“แก่ไปไร้ออม” เป็นปรากฏการณ์ในสังคมไทย ที่มีสถิติบ่งชี้ว่าคนแก่ไทยปัจจุบันจำนวนมากไม่มีเงินออมเพียงพอกับการยังชีพระดับพื้นฐานโดยไม่ต้องพึ่งคนอื่นหรือรัฐบาล ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซึ่งหลายพรรคการเมืองก็ตอบสนองในนโยบายที่ใช้หาเสียง
แต่ทว่าถือเป็นมาตรการ “เชิงรับ” คือมีปัญหาแล้วตามแก้ ในขณะเดียวกันมาตรการดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลเรื่องงบประมาณที่รัฐจะต้องใช้ จนทำให้รัฐบาลชุดที่ผ่านมาประกาศว่าจะให้เบี้ยยังชีพคนชรากับเฉพาะคนแก่ยากจนเท่านั้น จนถูกต่อต้านในวงกว้าง กลายเป็นภาวะพะว้าพะวังเชิงนโยบายว่าควรใช้แนวทางใดในการดูแลคนแก่ปัจจุบัน
ความกังวลนี้ทำให้เกิดคำถามตามมา ว่ากลุ่มคนช่วงวัยอื่นที่ยังไม่แก่ในวันนี้จะประสบปัญหา “แก่ไปไร้ออม” แบบเดียวกับคนแก่ในปัจจุบันหรือไม่? โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันที่มีแนวโน้มจะอายุยืนมากขึ้น
หนึ่งในทางออกในเรื่องนี้จะต้องเปลี่ยนไปใช้มาตรการ “เชิงรุก” ด้วยการส่งเสริมให้คนไทย “แก่ดีมีออม” และดูแลตนเองได้ยามเกษียณ
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้การออมไม่เพียงพอในการดูแลตัวเองยามเกษียณ มีหลายสาเหตุ เช่นการมีรายได้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้จ่าย การเข้าไม่ถึงช่องทางการออม การขาดทักษะหรือความรอบรู้ทางการเงิน
แต่ทว่าปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลต่อคนรุ่นใหม่ที่มักมีรายได้มากพอตามระดับการศึกษาที่สูงกว่าคนรุ่นเก่าโดยเฉลี่ย อีกทั้งไม่ค่อยมีปัญหาการเข้าถึงช่องทางการออมหรือขาดความรอบรู้ทางการเงิน แต่ปมปัญหาสำคัญมาจากปัจจัยเสริมอื่น นั่นคือ “อคติเชิงพฤติกรรม” ซึ่งหมายถึงการมีพฤติกรรมที่ดูเหมือนไม่สมเหตุผลนัก ตัวอย่างเช่น ชอบบริโภคเกินตัว ไม่วางแผนระยะยาว ยึดติดกับความคุ้นชินเดิม ๆ ในการออมทั้งที่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า
อคติเชิงพฤติกรรมมักเกิดจากการตัดสินใจแบบ “ด่วน” หรือใช้ “ทางลัด” ในการประมวลข้อมูลและพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ อคติเหล่านี้มีอิทธิพลต่อวิธีที่ผู้คนรับรู้และตีความข้อมูล ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจหรือพฤติกรรมที่ดูไม่เป็นเหตุเป็นผล อาทิ การไม่นำเอาข้อมูลที่มีอยู่มาพิจารณาอย่างรอบคอบ การเพิกเฉยต่อกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับตนเอง หรือการทำตามผู้คนรอบข้างทั้ง ๆ ที่อาจไม่มีประโยชน์ต่อตัวเอง เป็นต้น
แท้จริงแล้วคนรุ่นใหม่มีอคติเชิงพฤติกรรมจริงหรือ? ถ้ามีเป็นรูปแบบใด และ อคติแบบไหนมากกว่า?
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง “คนรุ่นใหม่” อายุ 20-40 ปี ที่มีรายได้ตั้งแต่ 8,000 บาทขึ้นไปจำนวน 1,043 คนในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใน “โครงการศึกษาอคติเชิงพฤติกรรมในประชากรไทย เพื่อเสาะหามาตรการที่ได้ผลในการส่งเสริมการวางแผนทางการเงินของประชากรไทยสำหรับสังคมอายุยืน” โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พบว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่มีอคติเชิงพฤติกรรมอย่างน้อย 4 ประเภทที่นำไปสู่ความไม่พร้อมทางการเงินยามเกษียณ ได้แก่ อคติโลกแคบ คือ มองผลลัพธ์จากการกระทำเพียงระยะสั้นๆ แคบๆ, อคติชอบปัจจุบัน คือ การใช้จ่ายเพื่อความสุขในวันนี้มากกว่าออมเพื่อความสุขวันหน้า, อคติละเลยอัตราทบต้น คือการออมน้อย กู้เยอะ เพราะละเลยพลังของดอกเบี้ยทบต้นที่สามารถทำให้ผลประโยชน์ในตอนท้ายสูงมากหากออมต่อเนื่องนาน ๆ และอคติยึดติดสภาวะปัจจุบัน คือการไม่ยอมเปลี่ยนแปลงไปสู่การออมหรือการลงทุนที่ไม่คุ้นเคยแม้จะได้ผลตอบแทนมากกว่า
…คำถามต่อมา มาตรการส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณในรูปแบบใดที่สามารถปรับพฤติกรรมการออมภายใต้อคติเชิงพฤติกรรมเหล่านี้ได้ พร้อมกับเปรียบเทียบว่ามาตรการเหล่านั้นมีประสิทธิผลมากน้อยเพียงใด รวมถึงมีประสิทฺธิผลต่อกลุ่มบุคคลลักษณะใด
จากการทบทวนงานวิจัยในอดีตหลายชิ้นพบว่ามี 4 มาตรการที่คาดว่าจะส่งเสริมการออมโดยทคำนึงถึงหรือใช้ประโยชน์จากอคติเชิงพฤติกรรมข้างต้น โดย3มาตรการแรกเป็นการจัดการกับการออมจากรายได้ (เรียงตามลำดับของสภาพบังคับจากน้อยไปมาก) ในขณะที่มาตรการสุดท้ายเชื่อมโยงการออมกับพฤติกรรมการใช้จ่าย ได้แก่
- การสะกิดด้วยข้อมูล (informational nudging) คือการ “สะกิด” ด้วยข้อความ ,รูปภาพที่เข้าใจง่าย โดยมุ่งเน้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการออม และพลังของอัตราดอกเบี้ยทบต้นจากการออมอย่างต่อเนื่องยาวนาน
- การตั้งอัตราการออมเริ่มต้น (default rate) คือการ “ช่วย” เสนอว่าผู้คนควรจะออมเท่าใดต่อรายได้ที่ได้รับ เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายในยามเกษียณ โดยไม่ต้องรบกวนการคิดวิเคราะห์ของผู้คนมากนัก ซึ่งอัตราการออมเริ่มต้นจะกำหนดไว้สูงกว่าอัตราการออมที่เจ้าตัวมักจะเลือกเอง โดยคาดหวังว่าผู้ออมจะไม่ปรับลดอัตราตั้งต้นนี้เพราะไม่อยาก “คิดมาก” กำหนดไว้อย่างไรก็ใช้อย่างนั้น ซึ่งถือเป็นการใช้ประโยชน์จากอคติยึดติดสภาวะปัจจุบัน
- การออมกึ่งบังคับ (automatic enrolment) คือโครงการที่ “บังคับ” ให้ผู้ออมเก็บออมในอัตราที่กำหนดขึ้น แต่เป็น “กึ่งบังคับ” เพราะอาจไม่ออมในอัตรานั้นก็ได้ แต่ระบบดังกล่าวจะทำให้ผู้เก็บออมเผชิญกับความยุ่งยากในการทำเรื่องออกจากโครงการเพื่อเปลี่ยนแปลงอัตราการออม เช่น ต้องยื่นเรื่อง ทำเอกสาร ต้องไปติดต่อหน่วยงานหรือธนาคารเจ้าของโครงการ มาตรการนี้ใช้ประโยชน์จากอคติยึดติดสภาวะปัจจุบันในระดับที่สูงกว่ามาตรการ default rate ข้างต้น อีกทั้งเป็นการแก้ไขอคติโลกแคบที่ผู้ออมไม่คิดถึงการออมระยะยาวด้วย
- การออมผ่านการใช้จ่าย (savings through spending) หรือการหักเงินมาออมทุกครั้งที่มีการใช้จ่าย เช่น ถ้ามีการใช้จ่ายซื้อสินค้าราคา 95 บาท แต่หักเงินเป็น 100 บาท โดยเศษเงินส่วนเกิน 5 บาทจะโอนเข้าบัญชีออม โดยธนาคารบางแห่งในไทยเริ่มใช้มาตรการลักษณะนี้แล้วและพบว่าได้ผลพอควรโดยเฉพาะในกลุ่มคนอายุไม่มาก
นอกจากนี้ยังมีการทดสอบประสิทธิผลของมาตรการส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณ 4 มาตรการดังกล่าวกับกลุ่มตัวอย่างในวัยทำงานช่วงต้นที่มีเวลาเพียงพอในการออมเพื่อการเกษียณ คือช่วงอายุ 20-35 ปี และมีรายได้ตั้งแต่ 8,000 บาทต่อเดือนขึ้นไปในกรุงเทพฯ และจังหวัดขอนแก่น จำนวน 316 คน ด้วยการเล่นเกม “การจัดสรรเงิน” บนคอมพิวเตอร์ โดยจำลองให้ผู้เล่นจัดสรรระหว่างการใช้จ่ายและการออมภายใต้มาตรการเหล่านี้ และได้เปรียบเทียบพฤติกรรมการจัดสรรเงินออมกับกลุ่มตัวอย่างที่ไม่มีการใช้มาตรการเหล่านี้ เพื่อให้ทราบถึงผลของมาตรการว่าสามารถปรับพฤติกรรมการออมของผู้เล่นได้หรือไม่
ผลการทดลองพบว่ามี 2 มาตรการที่ช่วยเพิ่มอัตราการออมต่อรายได้อย่างมีนัยยะสำคัญ ได้แก่ การตั้งอัตราการออมเริ่มต้น ซึ่งเพิ่มอัตราการออมได้ร้อยละ 1.4 และการออมกึ่งบังคับ เพิ่มอัตราการได้ร้อยละ 0.9 ของรายได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ขาดวินัยทางการเงินมาก ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ยังไม่ลงมือออมในปัจจุบัน การที่มาตรการทั้ง2นี้ได้ผลกับคนกลุ่มนี้น่าจะเพราะเป็นมาตรการที่ใช้ประโยชน์จากตัวอคติเอง คืออคติยึดติดสภาวะปัจจุบัน อีกทั้งยังมีลักษณะกึ่งบังคับซึ่งเหมาะกับผู้ที่ไม่ค่อยมีวินัย ในกรณีนี้งานวิจัยได้เสนอให้มีการขยายการดำเนินการมาตรการออมกึ่งบังคับไปยังกลุ่มแรงงานนอกระบบประกันสังคมที่การออมภาคสมัครใจที่มีให้ยังไม่สามารถชักจูงให้เขาเข้าร่วมได้มากเพียงพอ
ขณะที่มาตรการที่ไม่พบว่ามีส่วนช่วยเพิ่มเงินออมของกลุ่มตัวอย่างในภาพรวม แต่ได้ผลดีในกลุ่มย่อย ได้แก่ การสะกิดด้วยข้อมูล ซึ่งได้ผลสำหรับผู้อยู่ในระบบประกันสังคมที่มีรายได้ประจำและมีความพร้อมในการออม ดังนั้นหากต้องการให้การสะกิดได้ผลในการเพิ่มการออมได้ดียิ่งขึ้น อาจต้องใช้ข้อความสะกิดที่หลากหลาย สะกิดใจ เร้าอารมณ์ของผู้คนมากขึ้นกว่าการอธิบายประโยชน์ปกติของการออมเรื่องการได้รับดอกเบี้ย
ส่วนการออมผ่านการใช้จ่าย ซึ่งใช้ได้ผลดีกับผู้มีรายได้น้อย ออมน้อย และคนรุ่นใหม่ที่ใช้จ่ายเป็นประจำ เนื่องจากเป็นการทำให้เกิดการออมผ่านการปัดเศษในขณะใช้จ่าย เจ้าตัวไม่ต้องชั่งใจมากนักว่าจะออมหรือไม่
ในขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังไม่ให้มาตรการนี้กลายเป็น “ดาบสองคม” ที่ไปเพิ่มความชะล่าใจในการใช้จ่ายของผู้คนเพราะรู้สึกว่ามีการออมรองรับทุกการใช้จ่ายอยู่แล้ว และคำนึงเสมอว่าการออมลักษณะนี้อาจจะไม่มากพอสำหรับการเกษียณ เพียงแต่ช่วยเปิดประตูให้คนรุ่นใหม่เริ่มต้นการออมเท่านั้น
สิ่งสำคัญควบคู่ไปกับมาตรการเหล่านี้หรือมาตรการส่งเสริมการออมอื่นใดคือจะต้องมีการออกแบบระบบบัญชีเพื่อการเกษียณส่วนบุคคล (individual retirement account หรือ IRA) เพื่อรองรับเงินออมที่มาจากมาตรการเหล่านี้ ซึ่งควรมีลักษณะพิเศษเช่นไม่สามารถถอนได้ง่ายเท่ากับบัญชีปกติ เมื่อบุคคลเริ่มมีเงินออมในระบบบัญชีลักษณะดังกล่าวแล้ว ควรมีการจัดทำระบบสรุปข้อมูลการออมเพื่อการเกษียณจากทุกบัญชีในที่เดียว (pension dashboard) ซึ่งอาจรวมถึงข้อมูลสินทรัพย์ที่เกิดขึ้นจากการเก็บออม เช่น บ้าน ที่ดิน หลักทรัพย์ เป็นต้น มาตรการลักษณะนี้น่าจะได้ผลในการยกระดับสำนึกต่อการออมของผู้ออมที่ได้กระทำอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ออมรู้ถึงสถานการณ์ความเพียงพอของเงินออมตัวเองได้อย่างครบถ้วน และน่าจะกระตุ้นให้ผู้ออมอยากเพิ่มการออมของตนเองให้เพียงพอมากยิ่งขึ้น อันจะส่งเสริมให้มาตรการส่งเสริมการออมตั้งต้นมีโอกาสประสบความสำเร็จในการเพิ่มเงินออมมากยิ่งขึ้น
ข้อเสนอเหล่านี้คาดหวังว่าจะได้รับการพิจารณาจากหน่วยงานภาครัฐในการกำหนดนโยบายและมาตรการส่งเสริมการออม และจากหน่วยงานภาคเอกชนเพื่อปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้ตอบโจทย์อคติและจูงใจในการออม อันจะเป็นจุดเริ่มต้นของหนทางในการเตรียมการไปสู่ “แก่ดีมีออม” ของประชากรไทยให้เป็นรูปธรรมและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับชีวิตของประชาชนท่ามกลางสังคมอายุยืนให้มีคุณภาพและศักดิ์ศรี
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในผลงานโครงการวิจัย การศึกษาอคติเชิงพฤติกรรมในประชากรไทย เพื่อเสาะหามาตรการที่ได้ผลในการส่งเสริมการวางแผนทางการเงินของประชากรไทยสำหรับสังคมอายุยืน โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
บทความ โดย วราวิชญ์ โปตระนันทน์ และ ธนิน ว่องวงศ์ นักวิจัยนโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง
บทความที่เกี่ยวข้อง เหตุผลที่คนไทย “แก่ก่อนรวย” มองจากมุม “อคติเชิงพฤติกรรม” โดย วราวิชญ์ โปตระนันทน์