สิทธิไรเดอร์ไทย คุ้มครองอย่างไรให้เป็นธรรม?

หนึ่งในอาชีพที่เติบโตอย่างมากในรอบเกือบสิบปีที่ผ่านมา คือ ไรเดอร์ พนักงานรับส่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่น ซึ่งธุรกิจบริการขนส่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันนี้ สร้างอาชีพให้แก่ไรเดอร์มากกว่าแสนคน 

แต่ที่ผ่านมามักจะเห็นการชุมนุมของกลุ่มไรเดอร์ในการขับเคลื่อนข้อเรียกร้องอยู่เสมอ เนื่องจากสิทธิสวัสดิการและการคุ้มครองการทำงานกลับยังไม่ถูกพัฒนาให้เหมาะสม  สะท้อนว่าปัญหาของไรเดอร์เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของธุรกิจแพลตฟอร์มที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และที่ผ่านมามักเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นรายกรณีไป

ปัญหาที่ไรเดอร์ต้องเผชิญ

จากการเรียกร้องของไรเดอร์โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์มรับส่งอาหารเห็นได้ว่าหลายครั้งไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นปัญหาที่ยังไม่ถูกแก้ไขในเชิงโครงสร้างการกำกับดูแล เช่น การคุ้มครองการทำงานหรือความเป็นธรรมในการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการทำงานอย่างการถูกปรับลดค่ารอบ การเปลี่ยนวิธีคำนวณผลตอบแทนหรือโบนัส การปรับระบบจัดสรรงาน การขาดสวัสดิการ และหลักประกันการทำงาน การเปลี่ยนเงื่อนไข การทำงานโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ฯลฯ

เหตุสำคัญที่ไรเดอร์ยังคงไม่ได้รับสิทธิและการคุ้มครองการทำงานที่ควรจะเป็น ไม่อาจมองเพียงแค่ว่าเป็นความรับผิดชอบของแพลตฟอร์มเท่านั้น เพราะที่ผ่านมากฎหมายแรงงานไทยกำหนดให้เรื่องดังกล่าวผูกโยงกับสถานะการจ้างงาน โดยปัจจุบันกฎหมายได้จำแนกสถานะการจ้างงานออกเป็นสองรูปแบบ ได้แก่ ลูกจ้างและผู้รับเหมาอิสระ

ปัญหาที่ไรเดอร์ต้องเผชิญคือ การถูกนิยามสถานะที่ไม่สอดคล้องกับสภาพการทำงานจริง โดยไรเดอร์มักจะถูกเรียกเป็นพาร์ตเนอร์ของแพลตฟอร์มหรือถูกเหมารวมว่าเป็นแรงงานอิสระ แม้ว่าไรเดอร์บางรายจะทำงานเสมือนลูกจ้างหรือบางแพลตฟอร์มจะกำหนดเงื่อนไขการทำงานที่เข้าข่ายนายจ้างกับลูกจ้างก็ตาม

ผลสำรวจจากงานศึกษาแนวทางการกำกับ Digital platform ในประเทศไทยของ TDRI ปี 2565 พบว่า ไรเดอร์ส่วนใหญ่ถูกกำหนดเงื่อนไขการทำงานในลักษณะเดียวกับลูกจ้าง เช่น การกำหนดช่วงเวลารับงาน การกำหนดผลตอบแทน การกำหนดบทลงโทษเมื่อไม่ปฏิบัติตาม ฯลฯ แต่สิทธิที่ได้รับกลับน้อยกว่าหรือเทียบเท่าการเป็นผู้รับเหมาะอิสระเท่านั้น

แม้ว่าขบวนการเรียกร้องของไรเดอร์จะเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่กลับไม่ได้ถูกแก้ไขอย่างจริงจังเพราะเป็นการรวมกลุ่มแบบชั่วคราว และเป็นการต่อรองไกล่เกลี่ยระหว่างกลุ่มไรเดอร์ที่มารวมตัวกันกับผู้แทนของแพลตฟอร์ม ผลสุดท้ายกลุ่มไรเดอร์ที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่ามักจะเป็นผู้ที่ต้องยอมรับและปรับตัวตามการตัดสินใจของแพลตฟอร์ม

ข้อเสนอเพื่อเพิ่มสวัสดิการและการคุ้มครองไรเดอร์

เนื่องจากอาชีพไรเดอร์มีความยืดหยุ่นสูงลักษณะการทำงานแตกต่างกัน รวมถึงความต้องการสวัสดิการที่ต่างกัน ตัวอย่างจากผลสำรวจของ TDRI ปี 2565 พบว่า ไรเดอร์ที่มีรายได้หลักจากอาชีพไรเดอร์จะสนใจค่าจ้างขั้นต่ำ การชดเชยรายได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ และ สิทธิในการรวมกลุ่ม ขณะที่ไรเดอร์ที่รับงานแบบรายสะดวกจะต้องการประกันอุบัติเหตุและประกันสุขภาพ

ดังนั้น แนวคิดเรื่องการคุ้มครองการทำงานของไรเดอร์จึงไม่ควรกำหนดแบบตายตัว แต่ควรสอดคล้องกับลักษณะการทำงาน โดยไรเดอร์ควรจะได้รับการคุ้มครองเพิ่มขึ้นตามระดับอำนาจควบคุมของแพลตฟอร์ม อย่างไรก็ดีเพื่อเป็นการสร้างหลักประกันการทำงานขั้นพื้นฐานแก่ ไรเดอร์ทุกคน ภาครัฐควรกำหนดมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานขั้นต่ำ ได้แก่

(1) การชดเชยความเสียหายเมื่อเกิดอุบัติเหตุระหว่างการทำงาน โดยกรณีที่ผู้เสียหายเป็นบุคคลที่สาม แพลตฟอร์มจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบโดยจัดให้มีประกันคุ้มครองบุคคลดังกล่าว

กรณีความเสียหายเกิดกับไรเดอร์ แพลตฟอร์มจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบหากมีส่วนให้เกิดเหตุดังกล่าว เช่น การกำหนดเงื่อนไขการทำงานที่เพิ่มความเสี่ยง

(2) การรับรองสิทธิการรวมตัวของแรงงานบนแพลตฟอร์ม

(3) การอำนวยความสะดวกด้านงานเอกสารแก่ไรเดอร์ที่ต้องการเข้าร่วมกองทุนประกันสังคม

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายภาครัฐควรวางกลไกส่งเสริมการแข่งขันระหว่างแพลตฟอร์มเพื่อเพิ่มความคุ้มครองแก่ไรเดอร์ตามระดับอำนาจการควบคุม และกำหนดให้แพลตฟอร์มนำเสนอข้อมูลสวัสดิการและเงื่อนไขการทำงานที่ชัดเจนและเปรียบเทียบได้ง่าย หากมีการแข่งขันจะทำให้ไรเดอร์มีทางเลือกและมีโอกาสได้รับสิทธิประโยชน์หรือการคุ้มครองที่ดีกว่าการคุ้มครองขั้นต่ำ

นอกจากนี้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการทำงานแก่ไรเดอร์ที่เข้าข่ายเป็นลูกจ้างจึงเสนอให้มีการจัดทำหลักเกณฑ์พิสูจน์สถานะลูกจ้างของไรเดอร์ หากแพลตฟอร์มมีอำนาจบังคับบัญชาไรเดอร์ตามหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งให้ถือว่าไรเดอร์นั้นมีสถานะเป็นลูกจ้างและต้องได้รับการคุ้มครองตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด

หลักเกณฑ์ที่ใช้พิจารณา ได้แก่ (1) ข้อกำหนดช่วงเวลาเปิดแอปพลิเคชัน (2) ข้อกำหนดห้ามรับงานจากที่อื่น (3) ข้อกำหนดให้ไรเดอร์ต้องรับงานตามการจัดสรร และ (4) ข้อกำหนดบทลงโทษถ้าไม่ทำตาม

สุดท้ายภาครัฐควรกำหนดหน้าที่หรือแนวปฏิบัติของแพลตฟอร์ม เพื่อลดความเสี่ยงการใช้อำนาจต่อรองที่เหนือกว่าในการเอาเปรียบแรงงาน โดยภาครัฐควรกำหนดหน้าที่ของแพลตฟอร์มให้ประเมินความเสี่ยงอัลกอริทึม หรือระบบจัดสรรงาน และรายงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการกำหนดให้แพลตฟอร์มต้องแจ้งข้อมูลหากมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการทำงานให้แรงงานทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน ฯลฯ

ความท้าทายในการกำกับดูแลแรงงานบนแพลตฟอร์ม

ปัจจุบันหลายฝ่ายพยายาม ผลักดันร่างกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ…. โดยเพิ่มนิยาม “ผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระ” ซึ่งจะครอบคลุมแรงงานบนแพลตฟอร์มรวมถึง ไรเดอร์ รวมถึงการกำหนดสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิในการรวมกลุ่ม สิทธิได้รับการคุ้มครองจากการขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานอิสระ เป็นต้น

ดังนั้น การขับเคลื่อนร่างกฎหมาย ดังกล่าวถือเป็นโจทย์สำหรับรัฐบาลใหม่เพื่อแก้ปัญหาแรงงานบนแพลตฟอร์มที่เรื้อรัง มานาน เราคงจะต้องติดตามว่ารัฐบาลชุดใหม่นี้ จะมีการผลักดันและแก้ไขร่างกฎหมายเพิ่มเติมหรือไม่ หรือหากผ่านกฎหมายฉบับดังกล่าวแล้ว จะช่วยแก้ปัญหาของไรเดอร์ได้มากน้อยเพียงใด เพราะการออกแบบการคุ้มครองการทำงานของไรเดอร์แบบเหมารวมนั้นอาจไม่ตอบโจทย์อย่างแท้จริง

บทความโดย อุไรรัตน์ จันทรศิริ

เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 18 พฤษภาคม 2566


ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ