tdri logo
tdri logo
2 มิถุนายน 2023
Read in Minutes

Views

การเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนองค์กร: หัวใจสำคัญ ประโยชน์ และความท้าทาย

การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนองค์กร เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างความรับผิดรับชอบขององค์กร (Corporate accountability) และสร้างความโปร่งใสในการดำเนินงานขององค์กร ที่ใช้สื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ข้อมูลดังกล่าวในการตัดสินใจ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยปูทางสู่การสร้างบรรทัดฐาน และความคาดหวังใหม่ ๆ ในการดำเนินธุรกิจ (Buhmann, 2013) พร้อมกระตุ้นให้เกิดการพัฒนานโยบายองค์กร และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมองค์กรให้เป็นไปในทิศทางที่มีความสอดคล้องกับข้อกำหนดในการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนองค์กรมากขึ้น

นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการจัดการกระบวนการบริหารงานที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนภายในองค์กร ว่าจะเป็น การบริหารจัดการความเสี่ยง การวางกลยุทธ์องค์กรที่ส่งเสริมให้องค์กรเห็นภาพผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินงานขององค์กรชัดเจนขึ้น

ขณะเดียวกันยังชี้ให้เห็นความเสี่ยง และโอกาสทางธุรกิจที่อาจเข้ามาเพิ่มขึ้น เช่น บริษัทในกลุ่มตัวอย่างจากงานวิจัยโดยทีมวิจัยทีดีอาร์ไอ ได้ให้ข้อมูลว่าตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลการใช้ไฟฟ้า ทำให้เห็นโอกาสในการลดต้นทุนค่าไฟผ่านการลงทุนติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ เป็นต้น ซึ่งการตัดสินใจนี้ทำให้บริษัทมีแหล่งพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ยังเป็นการช่วยลดค่าไฟด้วย

ด้วยเหตุนี้เองทำให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนองค์กร จึงเป็นข้อมูลที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้น งานวิจัยหลายชิ้นได้ชี้ให้เห็นว่าการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นบวกขององค์กรส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุน (Holm and Rikhardsson, 2008) และข้อมูลที่ไม่เป็นตัวเงินมีส่วนส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนระยะสั้น

โดยนักลงทุนมองว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ช่วยลดความเสี่ยงในการตัดสินใจลงทุน (Rikhardsson and Holm, 2008) นอกจากนี้ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ขององค์กรในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมยังส่งผลบวกต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุน โดยเฉพาะข้อมูลที่ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบเชิงบวกของการลงทุนขององค์กร (Martin and Moser, 2016)

ประโยชน์ของการเปิดเผยข้อมูลนี่เอง ทำให้ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนองค์กรและความรับผิดชอบขององค์กรมากขึ้นกว่าเดิม ในหลากหลายรูปแบบและช่องทาง ทั้งเป็นข้อมูลในส่วนหนึ่งของรายงานประจำปี การเปิดเผยข้อมูลโดยจัดทำรายงานความยั่งยืนแบบแยกเล่ม หรือเปิดเผยข้อมูลทางหน้าเว็บไซต์ของบริษัท ซึ่งอาจจะมีชื่อเรียกที่ต่างกันออกไป เช่น รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน รายงานความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ รายงาน ESG เป็นต้น

จากการสำรวจข้อมูลการจัดทำรายงานความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนในดัชนี SET100 ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558-2564 โดยทีมวิจัยทีดีอาร์ไอ ในโครงการสำรวจการจัดทำรายงานความยั่งยืน และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดประเด็นความยั่งยืนที่มีนัยสำคัญของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย ที่ได้รับการสนับสนุนโดยกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) พบว่า ในปีพ.ศ. 2558 มีบริษัทจากกลุ่มตัวอย่างเพียง 40% ที่จัดทำรายงานแบบแยกเล่ม แต่ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มมาอยู่ที่ 51% ในผลการสำรวจปี พ.ศ. 2564

อย่างไรก็ตามแม้การเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนองค์กรจะได้รับความสนใจ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่การจัดทำรายงานความยั่งยืนแบบแยกเล่มอาจไม่ได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วนัก เหตุผลหนึ่งอาจมาจากการที่บริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยเลือกเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนองค์กรในรายงานประจำปี หรือ 56-1 One Report ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) บังคับใช้ในการเปิดเผยข้อมูลปีพ.ศ. 2564 ซึ่งมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนองค์กรเพิ่มเติมจากรายงานประจำปีรูปแบบเดิม

หัวใจสำคัญและความท้าทายในการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนองค์กร

แม้การจัดทำรายงานความยั่งยืนจะได้รับความนิยมที่เพิ่มขึ้น แต่การรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืนองค์กรที่เพิ่มขึ้น อาจไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่าองค์กรมีการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ หรือมีการผนวกแนวคิดเกี่ยวกับประเด็นทางด้านความยั่งยืนเข้าไปในการตัดสินใจทางธุรกิจอย่างแท้จริง

นอกจากนี้การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนในหลายกรณีอาจถูกมองว่าเป็นการเปิดเผยข้อมูลแบบผิวเผินเพื่อเกาะกระแส และเพื่อลดการตรวจสอบ หรือแทรกแซงทางผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในหลายโอกาสจึงทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงบทบาทของรายงานความยั่งยืน และมีการหยิบยกประเด็นเรื่องการฟอกเขียว (Greenwashing) ขึ้นมา

ดังนั้นนอกเหนือจากปริมาณการรายงานข้อมูลความยั่งยืนที่เพิ่มขึ้น การสร้างการกำกับดูแลด้านความยั่งยืนองค์กรให้เกิดการผนวกประเด็นด้านความยั่งยืนที่สำคัญเข้าไปในการตัดสินใจทางธุรกิจ การปฏิบัติงาน และการวัดผลการดำเนินงานจึงมีความสำคัญมาก แต่ก็เป็นความท้าทายขององค์กรต่าง ๆ เช่นกัน

เมื่อพิจารณารายละเอียดภายในรายงานความยั่งยืนจะพบว่ารายงานแต่ละเล่มจะมีประเด็นด้านความยั่งยืน หรือประเด็นในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ที่หลากหลาย

ทว่าหัวใจสำคัญของกระบวนการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนองค์กร คือ “กระบวนการประเมินประเด็นที่มีนัยสำคัญ” หรือ Materiality Assessment ซึ่งเป็นกระบวนการที่องค์กรใช้เพื่อระบุประเด็นความยั่งยืนขององค์กรที่มีความสำคัญจากมุมมองขององค์กร และจากมุมมองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นกระบวนการประเมินประเด็นที่มีนัยสำคัญถือเป็นพื้นฐานของการเปิดเผยข้อมูลขององค์กรทุกรูปแบบ เพื่อทำให้องค์กรเก็บข้อมูล ประเมินผลการดำเนินงาน และสื่อสารข้อมูลความยั่งยืนองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความมีนัยสำคัญของประเด็นความยั่งยืน

ประเด็นหรือข้อมูลจะมีนัยสำคัญก็ต่อเมื่อข้อมูลนั้นมีผลต่อการตัดสินใจของผู้ใช้ข้อมูล เพราะฉะนั้นการพิจารณาว่าประเด็นความยั่งยืนประเด็นใดมีนัยสำคัญสำหรับองค์กรหนึ่ง ๆ ก็ขึ้นอยู่กับบริบทของผู้ใช้ข้อมูล และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ดังนั้นองค์กรผู้ให้ข้อมูลควรต้องพิจารณาถึงความคาดหวัง และความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้าน และควรมีการทบทวนประเด็นดังกล่าวอยู่เสมอ เนื่องจากความมีนัยสำคัญของของประเด็นต่าง ๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลงจากบริบททางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป การเปลี่ยนแปลงความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบองค์กร เช่น COVID-19 หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) เป็นต้น

ในขณะที่ประเด็นที่มีนัยสำคัญเป็นพื้นฐานของการเปิดเผยข้อมูล และจัดทำรายงานความยั่งยืน สิ่งที่สำคัญกว่ารายชื่อของประเด็นเหล่านั้น คือ กระบวนการได้มาซึ่งประเด็นเหล่านั้น กระบวนการทบทวนและระบุประเด็นที่มีนัยสำคัญขององค์กรแต่ละแห่งอาจมีความถี่ที่แตกต่างกันออกไป เนื่องจากกระบวนการนี้ยังไม่ได้ถูกกำหนดเป็นข้อบังคับในการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนองค์กร โดยบางองค์กรอาจมีการระบุประเด็นดังกล่าวใหม่ โดยทำทุกปี หรือมีความถี่อยู่ที่ 2-5 ปี โดยกระบวนการดังกล่าวต้องมีความสอดคล้องกับกิจกรรมในห่วงโซ่คุณค่าของกิจการ (Value Chain)  และกลยุทธ์ขององค์กร เพื่อทำให้การกำกับดูแล และการประเมินผลสอดคล้องกับประเด็นที่สำคัญอย่างแท้จริง รวมถึงต้องสอดคล้องกับความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย

ความสำคัญของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการจัดทำรายงานความยั่งยืน

ทั้งนี้ องค์กรที่เปิดเผยข้อมูลอาจไม่ได้ให้ความสำคัญต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเท่ากันทุกกลุ่ม โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียบางกลุ่มอาจถูกละเลยเพราะไม่ได้สื่อสารประเด็นที่องค์กรให้ความสนใจมากนัก (Brown และ Tregidga, 2017) ดังนั้นกระบวนการประเมินประเด็นที่มีนัยสำคัญข้างต้นก็อาจถูกตั้งคำถามถึงการรับฟังเสียงของผู้มีส่วนได้ส่วนอย่างรอบด้านเช่นกัน รวมถึงยังอาจถูกตั้งคำถามในแง่การเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงการจัดฉากตามกระบวนการเท่านั้น (Solomon and Solomon, 2006)

ความสำคัญของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการจัดทำรายงานความยั่งยืนยังถูกย้ำผ่านงานวิจัยหลายชิ้น โดยมีการให้มุมมองว่าการจัดทำรายงานและการเก็บข้อมูลความยั่งยืนเป็นการโต้ตอบกันระหว่างหลาย ๆ ฝ่าย ซึ่งต้องสะท้อนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการเรียนรู้ร่วมกันอย่างเพียงพอ (Thomson และ Bebbington, 2005) พร้อมกันนี้การโต้ตอบและเรียนรู้ของทั้งฝั่งองค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นการสร้างกรอบความรับผิดรับชอบที่มีการตกลงร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง (Bebbington et al., 2007)

ถึงแม้หลายองค์กรที่เปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน และอาจมีการเปิดเผยประเด็นความยั่งยืนที่มีนัยสำคัญ แต่การเปิดเผยข้อมูลกระบวนการการได้มาซึ่งประเด็นนั้นอาจยังไม่ถูกให้ความสำคัญมากนัก ผลการสำรวจรายงานความยั่งยืนจากโครงการที่กล่าวไปข้างต้นชี้ว่าแม้บริษัทในกลุ่มตัวอย่างจะมีการเปิดเผยประเด็นที่มีนัยสำคัญผ่านการใช้ Material Matrix เพิ่มขึ้นในช่วงปีที่สำรวจจาก 37% ในปีพ.ศ. 2558 สู่ 80% ในปีพ.ศ. 2564 แต่การเปิดเผย และให้รายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการได้มานั้น ประเด็นดังกล่าวยังไม่ชัดเจน

ผลการสำรวจนี้สอดคล้องกับงานวิจัยของ Beske และคณะ (2020) ที่สำรวจรายงานของบริษัทจดทะเบียน 33 แห่ง ในเยอรมันนีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557-2560 และพบว่ารายงานส่วนใหญ่มีการกล่าวถึงประเด็นความยั่งยืนที่มีนัยสำคัญ แต่รายงานส่วนน้อยเท่านั้นที่จะเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการได้มาถึงประเด็นเหล่านั้น

ดังนั้นองค์กรที่เปิดเผยข้อมูล รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแล ควรเน้นถึงความสำคัญในการเปิดเผยข้อมูล กระบวนการได้มาซึ่งประเด็นที่ความยั่งยืน กระบวนการรับฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และกระบวนการวัดผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน โดยไม่ได้เน้นแค่ “การทำรายงาน” ที่เป็นเพียงผลผลิตของกระบวนการดังกล่าวเท่านั้น

บทความโดย ดร. ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ ขจรพงศ์ ประศาสตรานุวัตร และ เอกปวีณ อนุสนธิ์

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจการจัดทำรายงานความยั่งยืน และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดประเด็นความยั่งยืนที่มีนัยสำคัญของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย ที่ได้รับการสนับสนุนโดยกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF)

อ้างอิง

Bebbington, J., Brown, J., Frame, B. & Thomson, I. (2007). Theorizing engagement: the potential of a critical dialogic approach. Accounting, Auditing & Accountability Journal, 20, 356-381.

Beske, F., Haustein, E. and Lorson, P.C. (2020), Materiality analysis in sustainability and integrated reports, Sustainability Accounting, Management and Policy Journal, Vol. 11 No. 1, pp. 162-186.

Brown, J. & Tregidga, H. (2017). Re-politicizing social and environmental accounting through Rancière: On the value of dissensus. Accounting, Organizations and Society, 61, 1-21.

Buhmann, K. (2013). The Danish CSR Reporting Requirement as Reflexive Law: Employing CSR as a Modality to Promote Public Policy Objectives through Law. European Business Law Review, pp. 187-216.

Holm, C. & Rikhardsson, P. (2008). Experienced and Novice Investors: Does Environmental Information Influence Investment Allocation Decisions? European Accounting Review, 17, 537-557.

Martin, P. R. & Moser, D. V. (2016). Managers’ green investment disclosures and investors’ reaction. Journal of Accounting and Economics, 61, 239-254.

Rikhardsson, P. & Holm, C. (2008). The effect of environmental information on investment allocation decisions – an experimental study. Business Strategy and the Environment, 17, 382-397.

Solomon, J. F. & Solomon, A. (2006). Private social, ethical and environmental disclosure. Accounting, Auditing & Accountability Journal, 19, 564-591.

Thomson, I. & Bebbington, J. (2005). Social and environmental reporting in the UK: a pedagogic evaluation. Critical Perspectives on Accounting, 16, 507-533.  


ผลงานล่าสุดจากทีดีอาร์ไอ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด