สร้าง ‘องค์ความรู้’ สู่การลดตายเจ็บจากจักรยานยนต์

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนนจากจักรยานยนต์สูงถึง 74% หรือประมาณเกือบ 15,000 ราย จากทั้งหมดประมาณ 2 หมื่นกว่ารายต่อปี ทั้งยังคงมีแนวโน้ม เพิ่มขึ้นทุกปี แม้มีการขับเคลื่อนมาตรการ ด้านความปลอดภัยทางถนนมาโดยตลอดก็ตาม

ปัญหาดังกล่าว มาจากหลายปัจจัยที่ค่อนข้างซับซ้อน เช่น ข้อจำกัดของทางเลือกในการเดินทางที่ปลอดภัยและราคาที่จับต้องได้ ทำให้จักรยานยนต์กลายเป็นทางเลือกหลักในการเดินทาง ซึ่งปัจจุบันมีจดทะเบียนสะสมเกือบ 22 ล้านคัน อีกทั้งมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่ขาดประสิทธิภาพซึ่งเห็นได้จากปี 2565 ที่ไม่มีการ ชำระค่าปรับใบสั่งสูงถึง 80% (ประมาณ 14.3 ล้านใบ) จากการออก ใบสั่งให้แก่ผู้กระทำผิดคดีจราจรประมาณ 17.9 ล้านใบ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อปัญหาความไม่ปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ในไทย และการค้นหาปัจจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อหาหนทางแก้ไข จำเป็นต้องอยู่บนรากฐานขององค์ความรู้และการสนับสนุนทางด้านวิชาการที่มีความถูกต้องและน่าเชื่อถือ

ดังนั้น คำถามที่สำคัญคือ ปัจจุบันองค์ความรู้ที่มีอยู่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์แล้วหรือยัง หรือในความเป็นจริงแล้ว องค์ความรู้บางอย่างอาจมีอยู่แล้วแต่ไม่ได้ถูกนำมาขับเคลื่อนในการแก้ปัญหา

การขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัยทางถนนจากงานวิจัยในต่างประเทศ

ในระดับนานาชาติ งานวิจัยด้านอุบัติเหตุมีประโยชน์ต่อการสร้างองค์ความรู้และสนับสนุนการทำงานเพื่อลดอุบัติเหตุและความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งมีทิศทางที่ต่างกันในแต่ละช่วงเวลา โดยช่วง 20 ปีก่อน (พ.ศ.2544-2553) นั้นเน้นการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะการหาสาเหตุที่มาจากทัศนคติของแต่ละบุคคล

ในขณะที่ 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2554-2563) เริ่มให้ความสำคัญกับการประเมินผลของมาตรการมากขึ้น โดยให้น้ำหนักกับ การวัดผลการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างคนเดินเท้าและผู้สูงวัย

ส่วนทิศทางการวิจัยในอนาคตจะ มุ่งเน้นไปที่ “เทคโนโลยีความปลอดภัยของยานพาหนะ” “การจัดสรรทรัพยากร” และ “การปรับปรุงมาตรการ”

ทั้งนี้ ผลสำเร็จของการขับเคลื่อนงานวิจัยไปสู่นโยบายในต่างประเทศส่วนใหญ่มาจากการกำหนดโครงสร้างติดตามการทำงานที่ชัดเจน เช่น กรณีของสหภาพยุโรปมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ผู้รับผิดชอบ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วม แลกเปลี่ยนและกำหนดแผนงานวิจัย ตลอดจนติดตามการดำเนินการศึกษาให้บรรลุผล

องค์ความรู้ของไทยเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหา?

จากการทบทวนงานวิจัยด้านความปลอดภัยทางถนนกว่า 2,000 งานในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา (พ.ศ.2543-2564) ของประเทศไทย พบว่า งานวิจัยของไทยส่วนใหญ่เน้นการให้ความสำคัญกับพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ใช้รถใช้ถนนประมาณ 37% ซึ่งแม้จะมีทิศทางที่เน้นการหาคำตอบด้านปัจจัยที่เกิดจากมนุษย์เหมือนกับต่างประเทศ แต่ยังขยายผลไปสู่งานวิจัยด้านติดตามและประเมินผลค่อนข้างน้อย

โดยประเด็นอื่นที่มีการศึกษาในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ได้แก่ การวิเคราะห์สถานการณ์ความเสี่ยง และการบริหารจัดการ ประมาณ 23% และ 15% ตามลำดับ นอกจากนี้ งานศึกษาที่เกี่ยวกับรถจักรยานยนต์และการใช้อุปกรณ์ป้องกันอย่างหมวกนิรภัยยังมีค่อนข้างจำกัดเพียง 10% ทั้งที่เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต

หากพิจารณางานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ในช่วง พ.ศ.2555-2564 งานศึกษาส่วนใหญ่ยังคงเน้นไปที่การหาสาเหตุของอุบัติเหตุ ที่ข้อค้นพบจำนวนมากบ่งชี้ไปที่พฤติกรรมของผู้ขับขี่ ในขณะที่การศึกษาเพื่อกำหนดมาตรการที่มีความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหากลับมีจำกัด

โดยส่วนใหญ่เป็นการศึกษาเพื่อกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขจุดเสี่ยงและการใช้มาตรการองค์กรในการส่งเสริมพฤติกรรมขับขี่ปลอดภัย ซึ่งมีลักษณะเป็นกรณีศึกษาเฉพาะพื้นที่ ยิ่งไปกว่านั้น ในบรรดาการศึกษาที่ค้นพบมาตรการที่จะเกิดประสิทธิผลในการลดความสูญเสีย อย่างการส่งเสริมหมวกนิรภัย และการจำกัดความเร็วด้วยเทคโนโลยีกล้อง CCTV กลับไม่สามารถขับเคลื่อนไปสู่นโยบายที่บังคับใช้ได้จริง

ทำให้ไม่สามารถลดการเสียชีวิตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมาตรการเช่นนี้จำเป็นต้องมีการออกแบบกลไกการบริหารจัดการเพื่อขจัดอุปสรรคต่อการดำเนินมาตรการ

อย่างไรก็ตาม งานศึกษาเพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสมยังไม่ครอบคลุมถึงการออกแบบระบบเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยให้กับผู้ขับขี่จักรยานยนต์ เช่น การส่งเสริมการขับขี่ปลอดภัยในกลุ่มเยาวชนและนักขี่หน้าใหม่ แนวทางส่งเสริมรูปแบบการเดินทางที่ไม่ใช้ยานยนต์ แนวทางเปลี่ยนการใช้จักรยานยนต์ไปสู่รูปแบบการเดินทางที่ปลอดภัยขึ้น และการพัฒนาเทคโนโลยีป้องกัน ช่วยเหลือ และแจ้งเหตุสำหรับจักรยานยนต์ เป็นต้น

นอกจากนี้ งานวิจัยในเชิงการติดตามและประเมินผลมาตรการ ที่จะช่วยลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุจักรยานยนต์ยังมี ไม่มากนัก ทั้งที่การศึกษาดังกล่าวจะเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญต่อการปรับปรุงและแก้ไขมาตรการให้ดำเนินการได้ดียิ่งขึ้น

แนวทางปิดช่องว่างและหนุนงานวิจัยให้ เกิดการนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม

ด้วยเหตุนี้ การปิดช่องว่างองค์ความรู้ และผลักดันผลการศึกษาไปสู่การปฏิบัติเป็น ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้งานวิจัยมีคุณค่าและไม่สูญเสียงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาไปอย่างเปล่าประโยชน์ หน่วยงานส่วนกลางและหน่วยงานให้ทุนที่เกี่ยวข้องควร

(1) ส่งเสริมงานวิจัยด้านการติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับมาตรการด้านการบังคับใช้กฎหมาย ที่นำไปสู่การกำหนดกลยุทธ์ในการบริหารจัดการให้เกิดระบบการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน

(2) ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาโจทย์วิจัยเพื่อออกแบบระบบที่ส่งเสริมความปลอดภัยให้กับผู้ขับขี่จักรยานยนต์ในระดับพื้นที่ โดยสนับสนุนการสร้างเครือข่ายทางวิชาการระหว่างส่วนกลางและภูมิภาคเพื่อจัดทำงานวิจัย และ

(3) พัฒนากลไกที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานและบริหารจัดการ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายความปลอดภัยทางถนนระดับชาติ ด้วยระบบติดตามและประเมินผลองค์ความรู้งานวิจัย

กลไกดังกล่าวต้องทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ในเชิงการแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบ หน่วยจัดสรรทุนวิจัย ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เกิดการ ผลิตองค์ความรู้ที่สนองตอบต่อความ จำเป็นและความต้องการขับเคลื่อนทางนโยบาย

ทั้งนี้ กลไกดังกล่าวสามารถพัฒนาขึ้นภายใต้ความรับผิดชอบของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) นอกจากนี้ ควรพัฒนาช่องทางเผยแพร่องค์ความรู้สู่สาธารณะร่วมกันระหว่างหน่วยงานให้ทุน เพื่อเป็นแหล่งความรู้สำหรับประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป

บทความ โดย ณิชมน ทองพัฒน์ จิตรเลขา สุขรวย ณิชชา อังศุพานิช และ ภวิกา กล้าหาญ ทีมนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2566


ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ