ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากสังคมผู้สูงอายุ หนึ่งในปัญหาที่ต่อเนื่องกันมาคือคนไทย “แก่ก่อนรวย” แน่นอนว่ามีจำนวนหนึ่งที่ยังไงรายได้ก็ไม่พอรายจ่ายที่จำเป็นทำให้ไม่มีเงินออมสำหรับวัยชรา แต่ก็มีอีกจำนวนหนึ่งเช่นกัน ที่จริง ๆ แล้วสามารถออมได้แต่ไม่ออม
กลายเป็นข้อถกเถียงว่า เพราะอะไรคนไทยส่วนนี้จึงไม่ออมให้มากพอและต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงวัยทำงานเพื่อให้มีเงินเพียงพอสำหรับใช้จ่ายในยามเกษียณ
เหตุผลประการหนึ่งที่สามารถหยิบยกขึ้นมาใช้อธิบายได้คือ “อคติเชิงพฤติกรรม” หรือการคิดการตัดสินใจที่ไม่สมเหตุสมผลตามหลักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งส่งผลให้เกิดการกระทำที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์จริง
อคติเชิงพฤติกรรมที่ถูกพูดถึงอย่างมากในวงวิชาการที่ทำให้การออมเพื่อการเกษียณไม่เพียงพอ ได้แก่
- อคติชอบปัจจุบัน (present bias) คือ การที่ผู้คนให้น้ำหนักความสำคัญกับความสุขและผลตอบแทนที่ได้รับในปัจจุบันมากกว่าในอนาคต เช่น การที่บุคคลผัดวันประกันพรุ่งในการออม และนำเงินที่ได้ไปซื้อสินค้าเพื่อบริโภคเพื่อตอบสนองความต้องการในปัจจุบัน เนื่องจากมีปัญหาในการควบคุมตนเอง (self-control problem) แม้จะรู้ว่าการออมจะทำให้ได้รับผลตอบแทนในรูปเงินใช้ยามเกษียณก็ตาม
- อคติยึดติดสภาวะเดิม (status quo bias) คือ การที่ผู้คนพึงพอใจกับสภาวะปัจจุบันมากกว่าจะเปลี่ยนไปลองทำสิ่งใหม่ที่จะแม้จะให้ผลประโยชน์มากกว่า เช่น เลือกที่จะออมในรูปแบบที่คุ้นเคย เช่น ฝากธนาคาร มากกว่าที่จะลองออมในหุ้นหรือพันธบัตรที่มีคุณภาพดี ความเสี่ยงไม่สูง แต่ให้ผลตอบแทนกว่าเงินฝากธนาคารมาก
- อคติโลกแคบ (narrow framing) คือ การมองทางเลือกที่ต้องพิจารณาในชีวิตเป็นกลุ่มย่อยๆ แยกออกจากกัน หรือเพียงเฉพาะในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ทำให้ผู้คนตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ด้อยกว่าเมื่อพิจารณาทุกทางเลือกหรือช่วงเวลาพร้อมกัน เช่น มองว่าการออมในปัจจุบันเป็นไปเพื่อบริหารรายรับ-รายจ่ายระยะสั้น หรือเก็บเงินซื้อของราคาแพง โดยมองการออมเพื่อการเกษียณเป็นเรื่องของอนาคตที่ยังไม่ต้องรีบคิดพร้อมกันตอนนี้
- อคติกลัวสูญเสียเกินเหตุ (loss aversion) คือ ความสูญเสียจากสถานะปัจจุบันมีผลกระทบต่อจิตใจทางลบมากกว่าที่จะมีความสุขจากการได้รับผลตอบแทนที่มีขนาดเท่ากัน เช่น การมองว่าการออมเป็นการสูญเสียรายได้ที่จะนำมาบริโภค จึงเลือกที่จะออมน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
- อคติละเลยอัตราทบต้น (exponential growth bias) คือ การไม่เข้าใจพลังของดอกเบี้ยทบต้น ซึ่งแปลงเงินออมให้มีมูลค่ามากขึ้นทวีคูณได้ หากมีการออมอย่างต่อเนื่องยาวนานและไม่ถอนเงินต้นออก เช่น การที่บุคคลไม่รีบออมเพื่อการเกษียณตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะประเมินผลตอบแทนจากการออมต่ำเกินไปโดยมองว่าผลตอบแทนเป็นเส้นตรงไม่ใช่ทวีคูณ ทำให้ไม่เข้าใจว่าออมเร็วขึ้นและต่อเนื่องเพียงไม่กี่ปีก็ทำให้มีเงินให้ถอนใช้ยามเกษียณเพิ่มขึ้นมาก ดอกเบี้ยทบต้นอาจแสดงตัวในรูปอื่นไม่ใช่เงินฝากธนาคารเท่านั้น เช่นการออมในหุ้น ในอสังหาริมทรัพย์เป็นต้น และอาจใช้อธิบายกรณีที่เป็นหนี้ยาวนานจนดอกเบี้ยทบต้นเข้าไปในเงินต้นกลายเป็นดินพอกหางหมู
- แรงกดดันจากผู้คนในกลุ่ม (peer pressure) คือ อิทธิพลทางสังคมจากคนในกลุ่มเดียวกันทั้งเชิงบวกและลบ ทำให้มีพฤติกรรมคล้อยตาม เช่น มีพฤติกรรมการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยตามเพื่อน เพื่อนบ้าน หรือคนในสังคมเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ ทำให้ความสามารถในการออมลดลง
- การมองโลกในแง่ดีเกินไป (overoptimism) คือ รูปแบบหนึ่งของการมีความมั่นใจล้นเกิน (overconfidence) ทำให้เกิดความชะล่าใจในการออมเงิน เช่น คิดว่าเมื่อตนเองเกษียณไป อาจไม่โชคร้ายและเผชิญเหตุไม่คาดฝัน เช่น เจ็บป่วยหนักหรือป่วยเรื้อรัง และต้องเสียค่ารักษาพยาบาลจำนวนมาก ทำให้ไม่เห็นความสำคัญกับการเตรียมพร้อมทางการเงินเพื่อการเกษียณ และมีการออมน้อยกว่าที่ควร
ตลอดจนยังมีอคติเชิงพฤติกรรมอื่นๆ อีกหลายประเภทซึ่งอาจส่งผลต่อการออมเพื่อการเกษียณ แต่ไม่ได้กล่าวถึง ณ ที่นี้ ซึ่งแม้ว่าทั้งหมดนี้เป็นข้อเท็จจริงที่พบมากในต่างประเทศ
แต่คำถามคือแล้วอคติเชิงพฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นกับคนไทยมากน้อยเพียงใด ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมใดที่กำหนดอคติเชิงพฤติกรรมเหล่านี้ และอคติดังกล่าวส่งผลต่อระดับความเปราะบางทางการเงินของคนไทยอย่างไร
คำถามนี้ได้รับคำตอบผ่านผลการสำรวจแบบสอบถามในการศึกษาอคติเชิงพฤติกรรมในประชากรไทย เพื่อเสาะหามาตรการที่ได้ผลในการส่งเสริมการวางแผนทางการเงินของประชากรไทยสำหรับสังคมอายุยืน โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งทำการสำรวจอคติเชิงพฤติกรรม 7 รูปแบบข้างต้น กับคนไทยอายุ 20-40 ปี ที่มีรายได้ตั้งแต่ 8,000 บาทขึ้นไป จำนวน 1,043 คน
โดยพบว่า แม้ว่ากลุ่มตัวอย่างมากกว่าร้อยละ 70 จะมีรายได้มากกว่ารายจ่าย แต่กว่าร้อยละ 37 มีการออมไม่ถึงร้อยละ 10 ของรายได้ต่อเดือน นอกจากนี้ส่วนมากเป็นการออมโดยการฝากธนาคาร และเก็บเป็นเงินสดไว้กับตัว โดยคิดถึงการออมผ่านการลงทุนในหุ้น พันธบัตร และกองทุนรวมที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าในลำดับรอง
ข้อค้นพบเหล่านี้ แม้ว่าจะไม่ได้แตกต่างจากภาพที่เราคุ้นชินในสังคมมากเท่าใดนัก แต่ประเด็นที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ แล้วอคติเชิงพฤติกรรมที่เหล่านักวิชาการทั่วโลกพูดถึง สำหรับคนไทยกลุ่มนี้เป็นอย่างไร และอคติดังกล่าวส่งผลต่อพฤติกรรมทางการเงินอย่างไร
ผลการสำรวจ พบว่า คนไทยมีอคติกลัวสูญเสียเกินเหตุมากที่สุดถึงร้อยละ 89 รองลงมาเป็นอคติละเลยอัตราทบต้น (ร้อยละ 53) แรงกดดันจากผู้คนในกลุ่ม (ร้อยละ 34) อคติชอบปัจจุบัน (ร้อยละ 25) การมองโลกในแง่ดีเกินไป(ร้อยละ 24) อคติโลกแคบ (ร้อยละ 14) และอคติยึดติดสภาวะเดิม (ร้อยละ 12)
ซึ่งใน 1 คนอาจพบได้มากกว่า 1 อคติเชิงพฤติกรรม ส่วนมากพบในกลุ่มผู้มีรายได้และการศึกษาน้อย กลุ่มผู้มีหนี้ และกลุ่มแรงงานนอกระบบประกันสังคมมาตรา 33 และข้าราชการ มาถึงตรงนี้ภาพคงเริ่มชัดเจนแล้วว่ากลุ่มคนเปราะบางมักมีอคติเชิงพฤติกรรมมากกว่ากลุ่มผู้กินดีอยู่ดี แต่ประเด็นที่ต้องหาคำตอบต่อไปคือ อคติเชิงพฤติกรรมเหล่านี้เป็นภัยร้ายต่อความไม่เพียงพอต่อการออมเพื่อการเกษียณ และความไม่พร้อมทางการเงินของคนไทยจริงหรือไม่
หากนิยามคำว่าความไม่พร้อมหรือเปราะบางทางการเงิน ได้แก่ ใช้จ่ายก่อนออม ไม่ให้ความสำคัญหรือไม่วางแผนการออมเพื่อการเกษียณ ไม่มีเงินเหลือจากการใช้จ่ายรายเดือน ไม่ออมจริงจัง มีหนี้สินจากการบริโภคระยะสั้น หาเงินได้ไม่พอใช้หนี้ และมีรายได้ไม่แน่นอน
ซึ่งคนไทยร้อยละ 84 ตกอยู่ในอย่างน้อย 1 หมวดของความเปราะบางนี้ โดยเป็นผลมาจากอคติเชิงพฤติกรรมหลายประการที่ทำงานสอดประสานต่อพฤติกรรมทางการเงินของแต่ละบุคคล ซึ่งพบว่าการมีอคติเชิงพฤติกรรมทุกชนิดทำให้มีโอกาสเกิดความเปราะบางทางการเงินเพิ่มขึ้น ยกเว้นอคติกลัวสูญเสียเกินเหตุเท่านั้นที่ให้ผลตรงข้าม (ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาอีกประการว่ากลุ่มผู้มีความพร้อมทางการเงิน หรือมีรายได้สูงและไม่มีหนี้สินมักมีโอกาสที่จะกลัวความสูญเสียมากขึ้น)
ข้อค้นพบทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงต้นตอของ “กับดักแก่ก่อนรวย” ที่คนไทยออมไม่พอเพราะมีอคติเชิงพฤติกรรม ส่งผลต่อความเปราะบางทางการเงิน และกลุ่มเปราะบางนี้เองก็เป็นกลุ่มที่ออมไม่พอ แล้วแนวทางแก้ปัญหาใดคือทางออกของเรื่องนี้
ข้อเสนอในเบื้องต้นต่อการเพิ่มการออมเพื่อการเกษียณ คือ ภาครัฐและเอกชนควรมีมาตรการที่ทำให้คนไทย (ก) เริ่มออม (ข) เพิ่มการออม และ (ค) เพิ่มอัตราผลตอบแทนจากการออม โดยคำนึงถึงการมีอยู่ของอคติเชิงพฤติกรรมเหล่านี้ในหมู่คนไทย
มาตรการตัวอย่างประกอบด้วย การสนับสนุนการออมภาคบังคับ การออมผ่านเงินทอนระหว่างจำนวนเงินที่จ่ายกับราคาสินค้า การเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แล้วรัฐนำส่วนเพิ่มไปเก็บออมแทนผู้ใช้จ่าย เป็นต้น ตลอดจนการนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานไว้เพื่อให้คนไทย “พอประมาณ มีเหตุผล และมีคุณธรรม” มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต ซึ่งตอบโจทย์แก้ปัญหาอคติเชิงพฤติกรรมเหล่านี้ได้ครบถ้วนและตรงจุด
ในโอกาสต่อไป ผู้เขียนจะมาเล่าว่าเมื่อนำเอามาตรการข้างต้นบางส่วนมาทำการทดลอง จะมีโอกาสช่วยให้คนไทยมีการออมเพื่อการเกษียณเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะมีส่วนช่วยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเริ่มคิดหามาตรการ “เชิงรุก” ใหม่ๆ ในการเพิ่มการออมของคนไทยให้ “รวยก่อนแก่” มากกว่าที่จะมาแก้ปัญหา “เชิงรับ” เพื่อบรรเทาปัญหาของสังคมสูงวัยที่ปลายเหตุ (เช่นเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ) ดังที่ปฏิบัติกันอยู่และใช้เม็ดเงินสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน
บทความนี้เป็นหนึ่งในผลงานโครงการวิจัย การศึกษาอคติเชิงพฤติกรรมในประชากรไทย เพื่อเสาะหามาตรการที่ได้ผลในการส่งเสริมการวางแผนทางการเงินของประชากรไทยสำหรับสังคมอายุยืน โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
บทความ โดย วราวิชญ์ โปตระนันทน์ นักวิจัยนโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง
บทความที่เกี่ยวข้อง เข้าใจเหตุที่ “ไม่ออม” เตรียมพร้อมวันเกษียณ | ธนิน ว่องวงศ์
บทความที่ผ่านมา
- พินิจเศรษฐกิจการเมือง : ปรับจัดเก็บภาษีอย่างไร แก้โจทย์ไทยเหลื่อมล้ำถูกจุด?
- คิดยกกำลังสอง : แบ่งแยกเรื่องเล่า…เท่ากับอยู่คนละโลก
- พินิจเศรษฐกิจการเมือง: สร้างเมืองใหม่…ให้ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ
- คิดยกกำลังสอง: ทรัมป์ 2.0…หนุนประสิทธิภาพรัฐ ?
- พินิจเศรษฐกิจการเมือง : ช่วยภาคการผลิต…ไม่ติดปัญหาท่วม-แล้ง ภาคอุตสาหกรรม – การท่องเที่ยว