ทีดีอาร์ไอ ร่วมกับสดช. จัดประชุม “เปลี่ยนผ่านภาครัฐ มุ่งใช้บริการคลาวด์ อีกก้าวของรัฐบาลยุคดิจิทัล” หนุนเดินหน้าใช้คลาวด์เป็นหลัก ชี้ข้อดีเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐแบบไร้รอยต่อ ประหยัดงบฯ มีความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.) จัดประชุม “เปลี่ยนผ่านภาครัฐ มุ่งใช้บริการคลาวด์ อีกก้าวของรัฐบาลยุคดิจิทัล” พร้อมนำเสนอร่างข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กฎระเบียบ มาตรการ มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการให้และการใช้บริการระบบคลาวด์ที่เหมาะสมสำหรับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเป็นทิศทางขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีระบบคลาวด์ของหน่วยงานภาครัฐ ให้สอดคล้องกับการผลักดันแนวนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy) ของรัฐบาล ซึ่งมุ่งเน้นให้หน่วยงานภาครัฐพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และเริ่มเลือกโอนย้ายภารกิจที่เหมาะสมของหน่วยงานไปใช้งานระบบคลาวด์ตามประเภทและรูปแบบที่เหมาะสม
ดร. สุเมธ องกิตติกุล รองประธานทีดีอาร์ไอ ในฐานะที่ปรึกษาด้านการวิจัยและนโยบายโครงการฯ เปิดเผยผลการศึกษาโดยระบุว่า ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศมีความก้าวหน้าอย่างรอบด้าน ซึ่งประชาชนทั่วไปและภาคธุรกิจได้เริ่มใช้ประโยชน์กันมาก โดยเฉพาะระบบคลาวด์ ที่แม้ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด แต่ก็มีความสำคัญมากเนื่องจากเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับกระบวนงาน การให้บริการและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีอื่น เช่น การวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งหน่วยงานภาครัฐสามารถใช้ประโยชน์เหล่านี้ได้เช่นเดียวกัน
ชี้ “คลาวด์” ช่วยลดต้นทุน แก้ปัญหาขาดแคลนจนท.ไอทีภาครัฐ – ปลอดภัยสูง
สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่คณะผู้วิจัยทีดีอาร์ไอได้จัดทำขึ้นนั้น ได้มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์สูงสุดเพื่อขับเคลื่อนการก้าวสู่รัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย ในมิติกระบวนงานและการจัดทำบริการสาธารณะ เช่น การให้บริการคลาวด์ รูปแบบและประเภทต่างๆ เพื่อเพิ่มความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากรของรัฐและลดต้นทุนการใช้จ่ายงบประมาณด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ อีกทั้งลดภาระและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และความปลอดภัยของข้อมูล รวมถึงการเพิ่มผลิตภาพของภาครัฐผ่านการเชื่อมโยงระบบและข้อมูล ในขณะเดียวกันเพิ่มอำนาจต่อรองภาครัฐในการใช้บริการระบบคลาวด์ให้สามารถใช้ประโยชน์สูงสุด พร้อมเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการให้บริการสาธารณะ
“ประเทศไทยได้เริ่มต้นขับเคลื่อนการใช้งานระบบคลาวด์ของหน่วยงานภาครัฐมาแล้วหลายปี แล้ว แต่เมื่อหน่วยงานต่างๆ มีความสนใจและความต้องการสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องมั่นใจได้ว่าฝั่งอุปสงค์และอุปทานสอดคล้องกัน ทั้งในแง่ปริมาณบริการ มาตรฐานขั้นต่ำที่เกี่ยวข้องและกระบวนการตั้งแต่การคัดเลือกผู้ให้บริการ บริการ ตลอดจนการทำสัญญา ซึ่งจะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือทั้งสำหรับหน่วยงานภาครัฐเอง ภาคเอกชนและประชาชนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับระบบ” ดร.สุเมธ ระบุ
แนะกุญแจสู่ความสำเร็จของระบบคลาวด์ภาครัฐ
ดร.สุเมธ กล่าวว่า การขับเคลื่อนการใช้บริการคลาวด์นั้น หน่วยงานภาครัฐจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบการให้บริการและการใช้บริการคลาวด์ ดังนี้ 1.กรอบแนวคิดเชิงนโยบายและแนวปฏิบัติ (Policy and Guideline) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติที่คำนึงถึงกฎหมายด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ 2.การเลือกประเภทและรูปแบบบริการที่เหมาะสมตามการจำแนกข้อมูล (Data Classification) โดยคำนึงถึงการจัดชั้นความลับของข้อมูล ประกอบกับความต้องการใช้งาน ขีดความสามารถของหน่วยงาน งบประมาณ และถิ่นที่อยู่ของข้อมูล
3.กรอบกลไกการบริหารจัดการการใช้งานคลาวด์ของหน่วยงานภาครัฐ (Government Cloud Management: GCM) เพื่ออำนวยความสะดวกการจัดหาบริการคลาวด์ในกระบวนการด้านงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้าง ตามแนวคิดตลาดดิจิทัล (Digital Marketplace) 4. มาตรฐาน ที่เป็นคุณสมบัติของผู้ให้บริการคลาวด์ โดยผู้ให้บริการต้องมีระดับของบริการ (SLA) สูงเพียงพอ ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลหรือมาตรฐานในประเทศที่เทียบเท่า ซึ่งเกี่ยวข้องการระบบและการให้บริการ พร้อมมีแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับกฎหมาย (Compliance)
และ 5 ผู้ให้บริการคลาวด์ (Cloud Service Providers) ครอบคลุมทั้งผู้ให้บริการคลาวด์ในประเทศและและผู้ให้บริการคลาวด์ในระดับนานาชาติ ซึ่งมาพร้อมกับลักษณะของบริการคลาวด์ (Cloud Services) ที่หลากหลาย โดยต้องมีคุณภาพและความน่าเชื่อถือ ตอบสนองต่อความต้องการใช้งานในภารกิจหรือบริการของภาครัฐ
ดร.สุเมธ ระบุว่า การขับเคลื่อนแนวนโยบายนี้จะช่วยสร้างความชัดเจนในส่วนที่ต้องเร่งรัดดำเนินการ ลดอุปสรรค โดยเฉพาะกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและกระบวนการด้านงบประมาณ เช่น การจ้างบริการคลาวด์ร่วมกันของหน่วยงาน และการชำระค่าบริการตามปริมาณการใช้งานจริง (Pay-per-Use) พร้อมทั้งสร้างสมดุลกับแนวปฏิบัติที่ดีและมาตรฐานที่เชื่อถือได้ เช่น มาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการต่างๆ ซึ่งจะเป็นการยกระดับงานด้านการมาตรฐานด้านดิจิทัลในประเทศไทยให้เข้มแข็งไปพร้อมกันด้วย เพื่อให้รัฐบาลไทยทันสมัย รวดเร็ว และมีความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ อันจะเป็นการยกระดับประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐและการบริการประชาชนต่อไป
ทั้งนี้ภายในงานยังมีการบรรยายโดยผู้ทรงคุณวุฒิในหัวข้อ “Cloud First: แนวทาง ประโยชน์ ความสำคัญ และความท้าทาย” และเวทีเสวนา หัวข้อ “นโยบาย Cloud First สู่ก้าวต่อไปของภาครัฐ รวมทั้งกิจกรรมการจัดนิทรรศการการใช้ประโยชน์จากข้อมูล โดยมีผู้ให้บริการคลาวด์หลากหลายบริษัททั้งในประเทศและต่างประเทศมาเปิดบูธแนะนำบริการ รวมถึงจัดแสดงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีระบบคลาวด์ให้กับผู้ร่วมงานที่สนใจอีกด้วย