เปิด Big Data ตลาดแรงงาน Q1 ปี 66 ตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นแต่ยังกระจุกตัว – งานวิศวกรต้องการทักษะหลากหลายขึ้น

ทีมวิจัย “โครงการวิเคราะห์การประกาศหางานออนไลน์” ของทีดีอาร์ไอ ได้พัฒนาระบบติดตามการจ้างงานในประเทศไทย โดยใช้ Big Data และการวิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ได้พัฒนาต่อยอดจากโครงการการจัดทำฐานข้อมูลความต้องการทักษะแรงงานด้วย Big Data เพื่อส่งเสริมการปฏิรูปการศึกษา ที่สนับสนุนโดยกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปี 2561

โครงการนี้มีจุดประสงค์เพื่อวิเคราะห์สถานะความต้องการแรงงานมีทักษะและทักษะต่างๆ ของแรงงานที่นายจ้างต้องการ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตามสภาวะทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยใช้ Big Data จากประกาศรับสมัครงานของนายจ้าง ซึ่งมีความละเอียดสูงและทันสมัย และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ตลอดจนมหาวิทยาลัยและสถาบันอาชีวะศึกษาต่างๆ ที่ผลิตบุคลากรป้อนตลาดแรงงาน

ในปัจจุบัน โครงการนี้ใช้ระบบอัตโนมัติในการเก็บข้อมูลประกาศหางานจาก 14 เว็บไซต์หางานในประเทศไทย ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ เว็บไซต์หางานระดับประเทศ 8 เว็บไซต์ เว็บไซต์หางานตามกลุ่มอาชีพเฉพาะ 5 เว็บไซต์ และเว็บไซต์หางานตามกลุ่มภูมิภาค 1 เว็บไซต์

ล่าสุดในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 (1 มกราคม 2566–31 มีนาคม 2566) พบว่า มีประกาศรับสมัครงานทั้งหมด 178,159 ตำแหน่งงาน เพิ่มขึ้นจากช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ที่มีประกาศรับสมัครงานทั้งหมด 163,809 ตำแหน่งงาน 8.7% และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ของปีที่แล้ว 8.3%

ประกาศรับสมัครงานวุฒิการศึกษาปริญญาตรีมีจำนวนมากที่สุด

เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามวุฒิการศึกษาขั้นต่ำที่ระบุในประกาศรับสมัครงาน พบว่าประกาศรับสมัครงานวุฒิมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีจำนวน 11,593 ตำแหน่งงาน (6.5%) มัธยมศึกษาปีที่ 6 14,274  ตำแหน่งงาน (8.0%) ปวช. 19,363 ตำแหน่งงาน (10.9%)  ปวส. 12,691 ตำแหน่งงาน (7.1%) ปริญญาตรี 69,382 ตำแหน่งงาน (38.9%)    สูงกว่าปริญญาตรี 2,237 ตำแหน่งงาน (1.3%) และที่ไม่ระบุวุฒิการศึกษาขั้นต่ำมีจำนวน 48,619 ตำแหน่งงาน (27.3%)

ประกาศรับสมัครงานในกรุงเทพและปริมณฑล มีจำนวนมากที่สุด

เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามภูมิภาคที่ระบุในประกาศ พบว่าประกาศรับสมัครงานในกรุงเทพและปริมณฑล มีจำนวนมากที่สุด 110,673 ตำแหน่งงาน (62.1%)  ตามด้วยไม่ระบุภูมิภาค 38,593 ตำแหน่งงาน (21.7%) ภาคตะวันออก 11,474 ตำแหน่งงาน (6.4%) ภาคใต้ 6,853 ตำแหน่งงาน (3.8%) ภาคกลาง 4,613 ตำแหน่งงาน (2.6%) ภาคเหนือ 3,395 ตำแหน่งงาน (1.9%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,927 ตำแหน่งงาน (1.1%) และภาคตะวันตก 631 ตำแหน่งงาน (0.4%)

ประกาศรับสมัครงานในกลุ่มธุรกิจการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์มีจำนวนมากที่สุด

เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามกลุ่มประเภทธุรกิจที่ระบุในประกาศรับสมัครงาน โดยอ้างอิงข้อมูลจากฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในการช่วยจำแนกข้อมูล พบว่าประกาศรับสมัครงานในกลุ่มธุรกิจการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์มีจำนวนมากที่สุด 30,572 ตำแหน่งงาน (17.2%) ไม่สามารถระบุได้ 26,834 ตำแหน่งงาน (15.1%) การผลิต 20,485 ตำแหน่งงาน (11.5%) กิจกรรมทางวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และเทคนิค 17,345 ตำแหน่งงาน (9.7%) กิจกรรมการบริหารและการบริการสนับสนุน 15,396 ตำแหน่งงาน (8.6%) ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 14,674 ตำแหน่งงาน (8.2%) กิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ 11,264 ตำแหน่งงาน (6.3%) กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย 9,745 ตำแหน่งงาน (5.5%) ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 9,583 ตำแหน่งงาน (5.4%) การก่อสร้าง 8,147 ตำแหน่งงาน (4.6%) การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 6,530 ตำแหน่งงาน (3.7%) กิจกรรมบริการด้านอื่นๆ 2,394 ตำแหน่งงาน (1.3%) กิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ 1,647 ตำแหน่งงาน (0.9%) ศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ 1,473 ตำแหน่งงาน (0.8%) การศึกษา 1,159 ตำแหน่งงาน (0.7%) และกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ 911 ตำแหน่งงาน (0.5%)

ประกาศรับสมัครงานในกลุ่มอาชีพการตลาดมีจำนวนมากที่สุด

เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามกลุ่มอาชีพที่ระบุในประกาศรับสมัครงาน โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการช่วยจำแนกกลุ่มอาชีพ พบว่าประกาศรับสมัครงานในกลุ่มอาชีพการตลาดมีจำนวนมากที่สุด 29,583 ตำแหน่งงาน (16.6%)  ตามด้วยบัญชี/การเงิน 29,573 ตำแหน่งงาน (16.6%) ช่างเทคนิค 23,635 ตำแหน่งงาน (13.3%) วิศวกร 22,516 ตำแหน่งงาน (12.6%) งานไอที 16,834 ตำแหน่งงาน (9.4%) ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้าง 14,264 ตำแหน่งงาน (8.0%)  ไม่สามารถระบุได้ 12,953 ตำแหน่งงาน (7.3%) งานฝ่ายบุคคล 7,284 ตำแหน่งงาน (4.1%) ตำแหน่งงานอื่นๆ 4,852 ตำแหน่งงาน (2.7%) พนักงานขายของ 4,310 ตำแหน่งงาน (2.4%) พนักงานคิดเงิน 2,261 ตำแหน่งงาน (1.3%) ครู/ครูสอนพิเศษ 1,983 ตำแหน่งงาน (1.1%) แม่บ้าน 1,976 ตำแหน่งงาน (1.1%) นักออกแบบกราฟิก 1,953 ตำแหน่งงาน (1.1%) สถาปนิก 1,470 ตำแหน่งงาน (0.8%) นักแปล/ล่าม 1,437 ตำแหน่งงาน (0.8%) และคนขับรถ 1,275 ตำแหน่งงาน (0.7%)

ตำแหน่งงานส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล

เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามวุฒิการศึกษาและภูมิภาค จะเห็นว่า ตำแหน่งงานส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งนายจ้างต้องการผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งงานอีกไม่น้อยที่ไม่ระบุระดับการศึกษาและไม่ระบุภูมิภาค

เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามกลุ่มอาชีพและภูมิภาค พบว่า ส่วนใหญ่ตำแหน่งงานในแต่ละกลุ่มอาชีพจะมีการกระจายตัวอิงตามสัดส่วนของจำนวนตำแหน่งงานตามภูมิภาค

เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามวุฒิการศึกษาและกลุ่มอาชีพ พบว่ากลุ่มอาชีพที่ต้องการทักษะจำเพาะ เช่น กลุ่มงานไอที วิศวกร จะต้องการวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป และกลุ่มอาชีพที่ต้องการวุฒิการศึกษาระดับที่สูงกว่าปริญญาตรีจะมีแค่กลุ่มอาชีพการตลาด บัญชี / การเงิน วิศวกร ไอทีและครู / ครูสอนพิเศษ

ตำแหน่งวิศวกรต้องการทักษะเครื่องกลมากที่สุด

เมื่อจำแนกเฉพาะตำแหน่งงานในกลุ่มวิศวกรจากจำนวน 22,516 ตำแหน่งงาน และวิเคราะห์กลุ่มทักษะที่ต้องการ พบว่าทักษะเครื่องกลทักษะที่มีความต้องการมากที่สุด 19,534 ตำแหน่งงาน (86.8%) การก่อสร้าง19,512 ตำแหน่งงาน (86.7%) มาตรฐาน ISO 18,954 ตำแหน่งงาน (84.2%) ทักษะการวิเคราะห์ 18,646 ตำแหน่งงาน (82.8%) ไฟฟ้า 16,853 ตำแหน่งงาน (74.8%) เคมี 15,832 ตำแหน่งงาน (70.3%) การจัดการความปลอดภัย 14,924 ตำแหน่งงาน (66.3%) ภาษาอังกฤษ 14,234 ตำแหน่งงาน (63.2%) การเขียนแบบ 12,317 ตำแหน่งงาน (54.7%) การเขียนโปรแกรม 10,429 ตำแหน่งงาน (46.6%) การประเมินราคา 10,424 ตำแหน่งงาน (46.3%) และภาษาญี่ปุ่น 4,525 ตำแหน่งงาน (20.1%) โดย 1 ตำแหน่งงานมีทักษะที่ต้องการมากกว่า 1 ทักษะ

เมื่อวิเคราะห์วุฒิการศึกษาขั้นต่ำของกลุ่มวิศวกรพบว่ามีประกาศรับสมัครงานวุฒิมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีจำนวน 438 ตำแหน่งงาน (1.9%) มัธยมศึกษาปีที่ 6 134 ตำแหน่งงาน (0.6%) ปวช. 6,842 ตำแหน่งงาน (30.4%)  ปวส. 1,023 ตำแหน่งงาน (4.5%) ปริญญาตรี 11,483 ตำแหน่งงาน (51.0%) สูงกว่าปริญญาตรี 643 ตำแหน่งงาน (2.9%) และที่ไม่ระบุวุฒิการศึกษาขั้นต่ำมีจำนวน 1,953 ตำแหน่งงาน (8.7%)

เมื่อดูกระจายตัวของตำแหน่งงานกลุ่มวิศวกรตามภูมิภาคต่างๆ เทียบกับกลุ่มอาชีพอื่นๆ พบว่ามีตำแหน่งงานของกลุ่มวิศวกรในกรุงเทพและปริมณฑล คิดเป็น 61.8% ของตำแหน่งงานวิศวกรเทียบกับ 62.1% ของตำแหน่งงานทั้งหมดที่อยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งชี้ให้เห็นว่าตำแหน่งงานของกลุ่มวิศวกรมีการกระจายตัวใกล้เคียงกับตำแหน่งงานอื่นๆ

โครงการวิเคราะห์การประกาศหางานออนไลน์จะวิเคราะห์และนำเสนอการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานไทยอย่างต่อเนื่องไปในทุกไตรมาส

บทความโดย วินิทร เธียรวณิชพันธุ์ และ ฐิติรัตน์ สีหราช ทีมวิจัย “โครงการวิเคราะห์การประกาศหางานออนไลน์”

อ่านบทวิเคราะห์การประกาศหางานออนไลน์ที่ผ่านมา [คลิก]