บทเรียน ตปท. สร้างโอกาส ‘SME’

มีคนกล่าวว่า “โอกาสมีอยู่เสมอ สำหรับคนที่มองเห็น” แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในโลกความเป็นจริงมีคนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะ SME ที่ยังไม่มีโอกาสได้เห็นแม้เพียง เสี้ยวหนึ่งของโอกาสทางธุรกิจ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และทีดีอาร์ไอ จึงได้ร่วมกันศึกษาแนวทางสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับ SME ได้เข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชน (Corporate Procurement)

พบว่าสหราชอาณาจักร มีกรณีตัวอย่าง ที่น่าสนใจในการใช้กลไกการจัดซื้อจัดจ้าง ของภาครัฐ มาเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อให้ SME เข้าถึงห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ได้มากขึ้น กลไกนี้เกิดขึ้นเมื่อตอนที่กรุงลอนดอนได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2012 โดยมีแม่งานคือ London Development Agency (LDA) และ Olympic Delivery Authority (ODA) ร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มชื่อ CompeteFor

เพื่อให้ SME มีโอกาสขายสินค้า/บริการของตนให้แก่ทั้งแม่งานและธุรกิจที่เป็น คู่สัญญารับงานจากแม่งาน รวมถึงโอกาส รับเหมาช่วงจากธุรกิจที่เป็นคู่สัญญารับงานจากแม่งาน โดยเริ่มจากโครงการก่อสร้าง เช่น สนามกีฬา ที่พักนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ ต่อมาได้ขยายขอบเขตให้ครอบคลุมการจัดซื้อสินค้าและบริการอื่นๆ ด้วย เช่น อุปกรณ์ปฐมพยาบาล บริการขนส่ง รวมถึงการจ้างบุคลากรที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก

แพลตฟอร์ม CompeteFor อำนวยความสะดวกให้ธุรกิจทั้งฝั่งผู้ซื้อและ ผู้ขาย โดย (1) เปิดเผยรายชื่อคู่สัญญาหลักของภาครัฐ (2) รวมศูนย์ข้อมูลความต้องการจัดหาสินค้าและบริการ (3) ขึ้นทะเบียนรายชื่อ ผู้ซื้อและผู้ขาย และ (4) คัดกรองผู้ขายเบื้องต้น ซึ่งผู้ซื้อและผู้ขายที่สนใจใช้บริการต้องสมัครลงทะเบียน โดยกรอกข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ชื่อผู้ติดต่อ ที่อยู่ ประเภทหน่วยงาน หมวดอุตสาหกรรม จำนวนพนักงาน รายได้ ต่อปี ฯลฯ

จุดเด่นอย่างแรกของ CompeteFor คือมีบริการสร้างแบบสอบถามให้ผู้ซื้อ เลือกใช้ได้สองแบบ คือ แบบสอบถามมาตรฐานและแบบสอบถามที่ผู้ซื้อสามารถ ตั้งคำถามได้เอง (customized) ซึ่งตั้งคำถามได้สูงสุด 25 คำถาม และเลือกให้ ตอบได้ทั้งแบบปลายปิด (closed) หรือ แบบมีหลายคำตอบให้เลือก (multiple choice)

นอกจากนี้ ผู้ซื้อสามารถกำหนดคะแนนสำหรับคำถามแต่ละข้อได้เอง โดยระบบจะนำ ข้อมูลและคำตอบที่ได้จากผู้ขายแต่ละรายไปคำนวณคะแนน จนได้เป็นรายชื่อผู้ขายที่ผ่านการคัดกรอง ซึ่งมีให้เลือกทั้งแบบ long-list และ short-list ซึ่งขั้นตอนนี้เป็น การประมวลผลโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั้งหมดเพื่อลดการใช้ดุลยพินิจ

จากนั้นระบบจะแจ้งไปยังผู้ขายแต่ละรายที่ได้คะแนนผ่านเกณฑ์จากผู้ซื้อ เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกในขั้นต่อไป โดยผู้ซื้อ มีทางเลือกว่าจะขอให้ผู้ขายเสนอราคา ผ่าน CompeteFor หรือจะติดต่อให้ ผู้ขายเข้าสู่ระบบการจัดซื้อจัดจ้างของผู้ซื้อโดยตรงก็ได้

จุดเด่นต่อมาของ CompeteFor คือมีการรวบรวมข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างครอบคลุมในทุกลำดับชั้นของการจัดซื้อจัดจ้าง ตั้งแต่คู่สัญญาหลักกับภาครัฐ ไปจนถึงคู่ค้าลำดับแรก ลำดับสอง และลำดับ อื่นๆ ซึ่งสามารถสืบค้นได้อย่างง่ายดาย ทำให้ SME มีโอกาสได้งานมากขึ้นจากทั้งผู้ประกอบการขนาดใหญ่และ SME ด้วยกันเอง

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ CompeteFor ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือมีคณะทำงานประสานงานใกล้ชิดกับผู้ซื้อ (Buying Engagement Team หรือ BET) ทำให้ผู้ซื้อประกาศข่าวการจัดซื้อจัดหาของตนผ่านแพลตฟอร์มกลางแห่งนี้ โดย BET ยังทำหน้าที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ การตรวจสอบ และติดตามการประกาศงานจัดซื้อของ Tier One Supplier (Main contractor) บนแพลตฟอร์ม CompeteFor ทั้งหมด

รวมทั้งให้การสนับสนุน อำนวยความสะดวก จัดอบรม จัดทำเอกสารการใช้งานให้กับธุรกิจที่ใช้งานแพลตฟอร์ม ทั้งฝั่งที่เป็นผู้ซื้อและผู้ขาย รวมทั้งมีการประชาสัมพันธ์แพลตฟอร์มในเชิงรุกเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ซื้อและผู้ขายให้เข้ามาใช้บริการแพลตฟอร์ม และการรายงานผลการดำเนินงานต่อ LDA ผ่าน ODA

ODA ใช้กลยุทธ์ในการเปิดประมูล เพื่อคัดเลือกบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการ BET โดยกำหนดระยะเวลา การดำเนินงาน 4 ปี แบ่งเป็น 2 ระยะ

ระยะแรก เน้นการทำการตลาดเพื่อ เชิญชวนให้ผู้ซื้อและผู้ขายเข้ามาลงทะเบียนใช้งานระบบให้มากที่สุด

ระยะที่สอง เน้นการปรับปรุงให้ระบบใช้งานง่ายเพื่อรักษากลุ่มฐานผู้ใช้งานเดิม ไว้ โดยอาศัยข้อมูลที่ผู้ใช้งานสะท้อนกลับมา (feedback) ที่รวบรวมได้ในระยะแรก

รวมถึงการทำให้ระบบมีความยั่งยืนด้วยการหาผู้ซื้อรายใหม่เข้ามาใช้งาน เช่น ปี 2020 BET ประสบความสำเร็จในการทำให้ Tideway คู่สัญญาหลักที่ชนะการประมูลโครงการปรับปรุงระบบอุโมงค์ระบายน้ำ กรุงลอนดอน และ East West Rail Alliance คู่สัญญาหลักของรัฐที่ชนะการประมูลโครงการบำรุงรักษาทางรถไฟในเขตลอนดอน จัดหาซัพพลายเออร์ผ่านแพลตฟอร์มนี้

ODA สรุป 3 บทเรียนสำคัญจากการพัฒนา CompeteFor ไว้ ซึ่งประเทศไทยอาจนำมาใช้ประโยชน์ได้ หากสนใจนำแนวคิดนี้มาใช้ คือ
          1) การมีผู้ซื้อหลายลำดับชั้น (Tier) ในจำนวนที่มากพอมีผลต่อความอยู่รอดของ แพลตฟอร์ม
          2) การมีคณะทำงานเพื่อประสานงานฝั่งผู้ซื้อ (BET) เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะลำพังการใช้เทคโนโลยีเพื่อจัดทำแพลตฟอร์มรวมศูนย์ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างอย่างเดียวไม่เพียงพอ
          3) แพลตฟอร์มกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน ในการรับเหมาช่วง และสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่ฝั่งผู้ซื้อและผู้ขายทั้งหมด หรือที่เรียกว่า “ตัวทวีคูณของการแข่งขันในการจัดซื้อจัดจ้าง”

ลักษณะแพลตฟอร์มตามแบบของ สหราชอาณาจักรนี้ ได้นำไปปรับใช้ในช่วงการ จัดงาน Expo 2020 ทำให้รัฐบาลของ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ผู้จัดงาน) ได้รับรางวัล ชนะเลิศในสาขาการสนับสนุน SME

จากหน่วยงานระหว่างประเทศด้านการส่งเสริมการบริหารการจัดซื้อ (CIPS) ประเทศไทยเองก็มีตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาค เอกชนที่เชื่อมโยงกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในแบบ B2B2G อยู่ไม่น้อย หากนำโมเดลการพัฒนาและบริหารจัดการแพลตฟอร์ม CompeteFor ของสหราชอาณาจักรมาปรับใช้ น่าจะเป็นประโยชน์ในการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับ SME ได้อีกมาก

บทความ โดย เทียนสว่าง ธรรมวณิช และ ยศ วัชระคุปต์

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดบทความสร้างโอกาสให้แก่ เอสเอ็มอีผ่านการจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชนภายใต้การศึกษา เรื่อง “แนวทางการสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชน (Corporate Procurement)” โดย ทีดีอาร์ไอและสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในตอนต่อไปจะเป็นการถอดบทเรียนของต่างประเทศในการส่งเสริมให้เอสเอ็มอีเข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชน


ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ