‘แม่วัยรุ่น’ ค่าเสียโอกาสที่ไม่เล็กของแม่เด็กในประเทศไทย

ปัญหาแม่วัยรุ่นยังคงเป็นหนึ่งในปัญหาสังคมที่ถูกนำเสนอในหน้าข่าวอยู่เป็นประจำ แม้ว่าปัจจุบันอัตราการคลอดของแม่วัยรุ่นในสังคมไทยลดลงมากกว่าครึ่งจากเมื่อสิบปีที่แล้ว เหลือ 24.4 คนต่อประชากรพันคนในปี 2564

อย่างไรก็ตาม จำนวนดังกล่าวยังสูงกว่าในหลายประเทศ อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ที่มีอัตราการคลอดของแม่วัยรุ่นน้อยกว่าประเทศไทย เช่น ในกรณีสิงคโปร์ที่มี 2.6 คนต่อประชากรพันคนเท่านั้น

ซึ่งการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นแต่ละครั้งนำมา ซึ่งผลกระทบและต้นทุนค่าเสียโอกาส ไม่เพียงแต่ในช่วงการตั้งครรภ์ แต่ยังคงส่งผลกระทบต่อไปในอนาคตที่เกิดขึ้นในหลายด้านตั้งแต่ความเสี่ยงเกี่ยวกับสุขภาพจากความไม่พร้อมของสภาพร่างกาย หรือผลต่อจิตใจจากภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression) รวมทั้งผลกระทบต่อเนื่องไปยังโอกาสในอนาคตจากการหยุดเรียนหรือการหลุดออกจากระบบการศึกษาที่ควรจะได้รับ ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการประกอบอาชีพและเกิดเป็นค่าเสียโอกาสตลอดชีวิตของวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์

การศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ให้เห็นว่า ต้นทุนค่าเสียโอกาสทางด้านรายได้ของกลุ่มที่ตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่มีการตั้งครรภ์ในช่วงอายุ 15-30 ปี ที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมที่คล้ายคลึงกัน พบว่ามีค่าเสียโอกาสโดยเฉลี่ยสูงถึง 2,811 บาทต่อคนต่อเดือน และเมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างทางด้านการศึกษา พบว่ากลุ่มแม่วัยรุ่นที่หลุดออกจากระบบการศึกษาและไม่ได้จบการศึกษาตามที่วางแผนไว้จะมีค่าเสียโอกาสมากถึง 4,582 บาทต่อเดือนแต่หากแม่วัยรุ่นได้กลับ เข้าเรียนจะมีต้นทุน ค่าเสียโอกาสในอนาคต ลดลงประมาณ 646 บาทต่อคนต่อเดือนเลยทีเดียว

ค่าเสียโอกาสที่ลดลงนี้สะท้อนถึงความสำคัญของการอยู่ในระบบหรือกลับเข้าระบบการศึกษาของวัยรุ่นหลังการตั้งครรภ์ ตัวเลข ค่าเสียโอกาสข้างต้นเป็นเพียงการประมาณการต้นทุนขั้นต่ำของการเกิดแม่วัยรุ่นหนึ่งรายในปัจจุบันเท่านั้น หากในอนาคตช่องว่างทางรายได้ของผู้จบการศึกษาในระดับมัธยมและปริญญาตรีมีแนวโน้มแตกต่างกันมากขึ้น ย่อมส่งให้ต้นทุนค่าเสียโอกาสของแม่วัยรุ่นเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน

โดยผลการประมาณการต้นทุนค่าเสียโอกาสชี้ให้เห็นว่า ทุกปีการศึกษาที่หายไปของกลุ่มแม่วัยรุ่นในอนาคต คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,400 บาทต่อคนต่อเดือน คิดเป็นค่าเสียโอกาสจากการลดลงของรายได้ตลอดช่วงชีวิตเพิ่มขึ้นทั้งสิ้นเท่ากับ 1.7 แสนล้านบาท

ซึ่งสะท้อนถึงค่าเสียโอกาสของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและความสำคัญของการอยู่ในระบบการศึกษาที่ส่งผลต่อรายได้ในอนาคต

นอกจากรายได้ที่หายไปในช่วงชีวิตของแม่วัยรุ่นแล้ว รายงานการเฝ้าระวังการตั้งครรภ์ พ.ศ.2564 ยังชี้ให้เห็นถึงลักษณะร่วมสำคัญของกลุ่มแม่วัยรุ่นที่มีแนวโน้มการส่งผลกระทบข้ามรุ่นที่ชัดเจน

โดยสถิติพบว่าเด็กหญิงที่มีคุณแม่ตั้งครรภ์ตอนเป็นวัยรุ่น (อายุต่ำกว่า 18 ปี) มีโอกาสถึง 33% ที่เมื่อโตไปจะเป็นแม่วัยรุ่นด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งมากกว่ากรณีที่คุณแม่ตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป ดังนั้นจึงสะท้อนให้เห็นแนวโน้มการส่งต่อปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นภายในสมาชิกของครอบครัว

นอกจากนั้นแม่วัยรุ่นส่วนใหญ่ (28.6%) จะมีรายได้เพียง 5,001-10,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น และมีถึง 26.4% ของแม่วัยรุ่นที่ไม่มีรายได้เลย ซึ่งจะส่งผลต่อ การเลี้ยงดูและการเติบโตของเด็กอย่างแน่นอน และทำให้ปัญหาดังกล่าวกลายเป็นวงจรที่เกิดซ้ำ สร้างผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

ปัจจุบันการออกแบบและดำเนินมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาแม่วัยรุ่น สามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่

(1) มาตรการก่อนการตั้งครรภ์ที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันการตั้งครรภ์ผ่านการส่งเสริมความรู้เรื่องเพศและพัฒนาทักษะชีวิต (life skill) เพื่อให้รู้เท่าทันกับสถานการณ์เสี่ยง

(2) มาตรการสำหรับกลุ่มที่มีการ ตั้งครรภ์ โดยปัจจุบันมีการพัฒนาเครือข่าย ในการประสานงานและดูแลแม่วัยรุ่น เช่น การรับเรื่องประสานงานผ่านสายด่วน 1663 เครือข่ายแพทย์ R-SA เครือข่ายโรงพยาบาล YFHS เป็นต้น

(3) มาตรการหลังการตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำในกลุ่มวัยรุ่น ที่เคยมีการตั้งครรภ์และการสนับสนุนให้กลุ่มแม่วัยรุ่นได้กลับเข้าระบบการศึกษา ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่จะป้องกันและลดค่าเสียโอกาสตลอดช่วงชีวิต

นอกจากมาตรการการป้องกันและแก้ไขเฉพาะเจาะจงปัญหาแม่วัยรุ่นที่มีอยู่โดยแบ่งเป็น 3 ระยะที่ควรทำต่อเนื่องแล้ว ประเทศไทยยังมีนโยบายด้านสวัสดิการสังคมอื่นๆ ที่สามารถส่งเสริมคุณภาพชีวิตของแม่วัยรุ่นและเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาแม่วัยรุ่นในภาพรวมได้ เช่น มาตการการเงินอุดหนุนเด็กเล็ก ที่หากสามารถทำได้อย่างถ้วนหน้าก็จะสามารถป้องกันการตกหล่นของครัวเรือนที่ยากจน อันเป็นลักษณะร่วมสำคัญของครัวเรือนของแม่วัยรุ่น

โดยการศึกษาของทีดีอาร์ไอที่ผ่านมา พบว่าการได้รับเงินอุดหนุนส่งผลต่อที่ดีต่อภาวะโภชนาการและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นของเด็ก รวมทั้งยังส่งผลต่อโอกาสของผู้หญิงที่เพิ่มขึ้นในการตัดสินใจทางการเงินในครัวเรือน และยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการให้นมลูกมากขึ้น ซึ่งนโยบายดังกล่าวสะท้อนคุณภาพชีวิตที่เพิ่มขึ้นทั้งในเด็กเล็กและแม่เด็กในคราวเดียวกัน

บทความ โดย ชาคร เลิศนิทัศน์

เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 23 มีนาคม 2566


ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ