tdri logo
tdri logo
29 มีนาคม 2023
Read in Minutes

Views

โครงการ CASE และเครือข่าย ร่วมปลุกพลังสังคมให้เร่งเปลี่ยนผ่านพลังงาน

กรุงเทพฯ 29 มีนาคม 2566 – องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สถาบันวิจัยพลังงาน (ERI) ร่วมมือกัน ภายใต้โครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้และมั่นคง สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Clean, Affordable, and Secure Energy for Southeast Asia: CASE) โดยการสนับสนุนขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดเวทีสนทนา Energy Conversation “เส้นทางการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของประเทศไทย” ภายในงาน “Energy เอเนอจิ้น : จินตนาการเพื่อพลังงานที่เป็นมิตรต่อชีวิตและโลก” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 – 26 มีนาคมที่ผ่านมา ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 

สำหรับเวทีสนทนา “เส้นทางการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของประเทศไทย” จัดขึ้นเพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจต่อสังคมเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ภายใน ค.ศ. 2050 ซึ่งการจะไปสู่จุดหมายนี้ได้นั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพราะประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับทุกคนในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยประชาชนต้องเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของพลังงานสะอาด รวมถึงภาครัฐที่ต้องเพิ่มความเข้มข้นในการกำหนดนโยบายด้านพลังงาน เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของประเทศไทยไปสู่เป้าหมายดังกล่าว

ดร.วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) อธิบายว่า “โลกกำลังร้อนขึ้นเรื่อยๆ และประเทศไทยเป็นหนึ่งในสิบประเทศที่เสี่ยงอย่างมากต่อผลกระทบจากภาวะโลกร้อน หนทางที่จะลดและบรรเทาปัญหานี้ได้คือ ประเทศไทยต้องลดคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเฉพาะภาคพลังงานที่มีการปล่อยก๊าซนี้มากสุด นอกจากนั้น ยังต้องเลือกใช้พลังงานจากแหล่งที่สะอาด ซึ่งปัจจุบันประชาชนมีความเข้าใจเรื่องแหล่งพลังงานสะอาด และตื่นตัวมากขึ้น เห็นได้จากการติดตั้งโซลาร์เซลล์และการหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น แต่สุดท้ายแล้ว ประชาชนยังไม่สามารถเลือกใช้พลังงานสะอาดได้อย่างเต็มที่ เพราะระบบไฟฟ้าของประเทศไทยยังผลิตจากก๊าซธรรมชาติและถ่านหินเป็นหลักอยู่ ดังนั้น ผู้กำหนดนโยบายด้านพลังงานจำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงการปรับกฎกติกาเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนสามารถใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดได้อย่างเต็มที่”

ด้าน ดร.สิริภา จุลกาญจน์ นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ERI) ได้ขยายความเรื่องการใช้พลังงานสะอาดจากโซลาร์เซลล์ว่า “ปัจจุบันประชาชนมีทางเลือกในการติดตั้งโซลาร์เซลล์มากขึ้นในราคาที่จับต้องได้มากกว่าในอดีต และมีโมเดลการทำธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานแสงอาทิตย์เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์ ไม่ว่าจะเป็นประชาชน โรงงาน และสำนักงานขนาดใหญ่ เพราะสามารถประหยัดค่าไฟลงได้มาก แต่ปัญหาที่ตามมาคือ ค่าไฟของประชาชนทั่วไปที่ยังต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากการไฟฟ้าเป็นหลักและไม่ได้ติดโซลาร์เซลล์จะมีแนวโน้มแพงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยโครงสร้างค่าไฟที่ยังไม่ปรับเปลี่ยนตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ซึ่งหากปล่อยไว้ก็จะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำด้านพลังงานให้สูงขึ้น และภาระจะตกอยู่กับประชาชนมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนไปใช้พลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานสะอาดจะทำให้ภาครัฐต้องเพิ่มบทบาทในการกำกับดูแลระบบไฟฟ้าให้เสถียรและมีคุณภาพ โดยต้องอาศัยเทคโนโลยีอย่างแบตเตอรี่ในการกักเก็บพลังงาน รวมทั้งสมาร์ทกริด ที่ยังมีต้นทุนสูงมากในปัจจุบัน ซึ่งเอกชนและประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย”  

ด้าน คุณณัฐวัฒน์ สุวัฒนพงษ์ธาดา ที่ปรึกษาด้านพลังงาน องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ได้เสริมข้อเสนอถึงภาครัฐในการทำหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนพลังงานสะอาดในประเทศไทยให้เติบโตว่า “การสนับสนุนโดยภาครัฐเพื่อให้ต้นทุนทางเทคโนโลยีถูกลงนั้นสำคัญอย่างมาก เพราะจะช่วยลดต้นทุนของเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และจูงใจให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในเทคโนโลยีต่างๆ เช่น โซลาร์และแบตเตอรี่ ซึ่งจะช่วยให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ แต่อีกจุดเปลี่ยนสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันคือ ประชาชนต้องตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของการเปลี่ยนผ่านพลังงาน เพราะผลกระทบจากการไม่เปลี่ยนผ่านจะตกที่เราไม่ช้าก็เร็ว ดังนั้นการประหยัดพลังงานคือการเริ่มต้นที่ดี ซึ่งสามารถเริ่มได้จากตัวเอง นอกจากนั้น เรายังควรคอยติดตามแผนพลังงานของประเทศ เช่น แผนพลังงานชาติของกระทรวงพลังงานที่เตรียมจะเปิดในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เพื่อให้มั่นใจได้ว่าภาครัฐกำลังมุ่งสู่พลังงานสะอาดอย่างแท้จริง รวมถึงพรรคการเมืองต่างๆ ที่กำลังหาเสียงในตอนนี้ว่ามีนโยบายที่เกี่ยวข้องในด้านนี้มากน้อยเพียงใด”

ด้าน ดร.ธรินทร์ญา สุภาษา หัวหน้าโครงการด้านนโยบายพลังงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, Agora Energiewende ได้ยกตัวอย่างความสำเร็จและความก้าวหน้าในการเปลี่ยนสู่พลังงานสะอาดของประเทศเยอรมนีว่า ประชาชนในเยอรมนีมีบทบาท มีความเข้มแข็งในเรื่องบทบาทของประชาชนต่อการทำงานของรัฐบาลและพรรคการเมืองอย่างมาก เพราะมีการผลักดันจากภาคประชาสังคมและทุกภาคส่วนไปสู่การออกกฎหมายควบคู่กับการให้ความรู้ โดยนำเป้าหมายในการแก้ปัญหาโลกร้อนไปผลักดันเป็นกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Act) ที่ได้รับการรับรองโดยรัฐสภา ทำให้ทุกภาคส่วนต้องปฏิบัติตามแทนการสมัครใจ โดยกลไกของความสำเร็จนี้คือประชาชนจะต้องส่งสัญญาณหรือเสียงที่ดังพอเพื่อให้พรรคการเมืองรับรู้ถึงความต้องการ และพรรคการเมืองต้องมีเจตนารมณ์ร่วมกัน จึงทำให้ประเทศเยอรมนีก้าวหน้าในเรื่องพลังงานสะอาดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก”

การจัดเวทีสนทนาในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไป ตัวแทนภาคเอกชน ภาคสังคม รวมไปถึงตัวแทนพรรคการเมืองที่มาร่วมรับฟัง โดย ดร.วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ ได้กล่าวทิ้งท้ายก่อนจบการสนทนาว่า การเปลี่ยนผ่านพลังงานของประเทศไทยต้องอาศัย 4 คำ ได้แก่ “เปิด ปรับ เปลี่ยน ปัง”

เปิด – เปิดใจว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดคือเรื่องจำเป็น และที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ เราเปลี่ยนผ่านพลังงานมาแล้วหลายรอบ โดยรอบนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่โลกจะก้าวสู่ยุคพลังงานสะอาดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ปรับ – ปรับความคิด จากที่มองว่าพลังงานเป็นเรื่องของภาครัฐหรือคนใดคนหนึ่ง แต่ที่จริงแล้วเราล้วนใช้พลังงาน ดังนั้นเราทุกคนต้องร่วมกันผลักดันด้านพลังงานเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยน – เปลี่ยนนโยบายพลังงานของประเทศให้เน้นพลังงานสะอาดยิ่งขึ้น โดยต้องส่งเสียงเพื่อให้เรื่องนี้ ปัง –  หรือดังพอให้พรรคการเมืองรับรู้ สนใจและเกิดแรงผลักดันให้อนาคตพลังงานสะอาดจากที่เคยอยู่ในจินตนาการเป็นไปได้จริง” 

นอกจากงานเสวนาดังกล่าวแล้ว งาน “Energy เอเนอจิ้น : จินตนาการเพื่อพลังงานที่เป็นมิตรต่อชีวิตและโลก” ยังจัดเวทีพูดคุยโดยเชิญภาคประชาชนและผู้ประกอบการมาร่วมนำเสนอแนวคิดในการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมและประชาชนต้องการอย่างแท้จริง และมีบูธนิทรรศการ “ร่วมจินตนาการ เปลี่ยนผ่านพลังงานในรุ่นเรา” ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาสภาพภูมิอากาศซึ่งภาคพลังงานเป็นต้นเหตุสำคัญ ความสำคัญของการหาวิธีแก้ไขปัญหานี้ รวมถึงบริบทภาคพลังงานในประเทศไทยและเส้นทางที่จะไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 ที่ไทยได้ให้คำมั่นสัญญาไว้บนเวทีการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (COP26) รวมถึงนิทรรศการภาพถ่าย “พลังงาน เปลี่ยนผ่าน เป็นธรรม?” จาก SDG Move และการถ่ายทอดเรื่องราวของบุคคลสำคัญที่มีบทบาทในการเปลี่ยนผ่านพลังงานและนักรณรงค์เรื่องปัญหาสภาพภูมิอากาศเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ร่วมงาน

ติดตามกิจกรรมและแหล่งความรู้ด้านพลังงานจากโครงการ CASE เพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/CASEforSEA 


เกี่ยวกับโครงการพลังงานสะอาดเข้าถึงได้ และมั่นคง สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้ และมั่นคงสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CASE) มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในภาคพลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อมุ่งสู่การบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โครงการนี้มุ่งเน้นไปที่ 4 ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในภูมิภาค ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย และฟิลิปปินส์

โดยทั้ง 4 ประเทศมีการผลิตไฟฟ้าคิดเป็นเกือบ 3 ใน 4 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคิดเป็นประมาณ 72% ของ GDP ของภูมิภาค และ 82% ของประชากรทั้งหมด การพัฒนาพลังงานของประเทศเหล่านี้จะมีผลกระทบอย่างมากต่อความสามารถของภูมิภาคในการบรรลุเป้าหมายทั้งด้านการพัฒนาและความยั่งยืน ตลอดจนถึงการบรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีส โครงการ CASE มุ่งเน้นการเสนอวิธีแก้ปัญหาที่อิงหลักฐานให้กับผู้กำหนดนโยบายที่กำลังเผชิญความท้าทาย และสร้างการสนับสนุนทางสังคมต่อวิธีแก้ปัญหาเหล่านั้นในภูมิภาค โดยใช้แนวทางการค้นหาข้อเท็จจริงร่วมกันเพื่อลดขอบเขตของความเห็นต่างผ่านการมีส่วนร่วมของการวิเคราะห์และการอภิปรายจากผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ CASE ยังมุ่งสนับสนุนการประสานงานในภาคพลังงานของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยให้การสนับสนุนด้านเทคนิคและนโยบาย และสนับสนุนการหารือเชิงนโยบายเกี่ยวกับประเด็นด้านพลังงาน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด