ไม่ให้ใครตกหล่น ลดเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ เพิ่มเข้าถึงเครื่องมือแพทย์-แพลตฟอร์มดิจิทัล

ไม่ให้ใครตกหล่น ลดเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ

เพิ่มการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์-แพลตฟอร์มดิจิทัล

 

 

ประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพอยู่มาก  โดยเฉพาะกลุ่มคนยากจน ผู้พิการ และผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล

แม้ว่าจะมีกลไกหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  สิทธิข้าราชการ หรือสิทธิประกันสังคมที่ทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการทางสุขภาพได้

แต่กระนั้นในการไปหาหมอหนึ่งครั้งของใครหลายคนกลับเป็นเรื่องยาก ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่ใส่ใจต่อสุขภาพ หรือมีความสามารถในการอดทนต่อความเจ็บป่วยใดๆ แต่ด้วยเพราะข้อจำกัดทางร่างกาย ปัญหาปากท้อง รวมไปถึงระยะทางที่เป็นอุปสรรค

ปัญหาเหล่านี้ถูกเผยแพร่ผ่านการนำเสนอผลการศึกษาในเวทีสัมมนา การลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพด้วยการเพิ่มการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์และแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านสุขภาพ (Digital health platform) จัดโดย ทีดีอาร์ไอ ร่วมกับ สอวช. และ สวทช. เมื่อ 10 ก.ค. 2566  โดยนักวิจัยได้ฉายภาพปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพที่เกิดขึ้นกับประชากรไทยสู่ ข้อเสนอสร้างกลไกลดเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึงการรักษาพยาบาล

 

“ยากจน -พิการ-ห่างไกล” 3 กลุ่มเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพสูง

ผลสำรวจในปี 2564 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประเทศไทยมีคนยากจน 4.4 ล้านคน คิดเป็น 6.3 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั่วประเทศ  โดยสาเหตุหลักที่กลุ่มคนยากจนไม่ไปรับการตรวจรักษาเวลาเจ็บป่วย เพราะการไปโรงพยาบาล มี“ต้นทุน” ที่เกิดขึ้น ทั้งระยะเวลาการรอคอย ไม่มีเงิน  ไม่มีผู้พาไป เดินทางไม่สะดวก

มากไปกว่านี้มีข้อมูลที่สะท้อนภาพชัดเจนว่ากลุ่มคนยากจน ที่มีรายได้ต่ำกว่า 3,000 บาทต่อเดือน มีสัดส่วนการไม่ได้รับการตรวจรักษาเมื่อมีความจำเป็นมากที่สุด  และมีแนวโน้มที่เจ็บป่วยเป็นโรคเรื้อรังหรือมีโรคประจำตัวสูงกว่ากลุ่มที่มีรายได้ที่มากกว่า และมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคมากกว่ากลุ่มรายได้อื่นด้วย

ขณะที่ผู้พิการ มีจำนวน 3.7 ล้านคน ส่วนใหญ่มีความบกพร่องทางสายตา การเคลื่อนไหว และการได้ยิน โดยในจำนวนผู้พิการทั้งหมด มี 22 เปอร์เซ็นต์  เป็นผู้พิการที่มีฐานะยากจน และมี 4 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาเมื่อจำเป็น โดยสาเหตุคล้ายกับกลุ่มคนยากจน คือ ไม่มีผู้พาไป เดินทางไม่สะดวก ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา ค่าเดินทาง คิวยาว และไม่มีเวลา

นอกจากนี้ยังพบด้วยว่ามีผู้พิการ 15 เปอร์เซ็นต์จากผู้พิการทั้งหมด มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยผู้พิการ แต่ยังไม่ได้รับเครื่องช่วยที่มีความจำเป็นในการใช้ชีวิต เช่น ไม้เท้า เครื่องช่วยฟัง  วีลแชร์

ส่วนผู้ที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกลก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เข้าถึงการรักษา โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดน ภาคเหนือ ที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขา อย่างจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนหมู่บ้านที่ประสบปัญหาด้านความห่างไกลมากที่สุด  โดยตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า สถานพยาบาลระดับปฐมภูมิที่ใกล้ที่สุดไม่ควรอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านเกิน 22.5 กิโลเมตร หรือใช้เวลาเดินทางมากกว่า 30 นาที

 

ขาดเครื่องมือแพทย์ – บุคลากร ทำเหลื่อมล้ำหนัก 

นอกจากนี้ยังพบว่าความเหลื่อมล้ำอีกส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาการขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ ซึ่งพบว่าอัตราส่วนของเครื่องมือแพทย์ที่สำคัญในการรักษาโรคต่อประชากรยังอยู่ในระดับปานกลางจนถึงต่ำเมื่อเทียบกับต่างประเทศ แต่เมื่อพิจารณาสัดส่วนในประเทศจะพบว่า กรุงเทพฯ มีสัดส่วนเครื่องมือแพทย์ต่อประชากรสูงที่สุด ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วน CT Scan, MRI, เครื่องสลายนิ่ว และรถพยาบาลต่อประชากรต่ำที่สุด ส่วนภาคใต้มีสัดส่วนเครื่องอัลตราซาวด์และเครื่องล้างไตต่ำที่สุด

ขณะเดียวกันยังมีปัญหาการกระจายตัวของบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์เฉพาะทางที่มักกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และกรุงเทพฯ และเมื่อเจาะลึกลงไปดูข้อมูลของ วิสัญญีแพทย์ พบว่า จังหวัดอำนาจเจริญ มีสัดส่วนประชากร 376,350 คน ต่อวิสัญญีแพทย์ 1 คน ขณะที่กรุงเทพฯ มีสัดส่วนประชากร 8,678 คน ต่อวิสัญญีแพทย์ 1 คน ซึ่งแตกต่างกันมากถึง 43 เท่า  ส่วนสาขาที่ขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางมากเป็นพิเศษ ได้แก่พยาธิวิทยา ซึ่งมีถึง 29 จังหวัดที่ไม่มีแพทย์เฉพาะทางด้านพยาธิวิทยา

 

 

เหล่านี้คือข้อค้นพบของผลการศึกษาเรื่อง “การลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพด้วยการเพิ่มการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์และแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านสุขภาพ (Digital health platform)” โดย ดร. เสาวรัจ รัตนคำฟู  รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ และผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทีดีอาร์ไอ

 

กลไกเสริม อุดช่องว่าง เพิ่มการเข้าถึง

ดร.เสาวรัจ ระบุว่า ข้อมูลข้างต้นทำให้เห็นว่าแม้จะมีกลไกหลักรองรับการเข้ารับการรักษาพยาบาลอยู่แล้ว แต่ยังคงมีช่องว่างที่ทำให้กลุ่มเป้าหมายบางส่วนยังเข้าไม่ถึงบริการทางสุขภาพ  ซึ่งที่ผ่านมามีกลไกเสริม ที่พยายามเข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพในประเทศ ด้วยการเพิ่มการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์และแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านสุขภาพ เช่น กลไกการเข้าถึงเครื่องช่วยสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว , การเข้าถึงการบำบัดทดแทนไตของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง , การเข้าถึงการรักษาทางทันตกรรมด้วยรากฟันเทียม, การเข้าถึงการคัดกรองและการรักษาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี รวมถึงกลไกการใช้แพทย์ทางไกลเพื่อเพิ่มการเข้าถึงการรักษาของผู้ที่อยู่ห่างไกล ที่มีการทำระบบวีดีโอคอล เชื่อมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล กับโรงพยาบาลแม่ข่าย และระบบ DMS Telemedicine

แต่กระนั้นกลับพบข้อจำกัดในการดำเนินงานของกลไกเสริมหลายประการ เช่น แหล่งที่มาของงบประมาณในการดำเนินงาน ซึ่งส่วนใหญ่พบว่ามาจากเงินบริจาคและการสนับสนุนของมหาวิทยาลัย ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินงานในระยะยาว และขอบเขตยังไม่สามารถครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากพอ

รวมไปถึงสิทธิประโยชน์ของระบบประกันสุขภาพบางอย่างอาจจะยังไม่ครอบคลุมการใช้เครื่องมือ หรือกระบวนการคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ เช่น ชุดตรวจพยาธิใบไม้ตับทางปัสสาวะแบบสำเร็จรูป ซึ่งเป็นชุดตรวจแบบใหม่ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เร็วกว่าและสะดวกกว่า มีประสิทธิภาพมากกว่าการคัดกรองด้วยวิธีดั้งเดิม ซึ่งชุดตรวจแบบใหม่นี้สิทธิสปสช.ยังไม่ครอบคลุม และมีความล่าช้าในการพัฒนาเครื่องมือแพทย์เข้าสู่ตลาด รวมไปถึงโมเดลธุรกิจที่ไม่ตอบโจทย์ตลาดหรือสามารถแข่งขันได้ ยังขาดการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินโครงการให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เช่น ระบบฐานข้อมูลที่ใช้ในการติดตามการรักษาผู้ป่วย และเชื่อมโยงกับเครือข่ายที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ

 

ปัจจัยแห่งความสำเร็จของกลไกเสริม

แม้จะมีข้อจำกัดแต่พบว่ากลไกเสริมหลายโครงการประสบความสำคัญ เพราะมี key success factors ดังนี้ มีการดำเนินการแก้ปัญหาตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางของปัญหา ทำให้แก้ไขปัญหาได้อย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพ , มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ครอบคลุม ช่วยลดอุปสรรคที่ทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงการรักษา หรือไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยการประสานงานและติดตามให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษา โดยการใช้ระบบข้อมูลที่ทันสมัย การสนับสนุนค่าใช้จ่าย ในการเข้ารับการรักษา เช่น ค่าเดินทาง และค่ารักษาส่วนเกินที่ไม่สามารถเบิกได้และการให้ความรู้ เพื่อให้เห็นความจำเป็นและความสำคัญของการรักษา

นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญคือ การพัฒนาเครืองมือที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้ใช้  เช่น  ฐานข้อมูล Isan Cohort และชุดตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับ ในการแก้ปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี , แพลตฟอร์ม Thai Cleft Link ที่เก็บข้อมูลการรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และการพัฒนาเครื่องยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ได้

ดร.เสาวรัจ ระบุว่า มีการศึกษาด้วยว่ากลไกเสริมเหล่านี้ ส่งผลกระทบอย่างไรในเชิงเศรษฐกิจ สุขภาพ และสังคม โดยพบว่า การดำเนินการในโครงการต่างๆ มีทางเศรษฐกิจในเชิงบวก และในเชิงสุขภาพ โดยเฉพาะตรวจคัดกรองเชิงรุกผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีในระยะเริ่มต้น ที่สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ม.ขอนแก่น ซึ่งพบว่า 85 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มเป้าหมายที่มาตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดี เป็นมะเร็งระยะที่ 0-2  ส่วนที่เหลือ 15 เปอร์เซ็นต์ เป็นมะเร็งระยะที่ 3-4 ขณะที่กลุ่มที่มาตรวจด้วยตัวเองร้อยละ 73 เป็นมะเร็งระยะที่ 3-4 ซึ่งเป็นระยะที่รุนแรงแล้ว ทำให้อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยที่มาจากการคัดกรองสูงกว่าผู้ป่วยที่มาตรวจด้วยตนเอง

 

“จากจำนวนผู้ป่วยที่มาก ทำให้ทางสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มีการพัฒนาชุดตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปด้วยปัสาวะ ซึ่งชุดตรวจดังกล่าวมีความแม่นยำสูง และมีต้นทุนในการตรวจเฉลี่ยต่อรายที่ผลเป็นบวกที่ 914 บาท ต่ำกว่าต้นทุนการตรวจคัดกรองแบบดั้งเดิม ที่มีต้นทุน 5,790 บาทและ 3,351 บาท”

ส่องโลก สำรวจเครื่องมือลดเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ 

ความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ เป็นสิ่งที่ทั่วโลกต้องเผชิญ หลายประเทศพยายามลดความเหลื่อมล้ำด้วยการเพิ่มการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์ เช่น การผลิตเครื่องมือแพทย์ในประเทศ เพื่อให้เครื่องมือแพทย์ราคาถูกลง โดยมีการสนับสนุนทั้งกลไกจากภาครัฐและเอกชน การให้ทุน การยกเว้นภาษี การพัฒนานโยบายให้เอื้อต่อการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ เช่น ในอินเดีย มีโครงการ Aravind eye care system ผลิตแก้วตาเทียมจากราคา 200 เหรียญ เหลือเพียง 2 เหรียญ หรือในสิงคโปร์  ซึ่งพบว่าได้ให้ความช่วยเหลือสำหรับผู้พิการมากที่สุด โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณให้กับมูลนิธิ และยังมีการสนับสนุนเชิงนโยบายให้งบประมาณกับผู้พิการในการเข้าถึงเครื่องมือช่วยเหลือด้วย

ขณะที่หลายประเทศมีการใช้แพลตดิจิทัลด้านสุขภาพลดความเหลื่อมล้ำ เช่น เอสโทเนีย เดนมาร์ก และแคนาดา ซึ่งประสบความสำเร็จ เป็นอย่างดี เพราะมียุทธศาสตร์ และมีเป้าหมายที่ชัดเจน ส่งเสริมการยอมรับจากสาธารณะ รวมไปถึงความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ

 

ข้อเสนอแนะลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ

สำหรับในประเทศ ดร.เสาวรัจ มีข้อเสนอต่อภาครัฐเพื่อสนับสนุนกลไกเสริมลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ โดยควรสนับสนุนทุนอย่างต่อเนื่องแก่หน่วยงานที่มีผลการดำเนินงานเป็นที่ประจักษ์ โดยมีเงื่อนไขการให้ทุนขึ้นกับผลการดำเนินงาน  เพื่อให้การทำงานสามารถวางแผนระยะยาวได้ ขณะที่หน่วยงานอื่นๆ เช่น กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ควรมีบทบาทสนับสนุนทุนให้แก่มูลนิธิหรือองค์กรเพื่อสังคมที่ดำเนินงานด้านสาธารณสุข

กระทรวงสาธารณสุขควรลดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มเป้าหมาย เช่น รับการถ่ายทอดโครงการต้นแบบที่ประสบความสำเร็จขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เช่น โครงการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ( CASCAP )  , เพิ่มการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์ในพื้นที่ห่างไกล ควบคู่ไปกับการจัดสรรบุคลากรทางแพทย์ , ขยายพื้นที่ให้บริการแพทย์ทางไกล ( Telemedicine ) ให้ครอบคลุมมากขึ้น  ในส่วนของสปสช. ควรเพิ่มสิทธิการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น เช่น การคัดครองพยาธิใบไม้ตับด้วยชุดตรวจพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูป  นอกจากนี้ควรสนับสนุนค่าเดินทางและค่าที่พักแก่ผู้ป่วยที่ยากจน ผู้ที่อยู่ห่างไกล และผู้พาการ ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุข ควรสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการให้บริการมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาระบบการติดตามการรักษาและฐานข้อมูลกลางสำหรับผู้ป่วยเฉพาะโรคในระดับประเทศ เพื่อให้เห็นภาพรวมของผู้ป่วยทั่วประเทศ และเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดการตกหล่นของกลุ่มเป้าหมาย และปรับปรุงฐานข้อมูลกลาง ให้รวบรวมและจัดเก็บข้อมูลสำคัญ เช่น จำนวนผู้ป่วย จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ จำนวนเครื่องมือแพทย์ เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดสรรเครื่องมือแพทย์และทรัพยากรสนับสนุนให้เหมาะสม

หน่วยงานภาครัฐควรสนับสนุนผู้พัฒนาและผลิตเครื่องมือแพทย์และแพลตฟอร์มดิจิทัลตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อพัฒนาและผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ตอบโจทย์มากขึ้น หรือผลิตเครื่องมือแพทย์ต้นทุนต่ำแต่ได้มาตรฐานสากล เช่น รากฟันเทียม ขาเทียม แขนเทียม และเครื่อง CT Scan   ขณะเดียวกันก็ควรส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายตระหนักถึงสิทธิด้านสุขภาพและให้ความสำคัญในการเข้ารับบริการสุขภาพ

ส่วนข้อเสนอแนะต่อกลไกเสริมเพื่อขยายผลความสำเร็จนั้น ต้องเพิ่มแหล่งรายได้ของมูลนิธิ/องค์กร เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์และความยั่งยืนในการดำเนินงาน เช่น หาโมเดลธุรกิจใหม่ การเผยแพร่ผลดำเนินงานสู่สาธารณะเพื่อจูงใจให้มีผู้บริจาคมากขึ้น ผ่านการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบที่ทันสมัย เช่น สื่อสังคมออนไลน์

อีกทั้งต้องขยายเครือข่ายดำเนินการ โดยเชื่อมโยงกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น อสม. และ รพ.สต.เพื่อให้สามารถดำเนินกิจกรรมในการเข้าถึงกลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยในแต่ละพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์เพื่อปรับการทำงานให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ข้อเสนอเหล่านี้เป็นความท้าทายของภาครัฐ รวมไปถึงกลไกเสริม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้คนไทยทุกคนไม่ตกหล่นในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์

 

 

แกะรอยความสำเร็จ 

นวัตกรรม- แพลตฟอร์มดิจิทัล ลดเหลื่อมล้ำ

“นวัตกรรมเครื่องมือแพทย์” และ “แพลตฟอร์มดิจิทัล” เป็นคำตอบสำหรับการให้บริการด้านสุขภาพของประเทศไทยที่จะทำให้คนไทยเข้าถึงบริการได้อย่างเท่าเทียม

การลงทุนกับสิ่งเหล่านี้จึงมีความคุ้มค่า ในเชิงค่าตอบแทนทางสังคม ทำให้คนมีชีวิตยืนยาวขึ้นจากการตรวจคัดกรองโรค ที่ทำให้เจอโรคได้เร็วขึ้น

“ถ้าการลงทุนคุ้มค่า ทำไมการลงทุนจึงไม่เกิดขึ้นมากเท่าที่ควร?” เป็นคำถามที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ชวนคิด ในเวทีเสวนา  “ลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ ด้วยการเพิ่มการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์และแพลตฟอร์มดิจิทัล”

ดร.สมเกียรติ ชี้ว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกลุ่มคนที่เป็นเป้าหมายในการช่วยเหลือ ทั้ง กลุ่มคนยากจน คนพิการ หรือ คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล มักมีพลังทางการเมืองไม่มาก  จึงไม่สามารถกดดันให้ภาครัฐใช้จ่ายงบประมาณในเรื่องนี้เท่าที่ควร แต่ต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว และจำนวนผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว

นั่นหมายความว่า คนจำนวนมากที่ยังสามารถเคลื่อนไหวได้ปกติในวันนี้  วันหนึ่งในภายภาคหน้าอาจจะเข้าสู่ภาวะคล้ายคนพิการ เพราะฉะนั้นการที่ไทยต้องเตรียมตัวลดความเลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ด้วยนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ และแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ จึงไม่ใช่เพื่อคนส่วนน้อยอีกต่อไป แต่จะเป็นเรื่องสำหรับคนทุกคน แต่หากประเทศไทยยังไม่มีการลงทุนสร้างนวัตกรรมด้านสุขภาพ ต้นทุนดุแลสุขภาพของคนไทยก็จะเป็นต้นทุนที่สูงมาก

จากจุดเริ่มต้นของ “ปัญหา” นำไปสู่ความมุ่งมั่น ต้องการแก้ไขปัญหาให้ผู้ป่วย ทำให้ 3 องค์กร ทั้ง สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น บริษัท ซีเมด เมดิคอล จำกัด และ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา

รศ.ดร. วัชรินทร์ ลอยลม รักษาการแทนผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี เล่าว่า มีคนไทยจำนวน 1.6 -2 หมื่นรายต่อปีป่วยเป็นมะเร็งท่อน้ำดี โดยพบมากที่สุดมากที่สุดในภาคอีสาน  และถ้าไม่ทำอะไรเลยคนกลุ่มนี้จะเสียชีวิตภายใน 1 ปี  ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคมาจากพยาธิใบไม้ตับ ทางสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี จึงทำการวิจัยและศึกษาปัญหานี้มานานกว่า 30 ปี และมีการทำฐานข้อมูลกลุ่มเสี่ยงโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี หรือ Isan Cohort รวมไปถึงการพัฒนาชุดตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับในปัสสาวะคล้ายกับชุดตรวจ ATK ทราบผลได้ภายใน 10 นาที แทนการตรวจด้วยอุจจาระแบบดั้งเดิม จึงอยากให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิประโยชน์ด้านการคัดกรองครอบคลุมทุกกลุ่มเสี่ยง

“เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะให้ประชาชนเข้าถึงการคัดกรองการตรวจปัสสาวะแทนการตรวจแบบดั้งเดิมตามสิทธิที่สปสช.กำหนดเอาไว้ หรือ อนาคตประชาชนสามารถติดต่อขอรับได้ที่ร้านขายยา  ซึ่งการคัดกรองมีประโยชน์อย่างมาก  นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดี ด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ ถ้าพบว่าเป็นมะเร็งในระยะต้นสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด ไม่ต้องให้ยาหลังจากผ่าตัด และยังมีโอกาสที่จะรอดชีวิตสูง แต่ถ้าไม่คัดกรอง รอให้ผู้ป่วยมีอาการแล้วมาหาหมอ นั่นคือ การเจอระยะท้าย ผ่าตัดแล้วยังให้เคมีบำบัดด้วย อัตราการรอดชีวิตต่ำกว่า ถ้ามีการคัดกรองมั่นใจว่าจะประหยัดงบประมาณทางสาธารณสุขได้หลักพันล้านบาทต่อปี”

ด้านนายธีรพงศ์ สมุทรอัษฎงค์ กรรมการ บริษัท ซีเมด เมดิคอล จำกัด บริษัทสตาร์ทอัพ ที่ผลิตเครื่องช่วยยืน หรือวีลแชร์ยืนได้ เพื่อให้ผู้ป่วย ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตทีดีขึ้น ช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น โดยนายธีรพงศ์ มองว่า การสร้างนวัตกรรมทางสุขภาพ จะต้องมีศูนย์บ่มเพาะตั้งแต่ในมหาวิทยาลัย โดยภาครัฐควรสนับสนุนการวิจัย ให้คำปรึกษาตั้งแต่การออกแบบ และควรหาโมเดล ให้นักวิจัยรู้ว่าถ้าผลิตนวัตกรรมขึ้นมา จะสามารถเดินหน้าอะไรต่อไปได้บ้าง สำหรับอุปสรรคที่บริษัทสตาร์ทอัพต้องเผชิญ คือ ขาดเงินทุน ตลาดที่ถูกผูกขาดอยู่แล้ว แต่ยังดีที่ในภายหลังมีบัญชีนวัตกรรม ซึ่งทำให้บริษัททสตาร์ทอัพมีโอกาสมากกว่าเดิม

“ฐานข้อมูลคนพิการยังมีปัญหาอยู่ เรามีการแบ่งคนพิการ 7 ประเภท ในกลุ่มด้านการเคลื่อนไหวซึ่งรวมผู้พิการทั้งหมดตั้งแต่ แขนขาด ขาขาด ข้อเข้าทียม จึงไม่มีข้อมูลความต้องการว่าผู้พิการมีความต้องการแขนเทียมเท่าไหร่ ข้อเข่าเทียมเท่าไหร่ พอไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ ทำให้ภาครัฐไม่สามารถสนับสนุนได้ว่า ใครหรือพื้นที่ไหนต้องการอะไร ซึ่งจะทำให้เข้าไม่ถึงอุปกรณ์ช่วย นอกจากนี้พบว่า ไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลกันใน 3 กระทรวง คือ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  กระทวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข  ทำให้ทุกวันนี้ยังมีผู้พิการบางส่วน ยังไปโพสต์ขอรับบริจาค เตียง วีลแชร์ อยู่เลย ทั้งเขามีสิทธิที่จะได้รับตามกฎหมาย แต่เขาไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะไม่มีการประสัมพันธ์ที่ดีพอ”

ด้านนพ.อรรถพร  รองเลขาสปสช. ระบุว่า  โจทย์ใหญ่ของสปสช. คือ จะทำอย่างไร ให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิประโยชน์ได้  สปสช. มีรายการอุปกรณ์และอวัยวะเทียมประมาณ 200 รายการ ซึ่งเดิมทีสินค้าในรายการเหล่านี้เปิดอิสระให้รพ. จัดหามาได้เอง โดยที่สปสช.จ่ายเป็นงบประมาณลงไป แต่ต่อมาพบว่า ในบางรายการมาจากชิ้นงานวิจัย ทำให้ไม่มีโอกาสที่จะเข้าในจึงเกิดเป็นบัญชีนวัตกรรมขึ้น เช่น  รากฟันเทียมไทย ซึ่งตอนนี้ใช้อยู่ 100 เปอร์เซ็นต์ อีกโจทย์หนึ่ง สปสช. มีทิศทางในการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคด้วย ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญ เพราะการนำเข้าสู่การรักษาตั้งแต่ต้นมีโอกาสรักษาหายขาดสูง  และล่าสุดจะผลักดันชุดตรวจตรวจพยาธิใบไม้ในตับ ที่คิดค้นขึ้นโดยสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ม.ขอนแก่น  รวมไปถึงชุดตรวจ HPV (ชุดตรวจมะเร็งปากมดลูก) ด้วย

“แม้สปสช. กำหนดสิทธิประโยชน์ลงไปแล้ว แต่ถ้าหน่วยบริการไม่เปลี่ยน Mindset หรือกรอบความคิด ก็ยาก เช่น เรื่องยา EPO ซึ่งเป็นซึ่งยากระตุ้มเม็ดเลือด จากเดิมนำข้าร้อยเปอร์เซ็นต์  ต่อมาบริษัทในไทยผลิตได้ แต่กลุ่มหมอเองมีข้อสงสัย แม้สปสช.กระตุ้นอย่างไร แต่ถ้าฝั่งผู้ให้บริการไม่เปิดรับ อันนี้ก็กระตุ้นยากเหมือนกัน”

อย่างไรก็ตามสำหรับการตื่นตัวของประชาชนต่อการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลในการให้การบริการสุขภาพ พบว่า ประชาชนมีความเข้าใจในการใช้ช่องทางนี้มากขึ้นหลังจากสถานการณ์โควิด พบว่า มีตัวเลขการใช้ Telemedicine ซ้ำถึง 25 เปอร์เซ็นต์ แปลว่า 1 ใน 4 ของผู้ที่เคยใช้กลับมาใช้ช่องทางนี้ซ้ำ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ A- MED การยืนยันตัวตนรับยาผ่านร้านขายยา หรือ การใช้ แอพพลิเคชั่น “เป๋าตังค์”  ในการบอกสิทธิของประชาชนในการเข้ารับบริการทางสุขภาพ

ขณะที่ นพ.สุรัคเมธ มหาสิริมงคล รักษาราชการแทนผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขพยายามสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืน เพิ่มการเข้าถึงลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกระทรวง สร้างความไว้วางใจในเรื่อง Cyber Security และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลด้านสุขภาพ

“ในอนาคตอาจจะมีการใช้ Medical AI  มาช่วยอ่านฟิล์มเอ็กซเรย์ ใช้วินิจฉัยรักษาโรค ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากในอนาคต  หรืออาจจะใช้ Chat GPT ในการช่วยวินิจฉัยรักษาโรค แต่หลายเรื่องเรายังพัฒนาไม่ทัน และภาครัฐควรออก Procurement AI เพื่อให้เกิดนวัตกรรมเหล่านี้ในประเทศ”