่